ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หลักความเชื่อและจุดหมายสูงสุด

วันที่ 27 มิย. พ.ศ.2559

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
หลักความเชื่อและจุดหมายสูงสุด

หลักความเชื่อและจุดหมายสูงสุด8)

     ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อว่าพระพรหมเป็นเทพเจ้าสูงสุด ทรงเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งตลอดทั้งกำหนดโชคชะตาของคนและสัตว์ เพราะฉะนั้นวิถีชีวิตของแต่ละคนจึงเป็นไปตามพรหมลิขิต แต่คนก็อาจเปลี่ยนวิถีชีวิตได้ หากทำให้พระพรหมเห็นใจและโปรดปราน โดยการบวงสรวงอ้อนวอนและกระทำความดีต่อพระองค์ ผู้ที่พระองค์ทรงโปรดหากตายไปก็จะไปเกิดในสุคติภูมิ และถ้าหากโปรดเป็นที่สุด ก็จะได้ไปอยู่กับพระองค์ชั่วนิรันดร แต่ถ้าไม่ทรงโปรดก็จะไปเกิดในทุคติภูมิ ได้รับทุกข์เวทนาแสนสาหัส ชาวฮินดูเชื่อว่าวิญญาณเป็นอมตะจึงไม่ตายตามร่างกาย ที่ว่าตายนั้นเป็นเพียงวิญญาณออกจากร่างกาย เพราะร่างกายทรุดโทรมจนอาศัยอยู่ไม่ได้เท่านั้น วิญญาณก็จะไปถือเอาร่างใหม่ หรือที่เรียกว่า เกิดใหม่ ดุจคนสวมเสื้อผ้าเมื่อใช้นานไปก็เก่าคร่ำคร่า ก็ไปหาชุดใหม่สวมก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นวิญญาณจึงไม่มีเกิดมีตาย การเกิดตายเป็นเพียงเรื่องร่างกายเท่านั้นเอง วิญญาณจะไปถือเอาร่างใหม่หรือที่เรียกว่าสังสารวัฏ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไปตราบที่ยังไม่บรรลุโมกษะ ชาวฮินดูเชื่อว่า โมกษะเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต ผู้เข้าถึงโมกษะจะไปอยู่กับพระพรหมชั่วนิรันดร ไม่ต้องมาเวียนว่าย ตายเกิดอีกต่อไป ส่วนการปฏิบัติเพื่อบรรลุโมกษะนั้น จะต้องปฏิบัติตามหลักการ 4 ประการ คือ

    1. กรรมมรรค (กรรมโยคะ) การปฏิบัติด้วยการประกอบการงานตามหน้าที่ด้วยความขยันขันแข็ง แต่ทำงานด้วยจิตใจสงบ ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ผู้ปฏิบัติเรียก กรรมโยคิน

    2. ชยานมรรค (ชยานโยคะ) การปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมาว่า ปรมาตมันเป็นสิ่งเดียวที่มีอยู่ วิญญาณส่วนบุคคล (อาตมัน) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ ปรมาตมันหรือวิญญาณสากล การสร้างญาณดังกล่าวให้เกิดขึ้นอาจทำได้โดยการดำเนินตามมรรค 4 ประการด้วยกัน คือ

       1) แยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นจริงและสิ่งที่ไม่เป็นความจริงที่เรียกว่า วิเวกะ

       2) บำเพ็ญเนกขัมมะ คือ สละโลกิยสุขทั้งมวล ที่เรียกว่า ไวราคยะ

    3) ปลูกฝังคุณธรรม 4 ประการ คือ ควบคุมกายและประสาททั้ง 5 ควบคุมใจยับยั้งมิให้ประสาททั้ง 5 ที่ควบคุมได้แล้วกลับตกไปเป็นทาสของอารมณ์ต่างๆ อีก อดกลั้นอารมณ์ต่างๆ อดกลั้นทนทาน ทำจิตให้เป็นสมาธิอย่างสมบูรณ์ และมีความจงรักภักดีที่เรียกว่า สลัมปัต

       4) ใฝ่ฝันถึงความหลุดพ้น(โมกษะ)ที่เรียกว่า มุมุกษุตวะ ผู้ปฏิบัติเรียกว่า ชยานโยคิน

   3. ภักติมรรค (ภักติโยคะ) การปฏิบัติ คือการปลูกศรัทธาและความจงรักภักดีต่อ เทพเจ้าที่ตนเคารพนับถือ ผู้ปฏิบัติเรียกว่า ภักติโยคิน

   4. ราชมรรค (ราชโยคะ) เป็นทางปฏิบัติเกี่ยวกับการฝึกทางใจ มุ่งบังคับใจให้อยู่ในอำนาจด้วยการบำเพ็ญโยคะกิริยา ผู้ปฏิบัติเรียกว่า ราชโยคิน

 

 


8) ฟื้น ดอกบัว. ศาสนาเปรียบเทียบ. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2549 หน้า 38.


หนังสือ DF 404 ศาสนศึกษา
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011454820632935 Mins