หมวดหมู่และจำนวนสิกขาบท

วันที่ 11 พค. พ.ศ.2560

นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก
"หมวดหมู่และจำนวนสิกขาบท"

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก , หมวดหมู่และจำนวนสิกขาบทสิกขาบท , สิกขาบท

    ศีลของพระภิกษุนั้นเป็น "อปริยันตปาริสุทธิศีล" หมายถึง มากมาย ไม่มีที่สุด ในวิสุทธิมรรคกล่าวไว้ว่าศีลของพระภิกษุมี 3 ล้านกว่าสิกขาบท แต่โดยรวมแล้วศีลของพระภิกษุแบ่งออกเป็น 4 หมวดใหญ่ๆ เรียกว่า ปาริสุทธิศีล 4 ดังนี้ คือ

     (1) ปาฏิโมกขสังวรศีล หมายถึง ศีล 227 สิกขาบท

     (2) อินทรียสังวรศีล หมายถึง การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป เวลาได้ยินเสียง เวลาดมกลิ่น เวลาสัมผัสเวลาลิ้มรสหรือระลึกถึงอารมณ์ต่างๆ

    (3) อาชีวปาริสุทธิศีล หมายถึง การเลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพด้วยวิสัยของสมณะ คือ การปฏิบัติตนอยู่ในพระธรรมวินัย แล้วอาศัยปัจจัย 4 ที่ญาติโยมถวายด้วยศรัทธาเลี้ยงชีพไม่เลี้ยงชีพด้วยการประกอบอาชีพอย่างฆราวาส หรือไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิต กล่าวคือ บวชแล้วไม่ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่อาศัยผ้าเหลืองเพื่อเลี้ยงชีพ เป็นต้น

    (4) ปัจจัยสันนิสิตศีล หมายถึง ศีลที่ว่าด้วยการให้พิจารณาปัจจัย 4 คือ จีวร บิณฑบาตที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคก่อนบริโภค ไม่บริโภคด้วยตัณหาความมัวเมา โดยให้พิจารณาว่าเราบริโภคสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ยังชีพอยู่ได้เท่านั้น จะได้บำเพ็ญ สมณธรรมได้สะดวก

    ปาริสุทธิศีล 4 นี้ยังมีรายละเอียดอีกมาก ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะปาฏิโมกข์สังวรศีลคือ ศีล 227สิกขาบทเท่านั้น เพราะบัญญัติไว้เป็นข้อๆ อย่างชัดเจนและมีการกำหนดโทษหนักเบาลดหลั่นกันไป ทำให้สะดวกต่อการเปรียบเทียบกับกฎหมายในทางโลก

    ปาฏิโมกขสังวรศีล แบ่งออกเป็น 8 หมวด คือ ปาราชิก 4 สิกขาบท,สังฆาทิเสส 13 สิกขาบท, อนิยต 2 สิกขาบท, นิสัคคิยปาจิตตีย์ 30 สิกขาบท, ปาจิตตีย์ 92 สิกขาบท, ปาฏิเทสนียะ 4 สิกขาบท, เสขิยวัตร 75 สิกขาบท และอธิกรณสมถะ 7 สิกขาบท รวมทั้งหมดเป็น 227 สิกขาบท

     สิกขาบทเหล่านี้ จะเรียงลำดับจากโทษหนักไปหาโทษเบา กล่าวคือ ปาราชิกมีโทษหนักที่สุดส่วนสิกขาบทอื่นจะมีโทษลดหย่อนลงมาเรื่อยๆ โดยเสขิยวัตรจะมีโทษเบาที่สุดส่วนอธิกรณ สมถะนั้นเป็นวิธีระงับอธิกรณ์ ไม่ได้มีการกำหนดโทษเหมือนสิกขาบทหมวดอื่น เพราะไม่ได้เป็นสิกขาบทที่ต้องถือปฏิบัติโดยทั่วไป แต่จะใช้เฉพาะการระงับอธิกรณ์หรือคดีความที่เกิดขึ้นเท่านั้น

    (1) ปาราชิก แปลว่า ผู้พ่ายแพ้ พ้ายแพ้ในที่นี้คือ พ่ายแพ้ต่อเส้นทางของนักบวชเพราะปาราชิกเป็นสิกขาบทหนัก ภิกษุใดล่วงละเมิดจะขาดจากความเป็นภิกษุทันที ไม่ว่าจะมีผู้อื่นรู้ หรือไม่รู้ก็ตาม แม้ยังครองผ้าเหลืองอยู่ก็ถือว่าไม่ได้เป็นพระภิกษุแล้ว แต่เป็นฆราวา ที่เอาผ้าเหลืองมาห่อไว้เท่านั้น ดังนั้นผู้ที่ล่วงละเมิดสิกขาบทปาราชิกเข้าแล้ว จึงต้องลาสิกขาออกไป และจะไม่ได้รับอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุอีก

   การล่วงละเมิดหรือทำผิดสิกขาบทแต่ละข้อเรียกว่า "อาบัติ" หรือ "ต้องอาบัติ" ผู้ที่ล่วงละเมิดสิกขาบทปาราชิกก็จะเรียกว่า "ต้องอาบัติปาราชิก" จะเห็นว่าสิกขาบทปาราชิกนั้นมีชื่อสิกขาบทกับชื่ออาบัติเหมือนกัน แต่บางสิกขาบท เช่น หมวดเสขิยวัตรซึ่งชื่อสิกขาบทกับชื่ออาบัติไม่เหมือนกัน กล่าวคือ หมวดเสขิยวัตรมีชื่ออาบัติว่า "ทุกกฏ"

  (2) สังฆาทิเสส แปลว่าสิกขาบทที่ต้องอาศัยสงฆ์ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลือ หมายความว่า เป็นสิกขาบทที่ภิกษุผู้ล่วงละเมิดเข้าแล้วจะต้องอาศัยสงฆ์ช่วยจัดการแก้ไขให้สังฆาทิเสสนั้นมีโทษหนักรองลงมาจากปาราชิก ผู้ล่วงละเมิดไม่ถึงกับขาดจากความเป็นภิกษุยังสามารถแก้ไขได้ส่วนผู้ที่ต้องอาบัติปาราชิกไม่สามารถแก้ไขได้

   ภิกษุใดต้องอาบัติสังฆาทิเสสจะแก้ไขด้วยการอยู่กรรม กล่าวคือ จะให้อยู่ในสถานที่ที่แยกไว้สำหรับผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสโดยเฉพาะ ไม่อยู่ปะปนกับภิกษุทั่วไป เพื่อให้ผู้ต้องอาบัติได้สำนึกผิดและสำรวมระวังต่อไป เมื่ออยู่กรรมจนครบกำหนดเวลาและผ่านขั้นตอนของการอยู่กรรมทุกอย่างแล้ว ก็สามารถกลับมาอยู่รวมกับภิกษุทั่วไปได้

   ในปัจจุบันพระภิกษุจำนวนมากนิยมอยู่กรรมแม้ไม่ได้อาบัติสังฆาทิเสสหรือบางรูปเพียงแค่สงสัยก็ขออยู่กรรมแล้ว ทั้งนี้เพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์แห่งศีลของตน นอกจากนี้จะได้มีเวลาศึกษาและปฏิบัติธรรมมากๆ ด้วย เพราะในระหว่างอยู่กรรม พระภิกษุรูปอื่นจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปรบกวน

   สำหรับผู้ต้องอาบัติอื่นๆ นอกเหนือจากปาราชิกและสังฆาทิเสสนั้น จะแก้ไขได้ด้วยการ "ปลงอาบัติ" ซึ่งหมายถึง การเปิดเผยอาบัติของตนต่อภิกษุอื่นหรือต่อสงฆ์

  (3) อนิยต แปลว่า ไม่แน่นอน หมายถึงสิกขาบทที่ไม่แน่นอนว่าภิกษุผู้ถูกกล่าวหาจะถูกปรับว่าได้ทำผิดสิกขาบทข้อไหนในระหว่าง "ปาราชิกสังฆาทิเสสและปาจิตตีย์" หากเป็นทางโลกอนิยตเปรียบเหมือนกับคดีที่มีทางตัดสินลงโทษได้หลายระดับขึ้นอยู่กับพยานบุคคลที่เชื่อถือได้หรือผู้เห็นเหตุการณ์

   (4) นิสัคคิยปาจิตตีย์ คำว่า "นิสัคคิยะ" แปลว่า "ทำให้ ละสิ่งของ"ส่วนคำว่า "ปาจิตตีย์" แปลว่า "การล่วงละเมิดอันทำให้กุศลธรรมคือความดีตกไป" นิสัคคิยปาจิตตีย์ จึงหมายถึงสิกขาบทที่ภิกษุใดล่วงละเมิดเข้าแล้วจะต้อง ละสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับสิกขาบทข้อนั้นๆ เช่น ไตรจีวร เป็นต้น เมื่อสละแล้วจึงสามารถแก้ไขได้ด้วยการปลงอาบัติได้

   (5) ปาจิตตีย์ เป็นสิกขาบทที่ไม่มีเงื่อนไขให้ต้อง ละสิ่งของ เมื่อล่วงละเมิดแล้วสามารถแก้ไขด้วยการปลงอาบัติได้เลย

    (6) ปาฏิเทสนียะ แปลว่า จะพึงแสดงคืน เป็นสิกขาบทที่ภิกษุรูปใดต้องอาบัติแล้วจะแก้ไขด้วยการแสดงคืนว่า "ท่านทั้งหลาย กระผมต้องธรรมคือ ปาฏิเทสนียะ เป็นธรรมที่น่าตำหนิไม่เป็นสัปปายะ กระผมขอแสดงคืนธรรมนั้น" การแสดงคืนนี้เป็นการปลงอาบัติอย่างหนึ่ง

    (7) เสขิยวัตร แปลว่า วัตรที่พระภิกษุพึงศึกษา ซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติเกี่ยวกับมารยาทอันดีงามต่างๆ ได้แก่ นุ่งห่มจีวรให้เรียบร้อย การฉันให้เรียบร้อย การแสดงธรรม และเบ็ดเตล็ดอื่นๆภิกษุที่กระทำผิดพลาดเมื่อตั้งใจว่าจะศึกษาปรับปรุงให้ดีขึ้นก็ถือว่าพ้นจากอาบัตินั้น

   (8) อธิกรณสมถะ แปลว่า ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์ เป็นวิธีการระงับอธิกรณ์หรือคดีความที่เกิดขึ้นให้สงบเรียบร้อย 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.011138649781545 Mins