รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก "ความสำคัญของเศรษฐกิจต่อการปกครอง"

วันที่ 09 พค. พ.ศ.2560

รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก
"ความสำคัญของเศรษฐกิจต่อการปกครอง"

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก , รัฐศาสตร์ , เศรษฐกิจ

     นอกเหนือจาก "ธรรม" ซึ่งเป็นหัวใจของการปกครองแล้วสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ "เรื่องเศรษฐกิจ" หรือเรื่องปากท้องของประชาชน จนในปัจจุบันได้เกิดการผสมผสานศาสตร์ 2 ศาสตร์เข้าด้วยกัน คือรัฐศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "เศรษฐศาสตร์การเมือง"

    ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น นอกจากจะมาจากกิเลสอันเป็นสาเหตุสำคัญ ตามที่กล่าวไว้ในอัคคัญญสูตรแล้ว ยังมาจากเรื่องเศรษฐกิจด้วย เพราะเมื่อคนมีฐานะยากจนไม่มีอะไรจะกิน ก็ต้องดิ้นรนแสวงหาทรัพย์หาอาหารเพื่อยังชีพ เมื่อหาไม่ได้โดยชอบก็ต้องลักขโมยเขากิน หากไม่ขโมยก็อาจจะหากินโดยวิธีอื่น เช่น การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ด้วยเหตุนี้ ศีลธรรมจึงไม่อาจตั้งอยู่ได้ เพราะท้องมันหิวจำเป็นต้องระงับความหิวก่อน ยังไม่มีเรี่ยวแรงที่จะคิดถึงเรื่องการกำจัดกิเลสเพื่อไปสู่อายตนนิพพาน

    แม้ว่าเรื่อง "ศีลธรรม" จะสำคัญกว่าเศรษฐกิจ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "พึงสละทั้งทรัพย์ อวัยวะ และชีวิตเพื่อรักษาธรรม" แต่คนที่ทำได้อย่างนี้มีไม่มาก ด้วยเหตุนี้ผู้ปกครองจึงต้องดูแลเรื่องปากท้องของประชาชนให้ดี ศีลธรรมจึงจะตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ทรงให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก พระองค์จะตรัสถามพระภิกษุที่ไปจำพรรษาอยู่ต่างอารามเสมอว่า "เธอทั้งหลายยัง สบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ"

     มีอีกตัวอย่างหนึ่งคือ ครั้งหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดมนุษย์เข็ญใจคนหนึ่งในเมืองอาฬวี วันนั้นเขาเที่ยวหาโคที่หายไปตลอดวัน เมื่อพบแล้วจึงรีบไปฟังธรรมทั้งๆ ที่ความหิวบีบคั้น พระพุทธองค์ทรงทราบความถึงพร้อมแห่งอุปนิสัยแห่งการบรรลุธรรมของเขา แต่ทรงไม่แสดงธรรมโดยทันที เพราะทรงทราบว่าบุรุษผู้นี้ถูกความหิวบีบคั้น ไม่อาจจะฟังธรรมให้เข้าใจได้ พระองค์ตรัสให้คนจัดอาหารให้เขา และทรงรอจนเขารับประทานเสร็จ จากนั้นพระองค์จึงแสดงธรรม ในที่สุดแห่งเทศนามนุษย์เข็ญใจผู้นี้ ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

  จากเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยด้านเศรษฐกิจนั้นก็สำคัญมาก ผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องบริหารจัดการเรื่องเศรษฐกิจให้ดี แต่ไม่ใช่ว่าดูแลเฉพาะเรื่องนี้อย่างเดียว จนละเลยศีลธรรมหากเป็นเช่นนี้ ก็ไม่อาจจะรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมไว้ได้เช่นกัน เพราะว่าคนที่ทำความชั่วนอกจากเพราะความจนบีบคั้นแล้ว แต่ยังทำชั่วเพราะกิเลสบีบคั้นด้วย ดังได้กล่าวแล้วในอัคคัญญสูตร

     ด้วยเหตุนี้ หลักศีลธรรมจึงต้องเข้ามากำกับคนในสังคม ให้รู้จักควบคุมและกำจัดกิเลสในตัว พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เคยให้โอวาทไว้ว่า การพัฒนาประเทศนั้น เศรษฐกิจกับจิตใจคือศีลธรรมต้องไปด้วยกัน จะขาดตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ เปรียบเหมือนกับต้นไม้ เศรษฐกิจเป็นเสมือนราก ใบ เปลือก และกระพี้ ที่คอยห่อหุ้มและดูดซับอาหารมาหล่อเลี้ยงแก่น คือศีลธรรมให้เจริญเติบโต เศรษฐกิจที่ดีจะเป็นฐานให้คนประพฤติศีลธรรมได้สะดวก ในขณะที่ศีลธรรมจะควบคุมและกำจัดกิเลสในตัวของมนุษย์ให้หมดไป

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.009918733437856 Mins