สรรพศาสตร์ในทางโลก "วาทศาสตร์"

วันที่ 08 พค. พ.ศ.2560

สรรพศาสตร์ในทางโลก 
วาทศาสตร์

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , วาทศาสตร์

1.) ความหมายของวาทศาสตร์
      วาทศาสตร์ หมายถึง วิชาที่ศึกษาถึงการสื่อสารความคิด และความรู้สึก โดยการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้และรับฟังได้ ซึ่งมนุษย์จะต้องใช้สัญลักษณ์เหล่านี้ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของตนไปสู่ผู้อื่น หรือ จากผู้พูดไปสู่ผู้ฟัง
 
    Baird และ Knower อธิบายว่า วาทศาสตร์นั้น ศึกษาถึงการสื่อสารความรู้สึกนึกคิด ภาษาเสียง การแสดงออก กิริยาท่าทาง และบุคลิกของผู้พูด ซึ่งการสื่อสารนี้อาจจะกระทำขึ้นเพื่อบอกกล่าวชี้แจงไปยังผู้ใดผู้หนึ่งหรือผู้อื่นหลายๆ คน และอาจจะกระทำขึ้นเพื่อต้องการมีอิทธิพลต่อทัศนคติ พฤติกรรมของผู้อื่น เพื่อให้สอดคล้องกับความมุ่งหมายของผู้พูด

        สรุปแล้ววาทศาสตร์ หมายถึง ศาสตร์แห่งการพูดนั่นเอง

       วาทศาสตร์เป็นวิชาที่มีผู้สนใจศึกษากันมาก ทั้งนี้เพราะช่วยส่งเสริมอาชีพหลักทั้งหลายแทบทุกอาชีพให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น บุคคลไม่ว่าจะมีอาชีพใด ก็ต้องใช้การพูดทั้งสิ้น หากบุคคลเหล่านี้มีความสามารถในการพูดได้อย่างมีประสิทธิผล ก็ย่อมได้เปรียบและมีโอกาสประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากขึ้น


2.) กระบวนการติดต่อสื่อสาร
      กระบวนการติดต่อสื่อสาร หมายถึง กระบวนการในการแลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดอารมณ์ ข้อมูล ข่าวสาร ทัศนะ ของบุคคลตั้งแต่ องคนขึ้นไป การสื่อสารจึงเป็นปฏิกิริยาสัมพันธ์ทางสังคมที่สื่อความหมายผ่านระบบสัญลักษณ์และระบบข่าวสาร โดยมีส่วนประกอบที่สำคัญ 4 ประการ คือ ผู้ส่งสารหรือผู้พูด,สารหรือเรื่องราวที่พูด, ช่องทางและ ผู้รับสารหรือผู้ฟัง

      (1) ผู้ส่งสารหรือผู้พูด (Sender or Speaker) คือ แหล่งต้นตอของการติดต่อสื่อสาร หมายถึง บุคคลที่เริ่มทำ การติดต่อสื่อสารก่อน

    (2) สารหรือเรื่องราวที่พูด (Message) คือ เนื้อหาสาระหรือสัญลักษณ์ ภาษาสัญญาณต่างๆ ที่สื่อความหมายให้เป็นที่เข้าใจกันได้

      (3) ช่องทาง (Channal) คือ วิถีทางหรือหนทางที่ชักนำเอาข่าวสารนั้นไปสู่ผู้รับ หรือเป็นตัวนำสารนั้นไปสู่ผู้ฟัง ซึ่งมีอยู่หลายช่องทาง เช่น การพูด การเขียน เป็นต้น

     (4) ผู้รับสารหรือผู้ฟัง (Receiver or Listener) คือ บุคคลหรือกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายของการสื่อสาร ผู้รับหรือ ผู้ฟังจึงเป็นเป้าหมายที่ผู้ส่งสารหรือผู้พูดตั้งใจจะส่งสาร เพื่อให้ผู้รับสารหรือผู้ฟังเข้าใจในสารนั้นตามที่ผู้พูดประสงค์


3.) หลักสำคัญของการติดต่อสื่อสาร
     หลักสำคัญของการติดต่อสื่อสารมีอยู่อย่างน้อย 7 ประการ คือ ความน่าเชื่อถือ, ความเหมาะสมกลมกลืนกับ ภาพแวดล้อม, เนื้อหาสาระ, ความชัดเจน, ความต่อเนื่องและความสม่ำเสมอ, ช่องทางในการสื่อสาร และขีดความสามารถของผู้รับ

     (1) ความน่าเชื่อถือ
      การติดต่อสื่อสารจะต้องเริ่มด้วยบรรยากาศแห่งความน่าเชื่อถือเมื่อผู้รับสารเชื่อมั่นแล้วการสื่อสารก็จะสำเร็จผลได้โดยง่าย เพราะผู้รับสารจะมีความตั้งใจรับสารนั้นๆ

     (2) ความเหมาะสมกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม
     การติดต่อสื่อสารนั้นจะต้องเหมาะสมกลมกลืนกับความเป็นจริงแห่งสภาพแวดล้อมนอกจากนี้การติดต่อสื่อสารยังควรจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้รับมีส่วนร่วมและซักถามด้วย เพื่อความเข้าใจดียิ่งขึ้นในสารนั้นๆ

     (3) เนื้อหาสาระ
       เนื้อหาสาระของข่าวสารจะต้องมีความหมายต่อผู้รับเสมอ จะต้องสอดคล้องไม่ขัดแย้งต่อระบบค่านิยมของเขา และที่สำคัญมนุษย์จะเลือกรับข่าวสารที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์แก่เขาหากเห็นว่าไร้ประโยชน์เขาย่อมไม่สนใจในข่าวสารนั้น

     (4) ความชัดเจน
        ในการติดต่อสื่อสาร ข่าวสารจะต้องมีความชัดเจน โดยอาจใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่ง่ายๆ เพื่อความเข้าใจชัดเจน ตรงกันทั้งผู้ส่งผู้รับ ข่าวสารที่มีความสลับซับซ้อนเข้าใจยาก อาจจะนำมาทำเป็นหัวข้อคำขวัญ ที่สั้นๆ ง่ายๆ เพื่อให้เข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

     (5) ความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
          การติดต่อสื่อสารเป็นกระบวนการที่ไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้น การติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ จะต้องมีการย้ำเตือนเสมอ เพื่อให้ซึมซาบในจิตใจผู้รับ

     (6) ช่องทางในการสื่อสาร
      ช่องทางในการสื่อสารคือ ตัวเชื่อมประสานระหว่างผู้ส่งกับผู้รับ ทำให้ผู้ส่งและผู้รับสามารถทำการติดต่อสื่อสารกันได้ ผู้ส่งสารจะต้องเลือกใช้ช่องทางในการสื่อสารที่ผู้รับมีใช้อยู่หรือสามารถจะรับได้และมีความเชื่อถือในช่องทางการสื่อสารนั้นด้วย

     (7) ขีดความสามารถของผู้รับ
       ในการติดต่อสื่อสารนั้น เราต้องคำนึงถึงความสามารถของผู้รับสารด้วย การติดต่อสื่อสารจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด ถ้าหากสามารถทำให้ผู้รับใช้ความพยายามในการรับสารลดน้อยลงมากที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถด้านต่างๆ ของผู้รับ เช่น อุปนิสัยใจคอ และพื้นฐานความรู้ของผู้รับสาร


4.) การเตรียมตัวพูดอย่างมีประสิทธิภาพ
      การเตรียมตัวพูดอย่างมีประสิทธิภาพควรมีขั้นตอนอย่างน้อย 8 ประการคือ การเลือกเรื่องที่จะพูด การตั้งวัตถุประสงค์ในการพูดให้ชัดเจน การค้นคว้ารวบรวมเนื้อหาที่จะนำมาพูดการจัดระเบียบเรียบเรียงเรื่องที่จะพูด การฝึกซ้อมก่อนพูดจริง การนำเสนอ และการวิเคราะห์ประเมินผล

       (1) การเลือกเรื่องที่จะพูด
       การเลือกเรื่องที่จะพูดต้องใช้วิจารณญาณเลือกเรื่องให้เหมาะสมแก่ผู้ฟัง โอกาสกาลเทศะ และจุดมุ่งหมายในการพูดนั้นๆ ด้วย และควรพิจารณาว่าเรื่องที่จะพูดนี้ตนเองมีความถนัดดีเพียงไรและจะต้องศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอีกอย่างไร นอกจากนี้ควรเลือกเรื่องที่น่าสนใจและมีประโยชน์เหมาะแก่การฟังด้วย

       (2) การวิเคราะห์ผู้ฟัง
         การวิเคราะห์ผู้ฟังเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้พูดจะละเลยไม่ได้ เพราะจะช่วยให้ผู้พูดสามารถทราบถึงเงื่อนไขต่างๆของผู้ฟัง เช่น อายุ เพศ พื้นฐานการศึกษา ความสนใจทัศนคติ ถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมเนื้อหาที่จะพูด

      (3) การตั้งวัตถุประสงค์ในการพูดให้ชัดเจน
       การตั้งวัตถุประสงค์การพูดเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการพูดโดยไม่มีวัตถุประ งค์อาจกลายเป็นพูดเพ้อเจ้อไร้สาระหาประโยชน์มิได้ ซึ่งโดยทั่วไปการพูดมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือการพูดเพื่อให้ความรู้ การพูดเพื่อโน้มน้าวชักจูงใจ และการพูดเพื่อความเพลิดเพลิน จรรโลงใจ

      (4) การค้นคว้ารวบรวมเนื้อหาที่จะนำมาพูด
        ผู้พูดจะต้องทำการค้นคว้าหาความรู้ และรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อมูล ข่าวสาร ข้อเท็จจริงสถิติต่างๆ เพื่อนำมาจัดลำดับให้เหมาะสมแก่การนำไปเสนอแก่ผู้ฟัง

      (5) การจัดระเบียบเรียบเรียงเรื่องที่จะพูด
         การจัดระเบียบเรียบเรียงเรื่องที่จะพูดนั้น แบ่งเป็น 3 ส่วนคือคำนำ เนื้อเรื่อง และ สรุป

     คำนำ เป็นการพูดให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ และมีความกระตือรือร้นที่จะฟังต่อไปด้วยความตั้งใจคำนำนั้นควรกล่าวสั้นๆ แต่เร้าใจ อาจใช้สุภาษิตคำคมคำพังเพย ฯลฯ ขึ้นนำเพื่อเรียกร้องความสนใจควรใช้เวลาในการพูดประมาณ 10 %

      เนื้อเรื่อง เป็นส่วนสาระสำคัญของเรื่อง ซึ่งผู้พูดจะต้องใช้เวลาส่วนมากในการพูดคือประมาณ 85 % ผู้พูดจะต้องเรียงลำดับเรื่องให้เป็นระเบียบ จากง่ายไปหายากสิ่งใดควรพูดก่อนสิ่งใดควรพูดในตอนหลัง อย่าให้ยอกย้อน เพราะจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจยาก และเนื้อเรื่องจะต้องมีความถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริง มีความกะทัดรัด ชัดเจน กระจ่างแจ้ง ไม่คลุมเครือ และอาจมีตัวอย่างประกอบเพื่อความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น การใช้ตัวอย่างควรเป็นสิ่งที่ผู้ฟังคุ้นเคย อาจจะเป็นตัวอย่างที่ใกล้ตัวเห็นได้ชัดในชีวิตประจำวัน

      สรุป เป็นการทิ้งท้ายหรือปิดท้ายเรื่องที่พูด ซึ่งผู้พูดควรสรุปให้ผู้ฟังประทับใจ การ สรุปอาจลงท้ายด้วยการเน้น ย้ำ ทบทวนประเด็นสำคัญโดยย่อหรือให้ข้อคิดสั้นๆ ที่สอดคล้องกับเรื่องที่พูด และควรใช้เวลาในการพูดประมาณ 5 %

      (6) การฝึกซ้อมก่อนพูดจริง
         การฝึกซ้อมก่อนพูดจริงจะทำให้ผู้พูดเกิดความพร้อมและความเชื่อมั่นในตนเองยิ่งขึ้นนอกจากนี้ยังทำให้ผู้พูดเกิดความคุ้นเคยกับเนื้อหาที่เตรียมมาพูด ทำให้สามารถกะประมาณความยาวของการพูดให้พอดีกับระยะเวลาที่กำหนดไว้

      (7) การนำเสนอ
      คือการพูดออกไปตามที่ได้ตระเตรียมไว้เป็นอย่างดีแล้ว โดยอาจมีแผ่นโน้ตย่อหัวข้อถือไว้หรืออาจไม่มีก็ได้ ให้นำเสนอไปอย่างดีที่สุด อย่าวิตกกังวล หรือประหม่าตื่นเต้นเกินไป เพราะจะทำให้เกิดสับ นได

      (8) การวิเคราะห์ประเมินผล
     เมื่อพูดเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่ละครั้งก็ควรมีการวิเคราะห์ประเมินผลทุกครั้งเพื่อให้ทราบว่าการพูดของเราเป็นเช่นไร ซึ่งต้องประเมินด้วยใจเป็นธรรมไม่เข้าข้างตัวเอง เพื่อหาทางปรับปรุงการพูดให้ดียิ่งขึ้น

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0019844015439351 Mins