พระพุทธศาสนาในตะวันตก ประเทศอังกฤษ

วันที่ 21 เมย. พ.ศ.2560

พระพุทธศาสนาในตะวันตก
ประเทศอังกฤษ

พระพุทธศาสนาในตะวันตก ประเทศอังกฤษ, DOU, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พระพุทธศาสนา, ความรู้พระพุทธศาสนา, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ประเทศอังกฤษ

   ประเทศอังกฤษมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland) หรือนิยมเรียกสั้นๆว่าสหราชอาณาจักร ( United Kingdom ย่อว่า UK) ประกอบด้วยดินแดน 4ส่วน คือ 3 ชาติบนเกาะบริเตนใหญ่ ได้แก่ อังกฤษ กอตแลนด์ และเวลส์ กับอีก 1 ชาติบนเกาะไอร์แลนด์ คือ ไอร์แลนด์เหนือสหราชอาณาจักรมีประชากรประมาณ 60,441,457 คน (ก.ค.2548) ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ (ประมาณ 70-80% ) และจากข้อมูลใน 2001 UK census  (พ.ศ.2544) มีประชากรจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีศาสนา (Non-Religious) คือ ประมาณ 9,337,580 คน หรือประมาณ 10 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 6 ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้จากการสำรวจของ BBC ในปี พ.ศ.2547 พบว่ามีประชากรถึง 40%  คือ เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ ที่ไม่เชื่อเรื่องการมีอยู่ของพระเจ้า (Atheists, Agnostic)

           สำหรับพุทธศาสนิกชนในประเทศอังกฤษนั้น จากข้อมูลใน The 2001 UK census  (พ.ศ.2544) ระบุว่ามีประมาณ 151,283 คน ปัจจุบันมีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาประมาณ 435 องค์กร และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ปริมาณพุทธศาสนิกชนที่เปิดเผยตนเองเหล่านี้จะยังมีไม่มาก แต่ชาวพุทธเหล่านี้ก็เป็นผู้มีศักยภาพ เพราะมีปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนาอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะศาสตราจารย์ริ เดวิดส์ ผู้ก่อตั้งสมาคมบาลีปกรณ์ (The Pali Text Society) ซึ่งทำหน้าที่ในการแปลและจัดพิมพ์คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา คือ พระไตรปิฎกและอรรถกถา เป็นต้น โดยแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาต่างๆ ออกสู่ชาวโลก ทำให้พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแพร่หลายอย่างกว้างขวาง

           ดร.ริชาร์ด มอร์ริส ประธานสมาคมนิรุกติศาสตร์ กล่าวปราศรัยสรรเสริญ ศ.ริส เดวิดส์ ไว้ในปี พ.ศ.2418 ว่า "มีปราชญ์ภาษาบาลีมากหลายในประเทศนี้ แต่ ศ.ริส เดวิดส์ เท่านั้นที่สร้างองค์กรการศึกษาภาษาบาลีขึ้นในตะวันตก ปูทางให้พระพุทธศาสนากลายเป็นคำพูดประจำครอบครัว แสดงคุณค่าของพระพุทธศาสนาให้เป็นภาษาแห่งความรู้ประเภทพิเศษแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางจิตภาพหรือทางศาสนาต่อมนุษยชาติ..."

         พระพุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่เข้าสู่ประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2393 โดยนายสเปนเซอร์ อาร์คี ได้พิมพ์หนังสือศาสนจักรแห่งบูรพาทิศออกเผยแพร่ แต่ยังไม่มีผู้ นใจมากนัก จนกระทั่งเซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์ เขียนหนังสือประทีปแห่งเอเชียขึ้นและพิมพ์เผยแพร่ใน ปี พ.ศ. 2422 หนังสือเล่มนี้ได้รับความสนใจจากชาวอังกฤษและชาวตะวันตกอย่างกว้างขวางมีสถิติการพิมพ์มากกว่า 150 ครั้ง (นับถึงปี พ.ศ.2470)

       เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์ เขียนหนังสือเล่มนี้ในช่วงเวลาที่ประเทศอังกฤษเผชิญกับวิกฤตการณ์ในเรื่องประเทศทางตะวันออก ดินแดนที่เป็นเมืองขึ้น เขาเขียนที่ Hamlet House และในรถไฟขณะเดินทาง เขาเขียนลงบนซองจดหมายบ้าง ขอบกระดาษที่ว่างของหนังสือพิมพ์บ้างด้านหลังรายการอาหารบ้าง แม้หลังกระดุมข้อมือเสื้อเชิ้ตก็เคยใช้ในการเขียนบทกวี ในยามที่ไม่มีปากกาอยู่ในมือ ก็จะใช้ดินสอเขียน หากไม่มีดินสอ ก็จะใช้ชิ้นเล็กๆ ของไม้จุดไฟเตาผิงเป็นอุปกรณ์การเขียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทยได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณส์ สกุลช้างเผือกแก่เขา ในฐานะที่ได้ประกอบคุณงามความดีเผยแพร่พระพุทธศาสนาในพระราชสาสน์ที่พระราชทานมาพร้อมเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระบุชัดเจนว่า คำอธิบายเรื่องพระพุทธศาสนาของเขามิได้ถูกต้องสมบูรณ์ แต่ทรงแสดงความขอบพระทัยในฐานะที่เขาเขียนเรื่องพระพุทธศาสนาเผยแพร่ในภาษาที่ใช้กันกว้างขวางที่สุดในโลก

           ศ.ที ดับเบิลยู ริส เดวิดส์ ได้จัดตั้งสมาคมบาลีปกรณ์ขึ้นในปี พ.ศ.2424 เขากล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งว่า "...ข้าพเจ้ามีปณิธานแน่วแน่ที่จะถ่ายทอดคลังมหาสมบัติของคัมภีร์พระพุทธศาสนา ซึ่งกาลบัดนี้ ยังมิได้มีการจัดพิมพ์ และมิได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตประจำวัน คัมภีร์เหล่านี้ถูกเก็บรักษาไว้กระจัดกระจายในห้องสมุดมหาวิทยาลัยทั้งหลายและในห้องสมุดสาธารณะทั้งหลายทั่วทวีปยุโรป..." พระไตรปิฎกภาษาอังกฤษ 2 เล่มแรกที่จัดพิมพ์ในชุด  Scared Books of the Buddhist Series ในปี พ.ศ.2438 และ พ.ศ.2442 ตามลำดับ ได้รับทุนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวส่วนพระไตรปิฎกเล่มที่ 3 และ 4 ได้รับทุนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรไทย

       เมื่อพระพุทธศาสนาเป็นที่รู้จักของชาวอังกฤษมากขึ้น จึงเป็นผลให้เริ่มมีผู้ศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิต โดยในปี พ.ศ.2442 กอร์ดอน ดักลา (Gordon Douglas) ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุรูปแรกของชาวอังกฤษในกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา และเป็นพระภิกษุชาวตะวันตกรูปแรกด้วย ได้รับฉายาว่า อโศกะ

       หลังจากนั้น ในปี พ.ศ.2445 ชาร์ลส์ เฮนรี่ อัลเลน เบอร์เนตต์ (Charles Henry Allen Bernett) เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาเพราะได้อ่านหนังสือประทีปแห่งเอเซีย จึงสละเพศฆราวาส อุปสมบทในโคลัมโบเช่นกัน ได้รับฉายาว่า อานันทเมตเตยยะ เมื่อบวชได้ 1 ปี ก็เดินทางไปประเทศพม่า ได้ออกวารสารรายเดือนภาษาอังกฤษในพม่าชื่อ   ซึ่งเป็นวารสารที่ลงข่าวความเคลื่อนไหวของพระพุทธศาสนาทั่วโลก โดยมีพระศีลาจาระ ชาวกอตแลนด์ ซึ่งอุปสมบทในพม่าเป็นผู้ช่วย วารสาร The Buddhist ส่งไปจำหน่ายในสหราชอาณาจักรด้วย โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันพระพุทธศาสนาซึ่งขณะนั้นเพียงแค่ศึกษากันในรั้วมหาวิทยาลัย ให้กลายเป็นศาสนาที่มีชีวิตคืออยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของชาวตะวันตกพระอานันทเมตเตยยะยังเป็นพระภิกษุรูปแรกที่นำพระธรรมทูตจากพม่าไปเผยแผ่ในตะวันตก


พระพุทธศาสนาในตะวันตก ประเทศอังกฤษ, DOU, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พระพุทธศาสนา, ความรู้พระพุทธศาสนา, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ประเทศอังกฤษ

   พระพุทธศาสนาในประเทศอังกฤษเริ่มออกจากรั้วมหาวิทยาลัยไปอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชนเมื่อ อาร์.เจ.แจกสัน (R.J.Jackson) ได้ประกาศต่อสาธารณชนว่า เขาคือชาวพุทธผู้ดำรงชีวิตตามหลักพุทธธรรมโดยไม่หวาดหวั่นต่อการถูกประณาม เชื่อกันว่าเขาคือชาวพุทธอังกฤษคนแรกที่ประกาศตนอย่างเปิดเผย หลังจากประกาศตนแล้ว ในปี พ.ศ.2449 อาร์.เจ.แจกสันก็เริ่มเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยยืนบรรยายบนลังสบู่ในสวนสาธารณะ

       ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เจ.อาร์.เปน (J.R.Pain) อดีตทหารบกซึ่งเคยประจำการอยู่ในพม่าได้เปิดร้านขายหนังสือพระพุทธศาสนา ณ ถนนเบอร์รี่ ตำบลบูมเบอร์รี่ และได้รับวารสาร The Buddhist จากพม่ามาขายด้วย ชาวอังกฤษสนใจซื้ออ่านวารสารนี้กันมาก อาร์.เจ.แจกสันและเจ.อาร์.เปน ร่วมมือกันก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งแรกขึ้นในกรุงลอนดอน และในปี พ.ศ.2450 ด้วยความร่วมมือกับ ศ.ริส เดวิดส์ และพระอานันทเมตเตยยะ พุทธสมาคมแห่งนี้ ได้ขยายเครือข่ายเป็นพุทธสมาคมแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ (Buddhist Society of Great Britain and Ireland) โดย ศ.ริส เดวิดส์ เป็นประธาน ได้พิมพ์วารสารพุทธศาสตร์ปริทัศน์เผยแพร่ด้วย

        หลังจากนั้นพุทธสมาคมต่างๆ ก็ได้ก่อตั้งขึ้นตามเมืองต่างๆ ในอังกฤษ โดยในปี พ.ศ.2491 นาง เอ.เรนท์ (A.Rant) ได้จัดตั้งสมาคมพุทธวิหารประเทศอังกฤษ (Buddhist Vihara Society of England) และรวบรวมผู้มีจิตศรัทธาช่วยกันก่อสร้างวัดพุทธวิหารกรุงลอนดอนขึ้นในปี พ.ศ.2497 โดยเริ่มแรกสร้างบนพื้นที่เช่าในโอวิงตัน การ์เดน พระดร.เอช.สัทธาติสสะ ชาวศรีลังกาเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาได้ซื้อที่ดินและสร้างวัดขึ้นใหม่ ตั้งอยู่เลขที่ 5, Heathfield Gardens, London, W4 ท่านสัทธาติสสะเป็นพระภิกษุที่ฉลาดในการเทศน์สอนธรรมะด้วยภาษาง่ายๆ จึงมีผู้เลื่อมใสมากมาย พุทธศาสนิกชนที่เข้าวัดเป็นประจำยุคนั้นมีประมาณ 200 คน ส่วนมากเป็นชาวอังกฤษ นอกจากนี้ เมืองใหญ่ๆ ในอังกฤษเกือบทุกเมืองสมัยนั้นจะมีชุมนุมศึกษาพระพุทธศาสนา (Buddhist Study Circles) ทำหน้าที่เผยแผ่พุทธธรรมเพื่อเป็นแสงสว่างนำทางชีวิตแก่ชาวอังกฤษ

         นอกจากพระสงฆ์จากประเทศศรีลังกาแล้ว ยังมีพระสงฆ์ชาวเอเชียชาติอื่น เช่น พม่า จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ได้เข้าไปเผยแผ่เช่นกัน ในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2499 จึงมีการจัดตั้งคณะสงฆ์คณะแรกขึ้นในอังกฤษ ทั้งนี้ก็เพื่อให้การทำงานพระศาสนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพก่อตั้งโดยท่านกบิลวัฑโภิกขุ (W.A.Purfust) ซึ่งอุปสมบทที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.2497 จากนั้นไม่นานในปี พ.ศ.2510 พระภิกษุชาวอังกฤษชื่อพระสังฆรักษิตสถวีระ ซึ่งอุปสมบทในอินเดีย ได้ก่อตั้งสหายสังฆมณฑลพระพุทธศาสนาประเทศตะวันตก The Friends of Western Buddhist Order (FWBO) ขึ้นในประเทศอังกฤษปัจจุบัน FWBO เป็นองค์กรพระพุทธศาสนาในระดับแนวหน้ามีสาขาขยายไปมากมายทั่วอังกฤษ

      ส่วนคณะสงฆ์ไทยก็ได้จัดส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่ในอังกฤษด้วยเช่นกัน เริ่มโดยประธานสังฆสมาคมประเทศอังกฤษส่งหนังสือเชิญผู้แทนสงฆ์ไทยไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในปี พ.ศ.2507 ในขณะนั้นรัฐบาลไทยโดยการนำของจอมพลถนอม กิตติขจร อนุมัติให้ดำเนินการ โดยมีพระธรรมทูตชุดที่ 1 คือ พระราชสิทธิมุนี (โชดก ปธ.9) พระมหาวิจิตรติสฺสทตฺโต เป็นพระสหจร และนายภานุพงษ์ มุทุกันต์ เป็นไวยาวัจกร มีกำหนดเวลาเผยแผ่เป็นเวลา 3 ปี เริ่มปฏิบัติศาสนกิจวันแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2507
 

พระพุทธศาสนาในตะวันตก ประเทศอังกฤษ, DOU, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พระพุทธศาสนา, ความรู้พระพุทธศาสนา, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ประเทศอังกฤษ

       ต่อมา ชาวพุทธไทยในอังกฤษได้ช่วยกันสร้างวัดไทยวัดแรกขึ้นในกรุงลอนดอนสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2508 และจัดพิธีเปิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จเป็นประธานในพิธีเปิด ทรงพระราชทานนามว่า วัดพุทธประทีป หลังจากนั้นมีวัดและองค์กรพุทธเกิดขึ้นอีกหลายองค์กร เช่น ศูนย์วิปัสสนากรรมฐานนานาชาติ (พ.ศ.2514) วัดสังฆทาน (พ.ศ.2532) วัดป่าจิตตวิเวก (พ.ศ.2539) วัดพุทธวิหารแอสตัน (พ.ศ.2537) เป็นต้น

       สำหรับพระพุทธศาสนามหายานนิกายต่างๆ ในประเทศอังกฤษนั้น เริ่มแรกนิกาย โซกะ กัคไค (SGI) ซึ่งเป็นสายหนึ่งของมหายานนิกายนิชิเร็นได้เข้ามาเผยแผ่ในปี พ.ศ.2503 โดยเริ่มจากเพียงคนเดียว จากนั้นมีการเติบโตรวดเร็วมาก ปัจจุบัน โซกะ กัคไค เป็นองค์กรพุทธที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษ มีมากกว่า 450 กลุ่ม

        ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 เพ็กกี เค็นเน็ท (Peggy Kennett) ภิกษุณีชาวอังกฤษ ได้นำพระพุทธศาสนานิกายโซโตเซน (SoTo Zen) จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเผยแผ่ โดยก่อตั้งสมาคม British Zen Mission Society ขึ้น ภายหลังเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น  OBC (The Order of Buddhist Contemplatives) ปัจจุบัน OBC เป็นองค์กรพุทธที่ใหญ่ที่สุดของนิกายเซนในเกาะอังกฤษ และมีขนาดเป็นอันดับที่สี่เมื่อเทียบกับนิกายอื่นๆ โดยโซกะ กัคไค เป็นอันดับหนึ่ง องค์กร FWBO ซึ่งก่อตั้งโดยท่านสังฆรักษิต ถวีระเป็นอันดับสอง และพระพุทธศาสนาทิเบตกลุ่ม NKT เป็นอันดับสาม แต่เดิม เพ็กกี เค็นเน็ท เป็นชาวพุทธนิกายเถรวาท ภายหลังหันมานับถือมหายานนิกายเซนโดยการชักนำของ ดร.ดี ที ซูสุกิ และได้บวชเป็นภิกษุณีโดยคณะสงฆ์จีนที่ประเทศมาเลเซีย หลังจากนั้นก็ไปศึกษาเซนที่ประเทศญี่ปุ่น

      ส่วนพระพุทธศาสนาทิเบตนั้น ในปี พ.ศ.2534 พระภิกษุชาวทิเบตชื่อ เกสเช เคนซัง กะยัทโซ (Geshe Kelsang Gyatso) ได้ก่อตั้งองค์กร  The New Kadampa Tradition (NKT) ขึ้น ปัจจุบัน NKT ประสบความสำเร็จสูงสุดในบรรดาพระพุทธศาสนาทิเบตทุกนิกายในอังกฤษ NKTอยู่ในนิกายกาดัมหรือเกลุก (Kadam or Gelug) ซึ่งเป็นนิกายในสังกัดขององค์ทะไล ลามะ ผู้นำสงฆ์แห่งทิเบต

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.052972634633382 Mins