สังฆมติ... 

วันที่ 17 กพ. พ.ศ.2559

 

สังฆมติ... 

 

สังฆมติ... 

อาณาจักรและพุทธจักรต้องเกื้อกูลกัน

          อาณาจักร : การปกครองทางโลกมีอำนาจมาก เป็นอำนาจแบบแข็ง แต่เปราะ พ้นตำแหน่งก็หมดอำนาจ ประชาชนไม่ยอมรับก็หมดอำนาจ

             พุทธจักร : เป็นสายใย ความเคารพศรัทธา ไม่มีอำนาจจะไปสั่งการอะไรมากมาย เป็นอำนาจแบบอ่อน แต่เหนียวแน่น ผูกพันตลอดชีวิต

                นับแต่โบราณ ผู้ปกครองแผ่นดินเข้าใจความสัมพันธ์เกื้อกูลนี้ดี จึงให้ความเคารพคณะสงฆ์ อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา เป็นแบบอย่างของพุทธมามกะที่ดี คณะสงฆ์ก็เป็นที่พึ่งทางใจให้ประชาชน และทำให้อำนาจของผู้ปกครองแผ่นดินเกิดความชอบธรรม สังคมก็สงบร่มเย็น

พระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้เอกราชจากพม่าได้ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงประกาศจุดยืนชัดเจนว่า

   “ อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
     ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา
     ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา
     แด่ศาสนา สมณะ พระพุทธโคดม ”

 ทำให้จิตใจของประชาชนที่ระส่ำระสายสงบลง เกิดความสมานสามัคคี

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาราชวงศ์จักรี ก็ประกาศจุดยืนชัดเจนเช่นกันว่า

     “ ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
       ป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี ”

 
           ขณะนี้มีความพยายามจะนำการเมืองทางโลกเข้ามาแทรกแซงคณะสงฆ์ มีการจาบจ้วงดูหมิ่นมหาเถรสมาคมและพระมหาเถระอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีบุคคลบางกลุ่มซึ่งเคยโจมตีให้ร้ายคณะสงฆ์ทั่วประเทศอย่างหนักหน่วงมาแล้วได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างเป็นขบวนการ

           โจมตีให้ร้ายและแทรกแซงขัดขวางกระบวนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชอย่างชัดเจน อาทิ อ้างว่าการที่มหาเถรสมาคมมีมติเสนอชื่อ ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ  เป็นการทำผิดขั้นตอน ทั้งที่เป็นการทำตามขั้นตอน เช่นเดียวกับเมื่อครั้งสมเด็จพระญาณสังวรฯได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พฤติกรรมทั้งหลายเหล่านี้แสดงอย่างชัดเจนว่าขบวนการนี้พยายามหาเหตุทุกอย่างเพื่อขัดขวางมติของมหาเถรสมาคมที่เสนอผู้ที่จะเป็นสมเด็จพระสังฆราช

             เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องความดำรงอยู่ของการปกครองคณะสงฆ์ไทย เพราะหากผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ยังถูกกลั่นแกล้งรังแกจากผู้ไม่หวังดี 

              โดยอ้างเหตุต่างๆนานา มติมหาเถรสมาคมที่เป็นเอกฉันท์ ๑๗ : ๐ ทั้งจากฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติ ไม่มีความหมาย ไม่ได้รับการยอมรับปฏิบัติ นั่นหมายความว่า ต่อจากนี้ไปพระภิกษุทุกรูปในประเทศไทยอาจถูกกลั่นแกล้งได้ทุกเมื่อจากผู้ไม่หวังดี

              โดยมติมหาเถรสมาคมก็ไม่มีความหมาย นั่นคือจุดล่มสลายของการปกครองคณะสงฆ์ไทย และจะส่งผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงต่อทุกสถาบันในสังคมไทย กลุ่มบุคคลผู้ไม่หวังดีประกาศแผนการร้ายจะรื้อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และเข้าครอบงำการปกครองคณะสงฆ์ไทย คนเพียงไม่กี่คนที่จาบจ้วงโจมตีคณะสงฆ์อย่างรุนแรง พยายามหาช่องใช้ข้อกฎหมายและหน่วยงานภาครัฐเข้ามาข่มขู่คุกคามคณะสงฆ์ น่าแปลกใจที่เมื่อบุคคลเหล่านี้ไปยื่นหนังสือจาบจ้วงกดดันคณะสงฆ์ตามหน่วยงานของรัฐ กลับได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่ง มีรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี หัวหน้าส่วนราชการออกมาต้อนรับอย่างนอบน้อมผิดปกติ  และรับลูกรุกเร้าคุกคามข่มขู่คณะสงฆ์ด้วยข้อกฎหมายต่างๆ หาช่องดำเนินคดีกับพระมหาเถระผู้ใหญ่อย่างไม่ให้เกียรติ พฤติกรรมส่อแสดงชัดว่าต้องการจะขู่ให้กลัว เพื่อให้ยอมสยบ ดำเนินการตามที่ตนปรารถนา

            มีการออกหมายจับเจ้าอาวาสด้วยข้อหาเพียงแค่ไม่ติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ในวัด เจ้าอาวาสที่เป็นหลวงปู่หลวงตานับหมื่นๆรูปทั่วประเทศท่านไม่ใช่นักกฎหมาย สวดมนต์ นั่งสมาธิ รักษาวัดตามพระธรรมวินัย อยู่ๆก็มีหมายจับมาข่มขู่ให้ต้องกลัวตัวสั่นงันงก เกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองนี้แล้ว

             มีการออกข่าวว่าจะเล่นงานวัดและพระภิกษุในข้อหารับของโจร ญาติโยมมาทำบุญ วัดและพระไม่รู้หรอกว่าเขานำทรัพย์มาจากไหน และไม่อยู่ในวิสัยจะไปถามได้ 

              เพราะเป็นการเสียมารยาทมากเหมือนไปดูถูกทายกผู้ถวายทาน แต่โบราณมาไม่เคยมีประวัติที่พระมหากษัตริย์หรือหน่วยราชการ จะมาฟ้องร้องข้อหารับของโจรกับวัดและพระภิกษุ หากเขาทำสำเร็จ พระและวัดทั้งประเทศก็จะตกอยู่ในอันตราย อาจถูกกลั่นแกล้งได้ทุกเมื่อ

           อาณาจักรกับพุทธจักรต้องเกื้อกูลกัน
                 สังคมจึงจะสงบร่มเย็น
      การเอาการเมืองทางโลกมาแทรกแซงคณะสงฆ์ 
               เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง

           จะสร้างความระส่ำระสายแก่สังคมไทยอย่างรุนแรงลึกซึ้ง จนถึงขนาดสายสัมพันธ์ของอาณาจักรและพุทธจักรในสังคมไทยอาจล่มสลายลงได้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง 

     อย่าท้าทายกับศรัทธามหาชน 

 ที่ประชุมคณะสงฆ์จากทั่วประเทศจึงมีสังฆมติร่วมกัน ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีดำเนินการดังนี้

            ๑.ห้ามหน่วยงานภาครัฐเข้ามาก้าวก่ายเรื่องทางสงฆ์ ขอให้ทำหน้าที่อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาตามแบบอย่างบรรพบุรุษไทย

            ๒.ขอให้รัฐบาลยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามที่กระทำสืบกันมา คือ การดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ ทางรัฐบาลจะต้องปรึกษาและได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมก่อน

             ๓.ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี ยึดถือดำเนินการตามมติมหาเถรสมาคมที่มีการเสนอนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

           ๔.ขอให้ทางรัฐบาลสั่งเป็นนโยบายให้หน่วยราชการปฏิบัติต่อคณะสงฆ์ด้วยความเคารพเอื้อเฟื้อ ไม่ข่มขู่คุกคามคณะสงฆ์ด้วยการใช้กฎหมาย

             ๕.ขอให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ เครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท ๔ ทั่วประเทศ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๙

 

 

Cr.ตื่นเถิดชาวพุทธ

เรารักพระพุทธศาสนา

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0033896168073018 Mins