ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ประวัติความเป็นมา

วันที่ 23 มิย. พ.ศ.2559

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ประวัติความเป็นมา

   ก่อนที่จะได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ศาสนาพราหมณ์และศาสนาฮินดูเป็นศาสนาเดียวกัน เพราะถ้าแยกเป็นคนละศาสนา คือ เป็นศาสนาพราหมณ์และศาสนาฮินดู ย่อมหมายความว่า ศาสนาพราหมณ์ได้ตายไปแล้ว และศาสนาฮินดูเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วศาสนาพราหมณ์มิได้ตาย และศาสนาฮินดูก็มิได้เกิดขึ้นมาใหม่ แต่ได้พัฒนามาจากศาสนาพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง ศาสนิกผู้นับถือศาสนาดังกล่าวตลอดจนผู้นำทางศาสนาก็ได้ให้คำอธิบาย และยอมรับว่าศาสนาพราหมณ์กับศาสนาฮินดูเป็นศาสนาเดียวกัน จึงเรียกรวมกันว่าศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

     ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน นับตั้งแต่ชนชาติอารยันเริ่มถิ่นฐานในประเทศอินเดีย จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทำให้มีชื่อนับตั้งแต่เริ่มแรก เรียกว่า ศาสนาสนาตนะ แปลว่า ศาสนาที่ดำรงอยู่นิจนิรันดร์ ไม่มีวันเสื่อม ต่อมาเกิดคัมภีร์พระเวท เรียกว่า ไวทิกธรรม แปลว่า ธรรมที่ได้จากพระเวท ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นอารยธรรม แปลว่า ธรรมอันดีงาม เมื่อพวกพราหมณ์มีอิทธิพลทางศาสนาจึงได้ชื่อว่า ศาสนาพราหมณ์ธรรม แปลว่า คำสอนของพราหมณาจารย์ จนกระทั่งได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางศาสนา จึงได้ชื่อใหม่ว่า หินทูธรรม หรือฮินดูธรรม แปลว่า ธรรมที่สอนลัทธิอหิงสา คำว่า อหิงสา แปลว่า การไม่เบียดเบียน

       สืบเนื่องมาจากการที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลาอันยาวนาน ทำให้แนวความคิดทางศาสนาแตกต่างกันออกไปมาก ดังนั้นการที่จะศึกษาศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและการพัฒนาทางด้านแนวคิดทางศาสนาให้กระจ่างยิ่งขึ้นนั้น เราต้องศึกษาเกี่ยวกับการแบ่งยุคสมัยของศาสนากันก่อน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนักปราชญ์ทางศาสนาได้แบ่งยุคของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูออกอย่างกว้างๆ เป็น 3 ยุคด้วยกัน คือ ยุคพระเวท (อยู่ในช่วงประมาณ 1,000-100 ปี ก่อนพุทธกาล) ยุคพราหมณ์ (ประมาณ 100 ปี ก่อนพุทธกาล ถึง พ.ศ. 700) และยุคฮินดู (ตั้งแต่ พ.ศ. 700 เป็นต้นมา) แต่สำหรับตำราเล่มนี้ เพื่อให้เกิด ประโยชน์สูงสุดต่อนักศึกษา ในการที่จะได้เห็นถึงพัฒนาการในแง่ประวัติศาสนาได้อย่างชัดเจนและลุ่มลึกไปตามลำดับ จึงขอนำเสนอหลักการแบ่งตามแนวทางของท่านเสถียร โกเศศ และนาคะประทีป1) โดยแบ่งยุคสมัยออกเป็น 11 ยุค ดังนี้

1.    สมัยดึกดำบรรพ์    ระยะเวลาประมาณ 1,000 ปี ก่อนพุทธกาล

2.    สมัยพระเวท    ระยะเวลาประมาณ 957 - 475 ปีก่อนพุทธกาล

3.    สมัยพราหมณ์    ระยะเวลาประมาณ 257 ปีก่อน พ.ศ. - พ.ศ. 43

4.    สมัยฮินดูเก่า (ฮินดูแท้) ระยะเวลาประมาณ 57 ปีก่อน พ.ศ. - ต้นพุทธกาล

5.    สมัยอุปนิษัท    ระยะเวลาประมาณ 57 ปีก่อน พ.ศ. - ต้นพุทธกาล

6.    สมัยสูตร    ระยะเวลาประมาณ พ.ศ. 60 - พ.ศ. 360

7.    สมัยอวตาร    ระยะเวลาประมาณ พ.ศ. 220 - พ.ศ. 660

8.    สมัยเสื่อม    ระยะเวลาประมาณ พ.ศ. 861 - พ.ศ. 1190

9.    สมัยฟื้นฟู    ระยะเวลาประมาณ พ.ศ. 1200 - พ.ศ. 1740

10.    สมัยภักดี    ระยะเวลาประมาณ พ.ศ. 1740 - พ.ศ. 2300

11.    ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูปัจจุบัน    ระยะเวลาประมาณ พ.ศ. 2300 - ปัจจุบัน

 

1. สมัยดึกดำบรรพ์ 

      อินเดียในยุคโบราณ แต่เดิมเป็นที่อาศัยของชนพื้นเมืองเดิมที่เรียกว่า ทราวิฑ หรือดราวิเดียน (Dravidian) หรือมิลักขะ ซึ่งมีเผ่าย่อยๆ อีกหลายเผ่า แต่รูปร่างลักษณะคล้ายกัน คือ รูปร่างเล็ก ผิวดำ จมูกรั้น ต่อมาพวกอินโด-ยูโรเปียน (Indo-European) หรืออารยัน ซึ่งมี ลักษณะผิวขาว จมูกโด่ง รูปร่างสูงใหญ่ ซึ่งเดิมอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำโวลกา แม่น้ำอูราล ทะเลสาบแคสเปียน ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ แม่น้ำคงคา และแม่น้ำยมุนา เมื่อมีกำลังคนมากขึ้น จึงได้แผ่ขยายอำนาจเข้ามายึดครองดินแดนของชนพื้นเมืองเดิม ซึ่งก็คือชาวทราวิฑหรือมิลักขะ และได้จัดการปกครองอย่างเป็นระบบ ตลอดจนพัฒนาความเชื่อ ทางศาสนา โดยยกย่องเทพของตนอยู่เหนือชนพื้นเมืองเดิม ซึ่งแต่เดิมชาวมิลักขะนับถือธรรมชาติ คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ เชื่อว่าธรรมชาติทั้ง 4 เป็นเทพเจ้า มีตัวตน มีชีวิตจิตใจ ประทับอยู่บนสวรรค์ จึงมีพิธีบวงสรวงเทพเจ้าด้วยไฟ เพราะเชื่อว่าควันไฟที่ลอยขึ้นสู่เบื้องบน เป็นสื่อนำความประสงค์ของผู้สังเวยไปแจ้งให้เทพเจ้าทราบ และการที่ไฟไหม้เครื่องสังเวยหมดไป คือ การเสวยเครื่องสังเวยของเทพเจ้า

   ส่วนศาสนาเดิมที่ชาวอารยันนับถือก่อนอพยพเข้าสู่อินเดียนั้น ได้แก่ การนับถือธรรมชาติและวิญญาณบรรพบุรุษ ธรรมชาติที่ชาวอารยันนับถือว่าเป็นเทพเจ้า คือ

1.    พระอินทร์    เป็นเทพผู้บันดาลสรรพสิ่งทั้งหลายให้เกิดขึ้นในโลก

2.    พระสาวิตรี    เป็นเทพแห่งแสงสว่างและความร้อน

3.    พระวรุณ    เป็นเทพแห่งความเย็น ความชุ่มชื้น

4.    พระยม    เป็นเทพแห่งความตาย

      ชาวอารยันถือว่า เทพทั้ง 4 นี้เป็นเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์ รักษาทิศทั้ง 4 ของโลก จึงเรียกว่า โลกบาล พิธีบูชาเทพเจ้าจะกระทำควบคู่กับพิธีบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ด้วยการนำอาหารไปวางที่พื้นดิน เรียกว่า พลี

     หลังจากที่ชาวอารยันเข้ามาปกครองชาวมิลักขะแล้ว ได้ปรับเทพเจ้าที่ตนนับถือเข้ากับเทพเจ้าของชาวมิลักขะ โดยสร้างเทพเจ้าอัคนีขึ้นใหม่ เพราะเห็นว่าชาวมิลักขะนิยมบูชาไฟ แต่ให้อยู่ในฐานะเป็นเทพบริวารของพระสาวิตรี เพื่อให้ชาวมิลักขะสำนึกตนอยู่เสมอว่าอยู่ภายใต้ อำนาจการปกครองของอารยัน

 

2. สมัยพระเวท

      ในช่วงเวลานี้ ชาวอารยันสร้างเทพเจ้าขึ้นใหม่หลายองค์ จัดแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1    เทพเจ้าแห่งสวรรค์ ได้แก่ วรุณ สูรยะหรือพระอาทิตย์ สาวิตรี วิษณุ อุษามิตระ อทิติ อรรยมัน และอัศวิน

กลุ่มที่ 2    เทพเจ้าในอากาศ ได้แก่ วาตะ อินทระ รุทระ ปรรชันยะ มารุต

กลุ่มที่ 3    เทพเจ้าบนพื้นโลก ได้แก่ อัคนี โสม และยม

    นอกจากนี้ยังมีการฆ่าสัตว์บูชายัญรวมทั้งการถวายน้ำโสมประกอบกับการขับกล่อม พิธีกรรมในสมัยนี้จึงมีความซับซ้อนมากขึ้น เป็นเหตุให้เกิดคนกลุ่มหนึ่งขึ้นมา คือ พราหมณ์ ซึ่งมีหน้าที่ประกอบพิธีกรรม พราหมณ์จึงมีอำนาจมากขึ้น และทำหน้าที่แตกต่างกันไปดังนี้

พวกที่ 1    ทำหน้าที่บูชาเทพ    เรียกว่า    พราหมณ์โหรตา

พวกที่ 2    ทำหน้าที่สวดขับกล่อม    เรียกว่า    พราหมณ์อุทคาดา

พวกที่ 3    ทำหน้าที่จัดพิธีกรรมตามลัทธิ    เรียกว่า    พราหมณ์อัธวรรยุ

      พราหมณ์ทั้ง 3 พวกนี้ จะปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อเนื่องกันตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีพราหมณ์อีกพวกหนึ่งเรียกว่า พรหมาŽ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการประกอบพิธีกรรม ทำหน้าที่ควบคุมการบูชายัญให้ถูกต้องตามคัมภีร์พระเวท ในแต่ละครั้งที่ทำพิธีบูชาเทพเจ้าต้องมี การเชิญวิญญาณบรรพบุรุษมาร่วมพิธีด้วยเสมอ ในสมัยนี้พราหมณ์แข่งขันกันสร้างศรัทธา จึงมีการคิดค้นพิธีกรรมเพื่อสร้างความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์และสงวนรูปแบบเคล็ดลับเฉพาะกลุ่มของตนเท่านั้น สถานศึกษาของพราหมณ์จึงได้เกิดขึ้น

     การที่ยุคนี้ได้ชื่อว่า ยุคพระเวท เพราะพราหมณ์ได้รวบรวมบทสวดขับต่างๆ ไว้เป็น หมวดหมู่ จึงเกิดเป็นคัมภีร์ทางศาสนาฉบับแรกขึ้น เรียกว่า ฤคเวท เป็นคำฉันท์สำหรับสวดอ้อนวอนและสรรเสริญพระเจ้า ตลอดจนเป็นบทสวดขับกล่อมสำหรับพิธีถวายน้ำโสมและโศลกผสมร้อยแก้วอธิบายวิธีประกอบพิธีกรรมบวงสรวงพระเจ้า คัมภีร์ฤคเวทนี้พราหมณ์เชื่อว่า เป็นศรุติ คือ เป็นเสียงทิพย์ที่ได้ยินมาจากพรหมซึ่งเป็นพระเจ้าผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์และสร้างบรรพบุรุษของพราหมณ์

      ต่อมาพราหมณาจารย์ได้คัดเลือกบทที่ผูกไว้เป็นมนต์ สวดขับในคัมภีร์ฤคเวทเอามา จัดใหม่เป็นอีกหมวดหนึ่ง เพื่อเป็นคู่มือของพราหมณ์อุทคาดาในการทำพิธี หมวดที่คัดออกมานี้ เรียกว่า สามเวท ใช้สวดในพิธีบูชาน้ำโสมแก่เทพเจ้า

     นอกจากนี้ ยังมีคู่มืออีกหมวดหนึ่งคัดเอาแต่หมวดมนต์โศลก และหมวดคำร้อยแก้ว ซึ่งว่าด้วยพิธีทำพลีกรรมมารวมกัน สำหรับให้พวกพราหมณ์อัธวรรยุใช้ในพิธี เรียกหมวดนี้ว่า ยชุรเวท

      ดังนั้น เมื่อรวมฤคเวทกับสามเวทในภายหลังแล้ว จึงเรียกว่า ไตรเพท ยุคพระเวทได้ สิ้นสุดลงเมื่อกำเนิดเทพเจ้าองค์ใหม่คือ พระพรหม

     สิ่งที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งในสมัยพระเวท คือ การแบ่งบุคคลในสังคมออกเป็น 4 ประเภท เรียกว่า วรรณะ คำว่า วรรณะ แปลว่า สีผิว สันนิษฐานว่าการแบ่งชั้นคนในระยะแรกน่าจะถือตามสีผิว ซึ่งแต่เดิมมีเพียง 2 วรรณะ คือ พวกผิวดำ ได้แก่ พวกทราวิฑ (ดราวิเดียน) กับพวกผิวขาว ได้แก่ พวกอารยัน ซึ่งในเวลาต่อมาได้แบ่งออกเป็น 4 วรรณะ คือ

        1.    วรรณะพราหมณ์ มีหน้าที่ติดต่อกับเทพเจ้า สั่งสอนศาสนาและประกอบพิธีกรรมแก่ประชาชนทุกวรรณะ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ศึกษา จดจำ และสืบต่อคัมภีร์พระเวท และเป็นปุโรหิตให้แก่กษัตริย์ พราหมณ์มักจะถือว่าตนเป็นวรรณะสูงสุดในสังคม เพราะเกิดจากพระโอษฐ์ของพระผู้เป็นเจ้าตามที่อ้างไว้ในคัมภีร์พระเวท

        2.    วรรณะกษัตริย์ ได้แก่ นักรบ ทำหน้าที่ป้องกันชาติบ้านเมืองและทำศึกสงคราม ขยายเขตแดน ในคัมภีร์ฤคเวทกล่าวว่า วรรณะกษัตริย์เกิดจากพระพาหา (แขน) ของพระผู้เป็นเจ้า

        3.    วรรณะแพศย์ เป็นวรรณะของคนส่วนใหญ่ในสังคม ได้แก่ ผู้ประกอบพาณิชยกรรม เกษตรกรรม และศิลปหัตถกรรมต่างๆ วรรณะแพศย์เกิดจากพระโสณี (ตะโพก) ของพระผู้เป็นเจ้า

        4.    วรรณะศูทร เป็นวรรณะของพวกกรรมกร ผู้ทำงานรับจ้างที่ต้องใช้แรงงานแบกหาม หรือให้บริการแก่วรรณะอื่นๆ วรรณะศูทรถือเป็นวรรณะต่ำสุด เพราะเกิดจากพระบาท(เท้า) ของ พระผู้เป็นเจ้า

       ในสมัยพระเวท คนในสังคมส่วนใหญ่จะอยู่ในวรรณะแพศย์ แต่ในปัจจุบันวรรณะศูทร มีจำนวนมากที่สุดคือ 61% ของประชากรอินเดียทั้งหมด และคนพวกนี้ได้แก่ คนชั้นกรรมาชีพ โสเภณี และกรรมกร

     นอกจากนี้ ยังมีพวกนอกวรรณะซึ่งเกิดจากการแต่งงานข้ามวรรณะ เรียกว่า จัณฑาล พวกนี้เป็นที่รังเกียจของทุกวรรณะ การแบ่งวรรณะดังกล่าวคงเกิดจากการแบ่งแยกตาม เผ่าพันธุ์ด้วย นักปราชญ์ส่วนใหญ่สันนิษฐานว่า บรรดานักบวชและพ่อค้าเผ่าอารยันได้กลายเป็น วรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ ส่วนทาสของอารยันได้กลายมาเป็นวรรณะศูทร บรรดาเจ้าถิ่นชมพูทวีปแต่เดิมและชนเผ่าล้าหลังอื่นๆ เป็นพวกนอกวรรณะ และค่อยๆ ถูกจัดรวมเข้าในวรรณะต่ำ

      ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์มีความหมายแสดงไว้ว่า วรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์เป็นอารยะ ส่วนวรรณะศูทรและนอกนั้นเป็นอนารยะ ซึ่งการแบ่งชั้นตามระบบวรรณะของสังคมฮินดูเป็นเครื่องมือสงวนและจำกัดสิทธิ์ในการประกอบอาชีพและกิจการทั้งหลาย

 

3. สมัยพราหมณ์

       ในสมัยนี้ ชาวอารยันได้ยึดครองตอนเหนือของอินเดียทั้งหมด จึงเกิดเป็นแว่นแคว้นต่างๆ แต่ละแคว้นต่างมีอิสระไม่ขึ้นต่อกัน เช่น แคว้นปัญจาละ แคว้นอโยธนา แคว้นกุรุเกษตร เป็นต้น พระราชาและขุนนางผู้ใหญ่ต่างก็มีกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดิน จึงใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย ส่วนชนชั้นกลางที่ไม่มีที่ดินต่างไปประกอบอาชีพค้าขายจนร่ำรวย พวกพื้นเมืองเดิมที่อยู่ใต้อำนาจของอารยันซึ่งเรียกว่า ทัสยุ ได้กลายเป็นชนชั้นศูทร ซึ่งเป็นชนชั้นต่ำที่ชาติอารยันทุกชั้นจะร่วมสมาคมไม่ได้

    เนื่องจากชาวอารยันเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า และการทำพิธีพลีบูชา เพราะเหตุว่า ถ้าการประกอบพิธีกรรมเป็นไปอย่างถูกต้องจนเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าแล้ว จะทรงเมตตาประทานพรให้สมปรารถนา และถ้าผู้ประกอบพิธีกรรมมีความมานะพากเพียรจนถึงที่สุดก็อาจเปลี่ยนสถานภาพจากมนุษย์ธรรมดาไปเป็นเทพเจ้าได้ ในยุคสมัยนี้พราหมณ์เป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุดในจิตใจของประชาชน เพราะเป็นผู้ผูกขาดความรู้ในการประกอบพิธีกรรม และเป็นชนชั้นเดียวเท่านั้นที่สามารถติดต่อกับพระเจ้าได้ และผลจากการยกย่องสถานภาพของพราหมณ์ทำให้เกิดค่านิยมในการประพฤติพรหมจรรย์ และเชื่อกันว่าสามารถยกสถานะให้เท่าเทียมกับพระราชาได้ จึงเกิดการสละครอบครัวและทรัพย์สมบัติออกบวชกันเป็นจำนวนมาก ทำให้มีลัทธิใหม่ๆ เกิดขึ้น สมัยนี้จึงได้ชื่อว่าสมัยพราหมณะหรือพราหมณ์


หน้าที่ของพราหมณ์

      พราหมณ์เป็นชนชั้นสำคัญของสังคม มีหน้าที่เฉพาะ ชนชั้นอื่นไม่สามารถทำหน้าที่แทนได้ หน้าที่ของพราหมณ์มีดังนี้

         1.    เป็นผู้ทำพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งมีระบบแบบแผนที่ซับซ้อน เช่น พิธีกรรมใน การราชาภิเษกที่เรียกว่า ราชสูยะ พิธีปล่อยม้าอุปการ เรียกว่า อัศวเมธ และบุรุษเมธ ซึ่งเป็น การบูชายัญมนุษย์ พิธีเหล่านี้คนทั่วไปไม่อาจทำให้ถูกต้องได้โดยปราศจากพราหมณ์

         2.    เป็นผู้อธิบายเทพเจ้าองค์ใหม่ที่เกิดขึ้น คือ พระพรหม เพราะแต่เดิมนั้น พราหมณ์ยกย่องพระอินทร์บ้าง พระรุทระบ้าง ต่อมาภายหลังความคิดได้เปลี่ยนแปลงไป โดยยกให้พระพรหมเป็นเทพสูงสุดเพียงองค์เดียว เพราะเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่ง ทรงสถิตอยู่ในทุกสิ่ง พราหมณ์จึงต้องมีหน้าที่อธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ได้รู้ซึ้งถึงอันติมสัจจ์และมรรควิธีที่จะเข้าถึงด้วยการทำความดีและการบำเพ็ญตบะ

        นอกจากพระพรหมแล้ว ยังมีเทพเจ้าที่เกิดใหม่อีก 2 องค์ คือ พระศิวะ ซึ่งแต่เดิมเป็นเทพแห่งภูเขา และพระวิษณุ ซึ่งแต่เดิมเป็นเทพแห่งทะเลและมหาสมุทร

        3.    เป็นผู้สร้างคัมภีร์ใหม่ 2 คัมภีร์ คือ

        คัมภีร์อรัณยกะ หรือบทเรียนในป่า เป็นคู่มือเบื้องต้นสำหรับผู้สละเรือน ประพฤติพรหมจรรย์ ไปใช้ชีวิตในป่า ที่เรียกว่า วานปรัสถ์ บุคคลเหล่านี้มีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังในบรรณศาลา หรืออาจอยู่รวมเป็นกลุ่มในอาศรม นุ่งห่มด้วยเปลือกไม้หรือหนังสัตว์ ขมวดผมมวยสูง ใช้ชีวิตในป่าโดยอาศัยผลไม้และบำเพ็ญตบะด้วยการทรมานร่างกายเพื่อชำระวิญญาณให้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นวิธีที่เชื่อกันว่าจะช่วยให้เข้าถึงพรหมและมีอิทธิฤทธิ์เหนือเทวดาและมนุษย์ ผู้ที่ประสงค์จะบวชเป็นฤาษีจำเป็นต้องศึกษาความรู้เบื้องต้นก่อน จึงเกิดคัมภีร์อรัณยกะขึ้นมา

       คัมภีร์อาถรรพเวท ประกอบด้วยคาถาต่างๆ ใช้เสกเป่าทำความอัปมงคลและสร้าง สวัสดิมงคล ต่อมาคัมภีร์เล่มนี้ถูกจัดเป็นคัมภีร์เล่มที่ 4 ต่อจากไตรเพท จุดประสงค์ของการสร้าง คัมภีร์อาถรรพเวท ก็เพื่อปลูกฝังความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาพราหมณ์ให้ลึกซึ้ง เพราะปลายยุคสมัยนี้ ศาสนาพราหมณ์ต้องเผชิญหน้ากับความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญ

       การที่คนในสังคมทำหน้าที่แตกต่างกันทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นวรรณะ โดยพราหมณ์เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ และพราหมณ์ยังได้สร้างความเชื่อที่ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างมนุษย์ ตลอดจนกำหนดหน้าที่ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อสันติสุขในการอยู่ร่วมกัน โดยกำหนดว่า วรรณะกษัตริย์เป็นวรรณะที่สร้างจากพระพาหาของพระพรหม วรรณะพราหมณ์สร้างจากพระโอษฐ์ของพระพรหม วรรณะแพศย์สร้างจากพระโสณีของพระพรหม และวรรณะศูทรสร้างจากพระบาทของพระพรหม สำหรับผู้ที่เกิดนอกวรรณะทั้ง 4 ดังได้กล่าวมาแล้วนั้นเรียกว่า วรรณสังกร

 

4.  สมัยฮินดูเก่า (ฮินดูแท้)

      ในสมัยนี้ อินเดียตอนเหนือตกเป็นของชาติอารยันทั้งหมด ภาคเหนือของอินเดียจึง เจริญเติบโตและมั่งคั่ง อาณาจักรสำคัญของชาวอารยันในสมัยนี้มี 4 แห่ง คือ แคว้นอวันตี แคว้นวังสะ แคว้นโกศล และแคว้นมคธ สมัยนี้เป็นสมัยแรกที่กำเนิดปรัชญา ซึ่งถือได้ว่าเป็นแก่นแท้ของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งพราหมณาจารย์ทั้งหลายเป็นผู้คิดขึ้น และในช่วงระยะเวลานี้เอง ที่ลัทธิในศาสนาพราหมณ์ได้พัฒนามาเป็นศาสนาฮินดู พราหมณาจารย์ได้ช่วยกันปรับปรุงลัทธิของตนจนได้รับความนิยมแพร่หลาย สถานศึกษาของนักบวชพราหมณ์ได้พัฒนาให้เจริญมากขึ้นจนกลายเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาอยู่ที่เมืองตักสิลาเป็นที่ชุมนุมของบรรดา ทิศาปาโมกข์

    อนึ่ง ในสมัยนี้ได้มีการกำหนดความสำคัญของเทพเจ้าขึ้นใหม่ตามความนิยมของสังคม พรหมาได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งความแท้จริงองค์เดียว ซึ่งประทานความรู้ให้มนุษย์สามารถเห็นแจ้งได้ บรรดาทวยเทพทั้งหลายเป็นลักษณะที่ปรากฏขึ้นชั่วคราวของพระผู้ทรงความเป็นหนึ่ง แม้จะถือว่าพรหมาเป็นอันติมสัจจ์ แต่ประชาชนส่วนมากยังคงยอมรับนับถือทวยเทพเหมือนเดิม เพราะลักษณะของพรหมานั้นยากเกินกว่าที่จะเข้าใจได้

      ความคิดในเรื่องการเกิดและการตายนั้น ในยุคนี้เชื่อว่า การที่มนุษย์ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสภาพต่างๆ กัน เพราะกรรมเก่า (ซึ่งหมายถึงการกระทำดีและชั่ว) พรหมาเป็นศูนย์รวมและเป็นต้นกำเนิดแห่งวิญญาณทั้งปวง สิ่งมีชีวิตทั้งหลายล้วนถือกำเนิดมาจากพรหม วิญญาณทุกดวงที่แยกออกมาจากพรหมอาจเข้าสิงสถิตในร่างกายของเทวดา มนุษย์ สัตว์ หรือพืชก็ได้ ทุกครั้งที่ร่างเดิมแตกดับจากสภาพใดสภาพหนึ่งแล้วไปอุบัติในร่างใหม่ เรียกว่า ภพ หรือชาติ ตราบใดที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตาม คงต้องผจญกับ ความทุกข์เรื่อยไป เมื่อใดก็ตามที่วิญญาณหลุดพ้นจากภาวะเวียนว่ายตายเกิด เรียกว่า โมกษะ วิญญาณดวงนั้นจะกลับไปรวมกับพรหมเช่นเดิม การที่จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ก็ด้วยการยุติการกระทำกรรมทั้งดีและชั่ว

       ในยุคนี้มีความคิดในเรื่องวันสิ้นโลกว่า โลกที่พรหมาสร้างมีกำหนดอายุขัย เมื่อครบกำหนดอายุขัยจะมีการล้างโลกแล้วสร้างโลกขึ้นใหม่ ระยะเวลานับตั้งแต่สร้างโลกจนถึงล้างโลก เรียกว่า กัลป์Ž ในหนึ่งกัลป์แบ่งเป็น 4 ยุค คือ กฤตยุค เตรตายุค ทวาปรยุค และกลียุค ยุคทั้ง 4 รวมกันเรียกว่า มหายุค ระยะเวลาในแต่ละยุคจะสั้นลงตามลำดับ พร้อมกันนั้น ความดีงามในโลกก็ลดลงตามลำดับเช่นกัน คือ

       1.    กฤตยุค (เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สัตยยุค) เป็นยุคแห่งสัจธรรมอันบริสุทธิ์ มีแต่พรหมัน เพียงพระองค์เดียว ไม่มีความโลภ โกรธ หลง ความคดโกงและความทุกข์ ผู้ใดปรารถนาสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้น

       2.    เตรตายุค ยุคนี้สัจธรรมเสื่อมลงจากกฤตยุค 1 ใน 4 ส่วน ในยุคนี้ไม่มีการประกอบพิธีกรรม มนุษย์ปฏิบัติธรรมเพื่อหวังอานิสงส์จากการปฏิบัติธรรมนั้น

       3.    ทวาปรยุค สัจธรรมเสื่อมลงครึ่งหนึ่งของสมัยกฤตยุค มนุษย์เริ่มประสบภัยจากความเจ็บป่วย เกิดตัณหา นิยมทำความชั่ว และมีพิธีล้างความชั่ว พระเวททั้ง 4 เกิดในยุคนี้ แต่ไม่ได้รับความสนใจจากมนุษย์

       4.    กลียุค ซึ่งเป็นยุคสุดท้าย สัจธรรมเหลือเพียง 1 ใน 4 ของยุคแรก มนุษย์ไม่สนใจเรื่องศีลธรรม ตกเป็นทาสของราคะ โทสะ โมหะ

      ประชาชนที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ และแพศย์ ทุกคนต้องส่งบุตรเข้ารับการศึกษา ในสถานศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่งของพราหมณ์ ก่อนเริ่มการศึกษา นักบวชพราหมณ์จะทำพิธี เสกเป่ามนตร์และคล้องด้ายมงคลศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า สายธุรำ เฉวียงบ่า พิธีนี้เรียกว่า ยัชโญปวีต ผู้ผ่านการทำพิธีนี้แล้วจะถือว่าเป็นผู้เกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า ทวิชะ แปลว่า ผู้เกิดสองครั้ง

 

5. สมัยอุปนิษัท

       ในสมัยนี้เป็นช่วงระยะเวลาของการพยายามค้นหาทางหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ทำให้เกิดเจ้าลัทธิที่มีความเห็นแตกต่างกันเป็น 4 พวก คือ

       พวกที่ 1    เป็นพวกที่เชื่อในผลแห่งญาณ คือ ความรู้แจ้ง

       พวกที่ 2    เป็นพวกที่เชื่อในผลแห่งการทำพลีบูชายัญ

       พวกที่ 3    เป็นพวกที่เชื่อในผลของการบำเพ็ญตบะ ทรมานกาย-ใจ

       พวกที่ 4    เป็นพวกที่เชื่อว่าการปฏิบัติให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดนั้น ต้องพึ่งตัวเอง มิใช่เกิดจากการสวดมนต์อ้อนวอน บูชาเทพเจ้า และสิ่งที่อยู่ในโลกนี้ล้วนเป็นมายา สกัดกั้นจิตไม่ให้เข้าถึงจุดหมายปลายทางซึ่งเป็นนามธรรม ดังนั้นการปฏิบัติอย่างเข้มงวด เพื่อละโลกิยวิสัย สามารถกระทำด้วยการบำเพ็ญตบะและการบำเพ็ญฌาน ซึ่งอาจจะปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทำไปพร้อมๆ กันทั้งสองอย่าง ทำให้เกิดนักบวช 3 พวก คือ ปริพาชกŽ แปลว่า ผู้เร่ร่อน ภิกขุŽ แปลว่า ผู้ขอ และ สันยาสีŽ แปลว่า ผู้สละ

       สำหรับพวกที่เชื่อในผลแห่งญาณ (คือ เชื่อว่าปัญญาทำให้เกิดการรู้แจ้ง) ได้เกิดนักคิดที่มีชื่อเสียง 3 กลุ่ม คือ ปรัชญาอุปนิษัทของพราหมณ์ ศาสนาเชนของมหาวีระ และศาสนาพุทธของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรดาพราหมณ์ในลัทธิอุปนิษัทได้สร้างคัมภีร์อุปนิษัทว่าด้วย ปรมาตมันและการเข้าถึงโมกษะ คัมภีร์อุปนิษัทนี้ได้ใช้เป็นตำราเรียนภาคสุดท้ายต่อจาก พระเวท เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า เวทานตะ แปลว่า ที่สุดแห่งพระเวท

     แม้ว่าอุปนิษัทจะเป็นส่วนหนึ่งของพระเวท แต่ในทางปรัชญานั้น อุปนิษัทมีความแตกต่าง จากพระเวท ซึ่งปรัชญาในพระเวทนับถือพระเจ้าหลายองค์และเน้นยัญพิธี มีการฆ่าสัตว์เพื่อบวงสรวงพร้อมเครื่องสังเวยอื่นๆ ส่วนปรัชญาในอุปนิษัทโน้มเอียงมาทางเอกนิยม (Monism) ซึ่งเชื่อในหลักความจริงอันสูงสุดว่า เพียงหนึ่งเดียวคือ พรหมัน ซึ่งเป็นบ่อเกิดของจักรวาลและสรรพสิ่งทั้งหลาย หน้าที่ของมนุษย์ก็คือการศึกษาและปฏิบัติให้เข้าถึงเอกภาวะนี้ จึงจะเรียกว่าได้บรรลุถึงโมกษะ อุปนิษัทนี้อาจนับได้ว่าเป็นรากฐานของปรัชญาในภควัทคีตา

    นักบวชพราหมณ์ที่ประสงค์บำเพ็ญพรตเป็นดาบสนั้นจะต้องศึกษาคัมภีร์อรัณยกะ ส่วนผู้ที่จะเป็นปริพาชกหรือสัณยาสี ต้องศึกษาคัมภีร์อุปนิษัท (เวทานตะ) ซึ่งถือกันว่าเป็นศรุติหรือคำบอกเล่าจากพระเจ้าโดยตรง และจะเปิดเผยแก่บุคคลในวรรณะอื่นไม่ได้เด็ดขาด ผู้ใดฝ่าฝืนถือเป็นบาปอย่างมหันต์

     นอกจากคัมภีร์ที่เป็นศรุติแล้ว ก็ยังมีคัมภีร์ที่ไม่ใช่ศรุติซึ่งเกิดขึ้นในสมัยนี้อีกหลายเล่ม เรียกว่า สมฤติ ใช้สำหรับระลึกทรงจำสืบเป็นหลักการย่อๆ และในตอนปลายยุคได้เกิดร้อยกรอง ที่ชื่อ รามายณะŽ ซึ่งแต่งโดยฤๅษีวาลมิกี มีทั้งหมด 5 กัณฑ์ พระรามซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องเป็นเพียงวีรบุรุษคนสำคัญเท่านั้น ยังไม่ใช่พระวิษณุอวตาร ซึ่งเข้าใจกันว่าอาจจะนำมาดัดแปลงเพิ่มเติมในภายหลัง

 

6. สมัยพระสูตร (สุตตะ)

      เป็นระยะเวลาที่ชาวอารยันขยายลงไปทางใต้ของอินเดีย พร้อมกับนำความเชื่อแบบฮินดู ไปเผยแผ่ด้วย ยุคนี้มีศาสนาพุทธเป็นคู่แข่งสำคัญ เพราะเป็นสมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงฟื้นฟูศาสนาพุทธ ความเคลื่อนไหวที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในยุคนี้ ได้แก่

       กระแสที่ 1    ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแผ่ขยายทั่วภาคใต้ของอินเดีย พราหมณ์จึงได้รับการยอมรับนับถือเช่นเดียวกับทางภาคเหนือ

       กระแสที่ 2    วรรณกรรมเรื่องภารตะ ได้มีการต่อเติมจนกลายเป็น มหาภารตะŽ และได้รับความนิยม

       กระแสที่ 3   พราหมณาจารย์ได้แต่งตำราเรียนสำหรับกุลบุตรพราหมณ์ เพื่อใช้ศึกษาในโรงเรียน ตำราดังกล่าวได้ผูกเป็นอรรถ ประมวลใจความให้สั้นที่สุดเพื่อทรงจำได้เร็ว ตัวอรรถ เรียกว่า สูตร ซึ่งถูกผูกขึ้นมาเป็นหัวข้อประมวลศิลปวิทยาทุกประเภท แบ่งเป็น 6 ประเภท รวมเรียกว่า เวทางค์ หรือองค์แห่งเวท ได้แก่

       ศึกษาศาสตร์    เป็นวิชาที่ว่าด้วยการออกเสียง และวิธีอ่านพระเวทให้มีเสียงเสนาะ

      ไวยากรณ์ศาสตร์    เป็นวิชาที่ว่าด้วยการออกเสียง การแปลและตีความ

       นิรุกติศาสตร์    เป็นวิชาที่ว่าด้วยที่มาและความหมายของศัพท์ที่ใช้ในพระเวท

       ฉันทศาสตร์    เป็นวิชาที่ว่าด้วยการประพันธ์บทร้อยกรอง ตลอดจนกฎของกวีนิพนธ์

       โชยติสศาสตร์    เป็นวิชาที่ว่าด้วยดาราศาสตร์และโหราศาสตร์

       กัลปศาสตร์    เป็นวิชาที่ว่าด้วยพิธีกรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี

       ทั้ง 6 ศาสตร์นี้ กัลปศาสตร์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด เพราะประกอบด้วยสูตร 3 สูตร คือ เศราตสูตร เป็นสูตรที่เกี่ยวกับพิธีกรรม คฤหสูตร เป็นสูตรที่เกี่ยวกับพิธีประจำบ้าน และธรรมสูตร เป็นข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนทุกวรรณะ

 

7.  สมัยอวตาร

      ในสมัยนี้ เป็นช่วงระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์จลาจลในอินเดียต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน เพราะชิงอำนาจกันเองภายในประเทศ อีกทั้งยังถูกศัตรูนอกประเทศรุกรานผลัดเปลี่ยนกันเข้าปกครอง ผู้ปกครองบางคนก็นิยมศาสนาพราหมณ์-ฮินดู บางคนก็ศรัทธาศาสนาเชน บางคนก็เลื่อมใสศาสนาพุทธ พวกใดเป็นใหญ่ก็จะฟื้นฟูศาสนาที่ตนนับถือขึ้นมา ซึ่งตอนปลายของยุคนี้อินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์กุษาณะ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของพวกตาตง้วยจี (ตุรกีสาขาเดิม) ซึ่งมีภูมิลำเนาตอนกลางทวีปเอเชีย กษัตริย์ที่สำคัญของราชวงศ์นี้คือ พระเจ้ากนิษกะทรงอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ พวกฮินดูจึงต้องพัฒนาลัทธิของตนเพื่อแข่งขันกับศาสนาพุทธ การแข่งขันนี้เป็นเหตุให้ต่างฝ่ายต่างรับเอาหลักธรรมของฝ่ายตรงข้ามเข้ามาในลัทธิของตน ประกอบกับพวกฮินดูได้แตกแยกเป็นนิกายใหม่ มีการสร้างเทพเจ้าใหม่ๆ ขึ้นมา

    แต่เดิมนั้นชาวฮินดูนับถือพระรามและพระกฤษณะเพียงแค่เป็นวีรบุรุษเท่านั้น ต่อมาได้รับการยกขึ้นให้มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นพระวิษณุผู้อวตารลงมา ลัทธิฮินดูที่นับถือพระวิษณุก็เฟื่องฟูขึ้นมา คนสำคัญที่เป็นหัวหน้าในนิกายนี้เรียกว่า นิกายภาควัต แปลว่า บูชาพระภควาน พระผู้ควรบูชา

  ส่วนพวกที่นับถือพระศิวะก็ได้ยกพระศิวะให้สำคัญยิ่งขึ้น โคซึ่งเป็นพาหนะถูกยอมรับนับถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ศิวลึงค์ถูกยกย่องว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การบูชา ในขณะเดียวกันได้เกิดลัทธิทั้งหกขึ้นในยุคนี้ พวกพราหมณ์ได้รับปรัชญาทั้งหกนี้เข้ามาไว้ในศาสนาของตนเรียก ษัฑทรรศนะŽ หรือทัศนะทั้งหก ซึ่งแต่ละลัทธิก็มีความต่อเนื่องกันเป็นคู่ๆ และจัดแบ่งออกเป็น 3 คู่ ดังนี้

คู่ที่หนึ่ง  ปรัชญานยายะ    เจ้าลัทธิ คือ ท่านโคตมะ
ปรัชญาไวเศษิกะ    เจ้าลัทธิ คือ ท่านกณาทะ

คู่ที่สอง    ปรัชญาสางขยะ    เจ้าลัทธิ คือ กปิละ
ปรัชญาโยคะ    เจ้าลัทธิ คือ ปตัญชลี

คู่ที่สาม    ปรัชญามิมางสา หรือปูรวมิมางสา เจ้าลัทธิ คือ ไชมินิ
ปรัชญาเวทานตะ หรืออุตตรมิมางสา เจ้าลัทธิ คือ พาทรายณะ หรือวยาส


คู่ที่หนึ่ง

นยายะ (Nyaya)

      เป็นระบบปรัชญาที่ค้นหาความเป็นจริงโดยการวิเคราะห์และโต้แย้งเชิงตรรกวิทยา ผู้เป็นศาสดาของปรัชญาในระบบนี้คือ โคตมะ ผู้แต่ง นยายะสูตรŽ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าคัมภีร์เล่มนี้อาจจะแต่งขึ้นเมื่อประมาณศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล และเป็นคัมภีร์ที่พิสูจน์สิ่งต่างๆ ว่าเป็นจริงทางตรรกวิทยา จึงมีลักษณะเป็นปรัชญาประเภทสัจจปรมาณูนิยม (Atomistic realism)

ไวเศษิกะ (Vaisesika)

        ศาสดาผู้ก่อตั้งลัทธินี้ก็คือ กณาทะ หรือกัสสยป ผู้เขียน ไวเศษิกะสูตรŽ ซึ่งเป็น คัมภีร์ที่เชื่อกันว่ามีลักษณะเป็นอเทวนิยม (non-theistic) เพราะไม่ได้อ้างถึงพระเจ้าเลย แต่กล่าวถึงความมีอยู่ของปรมาณูแห่งธาตุต่างๆ ซึ่งมีจำนวนนับไม่ถ้วน ทัศนะนี้จึงคล้ายกับปรัชญา นยายะแต่ต่างกันตรงที่ไวเศษิกะเน้นหนักไปในทางอภิปรัชญา ในขณะที่นยายะพัฒนาแนวคิดไปในทางตรรกวิทยาและญาณวิทยา ไวเศษิกะจึงเป็นแบบพหุนิยม (pluralistic)

     นอกจากนี้ ไวเศษิกะยังมีทัศนะคล้ายกับนยายะในเรื่องของกฎแห่งสังสารวัฏ คือเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด โดยมีอวิชชาเป็นสาเหตุ การที่จะหลุดพ้นหรือเข้าสู่โมกษะได้นั้น จะต้องมีความรู้แจ้งในความเป็นจริง ไม่หลงติดในความสุขและหลบหลีกจากความทุกข์ โดยหยุดกระทำกรรมเพื่อว่าผลของกรรมใหม่จะได้ไม่เกิดขึ้น และผลของกรรมเก่าก็จะหมดไปในที่สุด เมื่อนั้นชีวาตมันซึ่งเป็นวิญญาณบริสุทธิ์ก็จะหลุดจากห่วงกรรมเข้าสู่โมกษะ (การหลุดพ้น)


คู่ที่สอง

สางขยะ (Sankhya)

     ศาสดาผู้ก่อตั้งปรัชญานี้ก็คือ กปิละ ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าท่านได้เขียนคัมภีร์ ใดไว้ แต่อย่างไรก็ตามคัมภีร์ที่เหลือตกทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็คือ คัมภีร์สางขยะการิกา ของท่านอีศวรกฤษณะ แนวคิดทางปรัชญาในระบบนี้มีลักษณะเป็นทวินิยม (dualism) เพราะเชื่อว่าความเป็นจริงมี 2 อย่าง คือ ประกฤติ และปุรุษะ

        ประกฤติ คือ ต้นกำเนิดของสรรพสิ่งทั้งหลาย เป็นสิ่งเกิดเองและมีอยู่เอง ส่วน สิ่งทั้งหลายในโลกเรานั้นมีอยู่ในประกฤติก่อนแล้ว และได้ปรากฏออกมาจากประกฤติจึงทำให้เกิด ภาวะที่เรียกว่าการเกิดขึ้น ส่วนการดับเป็นภาวะที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงกลับไปสู่ประกฤติตามเดิม

        ปุรุษะ คือ วิญญาณบริสุทธิ์ เทียบได้กับชีวาตมันของปรัชญาอินเดียในระบบอื่นๆ ปุรุษะเป็นสิ่งเที่ยงแท้และอยู่ได้โดยลำพังเช่นเดียวกับประกฤติ และมีอยู่เป็นจำนวนมากมายมหาศาล นับประมาณมิได้

        ปรัชญาสางขยะ เชื่อว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ มนุษย์ควรหาทางหลุดพ้นจาก ความทุกข์เข้าสู่โมกษะ การที่มนุษย์บางคนไม่สามารถหลุดพ้นได้ เพราะอวิชชาหรือการไม่รู้แจ้ง ในสัจธรรมเป็นตัวการสำคัญ นั่นคือปุรุษะหรือวิญญาณบริสุทธิ์นั้น ปกติแล้วเป็นอิสระโดยธรรมชาติ อยู่เหนือกาลเทศะ แต่เมื่อไปเข้าใจผิดคิดว่าร่างกายที่เกิดจากประกฤติเป็นตัวตนแท้จริง จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา ของเรา เป็นผู้กระทำกรรมและเสวยกรรม นับเป็นการ หลงผิดอย่างหนึ่งที่จะโน้มนำบุคคลให้กระทำสิ่งต่างๆ ไปตามความคิดเห็นของตนเอง ก่อให้เกิด การเวียนว่ายในวัฏฏะไม่จบสิ้น ดังนั้นการที่จะหลุดพ้นจากวังวนแห่งวัฏฏะนี้ได้ก็คือ การปฏิบัติให้เกิดความรู้ที่ถูกต้อง โดยทำให้ปุรุษะเห็นความแตกต่างระหว่างตนเองกับประกฤติว่าตัวตนที่แท้จริงนั้นคือปุรุษะเท่านั้น ไม่ใช่รูปกายที่เกิดจากประกฤติ

โยคะ (Yoga)

        เป็นระบบที่เน้นวิธีการปฏิบัติให้เข้าถึงโมกษะ ศาสดาผู้ก่อตั้งคือ ปตัญชลี ซึ่งท่านได้รจนาสูตรที่สำคัญ คือ โยคะสูตรŽ คำว่า โยคะ ในทัศนะของปตัญชลี หมายถึง ความเพียร พยายามที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในความสมบูรณ์ ด้วยการบังคับควบคุมกายและควบคุมจิต

         ปรัชญาโยคะและสางขยะ เป็นปรัชญาที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ทั้งนี้เพราะปรัชญา สางขยะจะเน้นในด้านอภิปรัชญาและจิตวิทยา นั่นคือมีลักษณะเป็นแบบทฤษฎี แต่สำหรับปรัชญาโยคะแล้วมุ่งในทางปฏิบัติมากกว่า เพื่อให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น (โมกษะ) ปรัชญาโยคะจึงมีลักษณะเป็นแบบเทวนิยม (theistic) มากกว่าสางขยะ เพราะยอมรับในความมีอยู่ ของพระผู้เป็นเจ้า และการที่จะหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้ก็ต่อเมื่อได้เข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า ผู้ซึ่งเป็นปุรุษะพิเศษที่อยู่ในสถานะโมกษะตลอดกาล และวิธีการที่จะเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้านั้นต้องปฏิบัติตามวิถี 8 ทาง คือ 1) ยมะ สำรวมความประพฤติ 2) นิยมะ การบำเพ็ญข้อวัตร ทางศาสนา 3) อาสนะ ท่านั่งที่ถูกต้อง 4) ปราณายามะ การบังคับลมหายใจไปในทางที่ต้องการ 5) ปรัตยาหาระ การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย 6) ธารณา การทำใจให้มั่นคง 7) ธนายะ การเพ่ง 8) สมาธิ การทำใจให้แน่วแน่ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งระบบปรัชญาโยคะจะเน้นการปฏิบัติในข้อที่ 8 คือสมาธิมากที่สุด เพราะถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางของระบบที่จะได้รับภาวะอันบริสุทธิ์และอิสระ


คู่ที่สาม

มิมางสา (Mimamsa)

     ศาสดาของระบบปรัชญานี้คือ ไชมินิ ผู้รจนา มิมางสาสูตรŽ ระบบปรัชญามิมางสา เป็นระบบปรัชญาที่มุ่งพิจารณาสอบสวนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งต่างๆ ที่กล่าวไว้ในพระเวท ถึงแม้จะมีหลักคำสอนสืบเนื่องจากพระเวท แต่ก็อธิบายคำสอนไปในรูปปรัชญาโดยมุ่งสู่การหลุดพ้นจากทุกข์โดยเด็ดขาด แทนที่จะมุ่งหวังเพียงสวรรค์เท่านั้น ผู้ปรารถนาในโมกษะจึงต้องเป็นผู้ที่ก้าวพ้นจากบุญ-บาป สวรรค์-นรก ด้วยการบำเพ็ญสมาธิ และปฏิบัติตามคำสอนในพระเวท

เวทานตะ (Vedanta)

       ปรัชญามิมางสา และเวทานตะนั้น มีความใกล้ชิดสัมพันธ์กันมาก เพราะทั้ง 2 ระบบต่างก็กล่าวถึงคำสอนในพระเวท หากจะแตกต่างก็ตรงที่ปรัชญามิมางสาเป็นปรัชญาที่เกี่ยวกับ คำสอนในตอนต้นของพระเวท จึงมีชื่อเรียกว่า ปูรวมิมางสา ซึ่งในตอนต้นนี้จะเกี่ยวกับกรรมทัณฑ์ หรือตอนที่ว่าด้วยเรื่องการกระทำพิธีกรรมและบูชายัญ ส่วนในตอนปลายของพระเวทซึ่งเรียกว่า อุตตรมิมางสา จะเป็นคำสอนที่เกี่ยวกับญาณวิทยา หรือความรู้ในความเป็นจริง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาเวทานตะ และรามานุชะ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้

     ในสมัยอวตารนี้ นักปราชญ์ฮินดูได้รวบรวมกฎและวินัย ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า ธรรม โดยผูกเป็นกาพย์ง่ายๆ สำหรับชาวฮินดูทั่วไปไว้ใช้ปฏิบัติเรียกว่า มานวธรรมศาสตร์ แปลว่า กฎข้อบังคับของพระมนู

        นอกจากมานวธรรมศาสตร์แล้วยังมีหนังสืออีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ภควัทคีตาŽ ซึ่งเป็นส่วนที่เติมมาจากมหากาพย์มหาภารตะ ภควัทคีตานี้เป็นหนังสือที่อ่านได้ง่ายทุกวรรณะ ไม่หวงห้ามเหมือนพระเวทที่อ่านได้เฉพาะคนบางวรรณะ ดังนั้นจุดประสงค์ของหนังสือเรื่องนี้ก็เพื่อให้คนทุกชั้นได้รับรู้หลักธรรม โดยไม่จำเป็นต้องออกบวชกันทุกคน ใครจะบวชก็ได้ไม่บวช ก็ได้ เพียงรู้จักหน้าที่ของตนและปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ ให้ดีที่สุด โดยไม่หวังผลตอบแทนก็สามารถนำผู้นั้นไปสู่ความจริงอันสูงสุด ดังนั้นภควัทคีตาจึงเป็นหนังสือธรรมที่สอนมนุษย์ให้คำนึงถึง สังคม ไม่ใช่มุ่งความหลุดพ้นส่วนบุคคลเป็นสำคัญดังเช่นอุปนิษัท มนุษย์มีหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อรักษาความมั่นคงของสังคม เพราะมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

 

8. สมัยเสื่อม

      เป็นสมัยที่ราชวงศ์คุปตะ ซึ่งเป็นเชื้อสายฮินดูแท้โค่นอำนาจกษัตริย์ราชวงศ์กุษาณะสำเร็จ และฟื้นฟูศาสนาพราหมณ์-ฮินดูขึ้นใหม่ ราชวงศ์นี้ครองความรุ่งเรืองอยู่ได้ประมาณ 2 ศตวรรษ ก็เสียอำนาจให้แก่พวกฮั่นซึ่งรุกรานอินเดียเข้ามาทางแคว้นปัญจาบ และปกครองอินเดียอยู่ประมาณ 50 ปี ก็ถูกกษัตริย์อินเดียขับไล่ออกไปเมื่อปี พ.ศ. 1071 หลังจากนี้อินเดียแบ่งแยกออกเป็น 2 อาณาจักรใหญ่ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก แบ่งออกเป็นอาณาจักรชายทะเลฝั่งตะวันตก (ราชวงศ์จาลุกย์) กับอาณาจักรชายทะเลฝั่งตะวันออก (พวกปัลลวะ) ครั้งที่ 2 ในตอนปลาย ของยุคนี้ ปรากฏว่าเจ้าผู้ครองนครอินเดียภาคเหนือพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า หรรษาวัฒนาŽ สามารถรวบรวมดินแดนภาคเหนือไว้ในอำนาจได้ทั้งหมด จึงพยายามขยายตัวลงมาทางใต้ แต่ไม่สำเร็จเพราะระหว่างนี้พวกมิลักขะมีกำลังเข้มแข็งมาก อินเดียปลายยุคนี้จึงแยกเป็น 2 อาณาจักรอีกครั้งหนึ่ง คือ อาณาจักรเหนือ (ระหว่างภูเขาหิมาลัย-ลุ่มแม่น้ำนัมทา) กับอาณาจักรใต้ (ตลอดคาบสมุทรเดคคาน) ซึ่งพระเจ้าหรรษาวัฒนาทรงเลื่อมใสศาสนาพุทธนิกายมหายาน ทรงอุปถัมภ์นิกายนี้และทรงเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

       สมัยนี้ได้ชื่อว่าเป็นยุคเสื่อมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพราะเป็นสมัยที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแตกแยกเป็นนิกายต่างๆ มากมาย แต่ละนิกายมีข้อปฏิบัติเสื่อมทรามลงกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะนิกายใหญ่ที่สำคัญ 2 นิกาย คือ นิกายที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่เรียกว่า นิกายไศวะŽ กับนิกายที่นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่เรียกว่า นิกายไวษณพŽ (หรือนิกายไวษณวะ) ต่างสร้างประวัติยกย่องเทพเจ้าฝ่ายตนเลอเลิศและดูหมิ่นเหยียดหยามเทพเจ้าของอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะมี ผู้พยายามแก้ปัญหาโดยยกให้เทพทั้งสาม คือ พระพรหม พระศิวะ และพระวิษณุ มีศักดิ์สูง เท่าเทียมกัน เรียกว่า ตรีมูรติŽ ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน

         สมัยนี้นับเป็นสมัยเสื่อมแห่งพระพรหม เพราะในบรรดาเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามองค์ พระศิวะกับพระวิษณุมีผู้นับถือและให้ความสำคัญมากที่สุด  มีสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในยุคเสื่อมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอยู่ 2 สิ่ง คือ

            1. เครื่องหมายอันเป็นสัญลักษณ์ของศาสนานี้ ซึ่งมีที่มาจากกำเนิดของตรีมูรติ คือ เทพเจ้าทั้งสาม เครื่องหมายดังกล่าวได้แก่อักขระเทวนาครี ซึ่งมีคำอ่านว่า โอมŽ

            2. ในตอนต้นของยุคนี้ คือ สมัยที่ราชวงศ์คุปตะปกครองอินเดีย ราชวงศ์นี้ได้ส่งเสริมงานด้านวรรณกรรมมาก ความเจริญด้านวรรณกรรมสมัยนี้มีทั้งบทละคร กาพย์ นิยาย และนิทาน ตลอดจนตำราต่างๆ วรรณกรรมที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเล่มหนึ่ง ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอยู่มากได้แก่ วรรณกรรมชื่อ ปุราณะ แต่งด้วยฉันท์ภาษาสันสกฤต มีเนื้อหาสาระ 5 ประการ คือ

2.1    กล่าวถึงกำเนิดของโลกและการสร้างโลก

2.2    การทำลายล้างและการสร้างโลกใหม่

2.3    กำเนิดเทพเจ้าและมหาฤๅษีทั้งหลาย

2.4    กำเนิดพระมนู และเหตุการณ์ในสมัยพระมนู

2.5    ตำนานแห่งกษัตริย์ทั้งสุริยวงศ์ และจันทรวงศ์

      วรรณกรรมดังกล่าว ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูทั้งนิยายไศวะและนิกายไวษณพ ได้นำมาแต่งเป็นคัมภีร์ในนิกายของตน ต่างฝ่ายต่างยกย่องเทพเจ้าที่ตนเคารพไว้สูงกว่าเทพอื่น จึงมีเรื่องราวที่ขัดแย้งกัน แต่อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ปุราณะฉบับที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากที่สุดคือ คัมภีร์ปุราณะของนิกายไวษณพ ซึ่งเรียกกันว่า วิษณุปุราณะŽ

 

9. สมัยฟื้นฟู

 ในสมัยนี้เป็นช่วงเวลาที่อินเดียถูกศัตรูภายนอกรุกรานอีกครั้งหนึ่ง โดยพวกมุสลิมเชื้อสายตุรกีจากอัฟกานิสถาน ซึ่งพยายามบุกรุกเข้ามาทางชายแดนที่จะเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำสินธุ แต่กษัตริย์เชื้อสายฮินดูที่เข้มแข็งพระองค์หนึ่ง สามารถต้านทานไว้ได้ และสถาปนาราชวงศ์ราชบุตร ขึ้นปกครองอินเดียตั้งแต่ภาคตะวันตกมาจนถึงภาคกลาง เป็นเวลานานเกือบ 3 ศตวรรษ

      ที่เรียกสมัยนี้ว่าสมัยฟื้นฟู เพราะเป็นสมัยที่ศาสนาพุทธซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเริ่มเสื่อมสูญจากอินเดีย แต่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกลับได้รับการอุปถัมภ์ บรรดาเจ้าลัทธิทั้งหลายในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูพยายามทุกวิถีทางที่จะสร้างความมั่นคงถาวรและเผยแพร่ลัทธิศาสนาของตนออกไปให้แพร่หลายมากที่สุด โดยเฉพาะในหมู่คน พื้นเมืองเดิม พร้อมกับพยายามกีดกันศาสนาพุทธและศาสนาเชนมิให้กลับมาเป็นคู่แข่งได้อีก

        การปรับปรุงและความเปลี่ยนแปลงสำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ ที่ควรทราบ ได้แก่

        1.    นักปราชญ์และบัณฑิตจำนวนมากได้ร่วมมือกันทำการปรับปรุงแก้ไขคัมภีร์เก่าให้ชัดเจนเหมาะสม ทันสมัยและสมเหตุสมผลยิ่งขึ้น อาทิเช่น

ท่านกุมาริล ผู้แต่งอรรถกถาแก้คัมภีร์กรรมมิมางสา หรือปูรวมิมางสาของไชมินิ

ท่านสังกราจารย์ ได้แต่งอรรถกถาแก้คัมภีร์เวทานตะสูตร และภควัทคีตา เป็นต้น

       2.    เจ้าลัทธิสำคัญๆ แต่ละลัทธิมีคณาจารย์ที่เป็นกวีแต่งบทสวดอ้อนวอนด้วยคำประพันธ์ (ฉันท์หรือกาพย์) อันไพเราะ เป็นภาษาทมิฬซึ่งเป็นภาษาของคนพื้นเมืองเดิม และออกทำการเผยแพร่ลัทธิของตนแก่มหาชนอย่างกว้างขวาง

       3. กำเนิดลัทธิความเชื่อใหม่ 2 ลัทธิ คือ ลัทธิศักติ และลัทธิภักติ

       3.1 ลัทธิศักติ คือ การบูชาเทพเจ้าฝ่ายหญิงที่เป็นชายาของเทพเจ้าที่นับถือสูงสุด เช่น พระอุมาเทวี ซึ่งเป็นชายาพระศิวะ พระลักษมีเทวี ซึ่งเป็นชายาพระวิษณุ และพระสุรัสวดี ซึ่งเป็นชายาพระพรหม เพราะเชื่อว่าผู้เป็นชายาของเทพเจ้าเหล่านั้น ย่อมได้รับส่วนแบ่งอิทธิฤทธิ์ มาจากพระสวามี ซึ่งอาจบันดาลความสำเร็จในสิ่งที่ตนปรารถนาได้เช่นกัน พิธีบูชาชายา พระผู้เป็นเจ้าเรียกว่า บูชาศักติŽ มีคัมภีร์ที่กำหนดกฎเกณฑ์ในการทำพิธีเรียกว่า ตันตระŽ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอน 5 ประการ คือ เริ่มต้นด้วยการดื่มน้ำเมา (มัตยะ) บริโภคเนื้อสัตว์สดๆ (มังสะ) สาธยายมนตร์ปลุกกำหนัด (มนตร์) ร่ายนำด้วยลีลายั่วยวนเร่งเร้าความรู้สึกทางเพศ (มุทรา) และจบลงด้วยการร่วมเพศ (ไมถุน)

        พิธีบูชาตามลัทธิศักติ ทำกันตามเทวาลัยที่นิยมบูชาเจ้าแม่ในเวลาเที่ยงคืน บางพวก นิยมทำในที่ลับ บางพวกนิยมทำในที่เปิดเผย โดยพิธีกรประจำเทวาลัย ฝ่ายชายเป็นนักบวช เรียกว่า สาธุŽ ฝ่ายหญิง เรียกว่า เทพทาสีŽ

        ลัทธิศักติ เริ่มต้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย (แถบแคว้นเบงกอล เนปาล และอัสสัม) ซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรหลายชาติ เช่น มอญ เขมร พม่า ทิเบต และไทย อาศัยอยู่

     3.2 ลัทธิภักติ คำว่า ภักติŽ ในที่นี้หมายถึงการบูชาพระภควาน คือ พระผู้ควรบูชา ลัทธินี้มีความเชื่อว่า พระเจ้าจะประทานพรแก่ผู้บูชาพระองค์ด้วยการถวายความจงรักภักดีแด่พระองค์ด้วยความจริงใจเท่านั้น ดังนั้นพิธีกรรมใดๆ จึงไม่มีความสำคัญเท่าความภักดี ความภักดีนี้จะแสดงต่อเทพเจ้าองค์ใดที่ตนนับถือก็ได้ เช่น พระวิษณุ พระกฤษณะ พระราม และ พระศิวะ เป็นต้น กฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติมี 5 ประการ คือ

ศานติ คือ    ระลึกถึงพระเจ้าด้วยความสงบ

ทาสยะ    คือ    การมอบกายถวายชีวิตรวมทั้งจิตวิญญาณ

สาขุยะ    คือ    การใกล้ชิดกับพระเจ้าเหมือนใกล้ชิดเพื่อน

วาต์ศัลยะ    คือ    การมีความรักเหมือนอย่างเด็กรักมารดา

หาธูรยะ    คือ    การมีความรักต่อพระเจ้าเหมือนความรักของหญิงกับชาย

ลัทธิภักติทางใต้มีท่านมาณิกกะเป็นหัวหน้า บูชาพระศิวะซึ่งเรียกว่า ไศวะนิกาย ส่วนภาคเหนือของอินเดียมีท่านนิมพารกะเป็นหัวหน้า นับถือพระกฤษณะ และนางราธา ชายาของพระกฤษณะ

       4.    มีการก่อสร้างเทวสถานใหญ่โต ประดับประดาอย่างวิจิตร เกิดขึ้นตามนครใหญ่ๆ ทั่วไป การนำเทวรูปออกแห่แหนด้วยกระบวนแห่เริ่มนิยมทำกันในสมัยนี้

      อนึ่ง ตอนปลายของสมัยนี้ยังเกิดลัทธิค่านิยมทางสังคม คือ การเผาหญิงม่ายพร้อมศพสามี และยกย่องหญิงที่ทำตามประเพณีนี้ว่าเป็นผู้กล้าหาญ เรียกหญิงนั้นว่า สตีŽ หากหญิงใด ไม่ยอมทำตามประเพณีจะถูกญาติขอร้อง แต่ถ้าไม่ทำจะถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดีและหญิงนั้นต้องถือพรหมจรรย์ตลอดชีวิต

 

10. สมัยภักติ

     เป็นสมัยที่พวกมองโกล ทายาทพระเจ้าเจงกิสข่านทรงพระนามว่า พระเจ้าไทมูร์ บุกเข้าโจมตีอินเดียได้เมืองเดลฮี และกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2065 อินเดียก็ถูกรุกรานโดยพวกมุสลิมเผ่ามองโกลอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้วัดวาอารามและเทวสถาน ตลอดจนรูปเคารพต่างๆ ในอินเดียภาคเหนือถูกทำลายพินาศสิ้น หรือมิฉะนั้นก็ถูกดัดแปลงเป็นมัสยิด ประชาชนถูกบังคับให้นับถือศาสนาอิสลาม มิฉะนั้นจะต้องเสียภาษีอย่างหนัก มีการห้ามบูชารูปเคารพต่างๆ เพื่อมิให้พวกฮินดูฟื้นฟูศาสนาขึ้นใหม่ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พฤติการณ์ดังกล่าวก็มีผลเพียงทำให้ศาสนาฮินดูตกต่ำลงเพียงชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น ไม่ถึงกับเสื่อมสูญ ทั้งนี้ก็เพราะว่าศาสนาฮินดูได้วางรากฐานลงมั่นคงเสียแล้ว และในสมัยต่อมาพระเจ้า-อักบาร์มหาราช กษัตริย์องค์สำคัญแห่งราชวงศ์โมกุล ยังทรงเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวอินเดียเลือกนับถือศาสนาได้โดยเสรีอีกด้วย

      อย่างไรก็ตาม สมัยที่ราชวงศ์โมกุลปกครองอินเดีย ศาสนาอิสลามได้แผ่ขยายลงไปถึงตอนใต้ เป็นผลให้ชาวอินเดียส่วนหนึ่งได้กลายเป็นมุสลิมไป และยังเป็นเหตุให้เกิดลัทธิศาสนาใหม่ ซึ่งมีหลักธรรมของฮินดูและอิสลามผสมผสานกัน (คือศาสนาซิกซ์) และมีผู้นิยมนับถือจำนวนไม่น้อย

    ประมาณ พ.ศ. 2100 เป็นระยะเวลาที่ชาติต่างๆ ในยุโรปตะวันตกเข้าไปติดต่อทำการค้ากับอินเดีย (คือ โปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส และอังกฤษ) พร้อมกับนำศาสนาคริสต์เข้าไป เผยแพร่ในอินเดียด้วย และในที่สุดอินเดียก็สูญเสียเอกราชแก่อังกฤษในสมัยของพระเจ้าโอรังเซป กษัตริย์ราชวงศ์โมกุลองค์สุดท้าย หลังจากที่ราชวงศ์นี้ปกครองอินเดียได้ประมาณ 100 ปี

    ในสมัยดังกล่าวนี้เอง ลัทธิภักติซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยฟื้นฟูได้เจริญขึ้นในอินเดียภาคเหนือ ลัทธิภักติที่สำคัญแบ่งออกได้เป็น 3 นิกาย ตามความแตกต่างของเทพเจ้าสูงสุดที่นิยมนับถือ คือ

นิกายที่ 1 นับถือพระราม มีผู้นำที่สำคัญ 3 คน คือ รามานน เป็นผู้ฟื้นฟูลัทธิ ตุลลิทาส เป็นผู้เผยแผ่ และนาภาทาส ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือภักตมาลา รวบรวมประวัติและผลงานของศาสดาจารย์ในลัทธิภักติ

นิกายที่ 2 นับถือพระกฤษณะ มีหัวหน้าชื่อ วัลลภาจารย์

นิกายที่ 3 นับถือพระราม แต่ไม่ยอมรับว่าเรื่องพระรามคืออวตารของพระวิษณุ มีการบูชารูปเคารพและการแบ่งชั้นวรรณะ มีหัวหน้าซึ่งนับถือศาสนาอิสลามมาก่อนชื่อ กพีร์ คำสอน ของท่านผู้นี้มีลักษณะกึ่งฮินดูกึ่งอิสลาม สานุศิษย์ส่วนใหญ่เป็นพวกวรรณะศูทร ซึ่งนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาอิสลามมาก่อน

      ลัทธิภักติเผยแผ่ลัทธิด้วยภาษาพื้นเมือง ยกย่องอาจารย์ผู้สอนว่าเป็นผู้ควรแก่การเคารพอย่างสูง เรียกว่า คุรุŽ พิธีกรรมในลัทธิมีการสวดมนต์ภาวนา เสกเป่า และกินข้าวเสก มีนักบวชและคฤหัสถ์ประจำลัทธิ แม้จะนับถือพระเจ้าต่างองค์กัน แต่ก็มีหลักการที่ตรงกันคือ มีพระเจ้าสูงสุดเพียงองค์เดียว เชื่อว่าพระเจ้าทรงประทานความเมตตากรุณาแก่ผู้ที่ภักดีและบูชาพระองค์ และเชื่อว่าวิญญาณมนุษย์เป็นส่วนที่แยกออกมาจากพระเจ้า เป็นสิ่งอมตะ ผู้ภักดีต่อพระเจ้าไม่ว่าจะอยู่ในวรรณะใด ย่อมได้รับความหลุดพ้น

 

11. ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ปัจจุบัน

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ปัจจุบัน2)

      ปัจจุบันแม้จะมีผู้นับถือศาสนาหลายศาสนาที่เผยแผ่เข้าไปในอินเดียสมัยหลัง แต่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูก็ยังเป็นศาสนาที่มีประชาชนในประเทศอินเดียนับถือมากที่สุด (คือมากกว่าร้อยละ 80) รองลงมาได้แก่ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ และศาสนาซิกข์ ตามลำดับ มีส่วนน้อย ที่นับถือศาสนาเชน ศาสนาพุทธ และศาสนาปาร์ซี

      ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูปัจจุบันถือว่า ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นฮินดูแท้นั้นต้องประกอบด้วยคุณสมบัติสำคัญ 2 ประการ คือ

     1. ต้องสืบเชื้อสายมาจากวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ หรือศูทร เท่านั้น ชาวต่างชาติ หรือคนนอกวรรณะทั้ง 4 แม้จะนับถือลัทธิและปฏิบัติตนตามกฎเกณฑ์ของศาสนาพราหมณ์- ฮินดูทุกอย่าง ก็มิอาจเป็นฮินดูได้

         2. ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ 2 ประการ คือ

2.1 ปฏิบัติตามขนบประเพณีของแต่ละวรรณะ
2.2 ปฏิบัติตามขนบประเพณีสำหรับทุกวรรณะ อันได้แก่

2.2.1 การแต่งงาน อาหารการกิน การประกอบอาชีพ และที่อยู่อาศัย
2.2.2 พิธีประจำบ้าน เรียกว่า สังสการ
2.2.3 พิธีศารทธ์
2.2.4 พิธีบูชาเทพเจ้า

     ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในปัจจุบันนี้ คนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษา ไม่ใคร่สนใจเลื่อมใสศรัทธา ส่วนผู้ที่ยังคงปฏิบัติตามลัทธิ พิธีกรรมอย่างเคร่งครัดได้แก่ นักบวชพราหมณ์ที่สืบ เชื้อสายตามนิกายที่นับถือในตระกูล

    พวกที่นับถือพระราม หรือพระกฤษณะ ว่าเป็นอวตารของพระวิษณุ หรือพระศิวะ ตลอดจนเทพอื่นๆ ยังคงปฏิบัติพิธีกรรมเช่นเดิม สำหรับผู้อยู่ห่างไกลเมื่อมีโอกาสจะเดินทางไปนมัสการเทพเจ้าที่ตนนับถือ ณ เทวสถานศักดิ์สิทธิ์

    ส่วนพวกพื้นเมืองเดิม ที่อยู่ในวรรณะต่ำ และพวกไร้การศึกษาหรือการศึกษาต่ำ นิยมนับถือเทพเจ้าชั้นต่ำศักดิ์ลงมา เช่น นับถือเจ้าแม่กาลี ซึ่งเป็นอวตารของพระอุมา นับถือหนุมาน พระพิฆเณศ โคนันทิ พญานาค ลิง เต่า ช้าง ต้นไม้ เป็นต้น

 


หนังสือ DF 404 ศาสนศึกษา
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012724677721659 Mins