วิวัฒนาการของวัดพระธรรมกาย ยุคที่ 1 ยุคบุกเบิก (พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2527)

วันที่ 21 มิย. พ.ศ.2559

วิวัฒนาการของวัดพระธรรมกาย ยุคที่ 1 ยุคบุกเบิก (พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2527)

วิวัฒนาการของวัดพระธรรมกาย
ยุคที่ 1 ยุคบุกเบิก (พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2527)


การพัฒนาของวัดพระธรรมกาย 3 ยุค1)

     เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้บริหารหลักในการดำเนินงานของวัด การขยายพื้นที่แต่ละช่วงเวลา และการพัฒนาระบบการฝึกอบรมซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี จึงสามารถแบ่งการพัฒนาของวัดออกได้เป็น 3 ยุค ดังนี้

1.ยุคบุกเบิก (ปี พ.ศ. 2513- 2527) ระยะการพัฒนา 15 ปี
2.ยุคเริ่มขยายงาน (ปี พ.ศ. 2528-2535) ระยะการพัฒนา 7 ปี
3.ยุคเผยแผ่ (ปี พ.ศ. 2536- ปัจจุบัน) ระยะการพัฒนา 12 ปี


วัดพระธรรมกาย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2513 ตรงกับวันมาฆบูชา

    ในปี พ.ศ. 2518 ขณะที่เป็นศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม อาคารหลักๆ ได้เสร็จสิ้นแล้ว กิจกรรมหลักของวัดคือ การนั่งสมาธิและการฟังธรรมทุกวันอาทิตย์ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา (ชาววัดเรียกวันงานบุญใหญ่) ซึ่งสถานที่ประกอบพิธีกรรม การนั่งสมาธิและฟังธรรม ในยุคนี้คือ ศาลาจาตุมหาราชิกา

   วัดมีจุดออกรถรับสาธุชน เป็นการให้บริการฟรี ในวันอาทิตย์ต้นเดือน 2 จุด คือที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสนามหลวง และได้ค่อยๆ ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 16 จุดทั่วกรุงเทพฯ (ปี พ.ศ. 2545)2) พร้อมกับมีจุดจอดรถ ในวันอาทิตย์ธรรมดาด้วย การจัดรถบริการรับส่งเช่นนี้ทำให้มีผู้มาปฏิบัติธรรมจำนวนมากขึ้น

    เมื่อปี พ.ศ. 2519 ศาลาจาตุมหาราชิกาสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ปรากฏว่าในวันอาทิตย์ธรรมดามีคนมาปฏิบัติธรรม 200-300 คน สิ่งที่ทำให้ผู้คนที่มาวัดประทับใจมากคือห้องน้ำสะอาด ไม่มีคราบไคล บนศาลาฟังธรรมปูเสื่อไว้อย่างเรียบร้อย การนั่งบนศาลาจะกำหนดให้ด้านซ้ายเป็นที่นั่งของของหญิง ส่วนชายนั่งด้านขวา พิธีตอนเช้าจะเริ่มเวลา 9.30 น. หลวงพ่อธัมมชโย(พระราชภาวนาวิสุทธิ์) นำนั่งสมาธิ พิธีตอนบ่ายเริ่ม เวลา 13.00 น. หลวงพ่อทัตตชีโว(พระภาวนาวิริยคุณ) เทศน์เรื่องมงคลชีวิตเป็นหลัก ส่วนในวันอาทิตย์ต้นเดือนจะมีสาธุชนมาปฏิบัติธรรมประมาณ 500-800 คน บริเวณวัดร่มรื่น สะอาด ต้นไม้ยังไม่โตนัก    นอกจากนี้ยังมีประกาศกฎระเบียบของศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม เพื่อให้ผู้ที่มาวัดปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง ใจความดังนี้


กฎระเบียบของศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมŽ

    ศูนย์พุทธจักรฯ เป็นบุญสถานของพุทธศาสนิกชนทุกท่าน เป็นสถานที่ที่ต้องการความสงบ สะอาด เรียบร้อย และสำรวม อันเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนา ฉะนั้นโปรดช่วยกันจรรโลงพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป ด้วยการปฏิบัติตามกฎระเบียบดังต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด คือ

* ห้ามสูบบุหรี่ ตลอดจนไม่นำสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษทุกชนิดเข้ามา

* ห้ามนำสินค้าหรือสิ่งของใดๆ เข้ามาจำหน่าย

* ห้ามเรี่ยไร และแจกใบฎีกาทุกชนิด

* ห้ามอ่านหรือนำหนังสือพิมพ์หรือสิ่งตีพิมพ์ที่ทำให้ร้อนใจเข้ามา

* ห้ามเปิดวิทยุ เครื่องกระจายเสียงและเทปบันทึกเสียงเพลง

* ห้ามโฆษณาชวนเชื่อ หาเสียงใดๆ ควรพูดเฉพาะคำจริงและเกิดประโยชน์

* ห้ามร้องรำทำเพลง หรือแสดงการละเล่นทุกชนิด

* ห้ามเกี้ยวพาราสี และทำนายทายทักโชคชะตา

* ห้ามปล่อยสัตว์ ภายในบริเวณก่อนได้รับอนุญาต

* โปรดแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย และไม่คะนองมือ คะนองเท้า ตลอดจนไม่นอนเล่นภายในบริเวณวัด อันเป็นภาพไม่น่าดู


บัณฑิตย่อมรับรู้ และปฏิบัติตามระเบียบวินัยŽ

      กฏระเบียบเหล่านี้เกิดจากการมองการณ์ไกลของคุณยายที่ต้องการสร้างวัดให้ดี ดังที่ท่านปรารภว่า

     เราเริ่มไว้แล้ว ต้องเอาให้ดี เอาให้ได้ตลอด เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกันรักษากฎวินัยให้เนี้ยบ ไปเลย อย่าให้ใครมาทำของเราเสียได้ เราต้องช่วยกันทุกคนŽ (มีนาคม พ.ศ. 2525)3)

    จากการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ผู้ที่มาวัดส่วนใหญ่ประทับใจในความสะอาด ความเป็นระเบียบ และความร่มรื่นของวัดเมื่อแรกที่เห็นวัดก่อนการปฏิบัติธรรม และเมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่พบว่าเป็นระบบการจัดการดังกล่าวเกิดจากบุคคลยุคบุกเบิกได้ทำตามที่คุณยายถ่ายทอดไว้

   ในการบุกเบิกสร้างวัดพระธรรมกาย หลวงพ่อทัตตชีโวได้ให้แนวคิดในการสร้างวัดพระธรรมกายไว้ว่า4)  ปัจจุบันคนไม่ค่อยเข้าวัด แต่จริงๆ แล้วคนอยากเข้าวัด แต่วัดยังไม่น่าเข้า เป็นหน้าที่ของ พระภิกษุสงฆ์จะต้องเป็นผู้นำในการพัฒนาปรับปรุงวัดให้น่าเข้า แล้วประชาชนก็จะหลั่งไหลเข้าวัดเองŽ

       และด้วยแนวคิดนี้วัดพระธรรมกาย จึงแบ่งเขตพื้นที่ในวัด (196 ไร่) เป็น 3 เขต คือ เขตพุทธาวาส เป็นที่ตั้งของโบสถ์ ประดิษฐานพระประธาน และเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมของสงฆ์ เช่นการลงพระปาติโมกข์ การอุปสมบท เขตธัมมาวาส เป็นที่อบรมธรรมสำหรับประชาชน คือศาลาจาตุมหาราชิกา และมีบริเวณสนามหญ้าสำหรับเป็นที่นั่งตามโคนไม้ มีโรงครัวเพื่อบริการอาหาร และเขตสังฆาวาส คือกุฏิที่พักสงฆ์ อย่างเป็นสัดส่วนและได้พัฒนาวัดโดยอาศัยหลักปฏิรูปเทส 45) คือ

1.อาวาสเป็นที่สบาย คือ การปรับปรุงสภาพทางภูมิศาสตร์ของวัดให้ดี ปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น ดูแลวัดให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย

2.อาหารเป็นที่สบาย คือ การดูแลอาหารของญาติโยมที่มาวัดให้สะดวก ภัตตาหารที่ญาติโยมนำมาถวายพระ ให้มีความเคารพในทานของญาติโยม ภาชนะของเขาที่ใส่ภัตตาหารมา ก็ทำความสะอาดส่งคืนให้เรียบร้อย และรวมถึงการจัดระบบการบริหารการเงินให้รัดกุมด้วย

3.บุคคลเป็นที่สบาย คือ พระภิกษุ สามเณร อุบาสกอุบาสิกาศิษย์วัด จะต้องอบรมให้มีกิริยามารยาท เรียบร้อยสมเป็นคนวัด มีอัธยาศัยไมตรี ต้อนรับญาติโยมที่มาวัดอย่างดี ต้องรักษาศีลอย่างเคร่งครัด และหมั่นศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ ให้คนวัดเป็นแบบอย่างทางความประพฤติแก่ญาติโยมที่มาวัดได้

4.ธรรมะเป็นที่สบาย คือ เมื่อประชาชนมาวัดแล้ว อย่าให้กลับบ้านมือเปล่า จะต้องได้เรียนรู้ธรรมะ ได้ข้อคิดกลับไปใช้ในการประพฤติปฏิบัติในชีวิตได้ วัดจะต้องมีการอบรมและสอนประชาชน ทั้งการปฏิบัติเจริญสมาธิภาวนา และการเทศน์สอนหลักธรรมต่างๆ เมื่อเขามาวัดแล้วสบายใจ ได้ประโยชน์ เขาก็บอกกันปากต่อปากวัดได้ทำหน้าที่หลักในการอบรมศีลธรรม สร้างคนดีให้เกิดขึ้นแก่สังคมอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง


     การแบ่งเขตพื้นที่ในวัดอย่างเป็นสัดส่วนกับการพัฒนาวัดโดยอาศัยปฏิรูปเทส 4 ได้พัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ มีการตรวจตราดูแลของคุณยาย หลวงพ่อธัมมชโย และหลวงพ่อทัตตชีโว ที่ฝึกทั้ง เจ้าหน้าที่ พระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา และประชาชนที่มาวัด ให้ได้รับความสะดวก ทั้งสถานที่ อาหาร การต้อนรับของเจ้าหน้าที่ และธรรมะที่ได้กลับไปใช้ได้ในชีวิตจริง จึงทำให้จำนวนคนมาวัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

       ในปี พ.ศ. 2515 วัดได้จัดโครงการอบรมธรรมทายาทรุ่นที่ 1 จึงทำให้อุบาสกที่ผ่านการอบรมธรรมทายาท ซึ่งสำเร็จการศึกษาแล้ว เข้ามาอยู่เพื่อช่วยงานด้านต่างๆ เช่น การรักษาศรัทธาญาติโยม การดูแลพื้นที่ ด้านเครื่องเสียง การต้อนรับ และรองรับสาธุชนที่มาร่วมพิธีในวันอาทิตย์ และวันงานบุญใหญ่

 

 


1) เรียบเรียงจากวิทยานิพนธ์เรื่อง “    การศึกษาเรื่องกระบวนการขัดเกลาทางสังคมและพัฒนาบุคลากรของวัดพระธรรมกาย” โดย อัชวัน หงิมรักษา อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต(พุทธศาสน์ศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2546.
2) 36 จุดทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี พ.ศ. 2546.
3) อารีพันธ์ ตรีอนุสรณ์, คืนที่พระจันทร์หายไป, หน้า 108-109.
4) พระอดิศร ชวนชาโตและคณะ, 60 ปีทองของการสร้างบารมีพระภาวนาวิริยคุณ, หน้า 35.
5) ถิ่นที่เหมาะสมในการปฏิบัติธรรม หรือ การดำเนินชีวิต ได้แก่ ที่อยู่อาศัย อาหาร บุคคล และธรรมะ.

 


หนังสือ DF 303 เครือข่ายองค์กรกัลยาณมิตร
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.002527113755544 Mins