นิพพาน 2 นัย หรือ 2 ความหมาย

วันที่ 23 มิย. พ.ศ.2560

นิพพาน 2 นัย หรือ 2 ความหมาย

คู่มือพุทธมามกะ , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , สร้างบารมี , หลวงพ่อธัมมชโย , พุทธมามกะ , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , นิพพาน , นิพพาน 2 นัย หรือ 2 ความหมาย , พระอรหันต์

   เมื่อกล่าวโดยสรุป หลักฐานในพระไตรปิฎก แสดงให้เห็นว่า อนุปาทิเสสนิพพาน มีอยู่ 2 ลักษณะ คือลักษณะฝ่ายลบ (Negative) และลักษณะฝ่ายบวก (Positive)

     พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เฉพาะอย่างยิ่งในยุคอรรถกถา (พ.ศ. 700-1000) เน้นแง่ลบของพระนิพพานเป็นพิเศษ อธิบายนิพพานในฐานะเป็นควาสว่างอย่างยิ่ง (นิพพานปรมสฺุ) ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น เป็นอนัตตา เป็นความสูญอย่างสมบูรณ์ ไม่มีอะไรเลย

    แต่ก็มีชาวเถรวาทบางพวกอธิบายนิพพานในแง่บวก บอกว่า นิพพานมีอยู่จริง ในฐานะเป็นแดน (อายตนะ Sphere) อันหนึ่ง มีอยู่ในเอกภพนี้เอง แต่ชี้ไม่ได้ว่ามีอยู่ ณ จุดไหนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลายสิ้นชีพดับขันธ์แล้ว บรรลุถึงนิพพานธาตุนั้น แต่ไม่ได้บอกว่า ยังอยู่ในฐานะเป็นบุคคล เป็นอัตตาหรือไม่ บอกแต่เพียงว่า เป็นธรรมชาติล้ำลึก (คมฺภีโร) หยั่งรู้ได้ยาก (ทุปฺปริโยคาฬฺโห) อันใคร ๆ นับประมาณไม่ได้ (อปฺปเมยฺโย)ดุจเม็ดทรายแห่งแม่คงคา (คงฺคาย วาลิกา) ดุจน้ำในมหาสมุทร เพราะเหตุที่หลักฐาน ในพระไตรปิฎกไม่ระบุไว้ชัดเจนนี้เอง ฝ่ายเถรวาทบางสำนัก จึงอธิบายให้ชัดเจนลงไปเลยว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ยังมีอยู่ในรูปของธรรมกาย ที่พุทธศาสนิกชนสามารถเข้าสัมผัสได้ ในสมาธิชั้นสูง

    ถ้าเราดูหลักฐานในพระไตรปิฎก เราจะพบว่า มีการนำเสนอพระนิพพานในแง่บวกมากกว่าแง่ลบ แม้แต่ศัพท์ต่าง ๆ ที่เป็นไวพจน์ของนิพพาน ก็ล้วนแต่มีความหมายในทางบวกทั้งนั้น โปรดสังเกตศัพท์ที่เป็นไวพจน์ของนิพพานดังต่อไปนี้

      อสงฺขตํ             - ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นธาตุบริสุทธิ์

      อมตํ เป็นอมตะ   - ไม่รู้จักตาย (เพราะไม่มีการเกิด)

      อนาสวํ             - ไม่มีอาสวะทั้ง 3 คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ

      อชฺชรํ ไม่รู้จักแก่ - ไม่มีความแก่ (เพราะไม่มีความเกิด)

      อปโลกินํ          -  ไม่รู้จักทรุดโทรม ไม่มีอะไรทำลายได้

      อนิทสฺสนํ         - ไม่มีลักษณะที่เห็นได้ด้วยจักขุ วิญญาณ

      นิปฺปปญฺจํ         - ไม่มีกิเลสเครื่องทำให้เนิ่นช้า

      อพฺภูตํ             - ไม่กลับกลาย

      อนีติกํ             -  ไม่มีความทุกข์

      อนีติกธมฺมํ       - เป็นธรรมอันหาทุกข์มิได้

      อพฺยาปชฺฌํ      - ไม่มีอันตราย ไม่มีการเบียดเบียน

      อนาลยํ           -  ไม่มีอาลัย

     ศัพท์เหล่านี้ แม้จะเป็นศัพท์ปฏิเสธ ก็มีความหมาย ในทางดี เช่น คำว่า "อมตํ" ไม่ตายก็หมายความว่า มีอยู่ตลอดกาล

       ส่วนศัพท์ที่เป็นไวพจน์ของนิพพานต่อไปนี้ มีความหมายเป็นฝ่ายบวกโดยตรง เช่น

      สจฺจ              - เป็นความจริง

      นิปุณํ             - เป็นธรรมชาติละเอียด

      สุทุทฺทสํ         - เห็นได้ยากยิ่ง

      ธุวํ                 - เป็นสภาพยั่งยืน

      สนฺตํ              - เป็นสภาพสงบ

      ปณีตํ             -  เป็นสภาพประณีต

      สิวํ                -  เป็นความสุข เยือกเย็น

       เขมํ              - เกษม ปลอดภัย

       ตณฺหกฺขยํ       - สิ้นความอยาก

       อจฺฉริยํ          - เป็นธรรมชาติน่าอัศจรรย์

       วิราคํ             - ปราศจากราคะ

       สุทฺธิ             - เป็นความบริสุทธิ์

       มุตฺตํ             - เป็นสภาพพ้น (จากทุกข์ทั้งปวง)

      (มีผู้อ้างบาลีว่า เทฺว เม ภิกฺขเว ธมฺมา ธุวา สฺสตา นิจจา อมตา จกตา อสงฺขาตาฯ กตเม เทฺวฯ อากาโส จ นิพพานญฺจ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม 2 ประการนี้ เที่ยงแท้ มั่นคงยั่งยืน เป็นอมตะ ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง 2 ประการเป็นไฉน คือ อากาศ (อวกาศ) 1 นิพพาน 1)

       มีบางศัพท์ที่ฟังดูมีความหมายในทางลบ แต่คำอธิบายที่ท่านให้ไว้ กลับเป็นบวก เช่น

       นิพฺพานํ   ความดับ ในที่มาแทบทุกแห่ง หมายถึง ความดับ โลภะ โทสะ โมหะ

       สุญญํ    ว่าง หมายถึง ว่างจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ


 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 004 คู่มือพุทธมามกะ
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.016528964042664 Mins