นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก "ภาพรวมนิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก"

วันที่ 09 พค. พ.ศ.2560

นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก
"ภาพรวมนิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก"

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก , นิติศาสตร์ , พระวินัยหรือศีล

      นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎกนั้นกล่าวถึง "พระวินัยหรือศีล" ของพระภิกษุเป็นหลัก โดยเฉพาะพระวินัย 227 สิกขาบท อันมีมาในพระปาฏิโมกข์ เพราะเป็นกฎระเบียบสำหรับควบคุมความประพฤติทางกายและวาจาของพระภิกษุให้เรียบร้อย ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับกฎหมายในทางโลกอันเป็นกฎที่ควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม

    พระวินัยแต่ละสิกขาบทนั้นมีการแจงแจงรายละเอียดอย่างชัดเจนว่า คำแต่ละคำที่เป็นพุทธบัญญัตินั้นมีความหมายอย่างไรได้บ้าง และชี้ชัดว่ามุ่งถึงความหมายใดเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อให้พระภิกษุมีความเข้าใจอย่างชัดเจนไม่คลุมเครือส่งผลให้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของพระวินัยก็คือพระภิกษุทุกรูปจะต้องเข้าร่วมประชุมทบทวนพระวินัยทุก 15 วัน เพื่อให้จำได้อย่างแม่นยำ ซึ่งต่างกับกฎหมายทางโลกที่ไม่มีระบบการศึกษาทบทวนอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ แต่ละประเทศจึงมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่รู้กฎหมาย

      สิกขาบททั้ง 227 ข้อ รวมทั้งสิกขาบทปลีกย่อยอื่นๆ นั้นเป็นพุทธบัญญัติทั้งสิ้น กล่าวคือ เมื่อมีเหตุที่ไม่เหมาะสมจากการกระทำของพระภิกษุเกิดขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะทรงเรียกประชุมสงฆ์สอบถามเรื่องราว ตำหนิผู้กระทำความผิด แจกแจงให้ทราบว่าการกระทำนั้นไม่เหมาะสม มีโทษอย่างไร แล้วทรงบัญญัติพระวินัยขึ้น ห้ามมิให้พระภิกษุกระทำพฤติกรรมอย่างนั้นอีก พร้อมกำหนดโทษว่า หากภิกษุรูปใดฝนไปกระทำ จะมีโทษอย่างไรส่วนภิกษุที่เป็นเหตุต้นบัญญัตินั้นถือว่ายังไม่ต้องรับโทษ เพราะในขณะกระทำการนั้นยังไม่มีบทบัญญัติห้ามพระองค์ไม่ปรับความผิดย้อนหลัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นทีละข้อตามเหตุที่เกิดขึ้นอย่างนี้ส่วนพระสาวกเป็นผู้ศึกษาและปฏิบัติตามเท่านั้น ซึ่งต่างกับการบัญญัติกฎหมายในทางโลกที่จะมีการประชุมระดมความคิดกันจากนักกฎหมายจำนวนมาก และนำเสนอเพื่ออนุมัติจากรัฐสภา หากรัฐ ภาเห็นชอบก็สามารถนำกฎหมายนั้นๆ มาบังคับใช้ได้

      เหตุที่สิกขาบททุกข้อเป็นพุทธบัญญัติล้วนทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นกรอบแห่งความประพฤติและการอยู่ร่วมกันของคณะสงฆ์มากว่า 2,500 ปี เป็นเสมือนหนึ่งรัฐธรรมนูญของคณะสงฆ์ส่วนกติกาย่อยที่หมู่สงฆ์ในที่ใดที่หนึ่งกำหนดขึ้นนั้น ก็สามารถมีได้ตามความเหมาะสมของยุคสมัยและสถานการณ์ แต่จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นเหมือนกฎหมายที่ต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉันนั้น

  พระวินัยอันเป็นพุทธบัญญัติทำให้ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์ทั้งหมดนี้มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการสร้างเอกภาพในคณะสงฆ์มายาวนาน ลองคิดดูว่า หากพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ พระสาวกบัญญัติพระวินัยได้สาวกยุคหลังซึ่งยังมีกิเลสอยู่และมีสติปัญญาไม่พออาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์บัญญัติสิกขาบทที่ไม่ควรบัญญัติขึ้น รวมทั้งเพิกถอนสิกขาบท ที่เป็นพุทธบัญญัติต่างๆ เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโดยเร็วสิกขาบทที่ไม่ได้เป็นพุทธบัญญัตินั้นจะขาดความสมบูรณ์และศักดิ์สิทธิ์ คณะสงฆ์บางคณะที่ไม่ยอมรับจะทำให้เกิดความแตกแยก ต่างกับพุทธบัญญัติซึ่งแม้กาลเวลาจะผ่านมา 2,500 กว่าปีแล้วแต่ก็ยังคงความ มบูรณ์และศักดิ์สิทธิ์อยู่พระสาวกยังช่วยกันรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน

     จุดเด่นอีกประการหนึ่งของพระวินัย คือ เน้นการควบคุมและตรวจสอบตนเอง กล่าวคือพระภิกษุที่ไปทำผิดพระวินัยเข้า ถือว่ามีความผิดต้องโทษนับตั้งแต่กระทำความผิด เช่น ไปเสพเมถุนเข้าก็จะอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที ไม่ว่าจะมีผู้อื่นรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ในขณะที่กฎหมายทางโลกจะต้องโทษก็ต่อเมื่อผู้ทำผิดถูกจับได้และถูกพิจารณาลงโทษแล้ว

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0024449984232585 Mins