สรรพศาสตร์ในทางโลก "นิติศาสตร์"

วันที่ 08 พค. พ.ศ.2560

สรรพศาสตร์ในทางโลก 
นิติศาสตร์

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , นิติศาสตร์

1.) ความหมายของนิติศาสตร์
       คำว่า นิติ ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ขนบธรรมเนียม แบบแผน แต่ในระยะหลังวงการกฎหมายไทยเข้าใจว่า นิติ หรือ เนติ แปลว่า กฎหมาย แต่ตามศัพท์ดั้งเดิมของอินเดียแท้ๆ นิติ แปลว่า ขนบธรรมเนียม เช่น ราชนิติ โลกนิติ ในอินเดียคำว่า นิติศาสตร์จึงหมายถึง วิชาเกี่ยวกับราชนิติประเพณี เป็นความรู้ที่ราชปุโรหิตจะต้องรู้เพราะปุโรหิตเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

     คำว่านิติศาสตร์ตามความหมายของอินเดียจึงมีความหมายใกล้กับ รัฐศาสตร์ ในภาษาไทยปัจจุบัน เพราะฉะนั้นผู้รู้ทางนิติศาสตร์ของอินเดียจึงหมายถึงผู้ทรงปัญญาที่จะให้คำแนะนำเรื่องกิจการบ้านเมือง คำที่หมายถึงกฎหมายแท้ๆ ไทยเราแต่เดิมมาเรียกว่า ธรรมะ เช่น กฎหมายดั้งเดิมของไทยเราเรียกว่า พระธรรมศาสตร์ มิได้เรียกว่า พระนิติศาสตร์คำว่าพระธรรมศาสตร์ เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ในความคิดของคนไทยสมัยก่อน

    อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึง "นิติศาสตร์" ในปัจจุบันหมายถึง "วิชาที่ศึกษาเรื่องกฎหมาย" กฎหมายนั้นมีอุดมคติที่สำคัญซึ่งเป็นจิตวิญญาณของกฎหมาย 3 ประการ คือ ความยุติธรรมความสงบเรียบร้อยของสังคม และความมีประโยชน์สมประสงค์


2.) บ่อเกิดของกฎหมาย
     กฎหมายมีบ่อเกิด 2 ประเภท คือ กฎหมายที่บัญญัติขึ้น เช่น พระราชบัญญัติพระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา เป็นต้น และกฎหมายที่มิได้บัญญัติขึ้น ได้แก่ กฎหมายประเพณี หลักกฎหมายทั่วไป และคำพิพากษาของศาล

ก. กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร
        หมายถึง กฎหมายที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนิติบัญญัติ หรือ กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่เป็นบทมาตรา ซึ่งผู้มีอำนาจในการบัญญัติมี 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และองค์การอิสระ

         (1) กฎหมายนิติบัญญัติ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งเป็น กฎหมายแท้ เพราะออกมาโดยฝ่ายที่มีหน้าที่บัญญัติกฎหมายโดยตรง

        ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 169-178 ร่างพระราชบัญญัตินั้นจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้โดยคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิก ภาผู้แทนราษฎรซึ่งต้องมีมติพรรคที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้สังกัดให้เสนอและต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคนั้นรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน และถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะต้องได้คำรับรองจากนายกรัฐมนตรี โดยเบื้องต้นจะให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้วจึงเสนอให้สมาชิกวุิฒิสภาพิจารณา ถ้าสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบก็จะนำขึ้นทูลเกล้าถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วจึงมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย

     (2) กฎหมายบริหารบัญญัติ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งตามระบบกฎหมายไทยกฎหมายบริหารบัญญัติแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ พระราชกำหนด และ กฎหมายลำดับรอง

       "พระราชกำหนด" (พ.ร.ก.) คือ กฎหมายที่ฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีได้รับอำนาจจากรัฐธรรมนูญให้ตรากฎหมายแทนฝ่ายนิติบัญญัติ ในกรณีมีเหตุจำเป็นบางประการ พระราชกำหนดจึงมีค่าบังคับเท่ากับพระราชบัญญัติ และอาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกพระราชบัญญัติได้แต่ทั้งนี้ฝ่ายบริหารจะตราพระราชกำหนดได้เฉพาะกรณีพิเศษที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น

     "กฎหมายลำดับรอง" เป็นกฎหมายที่ฝ่ายบริหารได้รับมอบอำนาจจากฝ่ายนิติบัญญัติให้ตราบทบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในรายละเอียดที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติภายใต้หลักการที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ โดยฝ่ายบริหารจะตรากฎหมายลำดับรองให้ขัดแย้งกับกฎหมายแม่บทคือพระราชบัญญัติไม่ได้ กฎหมายลำดับรองนั้นมีดังต่อไปนี้ คือ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง และ ข้อบังคับต่างๆ

     (3) กฎหมายองค์การบัญญัติ เป็นกฎหมายซึ่งออกโดยองค์การมหาชนที่มีอำนาจอิสระกล่าวคือ มีอำนาจปกครองตนเองภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ องค์การปกครองตนเองในปัจจุบันนี้ได้แก่ เทศบาลสุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา องค์การปกครองตนเองเหล่านี้ต่างมีอำนาจออกกฎหมายบังคับแก่ราษฎรที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตปกครองของตนได้ภายในขอบเขตที่พระราชบัญญัติก่อตั้งองค์การเหล่านั้นกำหนดไว้ นอกจากนี้ยังมีองค์การมหาชนอิสระอื่นอีกที่มีอำนาจออกข้อบังคับที่เป็นกฎหมายได้ เช่น มหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นต้น

ลำดับชั้นของกฎหมายลายลักษณ์อักษร
      (1) กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดเป็นแม่บทของกฎหมายทั้งหลาย ดังนั้นกฎหมายทุกประเภทจะออกมาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้

     (2) พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายที่มีลำดับชั้นรองจากรัฐธรรมนูญเพราะเป็นกฎหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจของรัฐธรรมนูญโดยตรง

   (3) พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหารเพื่อใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการหรือกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการหรือเงื่อนไขในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย

    (4) กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ออกโดยอาศัยแม่บทคือ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดเพื่อบัญญัติเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ของกฎหมายแม่บท โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ในการบังคับการหรือปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้กฎกระทรวงจะขัดกับกฎหมายแม่บทไม่ได้

      (5) กฎหมายองค์การบัญญัติ ได้แก่ ข้อบัญญัติท้องถิ่นต่างๆ เช่น เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติ จังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อบังคับสุขาภิบาล เป็นต้น

ข. กฎหมายที่มิได้บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร
        ในทางวิชานิติศาสตร์ยอมรับว่า นอกจากกฎหมายที่บัญญัติขึ้นแล้ว ยังมีกฎเกณฑ์แบบแผนความประพฤติของคนในสังคมบางอย่างที่มิได้บัญญัติขึ้น แต่มีผลบังคับเป็นกฎหมายได้นั่นคือ กฎหมายประเพณี นอกจากนี้กฎหมายที่มิได้บัญญัติยังมีอีก 2 ประการ คือ หลักกฎหมายทั่วไป และคำพิพากษาของศาล

กฎหมายประเพณี
         จารีตประเพณีที่มีลักษณะเป็นกฎหมายประเพณีจะต้องมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ
          (1) เป็นจารีตประเพณีที่ประชาชนได้ปฏิบัติกันมานานและสม่ำเสมอ

        (2) ประชาชนมีความรู้สึกว่าจารีตประเพณีเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและต้องปฏิบัติตามส่วนจารีตประเพณีใดที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ทั้งสองประการนี้จึงไม่ได้ชื่อว่า เป็นกฎหมายประเพณี เหตุที่ต้องมีกฎหมายประเพณีเพราะว่าการดำเนินชีวิตของคนในสังคม สลับซับซ้อนเกินกว่าสติปัญญาของมนุษย์จะเขียนเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรให้ครอบคลุมครบถ้วนได้ ในบางกรณีจึงต้องใช้จารีตประเพณีมาประกอบการพิจารณา

หลักกฎหมายทั่วไป
     หลักกฎหมายทั่วไป หมายถึง หลักกฎหมายที่มีอยู่ในระบบกฎหมายของประเทศนั้นโดยค้นหาได้จากกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรของประเทศนั้นเอง เช่น ประมวลกฎหมายอาญาประมวลกฎหมายแพ่งหรือกฎหมายลายลักษณ์อักษรอื่นที่มีหลักใหญ่พอที่จะทำให้เป็นหลักอ้างอิงสำหรับนำมาปรับแก่คดี โดยจะใช้ในคดีที่ไม่มีจารีตประเพณี เป็นต้น เป็นหลักในการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 4 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
"ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป"

คำพิพากษาของศาล
       คำพิพากษาของศาลตาม   อันเป็นระบบกฎหมายภาคพื้นยุโรปและเอเชีย ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน เปน ญี่ปุ่น เกาหลี และไทย ถือว่าคำพิพากษาโดยทั่วไปไม่ใช่บ่อเกิดของกฎหมาย นอกจากคำพิพากษานั้นจะเป็นคำพิพากษาบรรทัดฐานคือเป็นคำพิพากษาตัวอย่างที่คนปฏิบัติตาม เป็นคำพิพากษาที่ดีไม่มีคำพิพากษาอื่นมาคัดค้านหรือโต้แย้ง มีคนรู้จักกันทั่วไปแล้วก็ปฏิบัติตามกันมานาน


3.) หมวดหมู่ของกฎหมาย
      ในปัจจุบันสามารถจัดหมวดหมู่กฎหมายออกเป็น 4 หมวดด้วยกัน คือ กฎหมายมหาชนกฎหมายเอกชน กฎหมายสังคม และกฎหมายเศรษฐกิจ

        กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยอำนาจสูงสุดในการปกครอง อันประกอบด้วยรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

         กฎหมายเอกชน ได้แก่ กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ และกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

       (1) กฎหมายแพ่ง เป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนในเรื่องบุคคลหนี้ ทรัพย์สินครอบครัว และมรดก

    (2) กฎหมายพาณิชย์ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ เช่น หุ้นส่วน บริษัทประกันภัย ตั๋วเงิน กฎหมายทะเล เป็นต้น ในประเทศไทยทั้งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์รวมอยู่ในประมวลกฎหมายฉบับเดียวกันในชื่อว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

       (3) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนแต่เอกชนนั้นมีสัญชาติต่างกัน

      กฎหมายสังคม เป็นกฎหมายที่มีลักษณะความเกี่ยวกันระหว่างกฎหมายเอกชนและมหาชน เช่น กฎหมายแรงงาน กฎหมายประกันสังคม เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อความสงบสุขและความเป็นธรรมในสังคม

      กฎหมายเศรษฐกิจ หมายถึง บทบัญญัติที่บัญญัติถึงกิจการทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะควบคุมชี้แนวทางส่งเสริม หรือจำกัดการกระทำหรือกิจการทางเศรษฐกิจ

       4.) การใช้กฎหมาย การใช้กฎหมาย คือ การนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีมาปรับกับตัวกฎหมายและวินิจฉัยชี้ขาดว่า ข้อเท็จจริงนั้นมีผลทางกฎหมายอย่างไร ข้อเท็จจริงในคดีสำหรับการพิจารณาของศาลคือบรรดาเรื่องราวอันเป็นประเด็นข้อพิพาทและรายละเอียดในสำนวนคดี ซึ่งศาลได้สรุปจากพยานหลักฐานต่างๆ ที่คู่ความได้กล่าวอ้างในกระบวนการพิจารณาและศาลรับฟังเป็นที่ยุติว่าเป็นเช่นนั้น เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วจึงนำข้อเท็จจริงมาปรับกับตัวบทกฎหมายเรียกว่า เป็นการใช้กฎหมายหรือเรียกว่า การปรับบท นั่นเอง โดยสามารถสรุปขั้นตอนการใช้กฎหมายได้ดังนี้

         (1) ตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงในคดีว่าเกิดขึ้นจริงดังข้อกล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐานต่างๆ

            (2) เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วจะต้องค้นหากฎหมายที่ตรงกับข้อเท็จจริงนั้นมาปรับบท

         (3) วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงในคดีนั้นปรับได้กับข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบในบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่

        (4) ถ้าปรับได้ให้ชี้ว่ามีผลต่อกฎหมายอย่างไร หากกฎหมายกำหนดผลทางกฎหมายไว้หลายอย่างให้เลือก ผู้ใช้กฎหมายจะต้องใช้ดุลพินิจตัดสินใจเลือกผลทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งให้เหมาะสมกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น


ลำดับการใช้กฎหมาย
         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 กำหนดให้ใช้กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายลายลักษณ์อักษรมาปรับใช้กับคดีได้จึงให้นำจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้ หากไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาปรับใช้ได้ ก็ให้นำเอาบทบัญญัติกฎหมายลายลักษณ์อักษรมาปรับใช้อีกครั้งหนึ่งในฐานะที่เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หากไม่สามารถทำได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมอีก ก็ต้องนำหลักกฎหมายทั่วไปมาปรับใช้เป็นขั้นสุดท้าย

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0072885473569234 Mins