วงจรของกิเลสกรรม และวิบาก

วันที่ 09 พค. พ.ศ.2560

วงจรของกิเลสกรรม และวิบาก

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , กิเลสกรรม , วิบาก , ตระกูลของกิเลส , กรรม

1. ความหมายและตระกูลของกิเลส
     กิเลส หมายถึง ธรรมเป็นเครื่องเศร้าหมอง, ธรรมเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต, ธรรมอันยังจิตให้เศร้าหมอง, ความเศร้าหมองความเปรอะเปื้อน(แห่งจิต), ความลำบาก, ความเบียดเบียน, ความกำจัด, ความทำลาย, ความเผา, ความแผดเผา, ความทุกข์, ภาวะที่เกิดขึ้นในใจและทำใจให้เศร้าหมอง, มลทิน (ของใจ)

     ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 แสดงความหมายไว้ว่ากิเลส หมายถึง เครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ได้แก่ โลภ โกรธ หลง

       กิเลสจัดแบ่งออกเป็น 3 ตระกูลใหญ่ๆ ตามลักษณะอาการที่มีปรากฏของกิเลสเหล่านั้น กิเลสทั้ง 3 ตระกูล ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ หรือเรียกว่า อกุศลมูล 3 ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... โลภะเป็นอกุศลมูล 1 โทสะเป็นอกุศลมูล 1 โมหะเป็นอกุศลมูล 1"

     1.) กิเลสตระกูลโลภะ ได้แก่ กิเลสจำพวกที่ทำให้จิตหิว อยากได้ อยากกอบโกยเอามาเป็นของตัว อยากหวงแหน อยากสะสมเอาไว้

     ความโลภนี้โดยปกติมีลักษณะ คือ ละโมบโลภมาก อยากได้สิ่งของของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยทางทุจริต มีความหิวจัดทางจิตเป็นลักษณะ ผู้ที่ถูกโลภะครอบงำ แม้จะเป็นคนมั่งมีอยู่ดีกินดีสมบูรณ์ด้วยปัจจัย 4 และเครื่องอำนวยความสุขทางกายทุกประการ แต่ถ้าจิตยังมีโลภะอยู่ก็ยังรู้สึกว่าหิว ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักเต็ม ท่านเปรียบเหมือนไฟไม่รู้จักพอด้วยเชื้อมหาสมุทรไม่รู้จักเต็มด้วยน้ำฉันใด คนโลภ ไม่รู้จักอิ่มพอเต็ม ด้วยปัจจัย ฉันนั้น

     2.) กิเลสตระกูลโทสะ ได้แก่ กิเลสจำพวกทำให้จิตร้อน อยากล้างผลาญ อยากทำความพินาศ ให้แก่คนอื่นสิ่งอื่น กิเลสพวกนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตเดือดพล่าน

    โทสะนี้เมื่อเกิดขึ้นย่อมเป็นโทษทั้งแก่ตนเอง และแก่ผู้อื่น เวลามีโทสะไหม้ใจ พวกพ้อง เพื่อนฝูง จนกระทั่ง พ่อแม่ ลูก ก็มองเห็นเป็นศัตรูไปหมด และผลที่สุดแม้แต่ตัวเองก็ไม่เป็นที่พอใจของตัวเอง และเวลาที่จิตถูกครอบงำด้วยโทสะ จะสั่งงานก็ปราศจากเหตุผล และลุกลามไปถึงคนรอบข้างต่อ เปรียบเสมือนลูกระเบิด พอระเบิดมันก็ทำลายตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงไปทำลายวัตถุอื่นๆ ต่อไป

    3.) กิเลสตระกูลโมหะ ได้แก่ กิเลสจำพวกทำให้จิตงุนงง หลงใหล มัวเมา มืดตื้อ ลักษณะของโมหะ คือรู้อะไรไม่แจ่มแจ้ง แล้วหลงงมงายอยู่ในสิ่งนั้นๆ มีเรื่องอะไรพอจะพิจารณาให้รู้จริง รู้เหตุ รู้ผล รู้ดี รู้ชั่วได้ แต่ไม่พิจารณาให้รู้จริง หรือพิจารณาแต่ไม่สามารถรู้ตามความเป็นจริงนี้เรียกว่าโมหะ คนถูกโมหะครอบงำ เรียกกันว่าคนเจ้าโมหะ หรือคนหลง เป็นคนมืด มองไม่รู้อรรถ ไม่เห็นธรรม ย่อมทำผิดต่างๆ ได้ เช่น มัวเมา ลบหลู่คุณท่าน ตีตนเสมอท่าน หูเบา เป็นต้นตั้งแต่ผิดเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นไปจนถึงขั้นอนันตริยกรรม กิเลสทั้งสามตระกูลที่กล่าวมานี้จะบังคับให้มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายทำกรรมชั่วต่างๆ และเป็นเหตุให้ได้รับวิบากคือผลของกรรมชั่วนั้นอย่างแสนสาหัส ดังจะกล่าวต่อไป


2. ความหมายและประเภทของกรรม
     กรรม หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ดังพุทธพจน์ที่ว่า "เจตนาห ภิกขเว กมฺมํ วทามิ เจตยิตฺวา กมฺมํ กโรติ กาเยน วาจาย มนสา" หมายความว่า ภิกษุทั้งหลาย เจตนานั่นเอง เราเรียกว่า กรรม บุคคลจงใจแล้ว จึงทำด้วยกาย วาจา ใจ กรรมหรือการกระทำ จึงต้องมีพื้นฐานจากเรื่องของเจตนา

    เจตนา หมายถึง ภาพความนึกคิดที่มีความจงใจเป็นสิ่งประกอบสำคัญ คือ ต้องคิดไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วจึงกระทำ เจตนาจึงจัดเป็นแก่นสำคัญที่สุดของการกระทำ เป็นตัวที่ทำให้การกระทำมีความหมาย

     กรรมนี้สามารถแสดงออกมาได้ 3 ทาง ได้แก่ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ โดยกรรมนี้แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายกุศลกรรม และฝ่ายอกุศลกรรม ตามอำนาจของต้นเหตุที่เกิดขึ้น และผลที่ปรากฏ

     1.) ฝ่ายกุศลกรรม หมายถึง กรรมฝ่ายดี เป็นการกระทำที่บุคคลทำด้วยอโลภะอโทสะ อโมหะ เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษ ไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีจิตแช่มชื่นเบิกบาน มีสุขเป็นผล ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

     "กรรมที่บุคคลทำเพราะอโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดแต่อโลภะ อโทสะ อโมหะ มีอโลภะ อโทสะ อโมหะเป็นต้นเหตุ มีอโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นแดนเกิดอันใด กรรมนั้นเป็นกุศลกรรมนั้นหาโทษมิได้ กรรมนั้นมีสุขเป็นผล

      บุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีหัวใจแช่มชื่น เบิกบานเสวยผลแห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วเป็นการดี"

       กุศลกรรมเป็นการกระทำที่ดีงาม ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ไม่ทำให้จิตเศร้าหมอง ไม่มีทุกข์โทษภัยเดือดร้อนในภายหลัง แต่ก่อให้เกิดบุญบารมีและกุศลธรรม พฤติกรรมที่จัดเป็นกุศลกรรม คือ กุศลกรรมบถ 10สามารถแบ่งออก 3 ทาง ตามการกระทำที่เกิดขึ้นทางกาย วาจาและใจดังนี้ คือ

        กายสุจริต หมายถึง การกระทำดีทางกาย มี 3 ประการ คือ

(1) ปาณาติปาตา เวรมณี งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ที่ยังมีชีวิต
(2) อทินนาทานา เวรมณี งดเว้นจากการลักขโมยของที่ผู้อื่นไม่ให้
(3) กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

       วจีสุจริต หมายถึง การกระทำดีทางวาจา มี 4 ประการ คือ

(1) มุสาวาทา เวรมณี งดเว้นจากการพูดเท็จ
(2) ปิสุณาย วาจาย เวรมณี งดเว้นจากการพูดส่อเสียด
(3) ผรุสาย วาจาย เวรมณี งดเว้นจากการพูดคำหยาบ
(4) สัมผัปปลาปา เวรมณี งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

        มโนสุจริต หมายถึง การกระทำดีทางใจ มี 3 ประการ คือ

(1) อนภิชฌา ไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
(2) อัพยาบาท ไม่คิดปองร้ายเบียดเบียนผู้อื่น
(3) สัมมาทิฏฐิ คิดถูกเห็นถูก

      กุศลกรรมบถ 10 นี้ท่านเรียกว่า มนุษยธรรม หมายถึง ธรรมของมนุษย์ เป็นธรรมพื้นฐานประจำตัวที่มนุษย์ทั่วไปต้องมี หากคนใดไม่มีธรรมทั้ง 10 ประการนี้ได้ชื่อว่า เป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีความประพฤติคล้ายสัตว์ คือ ฆ่ากัน ลักขโมยกัน มั่วสุมทางเพศกัน เป็นต้น เมื่อละโลกไปแล้วก็ต้องไปรับผลกรรมชั่วในมหานรก พ้นจากนรกแล้วก็ต้องมาเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานต่างๆ ไม่อาจจะเกิดเป็นมนุษย์ได้ เพราะตอนเป็นมนุษย์เขาไม่มีมนุษยธรรม

     กุศลกรรมอีกหมวดธรรมหนึ่งซึ่งนักศึกษาคุ้นเคยกันดีคือ "บุญกิริยาวัตถุ" โดยเฉพาะบุญกิริยาวัตถุ 3 อันได้แก่ ทาน ศีล และภาวนา ซึ่งจริงๆ แล้วกุศลธรรมทั้ง 2 หมวดนี้สามารถสงเคราะห์เข้ากันได้ดังนี้

       กายสุจริต และ วจีสุจริตสงเคราะห์เข้ากับ "ทาน" และ "ศีล" ในบุญกิริยาวัตถุ ในส่วนของศีลนั้นนักศึกษาคงเข้าใจดีเพราะมีเนื้อหาตรงกัน แต่สำหรับทานนั้นนักศึกษาหลายท่านอาจจะสงสัยว่า จัดให้อยู่ตรงนี้ได้อย่างไร

     จริงๆ แล้วศีลนั้นก็จัดเป็นทานประเภทหนึ่ง กล่าวคือ การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ถือเป็นการให้ความปลอดภัยในชีวิตแก่สัตว์ทั้งหลาย การงดเว้นจากการลักขโมยของที่ผู้อื่นถือเป็นการให้ความปลอดภัยในทรัพย์สินแก่ผู้อื่น และการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกามถือเป็นการให้ความปลอดภัยแก่คู่ครองของผู้อื่น เป็นต้น

      นอกจากนี้บุคคลที่ให้ทานบ่อยๆ ใจของเขาจะยิ่งใหญ่และจะไม่คิดขโมยทรัพย์สินของคนอื่น เพราะแม้แต่ของตัวเองก็ยังสละให้คนอื่นได้ ดังนั้นการให้ทานก็จะช่วยส่งเสริมการรักษาศีลได้เป็นเป็นดี

      มโนสุจริตสงเคราะห์เข้ากับ "ภาวนา" ในบุญกิริยาวัตถุ เพราะภาวนานั้นเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อกำจัดกิเลสในใจ เป็นเหตุให้ อนภิชฌา อัพยาบาท และสัมมาทิฏฐิบังเกิดขึ้นได้ เพราะการไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่นก็ดี ไม่คิดปองร้ายเบียดเบียนผู้อื่นก็ดี และความคิดถูกเห็นถูกก็ดี จะเกิดขึ้นได้เมื่อใจได้รับการฝึกแล้วเท่านั้น ซึ่งการเจริญสมาธิภาวนานั้นเป็นวิธีการฝึกใจที่ดีเยี่ยมที่สุด

    และที่สำคัญที่สุดคู่ปรับของโลภะคือทาน คู่ปรับของโทสะคือศีล และคู่ปรับของโมหะคือภาวนา หากได้ให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาอยู่ ม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดกิเล ทั้ง 3 ตระกูล คือ โลภะ โทสะและโมหะ อยู่ได้เรื่อยๆ จนหมดในที่สุด

    2.) ฝ่ายอกุศลกรรม หมายถึง กรรมฝ่ายชั่ว เป็นการกระทำที่บุคคลทำด้วยโลภะ โทสะโมหะ เป็นการกระทำที่มีโทษ เดือดร้อนในภายหลัง มีน้ำตานองหน้า ร้องไห้อยู่ มีทุกข์เป็นผลดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

      "กรรมที่บุคคลทำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เกิดแต่โลภะโทสะ โมหะ มีโลภะ โทสะ โมหะเป็นต้นเหตุ มีโลภะ โทสะ โมหะเป็นแดนเกิดอันใด กรรมนั้นเป็นอกุศล กรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้นมีทุกข์เป็นผล"

     "บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือนร้อนภายหลัง มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ เสวยผลแห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วไม่ดีเลย"

     อกุศลกรรมเป็นการกระทำที่ไม่ดีไม่งาม ผิดศีล ผิดธรรม ทำให้จิตเศร้าหมอง มีทุกข์โทษภัยเดือดร้อนในภายหลัง ก่อให้เกิดบาปและกุศลธรรม พฤติกรรมที่จัดเป็นอกุศลกรรมคืออกุศลกรรมบถ 10 สามารถแบ่งออก 3 ทาง ตามการกระทำที่เกิดขึ้นทางกาย วาจาและใจ ดังนี้ คือ

       กายทุจริต หมายถึง การกระทำชั่วทางกาย มี 3 ประการ คือ

(1) ปาณาติบาต การจงใจฆ่าสัตว์ที่ยังมีชีวิต
(2) อทินนาทาน การจงใจลักขโมยของที่ผู้อื่นไม่ให้
(3) กาเมสุมิจฉาจาร การจงใจประพฤติผิดในกาม

       วจีทุจริต หมายถึง การกระทำชั่วทางวาจา มี 4 ประการ คือ

(1) มุสาวาท การจงใจพูดเท็จ
(2) ปิสุณาย วาจา การจงใจพูดส่อเสียด
(3) ผรุสาวาจา การจงใจ พูดคำหยาบ
(4) สัมผัปปลาป การจงใจพูดเพ้อเจ้อ

       มโนทุจริต หมายถึง การกระทำชั่วทางใจ มี 3 ประการ คือ

(1) อภิชฌา คิดเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
(2) พยาบาท คิดปองร้ายเบียดเบียนผู้อื่น
(3) มิจฉาทิฏฐิ คิดผิด เห็นผิด


3. ความหมายและประเภทของวิบาก
       คำว่า วิบาก แปลว่า ผลที่เกิดขึ้น หมายถึง ผลแห่งกรรม

       ผลแห่งกรรมนั้นมี 2 ระดับ คือ เบื้องต้นนั้นจะเกิดเป็น บุญ และ บาป ขึ้นในใจก่อนกล่าวคือ เมื่อเราทำกุศลกรรมก็จะเกิดบุญขึ้นในใจ แต่เมื่อทำอกุศลกรรมก็จะเกิดบาปขึ้นในใจบุญและบาปนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะอยู่ในใจของเราและตามติดเราไปข้ามภพข้ามชาติ เมื่อถึงเวลาก็จะส่งผลให้วิถีชีวิตเป็นไปตามกรรมที่กระทำไว้

      ถามว่า บุญคืออะไร นักศึกษาคงทราบกันดีอยู่แล้ว ในที่นี้จะขอทบทวนอีกครั้งว่า บุญ หมายถึง เครื่องชำระล้างจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เป็นสิ่งอยู่เบื้องหลังความสุขความสำเร็จทั้งปวงของมนุษย์ บุญเป็นรากฐานของชีวิต เป็นสิ่งที่คอยสนับสนุน เกื้อกูล ให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองและมั่นคง บุญมีลักษณะเป็นดวงกลมใสว่างสถิตอยู่ ณ ศูนย์กลางกาย บริเวณกลางท้องของมนุษย์ทุกคน บุญนั้นเป็นสิ่งละเอียด มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ จะเห็นได้ก็ต่อเมื่อได้ฝึกสมาธิจนใจละเอียดในระดับเดียวกับบุญ จึงจะมองเห็นบุญได้

    แม้เราจะมองไม่เห็นบุญด้วยตาเนื้อ แต่บุญก็ยังคงมีอยู่ของมันอย่างนั้น เพราะสิ่งที่เรายังมองไม่เห็นไม่ได้เป็นข้อสรุปว่าสิ่งนั้นจะไม่มี เปรียบเสมือนกระแสไฟฟ้า เราก็รู้ว่ามันมีอยู่ แต่เรามองไม่เห็น หรือพวกเชื้อโรคต่างๆ เราก็รู้ว่ามันมีอยู่แต่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าจะเห็นได้ก็ต่อเมื่อได้ใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดู

     ยังมีอีกหนึ่งคำที่เกี่ยวข้องกับบุญคือ คำว่า "บารมี" บารมีนั้นก็คือบุญเช่นกันแต่เป็นบุญที่เข้มข้นมาก เป็นบุญที่ควบแน่น กล่าวคือ บุญที่เราทำในแต่ละวันจะค่อยๆ รวมตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ และจะกลั่นตัวเป็นบารมี

     บาปคืออะไร คำว่าบาปมาจากภาษาบาลีว่า "ปาป" ในพระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่าชื่อว่าเป็นบาป เพราะเป็นของลามก โดยความเป็นของเลวส่วนเดียว บาปนั้นชื่อว่าเป็นความเศร้าหมอง เพราะทำจิตที่เคยประภัสสร และผ่องใสให้หม่นหมอง บาปนั้นชื่อว่า ทำให้มีภพใหม่เพราะทำให้เกิดทุกข์ในภพบ่อยๆ บาปนั้นชื่อว่ามีความกระวนกระวาย เพราะเป็นไปด้วยความกระวนกระวายคือความเดือดร้อน ชื่อว่า มีทุกข์เป็นวิบาก เพราะให้ผลเป็นทุกข์อย่างเดียวบาปนั้นชื่อว่าเป็นเหตุให้มีการเกิด ชรา และมรณะต่อไปในอนาคตตลอดกาลนานไม่มีกำหนดบัณฑิตใน มัยก่อนทั้งหลายเรียกบาปว่าเป็นเหงื่อไคล เพราะเป็นเช่นกับเหงื่อไคล กล่าวคือทำให้ใจที่ปกติประภัสสรคือ สว่างไสวให้ สกปรกคือมืดมัว

      กรรมที่บุคคลประพฤติผ่านทางกาย วาจาและใจ ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ย่อมมีวิบากคือผลแห่งการกระทำเสมอ วิบากจะเป็นประดุจเงาติดตามกรรม โดยมีกรรมเป็นเหตุและวิบากเป็นผลเสมอ กรรมและวิบากย่อมติดอยู่ในใจบุคคลผู้กระทำกรรม เปรียบดังโปรแกรมอันเป็นภาพแห่งการกระทำและภาพแห่งผลของการกระทำ เมื่อใดที่บุคคลฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง เป็นสมาธิหลุดพ้นจากกิเลส เมื่อนั้นย่อมสามารถรู้และเห็นกรรมและวิบากที่มีอยู่ในใจของตนและคนอื่นได้ทั้งกรรมที่มีมาแต่อดีต และวิบากกรรมที่จะส่งผลต่อไปในอนาคต ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

      "เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเล ปราศจากอุปกิเล อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อญาณเครื่องรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้ง
หลาย

     เรานั้นย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมว่า

      หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้นเบื้องหน้าเมื่อกายแตกทำลายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

    หรือว่าหมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าเมื่อกายแตกทำลายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค

    เราย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทรามได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมด้วยประการดังนี้"

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013907313346863 Mins