ทำดีอย่างไร ถึงได้ผลดี

วันที่ 24 พค. พ.ศ.2560

ทำดีอย่างไร ถึงได้ผลดี
 

หลักการสร้างความสุขในครอบครัว , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , ทำดีอย่างไร ถึงได้ผลดี , ทำดีได้ดี , ชาวพุทธ , ศาสดา

   เรื่องที่เป็นปัญหามาทุกยุคทุกสมัย ก็คือ ทำอย่างไรคนเรานั้น แม้ไม่มีใครรู้ใครเห็นแต่เมื่อมีโอกาสจะทำความชั่ว ก็สามารถห้ามตนเองไม่ให้ทำความชั่วได้ ในทำนองเดียวกันแม้ไม่มีใครเห็นไม่มีใครรับรู้ แต่เมื่อมีโอกาสจะทำความดี ก็ทุ่มเททำความดีนั้นให้สุดชีวิตจิตใจถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกให้เป็นคนดีทั้งต่อหน้าและลับหลังอย่างนี้ ก็คงหมดห่วงและเป็นอันรับประกันได้ว่าลูกของเราจะยืนหยัดเป็นคนดีอยู่บนโลกนี้ไปได้อย่างตลอดรอดฝังโดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นอย่างแน่นอน

      ถามว่าการฝึกนิสัยรักความดี เกลียดความชั่ว ให้แก่ลูก  ยากหรือง่าย ก็บอกว่าค่อนข้างยาก เพราะโดยมากแล้ว คนเราเวลาเจอสิ่งที่เย้ายวนใจ ก็มักจะห้ามใจตนเองไม่ค่อยได้แต่ถ้าพ่อแม่จะไปตามดูเอง หรือให้ใครไปตามดูตลอดเวลา ก็คงไม่มีทางทำได้ มีอยู่อย่างเดียวก็คือ ตัวของลูกเองจะต้องตามดูตนเอง

       แต่การที่ใครตามดูตนเองได้ คน ๆ นั้นจะต้องเข้าใจให้ซึ้งถึงหลักกฎแห่งกรรมเสียก่อนแล้วก็ความซาบซึ้งใจตรงนี้เอง ที่จะเป็นหลักคิดคอยกำกับไปทุกย่างก้าว ถ้าหากจะมีโอกาสทำความชั่ว แม้ไม่มีใครรู้เห็น ก็จะเบรกตัวเองอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ถ้ามีโอกาสจะทำความดีก็จะทุ่มชีวิตจิตใจอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันเช่นกัน โดยไม่สนว่า ใครจะรู้ใครจะเห็นหรือไม่


1. การสอนลูกให้เข้าใจในเรื่องกฎแห่งกรรม
    สำหรับเรื่องนี้ผู้เขียนเองก็จำกัดด้วยภูมิรู้ในการอธิบาย จึงได้ไปค้นคว้าจากหนังสือธรรมะเล่มหนึ่งของหลวงพ่อที่เคารพรัก แล้วก็พบคำตอบ ดังนี้

   "ถ้าถามหลวงพ่อว่า การทำความเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม ความจริงยากหรือไม่ ก็ตอบว่าไม่ยากหรอก แต่ต้องจับเงื่อนให้ถูก

     ก่อนอื่น ถ้าถามกลับไปตรง ๆ ว่า "ใครมั่นใจทำดีต้องได้ดีจริง "ส่วนใหญ่จะบอกว่า "ไม่มั่นใจ"

    หลวงพ่อเข้าวัดศึกษาธรรมะได้สี่ห้าปีถึงได้บวช แต่ก่อนหน้าจะเข้าวัดนั้นไม่มั่นใจเลยว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันมีความคลางแคลง และเพราะมีความคลางแคลงจึงไม่มีเบรกติดตัว

    หลวงพ่ออยากให้พวกเราลองดูตรงนี้ แล้วเราจะพบเงื่อนสำคัญของการทำความเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม

    จุดที่คนเราสงสัยกันมากก็คือ ทำดีได้ดีจริงหรือ 

    แต่เขาไม่ค่อยรู้หรอกว่า คนเราจะทำดีให้ได้ดี มันมีเงื่อนไขสำคัญอยู่ 2 เรื่องใหญ่ คือ

1) เงื่อนไขจากตัวของเขาเอง

2) เงื่อนไขจากภายนอก


เรื่องที่ 1 เงื่อนไขจากตัวของเขาเอง
     มี 3 ข้อ ด้วยกัน คือ

1) ต้องทำให้ถูกดี
     ถูกดี คือ ทำได้ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ของงานนั้น ได้ไม่ผิดพลาด

    พูดง่าย ๆ จะทำงานอะไรสักอย่าง ต้องศึกษาวัตถุประสงค์ให้ดีว่า จริง ๆ แล้วงานนี้ต้องการอะไร แล้วค่อยทำ เวลาลงมือทำ ก็ต้องทำให้มันตรงเป้าหมาย ถ้าไม่ตรงเป้าหมายไม่ได้ ในทางศาสนา ท่านมักจะเปรียบเทียบการทำดีให้ถูกดีเอาไว้กับการซักเสื้อผ้าของเราที่ใส่อยู่นี้

   โดยทั่วไปถ้าเสื้อผ้าจะเปื้อนก็เปอนที่คอ ที่ปกเป็นส่วนมาก จากนั้นก็อาจมีปลายแขนปลายขาอีกหน่อย แม้ว่าจะขยี้เสื้อให้ทั่วตัว แต่ถ้าไม่ได้ขยี้ที่ปกกับที่ปลายแขนมันจะเกลี้ยงไหม ไม่เกลี้ยง เพราะซักไม่ถูกที่เปอน ก็คือ มันไม่ถูกดี ไม่ถูกเป้าหมาย ไม่ถูกวัตถุประสงค์ของการซักเสื้อ เพราะฉะนั้นถึงจะออกแรงซักเสื้อก็จริง แต่สุดท้ายซักแล้วเสื้อไม่สะอาด

    การทำดีไม่ถูกดี ก็เข้าทำนองคนที่ขยันแต่โง่ ไม่มีทางได้ดีหรอก เพราะถึงให้ขยันให้ตาย แต่ก็จะทำแบบโง่ ๆ ต่อไป จึงไม่มีทางได้ดี นอกจากไม่ได้ดีแล้ว ยังมีปัญหาเสียหายให้ต้องตามมาแก้อีกเพียบเลย

   คนที่จะทำดีแล้วถูกดีได้ มีทางเดียวคือ ต้องศึกษาให้ดีก่อนแล้วค่อยลงมือทำให้ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์หลักของเรื่องนั้น

2) ต้องทำให้ถึงดี
    ถึงดี คือ ทุ่มเทกำลังความรู้ ความสามารถอย่างเต็มที่เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุดแม้ว่าจะทำได้ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์แล้ว แต่ถ้าถามว่า "ทำถูกดีแล้วจะได้ดีเลยหรือไม่ " ก็ต้องตอบว่า "ยังไม่แน่ เพราะถึงแม้จะทำถูกดี แต่ว่าถ้ายังไม่ถึงดี ยังทำแค่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่ทุ่มเต็มที่ แม้งานอาจจะเสร็จ แต่ผลงานก็จะไม่ดี"

    ยกตัวอย่าง เรื่องการซักเสื้อ เรารู้แล้วว่า ต้องซักให้ถูกตรงรอยเปื้อนที่คอ ที่ปกและที่ปลายแขน และเราก็รู้ว่าต้องขยี้ให้ถึง 30 ครั้ง รอยเปื้อนจึงจะหลุดหมด แต่พอถึงเวลาลงมือซัก แทนที่เราจะขยี้ตรงรอยที่เปอนให้ได้ 30 ครั้ง เสื้อจึงจะสะอาด เรากลับขยี้ไปแค่ 10 ครั้ง ยังเหลืออีกตั้ง 20 ครั้ง แต่ไม่ขยี้ต่อ เสื้อก็ไม่มีทางสะอาด คราบ กปรกก็ไม่มีทางเกลี้ยงมันแค่เปอนน้อยลง การทำอะไรต่าง ๆ ก็เหมือนกัน ถึงแม้จะทำถูกดีแล้ว แต่ถ้าปริมาณงานยังไม่พอจะให้เกิดดี ก็จะยังไม่ได้ดี

   การทำดีได้ถูกดี แต่ไม่ถึงดี ก็เข้าทำนองเป็นพวกฉลาดแต่ทำตัวขี้เกียจ คือรู้ว่ามันดีอยู่ตรงไหนก็รู้ งานนี้ทำอย่างไรก็รู้ แต่ทำไปหน่อยเดียว ทำงานเหมือนผักชีโรยหน้าเสียแล้วคือมันถูกดีแต่ว่ามันไม่ถึงดี ก็ไปไม่รอด มันจะหลอกได้ก็เฉพาะคนที่ยังรู้ไม่ทัน วันหนึ่งถ้าถูกจับได้ไล่ทันว่า เจ้านี่มันฉลาดแต่ขี้เกียจ เขาก็ไม่เอาไว้

   เพราะฉะนั้น คนที่ทำถูกดีแล้วจะให้ถึงดีได้ มีทางเดียว คือ ต้องทุ่มเททำงานนั้นอย่างสุดความสามารถให้คุณภาพงานออกมาได้ตามเป้าหมาย ไม่ขี้เกียจ ไม่หลบ ไม่อู้ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดทั้งสิ้น


3) ต้องทำให้พอดี
    ถามว่า "ถ้าทำได้ถูกดี และถึงดีแล้ว จะได้ดีไหม " ต้องบอกว่า "ยังไม่แน่เพราะจะต้องทำให้พอดีด้วย"

    พอดี คือ มีสติดี ไม่ทำจนเลยเถิด ไม่มากไป ไม่น้อยไป จนเกิดความเสียหาย

    ยกตัวอย่าง ผ้าที่เราเอามาซัก เราก็ซักถูกตรงรอยที่เปอนแล้ว แต่ว่าแทนที่เราควรจะขยี้สัก 30 ครั้ง รอยเปอนก็จะหลุดหมด แต่เรากลับเผื่อเหนียวมากไปหน่อย ไปขยี้ตั้ง 100 ครั้ง ผ้าเลยขาดเสีย เสื้อดี ๆ ก็เลยเสียไป เพราะมันไม่พอดี

   การทำดีไม่พอดี ก็เข้าทำนองประเภททำงานหามรุ่งหามค่ำจนสุขภาพทรุดโทรมแล้วยิ่งกู้หนี้ยืมสินมาทำด้วย ก็ไม่ไหวหรอก มันไม่ได้ดีทั้งนั้น ต้องปรับให้มันพอดี

   เพราะฉะนั้น คนที่ทำถูกดี ถึงดีแล้ว และจะทำให้พอดี มีทางเดียว คือ ต้องมี ติดีไม่ทำจนเลยเถิด ไม่มากไป ไม่น้อยไป จนเกิดความเสียหาย คืออย่าเผื่อเหนียวมากไป

   โดยสรุป ก็คือ คนที่ทำดีให้ได้ดีนั้น เขาเองต้องลงมือทำความดีให้ครบองค์ประกอบ 3 ประการ คือ ต้องถูกดี ต้องถึงดี และต้องพอดี นี่เป็นเงื่อนไขจากตัวของเขาเอง


เรื่องที่ 2 เงื่อนไขจากภายนอก
   ถึงแม้เราจะทำได้ถูกดี ถึงดี และพอดีแล้วก็ตาม แต่การที่ความดีจะออกผลนั้นยังต้องคำนึงถึงปัจจัยภายนอกอีก 2 อย่างประกอบด้วย นั่นคือ

1) เวลา
    เวลาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการให้ผลของความดี

   ยกตัวอย่าง เราคิดจะปลูกกล้วยในวันนี้ ก็ไปเอาหน่อกล้วยสูงสักศอกหนึ่ง ขุดหลุมปลูกอย่างดีเลย แล้วปลูกกล้วยลงไป พร้อมทั้งรดน้ำพรวนดินอย่างดีด้วย ถามว่า "พรุ่งนี้จะได้ กินกล้วยทันทีเลยไหม " ก็ตอบว่า "ไม่ได้กิน"

    "ถ้าปลูกกล้วยเมื่อวานนี้ แล้ววันนี้ไม่ได้กิน อย่างนั้นไม่ได้ดีใช่ไหม" ก็ตอบว่า "ไม่ใช่" เพราะจริง ๆ แล้ว มันก็ได้ตามส่วนที่ควรจะได้ เพราะเมื่อตั้งใจปลูกกล้วยลงไปแล้วก็จะเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งว่า มันคงไม่ตาย เป็นได้แค่นั้น แต่จะได้กินกล้วยไหม  ยังไม่รู้

   ต่อมาหลังจากปลูกแล้ว ก็ตั้งใจรดน้ำพรวนดินผ่านไปอีก 34 เดือน ถามว่า "จะได้กินกล้วยเลยไหม " ก็ตอบว่า "ยัง จะได้ก็แค่ใบตองมาใช้งาน"

   ต่อมาตั้งใจรดน้ำพรวนดินต่อไปอีก 89 เดือน คราวนี้จะได้กินกล้วยหรือยัง ก็ตอบว่า "ยังอีก จะได้ก็แค่หัวปลีไปกินกับน้ำพริก"

    เราต้องรดน้ำพรวนดินต่อไปอีกจนครบ 12 เดือนนั่นแหละ ถึงจะได้กล้วยมากิน

    นี่ขนาดของกล้วย ๆ ยังต้องใช้เวลาปีหนึ่ง จึงจะได้กิน แล้วการทำดีจะให้ได้ดีปุบปับก็ไม่ใช่ของกล้วย ๆ มันก็ต้องใช้เวลา

    เพราะฉะนั้น ใครที่บอกว่าทำดีไม่ได้ดี ทั้ง ๆ ที่ถูกดี ถึงดี พอดีแล้ว ก็บอกว่าใจร้อนมากไป

2) สถานที่
    มีองค์ประกอบอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งนอกจากเวลาแล้ว เรายังต้องนำมาพิจารณาด้วยนั่นคือ สถานที่

    ยกตัวอย่าง มีกล้วยประเภทหนึ่งเป็นกล้วยข้างโอ่งน้ำ ไม่เหมือนกล้วยที่ขึ้นในที่ดอน

   กล้วยข้างโอ่งน้ำมีความพิเศษ คือ ตั้งแต่ตอนเช้า พอเจ้าของตื่นนอนขึ้นมาเขาล้างหน้าล้างตา ก็ได้น้ำแต่เช้าเลย

    พอเขากินข้าวเสร็จ ล้างถ้วยล้างชาม ก็ได้น้ำอีก

    พอเขาอาบน้ำตอนเช้าไปทำงาน ก็ได้น้ำอีก

    บางวันคนรับใช้อยู่บ้านซักผ้า ก็ได้น้ำอีก

    ตกเย็น พอเขากลับมาอาบน้ำกัน มันก็ได้น้ำอีก

    พอช่วงไหนอากาศร้อน ๆ เจ้าของบ้านลุกขึ้นมาตอนดึกมาอาบน้ำ ก็ได้น้ำอีก

    เจ้ากล้วยประเภทนี้ จะโตวันโตคืน เราก็ต้องยกเว้นให้เหมือนกัน เพราะเป็นกล้วยข้างโอ่งน้ำ มันอยู่ในทำเลดี

  การทำความดีก็เหมือนกันสถานที่ที่เราไปทำความดี ถ้าเอื้ออำนวย เราก็จะได้เห็นผลดีเร็ว แต่หากไม่เอื้ออำนวยก็จะได้ผลดีช้า อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา

    ข้อควรระวัง ก็คือ อย่าอยากได้ผลงาน จนไม่สนใจว่าคนที่อยู่ตรงนั้นเป็นคนดีหรือไม่ดี เพราะถ้าเป็นประเภทคนบูด ๆ เบี้ยว ๆ คือคดในข้อ งอในกระดูก แรก ๆ เขาก็อาจจะส่งเสริมให้เราโตเร็ว เพื่อจะเอามาเป็นพวก แต่ว่าพอโตเร็วจัดเกิน แล้วตอนหลังเขารู้สึกจะคุมเราไม่ได้เลยเกิดเปลี่ยนใจไม่ชอบหน้าเราขึ้นมา เขาก็จะหาทางให้เรากลายเป็นแพะรับบาปเลยทีนี้

   เพราะฉะนั้นบางครั้ง การเป็นกล้วยใกล้โอ่งน้ำนี้ก็เข้าท่าอยู่ แต่ถ้าไม่เลือกเจ้าของโอ่งไปอยู่ใกล้เจ้าของโอ่งที่เบี้ยว ๆ บูด ๆ คดในข้อ งอในกระดูกสู้เป็นเหมือนกล้วยบนที่ดอนสักพักก็จะดีกว่า

   เรื่องการทำดีแล้วได้ดีนั้น ก็ต้องดู ต้องปรับเอาเอง ในเรื่องของเวลาและสถานที่ขอให้มองตามความเป็นจริงของชีวิต แล้วเราจะพบหลักฐานเพิ่มขึ้นเอง ที่สำคัญก็คือ เมื่อเรามั่นใจในเรื่องทำดีได้ดีแล้ว เราก็จะมั่นใจในกฎแห่งกรรม แล้วเมื่อเรามีโอกาสจะทำความชั่วโดยที่ไม่มีใครเห็น เราก็จะห้ามตนเองได้ ทำนองเดียวกัน หากโอกาสในการทำความดีมาถึงเราก็จะทุ่มเททำความดีอย่างสุดชีวิตจิตใจ แม้ใครจะไม่เห็นก็ตาม"


2. ทำไมบางคนลังเลว่า ทำดีไม่ได้ดี
   สำหรับเรื่องนี้ ประเด็นก็อยู่ตรงที่ จังหวะเวลาในการให้ผลของความดี เราทราบดีว่า เมื่อคนเราลงมือทำความดีได้ถูกดี ถึงดี และพอดีแล้ว เขาก็จะได้รับผลดีซึ่งก็จะยิ่งทำให้เขามั่นใจยิ่งขึ้นไปอีกว่า "ทำดีต้องได้ดี" จึงทำให้เขาตั้งใจทำความดีทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้อื่น

    ในทางกลับกัน ถ้าไปลงมือทำความชั่วให้ถูกชั่ว ถึงชั่ว และพอชั่วเท่านั้น รับรองได้เลยว่า คน ๆ นั้น จะต้องเป็นไอ้ชั่วแน่นอน แล้วผลที่ตามมาก็คือ คนชั่วก็จะไม่มีแผ่นดินให้อยู่แน่นอน คนแบบนี้ เราก็เห็น ๆ กันมาพอสมควรแล้ว

   แต่ว่าเรื่องของทำชั่วได้ชั่วนั้น มีความลำบากในเรื่องเวลา คือ กว่าที่ความชั่วจะส่งผลก็ทำให้หลายคนเกิดความข้องใจว่า ทำดีได้ดีจริงหรือไม่

    เพราะบางทีเรากำลังทำความดีอยู่แท้ ๆ และกำลังรอให้ความดีออกผล ปรากฏว่าความชั่วในอดีตตามมาให้ผลเสียก่อน งวดนี้เลยโดนสอบสวนแทบตาย จุดนี้แหละที่ทำให้คนมักเปลี่ยนใจกลับไปทำความชั่ว

    เพราะหากพิจารณากันจริง ๆ แล้ว ที่เรื่องเป็นอย่างนี้ ก็เกิดจากความแสบของตนเองที่ทำไว้เมื่อครั้งในอดีต ทั้ง ๆ ที่ตนเองทำแสบ ๆ เอาไว้ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่มีใครว่าอะไรเลย แต่พอเปลี่ยนมาตั้งใจทำความดีเข้าหน่อย เพิ่งทำมาได้พักเดียว กลับโดนสอบสวนเสียแล้วก็เลยเอาประเด็นของการทำดีกับการทำชั่วมาปนกัน กลายเป็นว่า "ทำดีไม่ได้ดี" แล้วก็เลยเถิดไปถึงเลิกทำความดี กลับไปทำความชั่วเหมือนเดิม พร้อมกับตั้งเป้าหมายเลยว่า "งวดหน้าจะกลับไปทำให้แสบหนักกว่าเก่าเข้าไปอีก"

    ในทำนองเดียวกัน บางทีเราไปเห็นบางคนกำลังทำชั่วอยู่ ซึ่งก็ต้องแสบน่าดูแต่ว่าสิ่งที่ออกมาก็คือ เขากลับได้เลื่อนสองขั้น เลยกลายเป็นว่า "ทำชั่วได้ดี"

    แต่ความจริงแล้วสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ได้สองขั้น ทั้ง ๆ ที่เขาทำชั่วนั้น ก็มิใช่อะไรเพราะบังเอิญไปได้หัวหน้าที่ไม่ทันลูกน้อง คือโดนลูกน้องแสบ ๆ หลอกเอา ซึ่งก็เป็นไปได้เหมือนกัน แต่ว่าวันหนึ่งเขาจับได้ขึ้นมา เจ้าตัวแสบนั้น ก็แสบไปไม่ยืดยาว เดี๋ยวก็ต้องดับเพราะความชั่วของตนเอง

    การที่เราลังเลว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริงหรือไม่ ก็มีสาเหตุมาจากความสลับซับซ้อนเรื่องการให้ผลของความดี ในแง่ของเวลาและสถานที่นี่เอง


3. หลักการพิจารณาความดีความชอบ
    "เรื่องของถูกดี ถึงดี และพอดีนี้ ยังสามารถนำไปใช้เป็นหลักพิจารณาความดีความชอบคนในการปกครองได้อีกด้วย

     มีอยู่คราวหนึ่ง ในวงการธนาคาร นายธนาคารท่านหนึ่งถูกลูกน้องเขียนบัตรสนเท่ห์โจมตีเสีย ๆ หาย ๆ

    สาเหตุก็คือ ท่านเลื่อนตำแหน่งลูกน้องไม่เท่ากัน บางคนเลื่อนตำแหน่งหนึ่งขั้นบางคนได้เลื่อนสองขั้น บางคนได้เลื่อนสามขั้น

   คนเรานี้ก็แปลก อดด้วยกันไม่เป็นไร ไม่ได้ด้วยกันไม่เป็นไร แต่ถ้าได้ไม่เท่ากันยุ่งทุกที เพราะฉะนั้น การปกครองคนจะต้องมีกฎมีเกณฑ์ให้ดี

    เมื่อท่านโดนสอบสวน ก็เลยมาขอคำปรึกษา หลวงพ่อก็ให้คำแนะนำไปว่า ไม่ยากก็ตีตารางให้ดูก็แล้วกัน ให้เอาถูกดี ถึงดี และพอดีเป็นตัวตั้งในการพิจารณา

     แล้วก็ชี้แจงไปเป็นรายบุคคลว่า

   1) คนนี้ที่ไม่ให้เลื่อนขั้น เพราะเขาทำไม่ถูกดี ขยันแต่ว่าโง่ คนพวกนี้จะเอาความเหนื่อยมาเป็นความดี ให้เลื่อนขั้นไม่ได้หรอก เพราะทำโง่ ๆ อย่างนี้ จะไปได้ดีอย่างไรเพราะความสำเร็จของงาน เอาเหงื่อมาวัดกันไม่ได้

    นอกจากเขาทำไม่ถูกดีแล้ว บางครั้งยังทำเสีย ๆ หาย ๆ ด้วย ไม่ไล่ออกก็ดีแล้วจะมาเอาขั้นอะไรกัน ชี้เหตุชี้ผลให้ชัดไปเลย ว่านี่ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งเพราะทำไม่ถูกดี

    2) คนนี้แม้ว่าจะถูกดี แต่ว่าไม่ถึงดี พวกผักชีโรยหน้า เป็นพวกความชั่วไม่มีแต่ความดีไม่ปรากฏ

   จริงอยู่ ถึงแม้ว่าเจ้าจะฉลาด แต่มนุษย์พวกถูกดีแล้วไม่ถึงดีนี้น่ากลัว เพราะพวกนี้ทำงานไปคืบเดียว แต่เอาปากไปโพนทะนาว่า ทำงานยาวไปวาหนึ่ง ใครก็ชื่นชมว่างานของเขาดีทั้งนั้น แล้วเราจะโดนผู้บังคับบัญชาตำหนิเพราะการสร้างภาพของเขาก็ตรงนี้

   เพราะฉะนั้น เจอลูกน้องคนใดผักชีโรยหน้า ทำคืบหนึ่งแล้วเอาปากไปโพนทะนาไว้ว่าหนึ่ง ให้เตรียมหลักฐานของเราป้องกันไว้ได้เลย ไม่อย่างนั้น เขาก็จัดการเราได้ พวกมนุษย์พรรค์นี้ แม้เป็นพระยังโดนเลย หลวงพ่อก็โดนมาแล้ว ก็ขอฝากไว้ด้วย

     เพราะฉะนั้น ถ้าใครทำทั้งถูกดี ถึงดี และพอดี ก็ให้เลื่อนตำแหน่งไปเลย องขั้น

     แค่ถูกดี แต่ไม่ถึงดี ให้เลื่อนตำแหน่งได้ขั้นหนึ่ง

     พวกที่ทำไม่ถูกดี แต่ว่าขยันแบบโง่ ๆ ก็ให้ได้อยู่แค่นั้น ยังไม่ไล่ออกเพราะยังขยันอยู่ก็ดีแล้ว

    แต่พวกที่ขยันแล้วทำเสียหายเรื่อย ๆ นั้น ก็ทำเอาลูกพี่แย่เหมือนกัน วันดีคืนดีต้องไปตบไหล่ "ไอ้น้องเอ๊ย ขยันให้น้อยกว่านี้เถอะ เอ็งยิ่งขยัน พี่ยิ่งโดนสอบ" อย่างนี้ก็มี

   จากเรื่องทั้งหมดที่หลวงพ่อนำมาเล่าให้ฟังนี้ เมื่อฟังแล้วก็นำหลักตรงนี้ไปปรับใช้ให้ดีแล้วก็จะพบว่าเรื่องของกฎแห่งกรรมจริง ๆ ก็ไม่ใช่ยากอะไร ถ้าจับแง่มุมถูกอย่างนี้ คือ ทำให้ถูกดีถึงดี และพอดี อย่างถูกที่และรู้จักรอเวลา"


สรุป
    พระธรรมเทศนาของหลวงพ่อที่ได้นำมาเล่าให้ผู้อ่านทุกท่านฟังนี้ คงจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้คุณพ่อคุณแม่ว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว และสามารถปลูกฝังความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมลงไปในใจของลูกได้สำเร็จสะดวกขึ้นต่อไป ซึ่งนั่นหมายความว่า เขาจะเป็นคนดีทั้งต่อหน้าและลับหลังอย่างแน่นอน

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 001 หลักการสร้างความสุขในครอบครัว
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001501202583313 Mins