สรรพศาสตร์ในทางโลก "เศรษฐศาสตร์"

วันที่ 08 พค. พ.ศ.2560

สรรพศาสตร์ในทางโลก
เศรษฐศาสตร์

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , เศรษฐศาสตร์

1.) ความหมายของเศรษฐศาสตร์
     คำว่า เศรษฐศาสตร์ (Economics) มาจากภาษากรีกว่า oikos แปลว่า ครัวเรือน และ nomos แปลว่า กฎระเบียบ ดังนั้นรวมกันแล้วจึงหมายความว่า "การจัดการในครัวเรือน" ส่วนคำว่า "เศรษฐกิจ" (Economy) มาจากภาษากรีก 2 คำรวมกันคือ Oikos หมายถึง บ้าน และ หมายถึง การจัดการ ดังนั้น เศรษฐกิจ จึงหมายถึง "การจัดการบ้าน" จะเห็นว่าคำว่าเศรษฐกิจมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าเศรษฐศาสตร์มาก

    อัลเฟรด มาร์แชลล์ (Alfred Marshall) กล่าวถึงความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์ไว้ว่าเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งในระดับบุคคลและสังคม ในการดำเนินกิจกรรมทาง "เศรษฐกิจ" เพื่อการดำรงชีพให้ได้รับความสุขสมบูรณ์ ดังนั้นเศรษฐศาสตร์จึงเป็นวิชาที่ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจนั่นเอง

      วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน ได้นิยามคำว่า เศรษฐศาสตร์ ไว้ว่า เศรษฐศาสตร์คือ ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเลือกหนทางในการใช้ทรัพยากรการผลิตอันมีอยู่จำกัดสำหรับการผลิตสินค้าและบริการให้กับมนุษย์ซึ่งมีความต้องการอย่างไม่จำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

       คำว่า "ทรัพยากร" หมายถึงสิ่งทั้งปวงอันเป็นทรัพย์ ซึ่ง "ทรัพย์" หมายถึงสิ่งที่ถือว่ามีค่า ได้แก่ วัตถุมีรูปร่าง เช่น เงินตรา,สิ่งอื่นๆ หรือ วัตถุที่ไม่มีรูปร่าง เช่น ปัญญา เรียกว่า อริยทรัพย์  ส่วนทรัพยากรการผลิต หมายถึง ทรัพยากรที่นำมาผลิตสินค้าและบริการ แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ ที่ดิน แรงงาน ทุน และ ผู้ประกอบการ


2.) ประเภทของเศรษฐศาสตร์
      2.1) เศรษฐศาสตร์มหภาค คือ การศึกษาเศรษฐกิจทั้งระบบหรือทั้งประเทศ ได้แก่ รายได้ประชาชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ การบริโภค การออม การลงทุน และระดับการจ้างงานโดยทั่วไป การใช้จ่ายของรัฐบาล การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพันาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น

       2.2) เศรษฐศาสตร์จุลภาค คือ การศึกษาเศรษฐกิจของหน่วยย่อย เช่น ครัวเรือนหน่วยธุรกิจ บริษัท ห้างร้านต่างๆ การกำหนดราคาของสินค้าแต่ละชนิด ต้นทุนและปริมาณการผลิตของสินค้าแต่ละชนิด การกำหนดราคาของปัจจัยการผลิต เป็นต้น


3.) เป้าหมายของเศรษฐศาสตร์
  เป้าหมายสูงสุดของเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะระดับมหภาคนั้นคือ การศึกษาเพื่อแสวงหาแนวทางทำให้ประชาชนในประเทศอยู่ดีกินดี (Maximize Social Welfare) กล่าวคือ จะต้องทำให้เศรษฐกิจของประเทศดี มีการจ้างงานอย่างเต็มที่ เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงคือ รายได้ไม่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มีการกระจายไปสู่มือของประชาชนทั่วทุกครัวเรือน ปัญหาความอดอยากยากจนได้รับการจัดการแก้ไข เป็นต้น


4.) อุปสงค์และอุปทาน
       4.1) อุปสงค์ (Demand) คือ ปริมาณความต้องการสินค้า ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง โดยความต้องการดังกล่าวนี้ต้องเป็นความต้องการที่สามารถจ่ายได้ แต่โดยทั่วไปเมื่อระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นหรือสินค้าแพงขึ้นความต้องการสินค้าชนิดนั้นจะลดลง

     4.2) อุปทาน (Supply) คือ ปริมาณเสนอขายสินค้า ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปเมื่อระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นหรือสินค้าแพงขึ้น ผู้ขายจะยินดีเสนอขายสินค้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเมื่อใดที่สินค้าถูกขายในตลาด ณ ระดับราคาที่ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้ามากกว่าจำนวนสินค้าที่ผลิตได้ ก็จะเกิดการขาดแคลนสินค้าขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ในทางตรงข้ามระดับราคาจะต่ำลงเมื่อปริมาณสินค้ามีมากกว่าความต้องการ กระบวนการดังกล่าวจะดำเนินไปจนกระทั่งตลาดเข้าสู่จุดดุลยภาพ ซึ่งเป็นจุดที่อุปสงค์กับอุปทานมีความ สมดุลพอดีกัน


5.) ระบบเศรษฐกิจ
    ระบบเศรษฐกิจ (Economy system) หมายถึง ระบบการกำหนดกรรมสิทธิ์และวิธีในการบริหารจัดการแรงงานและทรัพยากรในการผลิตการกระจาย และการบริโภคของประชาชนในแต่ละประเทศ ซึ่งระบบเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ได้แก่ ระบบทุนนิยมหรือระบบนายทุน, ระบบสังคมนิยม และระบบเศรษฐกิจผสม

5.1) ระบบทุนนิยม (Capitalism)
      ระบบทุนนิยม หมายถึง ระบบเศรษฐกิจที่เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตน การตัดสินใจทางเศรษฐกิจเป็นกิจกรรมส่วนบุคคลไม่ใช่การควบคุมบริหารโดยรัฐ ซึ่งลักษณะสำคัญของระบบทุนนิยมมีดังนี้

    (1) เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทั้งที่เป็นปัจจัยการผลิตและทรัพย์สินอื่นๆ เอกชนมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกใช้ทรัพย์สินของตนอย่างเต็มที่

       (2) เอกชนเจ้าของทรัพย์สินหรือเจ้าของธุรกิจเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต ตั้งแต่การริเริ่มกิจการ การเลือกใช้ทรัพยากรการผลิต วิธีการผลิต และการกำหนดราคาสินค้าและบริการของตน

       (3) กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปโดยผ่านกลไกของราคาหรือกลไกตลาด กล่าวคือผู้ผลิตจะตัดสินใจการผลิตสินค้าและบริการตามความต้องการของตลาดโดยคำนึงถึงกำไรเป็นสำคัญ กำไรจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดของระบบทุนนิยม

        (4) อาจมีการผูกขาดการผลิตได้โดยกลุ่มที่มีทุนมากจะขยายการผลิตมากทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำส่วนผู้ที่มีทุนน้อยไม่อาจขยายการผลิตขนาดใหญ่ได้ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงเมื่อต้นทุนสูงจึงต้องขายแพงเป็นเหตุให้ขายไม่ออก ในที่สุดจึงต้องยกเลิกธุรกิจไป

        (5) การกระจายรายได้ขาดความเสมอภาคและความเป็นธรรม กล่าวคือคนกลุ่มน้อยจะมีความมั่งคั่งมากแต่คนส่วนใหญ่ในสังคมจะมีฐานะพอมีอันจะกินจนถึงขนาดยากจน

       (6) ทำให้กลุ่มนายทุนครอบงำการกำหนดนโยบายบริหารประเทศ เพราะกลุ่มนายทุนมีอิทธิพลทางการเงินมากสามารถใช้อิทธิพลทางการเงินเข้าครอบงำทางการเมืองการปกครองได้

5.2) ระบบสังคมนิยม (Socialism)
       ระบบสังคมนิยม หมายถึง ระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากแนวคิดหลักคือ ต้องการให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นของส่วนรวมเพื่อลดความบกพร่องของระบบทุนนิยม โดยเฉพาะการเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มนายทุนทั้งหลาย ระบบสังคมนิยมมี 3 แบบหลักๆ คือสังคมนิยมอุดมคติสังคมนิยมประชาธิปไตย และสังคมนิยมมาร์กซิ ต์หรือคอมมิวนิสต์

(1) สังคมนิยมอุดมคติ (Utopian Socialism)
      แนวคิดนี้มีมาตั้งแต่โบราณว่าด้วยการจัดสังคมให้ทุกคนมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์สินและมนุษย์มีความเท่าเทียมกันทั้งในทางสังคม ทางการปกครอง และทางเศรษฐกิจ มีการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือกัน อันทำให้สังคมมีแต่สันติสุขปราศจากการทะเลาะ แก่งแย่งชิงดีกัน

(2) สังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic Socialism)
     เป็นระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากแนวคิดที่ต้องการให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นของส่วนรวมเพื่อลดความบกพร่องของระบบนายทุน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเคารพแนวคิดแบบประชาธิปไตยในเรื่องความเสมอภาคและเสรีภาพ แนวคิดนี้เปิดโอกาสให้รัฐบาลเข้ามาสร้างความเป็นธรรมแก่สังคม ขจัดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบกัน แต่ยังคงไว้ซึ่งเสรีภาพส่วนบุคคล

(3) ระบบสังคมนิยมมาร์กซิ ต์ (Marxism)
      ระบบเศรษฐกิจนี้คนทั่วไปมักรู้จักในนามระบบคอมมิวนิสต์ ระบบนี้รัฐจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธ์ในทรัพย์สิน ปัจจัยการผลิตจะเป็นของรัฐทั้งหมด เอกชนมีกรรมสิทธิ์เฉพาะที่เป็นของส่วนตัวและสินค้าผู้บริโภคเท่านั้น รัฐจะวางแผนตัดสินใจและดำเนินการทางเศรษฐกิจเองประชาชนเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตาม การดำเนินการผลิตไม่ขึ้นอยู่กับการแสวงหากำไรแต่เป็นไปตามที่รัฐวางแผนไว้ ในระบบนี้จึงไม่มีเสรีภาพและไม่มีการแข่งขัน

5.3) ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy)
   เป็นระบบเศรษฐกิจที่ผสมระหว่างระบบทุนนิยมกับระบบสังคมนิยม โดยรัฐบาลของประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้เข้าไปมีบทบาทและควบคุมกิจกรรมของเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากและต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติโดยอยู่ในรูปแบบรัฐวิสาหกิจต่างๆ ประเทศต่างๆ ในโลกส่วนใหญ่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมนี้

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013595143953959 Mins