ชมรมพุทธศาสตร์ในสถาบันการศึกษา

วันที่ 20 มิย. พ.ศ.2559

ชมรมพุทธศาสตร์ในสถาบันการศึกษา , ชมรมพุทธศาสตร์ , มหาวิทยาลัย , กัลยาณมิตร , ชมรม

ชมรมพุทธศาสตร์ในสถาบันการศึกษา

     ปัจจุบัน ตามโรงเรียน วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ จะมีชมรมพุทธศาสตร์หรือชมรมที่มีกิจกรรมทางธรรมะอยู่หลายแห่ง ในการตั้งชมรมขึ้นมานั้น มีขั้นตอนและการจะดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อการทำหน้าที่กัลยาณมิตรในสถาบันนั้นๆ ทั้งในลักษณะการทำงานภายในสถาบันและร่วมมือกับองค์กรหรือเครือข่ายนอกสถาบัน

 

ความรู้ทั่วไปเรื่องการตั้งชมรม

      เพื่อเป็นแนวทางในการตั้งชมรม บางสถาบันการศึกษา หรือบางมหาวิทยาลัยได้มีข้อกำหนดเพื่อการจัดตั้งชมรม เช่น

1.การริเริ่มจัดตั้งชมรมให้ทำได้โดยนิสิตนักศึกษาจำนวนไม่น้อยกว่า 50 คน และมาจากคณะต่างๆ ไม่น้อยกว่า 4 คณะ คณะละไม่น้อยกว่า 5 คน เข้าชื่อกันและเสนอเพื่อขอความเห็นชอบต่อสภานิสิตนักศึกษา ผ่านองค์การนิสิตนักศึกษา โดยมีรายละเอียดดังนี้

1)    ชื่อชมรม
2)    วัตถุประสงค์
3)    ระเบียบหรือข้อบังคับของชมรม
4)    ตราสัญลักษณ์ของชมรม
5)    หน่วยงานของชมรม
6)    รายชื่อสมาชิกชมรม

    เมื่อสภานิสิตนักศึกษาให้ความเห็นชอบแล้ว สภานิสิตนักศึกษาจะนำเรื่องเสนอต่อรองอธิการบดีประกาศตั้งชมรมนั้นๆ ต่อไป


2.ชมรมที่จัดตั้งขึ้นตามข้อ 1 จะต้องสังกัดอยู่ในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดังนี้

1)    ฝ่ายส่งเสริมวิชาการ
2)    ฝ่ายส่งเสริมบุคลิกภาพและกีฬา
3)    ฝ่ายส่งเสริมจริยธรรมและศิลปวัฒนธรรม
4)    ฝ่ายบำเพ็ญสาธารณประโยชน์และกิจกรรมเพื่อสังคม


3.ในแต่ละชมรมให้มีคณะกรรมการชมรมไม่น้อยกว่า 6 คน คณะกรรมการชมรมประกอบด้วย

1)    ประธานชมรม
2)    รองประธานชมรม
3)    เลขานุการ
4)    เหรัญญิก
5)    สวัสดิการ
6)    กรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการชมรมเห็นสมควร ซึ่งจะต้องเป็นนิสิตจากคณะต่างๆ อย่างน้อย 3 คณะ


4. ชมรมอาจเลิกหรือถูกยุบเลิกได้ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

1)    เป็นไปตามข้อบังคับข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3
2)    ไม่มีกิจกรรมหรือมีกิจกรรมที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของชมรม
3)    องค์การนิสิตนำเสนอให้สภานิสิตพิจารณาลงมติยุบเลิกด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด แล้วเสนอให้รองอธิการบดีประกาศยุบเลิก

 

การจัดตั้งชมรม

    ในการตั้งชมรมทางพระพุทธศาสนานั้นในที่นี้ขอยกตัวอย่างวัตถุประสงค์การตั้งชมรมของชมรมพุทธศาสตร์และประเพณี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดังนี้

วัตถุประสงค์ของชมรม

1.เพื่อเผยแผ่ธรรมะแห่งพระพุทธศาสนาไปสู่นักศึกษา ข้าราชการ คณาจารย์ของสถาบันฯตลอดจนผู้สนใจโดยทั่วไป

2.เพื่อเป็นการเผยแผ่ประเพณีไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ

3.เพื่อเป็นการเปิดหนทางแห่งพระพุทธศาสนาให้กว้างขึ้น เพื่อให้บุคคลทั่วไป หันมาสนใจพระพุทธศาสนามากขึ้น โดยไม่เลือกสายและไม่เลือกสำนักเฉพาะเจาะจง

4.เพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งในการใช้พระพุทธศาสนาพัฒนาประเทศ

5.เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแผ่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและแก้ไขความเข้าใจที่ผิดของคนทั่วไปที่มีต่อพระพุทธศาสนา

6.เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการไม่สนับสนุนในการกระทำที่เข้าข่ายพุทธพิสดารและพุทธพาณิชย์ (การใช้พระพุทธศาสนาเพื่อหาประโยชน์เข้าตัวเองในทางที่มิชอบ)


นโยบายชมรม

1.เน้นให้สมาชิกเรียนรู้ เข้าใจ แนวทางที่แท้จริงของวิถีพุทธศาสนา

2.มีการเผยแผ่ความรู้อย่างถูกต้องในพระพุทธศาสนาและธรรมะในทุกๆ แบบที่ตรงตามอริยมรรค

3.สร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่งเสริมให้มีความรู้ทั้งทางธรรมควบคู่ทางโลก

4.สร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างสมาชิกในชมรมให้อบอุ่น ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

    นอกจากนี้ คณะกรรมการของชมรมจะต้องมีความรักในการฝึกฝนตนเอง เพื่อเป็นแบบอย่าง แก่สมาชิกและบุคคลอื่น ซึ่งผู้เป็นคณะกรรมการชมรม ถือว่าเป็นผู้เสียสละเพราะแม้จะทำหน้าที่ ในการเผยแผ่ธรรมะไปยังเพื่อนนิสิตนักศึกษาแล้ว จะต้องไม่ลืมที่จะให้เวลากับตนเองที่จะฝึกฝนและแก้ไข ข้อบกพร่องของตนเอง ให้เป็นผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรม เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาแก่เพื่อนนิสิตนักศึกษา เป็นที่เมตตา และเชื่อถือจากอาจารย์ และบุคคลอื่นๆ ซึ่งชมรมพุทธศาสตร์สากลฯ ได้ให้คำแนะนำแนวปฏิบัติตัว ของกรรมการชมรม โดยสังเขปดังนี้


แนวปฏิบัติของกรรมการชมรม

1.รักษาศีล 5 เป็นปกติ และใน 1 สัปดาห์ จะต้องรักษาศีล 8 อย่างน้อย 1 วัน หรืออาจจะถือศีล 8 เป็นปกติ เพื่อความมั่นคงเข้มแข็งในการทำหน้าที่กรรมการชมรม

2.ฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มีวินัย ทั้งในเรื่องของเวลาและความสะอาด เช่น ตรงต่อเวลาในการสวดมนต์ทำวัตร เมื่อเลิกประชุมแล้ว ต้องช่วยกันทำความสะอาดห้องชมรม เป็นต้น

3.มีความเคารพกันตามอาวุโส

4.มีความอดทนต่อความลำบาก อดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อการกระทบกระทั่ง และอดทนต่อความยั่วเย้าของกิเลส

5.ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเองและหมู่คณะ

6.ระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณ

7.ถนอมดูแล และระมัดระวังสมบัติพระพุทธศาสนา

8.แต่งกายสุภาพเรียบร้อย ถูกกาลเทศะ สะอาดตาสะอาดใจ

9.เว้นจากอบายมุขต่างๆ เช่น ไม่เล่นการพนัน ไม่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ฯลฯ

10.เว้นจากการกระทำสิ่งที่ผู้อื่นติเตียนได้ ฯลฯ

 

กิจกรรมของชมรม

1.การสวดมนต์ทำวัตร ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

2.ทบทวนศีล (อาราธนาศีล) ทุกวัน

3.นิมนต์พระมาแสดงธรรมเทศนา ตามโอกาสอันควร

4.ไปฟังเทศน์ หรือฝึกสมาธิที่วัดอย่างสม่ำเสมอ

5.ให้พยายามประสานงานและร่วมมือกับชมรมอื่นๆ ในเรื่องศาสนพิธี

6.อย่าให้ขาดเรื่องการไหว้ครู ถือเป็นหัวใจสำคัญของกิจกรรม

7.วันสำคัญทางศาสนาต้องไปวัด

8.วันสำคัญทางประเพณี เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันแม่ วันครู ให้จัดเตรียมสิ่งของแสดงความเคารพบูชา

 


หนังสือ DF 303 เครือข่ายองค์กรกัลยาณมิตร
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012370347976685 Mins