พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

วันที่ 09 มิย. พ.ศ.2560

พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , สร้างบารมี , หลวงพ่อธัมมชโย , วัดปากน้ำ , หลวงปู่วัดปากน้ำ , แสดงธรรม , พระมงคลเทพมุนี

1.1 เกริ่นนำก่อนแสดงธรรม

     ในสมัยที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำยังมีชีวิตอยู่ ทุกครั้งที่ท่านจะเริ่มเทศน์ ท่านจะกล่าวคำนอบน้อมถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน หรือที่เราเรียกกันจนคุ้นปากว่า บท นโมฯ เสมอ จากนั้นท่านจึงค่อยยกพระบาลีบทหลักที่จะนำมาเทศน์และขยายความจากภาคปริยัติสู่ภาคปฏิบัติเป็นบทเริ่มต้นเพื่อบอกให้รู้ว่า วันนี้ท่านจะเทศน์เรื่องอะไร

พระธรรมเทศนา

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

อิติปิ โสภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทธสฺส
วิชฺชาจรณ สมฺปนฺโนสุคโต โลกวิทู
อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ
ตฺถา เทวมนุสฺสาน พุทโธ ภควาติ ฯ

บทขยายความ
    พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านได้เห็นความสำคัญและความจำเป็นของบทสรรเสริญคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นลำดับแรก เพราะจริงๆ แล้วชาวพุทธท่องและสวดบทสรรเสริญ คุณพระรัตนตรัยกันได้เกือบทุกคน แต่มักจะไม่ค่อยรู้คำแปล แล้วก็เรียกบทสรรเสริญคุณบทนี้จนคุ้นปากว่า บท "อิติปิโสฯ" ซึ่งหากชาวพุทธคนใดไม่รู้คำแปล หรือความหมายอย่างถูกต้องแล้ว การที่จะนับถือพระพุทธศาสนา หรือการที่จะเข้าใจธรรมะทั้งหลายที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนาให้ได้อย่างถูกต้องตรงตามพุทธประสงค์นั้นยาก

      เพราะฉะนั้น พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำจึงได้นำบทสรรเสริญคุณของพระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ มาเทศน์มาขยายความ ซึ่งในสมัยนั้น พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านเทศน์ซ้ำหลายครั้งหลายเที่ยว แต่ที่เป็นบันทึกตกมาถึงพวกเราก็คือชุดนี้

พระธรรมเทศนา
         เริ่มต้นพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านว่า

        ณ บัดนี้ จะได้แสดงธรรมกถา ว่าด้วย พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เพื่อประดับสติปัญญาและปสาทะแห่งท่านสัตบุรุษ พุทธศาสนิกชนทั้งหลายผู้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จักแสดงตามลำดับพระบาลีที่ยกไว้ข้างต้น เริ่มแต่คำว่า อิติปิโส ภควา ไปจนจบ แต่การแสดงจะหนักไปในทางปฏิบัติ เพื่อมุ่งประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่

บทขยายความ
        คำว่า "ปสาทะ" ในความหมายแรก แปลว่า ความเลื่อมใสคือ ใจเลื่อม ไม่ขรุขระแล้วก็เลื่อมมากจนใจใส 

       "ปสาทะ" ในความหมายที่สอง แปลว่า ความผ่องใสความเบิกบาน ใสคือ แสงสว่างทะลุได้ ถ้าทึบแสงก็ทะลุไม่ได้

       พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้าน คือ เมื่อฟังเทศน์แล้วจะทำให้ใจหายขรุขระ เลื่อม แล้วก็ใสไม่ขุ่นมัว เท่ากับท่านได้บอกว่า ขอให้ได้ตั้งใจฟังพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ รับรองใจของเราจะทั้งเลื่อมทั้งใสทีเดียว

      ใจทั้งเลื่อมทั้งใสหมายความว่าอย่างไร ก็ต้องบอกว่าธรรมดาใจของคนเราเป็นดวงกลมๆ เหมือนอย่างกับดวงแก้ว ดวงจันทร์ ดวงดาว แต่ใจของคนบางคน ขรุขระ แล้วก็ขุ่นมัวด้วยอำนาจความโลภ ความโกรธ ความหลง เหมือนกับลูกฟุตบอลจมโคลน หรือเหมือนกับดวงแก้วตกโคลน เปื้อนๆ ขรุขระ ขุ่นมัว

     แต่เพราะได้ยินคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่มีมากมายมหาศาล มีฤทธิ์ถึงกับทำให้ใจที่ขรุขระ หายขรุขระ เปลี่ยนเป็นเลื่อมเลย เหมือนกับลูกบอลหรือลูกแก้วที่ล้างจนสะอาด นอกจากเลื่อมเป็นมันแล้ว ยังใสอีกด้วย ใสเหมือนแก้ว เหมือนเพชรที่เจียระไนแล้วแสดงว่าใจมีคุณภาพขึ้นมาทันที

       เท่ากับพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำได้บอกอานิสงส์ คือ ผลดีของการฟังธรรมไว้ตั้งแต่ต้นเลยว่า ถ้าใครฟังจนรู้เรื่องราว คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์สติปัญญาจะรุ่งเรืองใจจะทั้งผ่อง ทั้งใสทั้งเลื่อม ทั้งใสใสเหมือนแก้ว เหมือนเพชร มีประสิทธิภาพที่จะคิดในทางสร้างสรรค์ คิดในสิ่งที่ดีงาม มีความสามารถที่จะเข้าใจในธรรมะที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และสามารถที่จะคิดสร้าง รรค์สิ่งที่ดีงามยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดคำพูดและการกระทำที่ดีต่อไป

 

1.2 ความหมายของคำว่า "คุณ"

พระธรรมเทศนา
       คำว่า "คุณ" ในที่นี้หมายความว่ากระไร เมื่อวิเคราะห์ดูตามถ้อยคำในพระบาลีนี้แล้ว หมายความว่า "ความดี ความงามที่ควรเทิดทูน เคารพบูชา"

บทขยายความ
     คำว่า "คุณ" พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านบอกชัดว่า หมายความว่า "ความดีความงามที่ควรเทิดทูน ควรเคารพบูชา" แต่ว่าในปัจจุบัน เราใช้คำว่า "คุณ" กันใน 2 ความหมายคือ

1. หมายถึง ความดี ความงาม อย่างที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านว่ามา

2. หมายถึง คุณประโยชน์

      เพราะฉะนั้น ถ้าเราเรียก คุณ ก มีความหมายว่า นาย ก เป็นผู้ที่มีความดี ความงามและเป็นผู้มีคุณประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคม ไม่ใช่คนเลวร้ายอะไร

      ใครก็ตามที่เราไม่แน่ใจว่าเขาเป็นคนดีหรือไม่ มีคุณความดีหรือไม่ เราไม่รู้ ไม่มั่นใจเราก็จะเรียกแต่ชื่อของเขาโดยตรง หรือถ้าจะมีคำนำหน้าก็เพียงแสดงเพศ เช่น นาย ก, นาง ข

      แต่ถ้าแน่ใจว่าคนๆ นั้นเป็นคนไม่ดีล่ะก็ แน่นอนเลย คำว่า "คุณ" เขาก็ไม่ใช้แล้ว แค่คำบอกเพศเป็นหญิงเป็นชายก็ยังสูงเกินไปเสียแล้วสำหรับคนพรรค์นั้น เขาก็อาจจะเรียก ไอ้ ก, อี ข หรือ นักโทษชาย ก, นักโทษหญิง ข ก็ได้

       พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำท่านบอกอีกว่า คุณ หมายถึง พระพุทธคุณ

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 003 พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.028716731071472 Mins