เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นคนเก่งและดี

วันที่ 22 พค. พ.ศ.2560

เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นคนเก่งและดี

หลักการสร้างความสุขในครอบครัว , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นคนเก่งและดี

   โลกของเราทุกวันนี้เล็กลงไปถนัดใจ การเปลี่ยนแปลงภายนอกประเทศมีผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมในประเทศอย่างรวดเร็ว ความอยู่รอดของครอบครัวสังคม และประเทศ จึงขึ้นอยู่กับพ่อแม่ว่ามีความรู้ ความสามารถ และความดีมากน้อยเพียงใดในการเลี้ยงลูกให้เป็นคนเก่งและคนดี

  การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีควบคู่กับการเป็นคนเก่ง เป็นเรื่องใหญ่ที่พ่อแม่จะไม่สนใจศึกษาหาความรู้ไม่ได้อีกแล้ว เก่งแต่ไม่ดีก็ไปไม่รอด ดีแต่ไม่เก่งก็ไม่ทันโลก ต้องทั้งเก่งและดีจึงจะทันโลก และพาส่วนรวมไปรอด

    บางครอบครัว พ่อก็เป็นคนดี แม่ก็เป็นคนดี ลูกก็เป็นเด็กฉลาด แต่พ่อแม่เลี้ยงลูกไม่เป็น ผลสุดท้ายลูกกลับกลายเป็นเด็กมีปัญหาโดยที่พ่อแม่ก็หาสาเหตุไม่เจอว่าตนเองบกพร่องที่ใด


1. ครอบครัว 4 ประเภท

     การที่พ่อแม่จะเลี้ยงลูกให้เป็นคนเก่งและดีได้ ต้องมีสิ่งสำคัญ 2 ประการนี้ให้แก่ลูกอย่างต่อเนื่อง

1) ความรู้ในการเลี้ยงลูกให้เป็นคนเก่งและดี
2) เวลาสำหรับการสั่งสอนฝึกฝนอบรมลูกให้เป็นคนเก่งและดี

    แต่เพราะพ่อแม่บางครอบครัวสามารถให้สิ่งสำคัญ 2 ประการนี้ได้ไม่เท่ากันทุกวันนี้เราจึงได้เห็นครอบครัว 4 ประเภทเกิดขึ้นในสังคม

ประเภทที่ 1 มีเวลา แต่ไม่มีความรู้
ประเภทที่ 2 มีความรู้ แต่ไม่มีเวลา
ประเภทที่ 3 ไม่มีความรู้และไม่มีเวลา
ประเภทที่ 4 มีความรู้และมีเวลา

    ครอบครัว 3 ประเภทแรก เป็นครอบครัวที่ลูกได้รับการอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดีน้อยมาก แม้อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะเงินทองดี แต่ก็เหมือนถูกปล่อยไปตามยถากรรมลูกมีโอกาสที่จะเสียคนได้มาก เพราะมีเวลาออกนอกลู่นอกทางโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ตัว

   ครอบครัวประเภทที่ 4 เป็นครอบครัวที่ลูกได้รับการถ่ายทอดทั้งความรู้ความสามารถและความดีอย่างเต็มที่ เพราะพ่อแม่ให้ทั้งความรู้ และเวลาแก่ลูกอย่างต่อเนื่อง ไม่ปล่อยลูกไปตามยถากรรม แม้ฐานะทางเศรษฐกิจอาจจะไม่ดี แต่ลูกย่อมมีความสามารถในการสร้างหลักฐานชีวิตของตนเองได้อย่างแน่นอน


2. ความรู้ในการเลี้ยงดูลูก

  จากการศึกษาค้นคว้า ทำให้ได้มีโอกาสพบหลักการเบื้องต้นในพระพุทธศาสนาที่ใช้เลี้ยงลูกให้เป็นคนเก่งและดี จากหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "เลี้ยงลูกอย่างไรให้เมืองไทยได้เยาวชนดี" ของ มูลนิธิพันาการศึกษาเพื่อศีลธรรม จึงได้ขออนุญาตสรุปเนื้อหามาเล่าสู่กันฟังแบบพอเข้าใจ หากมีประเด็นใดที่ผู้อ่านยังอยากจะทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ก็สามารถศึกษาได้จากหนังสือเล่มดังกล่าว จะช่วยให้ภาพการเลี้ยงลูกชัดเจนขึ้นได้โดยไม่ยากพ่อแม่ที่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถมากพอจะเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนเก่งและคนดีได้จริงจะต้องสามารถอธิบาย 4 ประเด็นต่อไปนี้ได้ชัดเจน ตั้งแต่ก่อนจะคิดมีลูกด้วยกัน นั่นคือต้องรู้ว่า

1) ลูกที่ดีต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
2) นิสัยที่ดีและเลวของลูกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
3) ทำอย่างไรจึงสามารถเพาะนิสัยที่ดีเกิดขึ้นในตัวลูกได้สำเร็จ
4) ความดีสร้างความเก่งให้แก่ลูกได้อย่างไร

   เพราะทั้ง 4 ประเด็นนี้ เป็นความรู้ที่พ่อแม่ควรรู้ก่อนจะมีลูก โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดาของชาวพุทธได้ทรงมีคำสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ดังนี้


3. คุณสมบัติของลูกที่ดีมีอะไรบ้าง

    คุณสมบัติของลูกที่ดี มี 3 ประการ โดยปู่ย่าตายายได้นำมาจากคุณสมบัติหลัก 3 ประการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และใช้สำนวนง่าย ๆ พูดว่า

1. ไม่แสบ (มาจากพระบริสุทธิคุณ)
2. ไม่โง่ (มาจากพระปัญญาธิคุณ)
3. ไม่แล้งน้ำใจ (มาจากพระมหากรุณาธิคุณ)

   เด็กคนใดที่มีคุณสมบัติ 3 ข้อนี้ เรียกว่า "ลูกที่ดี" ซึ่งจะเป็นเด็กที่มีความพร้อมต่อการจะรับถ่ายทอดวิชาความรู้ต่าง ๆ จากครูอาจารย์ ลุงป้าน้าอา นอกจากนี้ยังเป็นฐานรองรับการต่อยอดคุณธรรมอื่น ๆ ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้ด้วย อุปมาเหมือนที่ดินดีนำพืชไร่ พืชสวนมาปลูก ก็ย่อมได้ผลผลิตดีทั้งนั้น


4. บ่อเกิดนิสัยของลูกมาจากที่ใด

    เมื่อพ่อแม่ทราบแล้วว่า คุณสมบัติของลูกที่ดีต้องไม่โง่ ไม่แสบ ไม่แล้งน้ำใจ ก็มีคำถามขึ้นมาว่า แล้วจะเพาะคุณสมบัติเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร

      การเพาะคุณสมบัติ ก็คือ การเพาะนิสัย

      นิสัย คือ ความคุ้น หรือพฤติกรรมประจำตัวของแต่ละคนที่เกิดจากการคิด พูด ทำบ่อย ๆ อยู่เป็นปกติ แล้วมีผลต่อการเกิดความดีหรือความชั่วในตัวคนเรา

     ถ้าปล่อยให้ลูก คิด พูด ทำในสิ่งที่ผิด แม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่บ่อย ๆ ลูกจะเกิดความคุ้นกับการทำความผิดจนเป็นนิสัย และอาจลุกลามให้กลายเป็นคนเลวได้ในอนาคต

     ในทำนองเดียวกัน ถ้าฝึกให้ลูกคิด พูด ทำในสิ่งที่ดี แม้ในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่บ่อย ๆ ลูกก็จะเกิดความคุ้นกับการทำสิ่งที่ถูกต้องจนเป็นนิสัย และก็กลายเป็นคนดีได้ในอนาคต

      สิ่งที่คนเราคิด พูด ทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ มี 3 เรื่อง คือ

1) ปัจจัย 4
2) งานที่ทำ
3) กิจวัตรประจำวัน

      ยกตัวอย่างเช่น นิสัยที่เกิดจากการใช้ปัจจัย 4

      เด็ก 3 คน แม่ให้นมในเวลาที่ไม่เหมือนกัน ก็ได้นิสัยไม่เหมือนกัน

     เด็กคนแรก แม่ให้นมไม่เป็นเวลา พอเด็กหิว ไม่ได้กิน ต้องร้องไห้เกรี้ยวกราด เด็กจึงได้นิสัยเจ้าโทสะ ต้องอาละวาดก่อนจึงจะได้กิน แล้วก็ติดนิสัยว่าอยากได้อะไร ต้องประท้วงต้องทำลาย เหมือนพ่อแม่ได้ลูกเสือมาเลี้ยงไว้

    เด็กคนที่สอง แม่ให้นมตลอดเวลา แม้เด็กไม่หิว นมก็ไหลเข้าปากของเด็กเอง เด็กก็เลยตัวอ้วนอารมณ์ดี แต่เข็นไม่ขึ้น เพราะเฉื่อยแฉะ ขี้เกียจเหมือนพ่อแม่ได้ลูกหมูมาเลี้ยงไว้

    เด็กคนที่สาม แม่ให้นมเป็นเวลา ได้นิสัยตรงต่อเวลาสุขภาพแข็งแรง มีเหตุมีผลอารมณ์ดี รับผิดชอบ ตัดสินใจดี เลี้ยงง่าย เหมือนได้บัณฑิตนักปราชญ์มาอยู่ในบ้าน

    เพราะฉะนั้นบ่อเกิดนิสัยดีและเลวของลูก ก็มาจากการฝึกให้ลูกคิดย้ำ พูด ทำผ่านปัจจัย 4 ผ่านงานที่ทำ และผ่านกิจวัตรประจำวันในทางดีหรือเลวนั่นเอง

   ถ้าพ่อแม่จะเพาะคุณสมบัติของลูกที่ดี คือ ไม่โง่ ไม่แสบ ไม่แล้งน้ำใจให้แก่ลูกรักก็ต้องฝึกความเคารพ ความมีระเบียบวินัย และความอดทน โดยฝึกผ่านปัจจัย 4 ที่ลูกใช้ฝึกผ่านงานที่ลูกรับผิดชอบ และฝึกผ่านกิจวัตรประจำวันของลูก นิสัยที่ดี คือ ไม่โง่ ไม่แสบไม่แล้งน้ำใจก็จะเกิดขึ้นมาประจำตัวลูกอย่างแน่นอน


5. เลี้ยงลูกอย่างไรให้ไม่โง่

      เด็กที่จะไม่โง่นั้น พ่อแม่ต้องฝึกปัญญาของลูกผ่านความเคารพ

    ความเคารพ คือ ความตระหนักซาบซึ้งในคุณค่าและคุณประโยชน์อย่างถูกต้องตามความเป็นจริงที่บุคคลนั้น หรือสิ่งของนั้นมีอยู่ประจำตัว

      ปัญญาแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ปัญญาทางโลก กับ ปัญญาทางธรรม

     ปัญญาทางโลก คือ ความรู้วิชาการสำหรับการทำมาหากิน แต่ถ้าไม่มีศีลธรรมกำกับ เด็กก็อาจนำความรู้นั้นไปใช้ในทางที่ผิดได้ เช่น มีความรู้ทางเภสัช แต่ไม่นำไปผลิตยารักษาคน กลับนำไปผลิตเฮโรอีนส่งไปขายทั่วโลกแทน เพราะฉะนั้นปัญญาในทางโลกต้องควบคู่ไปกับปัญญาทางธรรมด้วย

     ปัญญาทางธรรม คือ ปัญญาที่ใช้สำหรับการตัดสินถูก-ผิด ดี-ชั่ว บุญ-บาปควรไม่ควรทำ ซึ่งเด็กจะต้องได้อาศัยจากการศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนา และฝึกภาคปฏิบัติด้วยการที่พ่อแม่นำลูกทำความเคารพปู่ย่าตายาย เพื่อรับฟังโอวาท ฟังข้อคิดประสบการณ์ความทันโลก ทันชีวิต ทันคนจากผู้ใหญ่

      แหล่งแห่งปัญญาทางธรรมที่เคารพแล้วจะทำให้เกิดปัญญา มี 7 แหล่ง คือ

1. เคารพในพระพุทธ
2. เคารพในพระธรรม
3. เคารพในพระสงฆ์
4. เคารพในการศึกษา
5. เคารพในการฝึกสมาธิ
6. เคารพในความไม่ประมาท
7. เคารพในการปฏิสันถาร

    แหล่งปัญญาทางธรรมทั้ง 7 ประการนี้ ยิ่งฝึกให้เด็กมองคุณค่าและคุณประโยชน์ตามความเป็นจริงได้ออกมามากเท่าไร ปัญญาทางธรรมของเด็กก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

   ถ้าเด็กคนใดได้พ่อแม่ที่ศึกษาธรรมะจากแหล่งปัญญาทางธรรมทั้ง 7 ประการนี้ เพื่อเตรียมตัวมาสอนลูกตั้งแต่ก่อนแต่งงานแล้ว ก็จะโชคดีมาก ๆ คือ พ่อแม่ก็จะได้ลูกมีบุญมาเกิด เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ในบ้าน และลูกก็จะได้พ่อแม่ที่เป็นแหล่งปัญญาทางธรรมรอคอยอยู่แล้ว วงศ์ตระกูลนี้ก็จะมีแต่บัณฑิตนักปราชญ์มาเกิดเป็นลูกหลาน เพื่อมาสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่วงศ์ตระกูล


6. เลี้ยงลูกอย่างไรให้ไม่แสบ

    เด็กที่จะไม่แสบนั้น พ่อแม่ก็ต้องฝึกเด็กให้มีวินัยทั้งทางโลกและทางธรรม ผ่านการใช้ปัจจัย 4 ผ่านงานในบ้าน และผ่านกิจวัตรประจำวัน โดยพ่อแม่ต้องทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่างก่อน

     วินัยทางโลก มี 4 ข้อ ได้แก่

1. วินัยต่อคำพูด
    การฝึกวินัยต่อคำพูดมีหลักว่า พ่อแม่ต้องพูดวาจาสุภาษิตให้ลูกฟัง และจะต้องไม่โกหกให้ลูกดู ต้องชี้โทษของการโกหกให้ลูกฟังว่า การโกหกทำให้มาตรฐานใจเสีย และกลายเป็นคนหลง ๆ ลืม ๆ ลูกจึงจะมีวินัยต่อคำพูด

2. วินัยต่อเวลา
    การฝึกวินัยต่อเวลามีหลักว่า ต้องฝึกให้ลูกตื่นเป็นเวลา กินเป็นเวลา นอนเป็นเวลา

   ตื่นเป็นเวลา คือ ตื่นแต่เช้าตรู่ เพื่อป้องกันให้ลูกไม่เห็นแก่นอน โดยเฉพาะลูกสาวถ้าแต่งงานไปแล้วตื่นสาย จะเป็นต้นเหตุให้เกิดการหย่าร้างได้

    นอนเป็นเวลา คือ นอนแต่หัวค่ำ เพราะถ้านอนดึก เด็กจะไม่อยากตื่นเช้า เวลาแม่มาปลุกก็ไม่อยากลุกขึ้น จึงซ้อมเถียงพ่อแม่แต่เช้า กลายเป็นคนเจ้ามารยา

    กินเป็นเวลา คือ ถึงเวลาอาหารต้องมาทานอาหารให้ตรงเวลา ถ้าเด็กคนใดเป็นโรคกระเพาะตั้งแต่เล็กแล้ว จะมีปัญหาไปตลอดชีวิตว่าไม่สามารถทำงานหนักได้เจอความกดดันเมื่อไหร่ จะปวดท้องไส้ทันที

3. วินัยต่อความสะอาด
    เด็กที่ไม่รักษาความสะอาด จะเข้าสังคมได้ยาก พ่อแม่จึงต้องสอนวิธีรักษาความสะอาดให้เป็น เช่น สอนให้อาบน้ำเป็น คือใช้น้ำน้อยสบู่น้อย เวลาน้อย แต่สะอาด

4. วินัยต่อความเป็นระเบียบ
   เด็กที่ขาดระเบียบ เวลาไปทำงานกับใคร จะเกิดปัญหาการกระทบกระทั่ง เพราะไม่เข้าใจเรื่องขั้นตอนการทำงาน ไม่รู้จักเตรียมงาน ไม่รู้จักการเก็บงาน จึงยากจะประสบความสำเร็จ

     วินัยทางธรรม มีศีล 5 เป็นขั้นต้น

   เด็กที่ไม่รักษาศีล 5 ถ้าโตขึ้นก็จะก่อปัญหาครอบครัว แล้วถ้าชีวิตพลิกผันก็เตรียมตัวเป็นอาชญากร ได้ในอนาคต เพราะว่า

ไม่รักษาศีลข้อ 1 เป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาอาชญากรรม
ไม่รักษาศีลข้อ 2 ทำให้เกิดปัญหาคอร์รัปชั่น
ไม่รักษาศีลข้อ 3 ทำให้เกิดปัญหาการค้าประเวณี
ไม่รักษาศีลข้อ 4 ทำให้เกิดปัญหาการต้มตุ๋นหลอกลวง
ไม่รักษาศีลข้อ 5 ทำให้เกิดปัญหาอบายมุขครองเมือง


7. เลี้ยงลูกอย่างไรให้ไม่แล้งน้ำใจ
     เด็กที่จะไม่แล้งน้ำใจนั้น ต้องถูกฝึกให้เป็นคนที่พึ่งตนเองได้ก่อนจึงจะสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ ซึ่งเรื่องนี้พ่อแม่ต้องฝึกลูกให้มีความอดทน ติดตัวไป

     ถ้าดูผิวเผิน เด็กที่ไม่แสบ ไม่โง่ ก็น่าจะพอกับการเป็นคนดีแล้ว แต่ความจริงคือไม่พอเพราะเกิดเป็นคนแล้ว ต้องให้ประโยชน์ส่วนรวมด้วย

     ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราปลูกมะม่วงไว้ต้นหนึ่ง รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ผ่านมาสิบปีปรากฏว่ามะม่วงก็ไม่ออกผลให้กินเสียที ในที่สุด ก็ต้องโค่นมะม่วงต้นนั้นทิ้งไป

    ดังนั้นลูกของเราก็เหมือนกัน ถ้าเป็นคนแล้งน้ำใจ ไปที่ใดก็จะยากจนขัดสนไปตลอดชีวิต ถึงคราวตนเองเดือดร้อนก็ไม่มีคนอยากยื่นมือมาช่วยเหลือเพราะแล้งน้ำใจกับคนอื่นไว้มาก

       การฝึกความไม่แล้งน้ำใจให้แก่ลูกนั้น ต้องฝึกให้พึ่งตนเองผ่านความอดทน 4 ระดับ คือ

      1. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ จะทำให้ลูกเป็นคนหนักเอาเบาสู้ ไม่กลัวความลำบากตรากตรำต่าง ๆ

      2. อดทนต่อทุกขเวทนา จะทำให้ลูกรู้จักดูแลสุขภาพตนเอง ไม่มีมายา ไม่ป่วยการเมืองเพื่อเลี่ยงการเรียน

     3. อดทนต่อการกระทบกระทั่ง จะทำให้ลูกทำงานเป็นทีม เป็นคนไม่มีปมด้อยไม่วางปมเขื่อง ไม่ตีตนเสมอผู้ใหญ่ ทำให้รู้จักวางตัวให้เหมาะสมกับฐานะของตนเอง

    4. อดทนต่อความเย้ายวนของกิเล จะทำให้ลูกไม่เสียคนโดยง่าย โดยเฉพาะไม่ตกเป็นทา ของ 4 ส. คือสุรายาเสพติดสุภาพบุรุษหรือสุภาพสตรี สตางค์ สรรเสริญเยินยอปัญหาต่าง ๆ ในบ้านเมืองเราที่เกิดขึ้นหนัก ๆ ก็เพราะข้อนี้เป็นประเด็นใหญ่

     ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาคอร์รัปชั่น เกิดจากพ่อแม่ไม่ได้ อนให้ลูกอดทนต่อความเย้ายวนใจ และไม่ได้ปลูกฝังคติประจำใจให้ลูกมาว่า ซื่อกินไม่หมดคดกินไม่นาน แถมยังไปส่งเสริมให้ลูกบูชาเงิน ทั้ง ๆ ที่เงินไม่สามารถซื้อได้ทุกอย่าง เช่น ความบริสุทธิ์ใจ เป็นต้น

     เมื่อลูกถูกฝึกให้เห็นเงินเหนือกว่าความดี พอเด็กโตขึ้น ก็เลยไม่เกรงกลัวอะไรทั้งนั้นขอให้ได้เงินมาแบบผิด ๆ ก็ยอม โกงก็เอา แล้วตรงนี้เองที่ทำให้ประเทศไทยก้าวไปไม่ถึงไหนทั้งที่มีทรัพยากรธรรมชาติดีกว่าหลายประเทศในโลก เช่นสิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น


8. ความดีสร้างความเก่งให้ลูกได้อย่างไร
    หลังจากที่อ่านหนังสือเลี้ยงลูกอย่างไรให้เมืองไทยได้เยาวชนดีจบแล้ว ข้อคิดที่ได้ก็คือ ความเข้าใจในเรื่องความดีสร้างความเก่งให้ลูกได้อย่างไร ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้

    เราทราบกันดีว่า เด็กทุกคนอยากเป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าเด็กเป็นเสมือนผ้าขาวพ่อแม่เป็นคนย้อมสี ถ้าย้อมสีได้ถูกสีและถูกวิธี ก็ได้ผ้าสีสวย สง่างาม แต่ถ้าย้อมไม่ดี ก็จะได้ผ้าเสียใช้งานไม่ได้ และต้องทิ้งทั้งผืน แต่การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี ไม่ใช่การย้อมผ้าสี หากผิดพลาดแล้วแก้ไขลำบาก

     วิธีที่ถูกต้อง คือ บุคคลที่แวดล้อมตัวเด็กต้องทำตัวอย่างที่ดี ๆ ให้เด็กเห็น ตั้งแต่

1) พ่อแม่ต้องทำตัวอย่างดี ๆ ให้ลูกดู
2) ต้องหาเพื่อนที่ดีให้ลูกคบ
3) ต้องหาหนังสือที่ดีให้ลูกอ่าน
4) ต้องพาลูกไปกราบครูดี

     เพราะบุคคลแวดล้อมเหล่านี้ จะสามารถเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่เด็กใน 3 เรื่องต่อไปนี้ คือ

1) ต้นแบบการทำงานที่ถูกต้อง
2) ต้นแบบการบริหารเวลาที่ถูกต้อง
3) ต้นแบบการใช้ปัจจัย 4 ที่ถูกต้อง

    สาเหตุที่เขาสามารถเป็นต้นแบบใน 3 เรื่องนี้ได้ ก็เพราะบุคคลประเภทนี้จะมีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวอยู่ 3 ประการ คือ

1) รู้จักคุมคุณภาพ
    คนที่รู้จักคุมคุณภาพ หมายถึง คนที่รับผิดชอบสิ่งใดแล้ว ต้องทำผลงานให้ออกมาดีที่สุด การที่เขาทำได้อย่างนี้เพราะเขามีความสามารถในการกำหนดคุณภาพที่ดีได้ชัดเจน ทราบถึงวิธีการทำงานที่ทำให้งานมีคุณภาพดี เมื่อเขาลงมือทำงานก็ทำเต็มที่สุดฝีมือและรู้ทันอุปสรรคปัญหาที่ต้องระวังในการทำงานว่ามีอะไรบ้าง และหาทางระวังป้องกันแก้ไขได้อย่างรอบคอบก่อนปัญหาจะเกิดขึ้น

   คนที่สามารถทำได้ขนาดนี้ ถ้าไม่เคยมีความเคารพในการศึกษา รู้จักให้เกียรติคนไม่จับผิดคนอื่นมาก่อน ย่อมไม่มีทางได้ปัญญามากขนาดนี้ เพราะคงไม่มีใครยินดีจะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของตนเองให้แก่คนที่ไม่ให้ความเคารพในความสามารถของคนอื่นอย่างแน่นอน

      ดังนั้นถ้าลูกของเราได้รับการฝึกเรื่องความเคารพมาจากบ้าน และได้เห็นตัวอย่างที่ดีจากบุคคลเหล่านี้ เขาจะกลายเป็นคนที่รู้จักคุณค่าของความเคารพ และรู้วิธีการคิดกำหนดคุณภาพของงาน รู้วิธีการทำงานที่ดี และรู้สิ่งที่ควรระวังในการทำงาน ซึ่งก็จะทำให้เขามีความเก่งในเรื่องการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพตามบุคคลต้นแบบไปได้ในที่สุด

2) รู้จักคุมเวลา
    คนที่คุมเวลา หมายถึง คนที่เป็นนักวางแผนการทำงาน ไม่ว่าจะทำงานใดก็สามารถมองทะลุได้เป็นขั้นเป็นตอน จัดลำดับได้ว่าอะไรควรทำก่อน ทำหลัง และแต่ละขั้นตอนควรใช้เวลามากน้อยเพียงใด จึงจะทำได้เสร็จตามเวลา หรือถ้าทำเสร็จได้ก่อนเวลาก็ยิ่งดี

  คนที่สามารถควบคุมเวลาในการทำงานได้ขนาดนี้ ถ้าไม่เคยได้รับการฝึกเรื่องวินัยในตัวมาสูง จะทำไม่ได้ เพราะเขาตระหนักดีว่าเวลาเป็นของมีค่า ผ่านไปแล้วเรียกคืนไม่ได้นอกจากนำโอกาสที่ดีผ่านไปแล้ว ยังนำความแก่มาให้อีกด้วย

   ส่วนคนที่ไม่เคยทำอะไรเป็นเวลา จะติดนิสัยเอาแต่ใจตนเอง อยู่ดี ๆ จะกำหนดให้ทำเสร็จภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้ เขาจะอึดอัดทำไม่ได้ เพราะฝึกวินัยมาน้อย แต่ทำตามใจทำตามอารมณ์ตนเองมามาก จึงยากจะทำอะไรได้สำเร็จตามแผนงาน

    คนที่ควบคุมเวลาได้ดีเยี่ยมขนาดนี้ เพราะเขาเคยฝึกความมีวินัยต่อเวลามาก่อน คือถูกฝึกให้กำหนดกิจวัตรและงานในแต่ละวันของตัวเองได้ลงตัวมาก่อน ครั้นเมื่อมาทำงานก็ทำให้สามารถวางแผนงานได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน คำนวณเวลางานได้ดีเยี่ยม ไม่ผิดพลาด

    ดังนั้นถ้าลูกของเราได้รับการฝึกวินัยมาจากที่บ้านส่วนหนึ่ง และได้เห็นแบบอย่างจากบุคคลที่วางแผนการใช้เวลาให้คุ้มค่าเช่นนี้ เขาจะกลายเป็นคนที่รู้คุณค่าของวินัย และจะทำให้เขาได้รับการฝึกวินัยในการใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก เป็นการเพาะนิสัยให้เป็นคนไม่เอาแต่ใจตนเอง และส่งผลให้เขามีความเก่งในเรื่องการบริหารเวลาและการวางแผนงานตามบุคคลต้นแบบไปได้ในที่สุด

3) รู้จักคุมงบประมาณ
  คนที่รู้จักคุมงบประมาณ หมายถึง คนที่สามารถวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดสุดแต่ให้ประโยชน์สูง

 คนที่คุมงบประมาณย่อมรู้ว่าสิ่งใดจำเป็นและไม่จำเป็นอย่างถูกต้องตรงความเป็นจริงเขาย่อมไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย ทำอะไรก็คิดเรื่องความคุ้มได้คุ้มเสียของส่วนรวมเป็นไม่คำนวณขาดจนกระทั่งทำให้คุณภาพของงานหย่อน ไม่เผื่อมากจนกระทั่งกลายเป็นความฟุ่มเฟือยเสียหาย มีความซื่อสัตย์ ไม่ยักยอกเอาไว้เพื่อความสะดวก บายของตนเองหรือพรรคพวกตนเอง

    ถ้าที่แห่งใดก็ตามขาดคนที่คุมงบประมาณเป็นแล้ว การเงินส่วนรวมก็จะมีปัญหาเพราะแผนการเงินมั่วไปหมด ความเสียหายของงาน ความหวาดระแวงในการอยู่ร่วมกันและชื่อเสียงไม่ดีไม่งามก็จะเกิดขึ้นตามมาด้วย

     คนที่สามารถคุมงบประมาณได้โปร่งใสและเกิดประสิทธิภาพดีเยี่ยมขนาดนี้ เพราะถูกฝึกให้มีความอดทนต่อความลำบากตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อการกระทบกระทั่ง และอดทนต่อการเย้ายวนใจของกิเล มาก่อน โดยเป็นการฝึกผ่านการใช้สอยปัจจัย 4 อย่างประหยัดสุด ประโยชน์สูง ใช้จ่ายแต่ในสิ่งที่จำเป็น และไม่ตามใจความอยากได้อยากฟุ่มเฟือยของตนเอง

    ดังนั้นถ้าลูกของเราได้รับการฝึกความอดทนมาจากที่บ้านส่วนหนึ่ง และได้เห็นแบบอย่างจากบุคคลที่คุมงบประมาณของส่วนรวมได้ดีเช่นนี้ เขาจะกลายเป็นคนที่รู้คุณค่าของความอดทน เห็นประโยชน์ของการวางแผนใช้จ่าย รู้จักใช้ข้าวของด้วยความคุ้มค่า และอดทนต่อความเย้ายวนใจในสิ่งที่เป็นโทษได้ดี และจะส่งผลให้เขามีความเก่งในเรื่องการวางแผนใช้จ่ายและคุมงบประมาณการทำงานเป็น ตามบุคคลต้นแบบไปได้ในที่สุด

 การที่ลูกซึมซับสิ่งที่ถูกต้อง 3 เรื่องนี้จากบุคคลแวดล้อมที่ดีเข้าไปอยู่ประจำใจก็จะทำให้เด็กได้รับการถ่ายทอดคุณธรรมความดีอย่างเต็มที่ และทำให้เขามีความเก่งในการคุมคุณภาพ คุมเวลา คุมงบประมาณ ตามมาในที่สุด และเมื่อเขาลงมือทำอะไรก็ตามเขาจะเป็นคนที่ทำงานได้มีคุณภาพ ประหยัดเวลา และประหยัดงบประมาณ ซึ่งตรงนี้คือคุณสมบัติของการเป็นนักบริหาร หรือนักทำงานที่ทุกวงการต้องการตัวไปร่วมงานด้วยและนั่นคือ ความเก่งที่สร้างจากความดี ที่สร้างความเก่งให้เกิดขึ้นในตัวลูกอย่างอัตโนมัติโดยมีบุคคลแวดล้อมที่ดีเป็นผู้ถ่ายทอดให้นั่นเอง


สรุป
    การที่พ่อแม่จะสามารถถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ และความดีที่ตนเองมีให้แก่ลูก จนกระทั่งมากพอจะเป็นต้นทุนทางความเก่งและความดีที่ลูกสามารถยืนหยัดอยู่ในโลกกว้างนี้ได้อย่างภาคภูมิใจสิ่งสำคัญต้องทำให้ดีที่สุดของการเป็นพ่อแม่ คือ

     1) ต้องหมั่นศึกษาค้นคว้าความรู้ที่จะใช้ในการอบรมสั่งสอนลูกให้เป็นคนเก่งและดีอยู่เสมอ จึงจะทันกับพันาการและทันกับปัญหาของลูก

    2) ต้องไม่เปิดโอกาสให้ลูกทำเรื่องผิดศีลธรรม คือ อยู่บ้านก็ต้องแบ่งเวลาให้การอบรมสั่งสอนลูก ผ่านการใช้ อยปัจจัย 4 ผ่านการทำงาน ผ่านกิจวัตรประจำวัน เช่น การนอน การตื่น เป็นต้น ลับหลังก็ฝากฝังครูบาอาจารย์ ญาติพี่น้อง มิตรสหาย ช่วยเป็นหูเป็นตาคอยตักเตือนบอกกล่าวลูกได้ โดยไม่ต้องเกรงใจ อย่าปล่อยให้เขามีโอกาสเดินทางผิด

    ถ้าพ่อแม่ทำสองสิ่งนี้ได้ดี ลูกก็จะมีโอกาสใกล้ชิดกับสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าจะทำตัวเหลวไหลไปในเรื่องผิดศีลธรรม ลูกย่อมคลุกคลีคุ้นเคยกับความคิด คำพูด การกระทำที่ดีจากพ่อแม่ และบุคคลรอบข้างอยู่เป็นปกตินิสัย และหลอมละลายกลายเป็นความเก่ง และความดีที่จะทำให้เขายืนหยัดในโลกนี้ได้ด้วยตนเองในที่สุด

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 001 หลักการสร้างความสุขในครอบครัว
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015078632036845 Mins