เสี้ยวหนึ่งแห่งคุณธรรมของหลวงปู่

วันที่ 26 กพ. พ.ศ.2561

เสี้ยวหนึ่งแห่งคุณธรรมของหลวงปู่

ธรรมกาย , วัดพระธรรมกาย , พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) , พระผู้ปราบมาร , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , หลวงปู่สด , หลวงพ่อสด , ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกาย , ตามรอยพระมงคลเทพมุนี , วิสุทธิวาจา , ประวัติหลวงพ่อสด , ประวัติพระมงคลเทพมุนี , รวมพระธรรมเทศนา หลวงพ่อวัดปากน้ำ , สมาธิ , วิปัสสนา , สัมมาอะระหัง , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , อานุภาพพระของขวัญวัดปากนํ้า , ยิ่งรู้จัก ยิ่งเคารพรักท่าน , วิธีปฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงพระธรรมกาย , เสี้ยวหนึ่งแห่งคุณธรรมของหลวงปู่

         หลวงปู่เป็นบุคคลสําคัญที่หาได้ยากยิ่ง ท่านมีมโนปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่จะนําพาสรรพสัตว์ทั้งหลายเข้าสู่พระนิพพานให้หมดก่อน แล้วท่านจึงจะเข้าพระนิพพานทีหลัง

         การกล่าวถึงคุณธรรมของบุคคลผู้มีจิตใจอันสูงส่งเช่นนี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่คนธรรมดาสามัญจะสามารถทําได้อย่างครบถ้วนดังนั้นเรื่องราวที่ยกมาเป็นตัวอย่างต่อไปนี้จึงเป็นเพียงเศษเสี้ยวของคุณธรรมความดีงามของท่านเท่านั้น


๐ รักพระพุทธศาสนา
       หลวงปู่ตั้งใจอุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนาตั้งแต่แรกบวช และตั้งใจที่จะเป็นพระแท้ท่านจึงหมั่นฝึกฝนตนเองทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติตลอดมา

         ต่อมา เมื่อได้เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญท่านก็พากเพียรให้การศึกษาทั้งทางปริยัติและปฏิบัติแก่พระภิกษุสามเณรในวัดปากน้ำ

         ในด้านปริยัติพระภิกษุสามเณรสามารถสอบนักธรรมและบาลีสนามหลวงได้นับร้อยรูป

         ในด้านการปฏิบัติมีพระภิกษุสามเณรจํานวนมากที่มีผลการปฏิบัติธรรมที่ดี

    นอกจากนี้ หลวงปู่ยังถวายภัตตาหารพระภิกษุสามเณรทุกวัน วันละประมาณ ๕๐๐ รูป ซึ่งสมัยนั้น ในประเทศไทยยากที่จะหาวัดไหนทําประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาได้มากเหมือนวัดปากน้ํา

        และด้วยความรักในพระพุทธศาสนา ท่านจึงให้การสนับสนุนพระสงฆ์ทั่วประเทศในด้านต่าง ๆ เท่าที่มีโอกาสจะทําได้เช่น มีส่วนร่วมในการสร้างโรงพยาบาลสงฆ์และมหาวิทยาลัยสงฆ์ซึ่งถือเป็นคุณูปการแก่การคณะสงฆ์อย่างใหญ่หลวง


๐ รักการปฏิบัติธรรม
   หลวงปู่ท่านใช้เวลาในชีวิตสมณะอย่างทรงคุณค่ายิ่งนับตั้งแต่วันแรกที่บวช ท่านตั้งใจปฏิบัติธรรมทุกวันตลอดมา เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว ท่านก็ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตให้กับการศึกษาค้นคว้าและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย

     ต่อมา เมื่อท่านตั้งโรงงานทําวิชชาขึ้น และมีผู้มาทําวิชชาทั้ง ๒๔ ชั่วโมง ท่านก็ควบคุมการปฏิบัติด้วยตนเองมาโดยตลอด ทําให้ท่านมีเวลาพักผ่อนเพียงน้อยนิด แม้ชราภาพแล้ว หรือแม้กระทั่งในยามอาพาธ ท่านก็ยังคงดูแลควบคุมการปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสามเณร และแม่ชี


๐ มีความกตัญญูกตเวที
   หลวงปู่ท่านเป็นผู้เลิศด้วยความกตัญญูกตเวทิตาใครอนุเคราะห์ท่านก่อน ท่านไม่เคยลืมบุญคุณ และพยายามหาทางตอบแทน เช่น อุบาสิกานวม แม่ค้าขายข้าวแกง ที่เคยจัดภัตตาหารเพลมาถวายท่านเป็นประจําสมัยที่ท่านเคยอยู่วัดพระเชตุพนฯ ต่อมาอุบาสิกานวมชราและทุพพลภาพ ไม่มีผู้ใดดูแล หลวงปู่ท่านก็รับมาอุปการะ

      ในส่วนของโยมมารดา ก่อนมาบวชท่านก็ตั้งใจหมั่นเพียรทํางานหาเงินไว้ให้โยมมารดา จนคาดว่ามากพอที่โยมมารดาจะดํารงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ต่อมาเมื่อโยมมารดาอายุมากขึ้น ท่านก็รับไปอยู่ที่วัดปากน้ํา สร้างที่อยู่อาศัยให้และเลี้ยงดูอย่างดีตลอดชีวิต

      นอกจากนี้เมื่อสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสสทัตตมหาเถระ) ซึ่งเป็นผู้เห็นชอบให้หลวงปู่ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำเกิดอาพาธขึ้น หลวงปู่ก็สนองพระคุณด้วยการจัดภัตตาหารและรังนกจากวัดปากน้ําไปถวายทุกวัน โดยตั้งงบประมาณไว้วันละ ๔๐ บาท พอได้เวลา ๐๔.๐๐ น. ท่านก็ให้คนลงเรือจ้างนําภัตตาหารไปถวาย เพราะสมัยนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวก ต้องไปทางเรือ จึงต้องรีบออกเดินทาง พอถึงวัดพระเชตุพนฯ ก็เช้าพอดีหลวงปู่สั่งให้ทําเช่นนี้เป็นเวลาหลายเดือน เมื่อผู้นําภัตตาหารไปถวายกลับมาถึงวัดปากน้ำแล้ว ต้องรายงานให้ท่านทราบทุกวัน


๐ เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา
      ในสมัยนั้น มีผู้คนเป็นจํานวนมากเดินทางมาจากสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อไปขอพึ่งบารมีหลวงปู่ที่วัดปากน้ำ และด้วยความที่ท่านมีจิตใจที่เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา เวลาใครมีเรื่องเดือดร้อนอะไรมา ท่านจึงไม่เคยปฏิเสธ และถามไถ่ทุกคนด้วยความห่วงใยเสมอว่า มาจากไหน มาอย่างไร มากับใคร ถ้าท่านทราบว่า ผู้นั้นยากจนมาก มีเงินมาแค่พเป็นค่าเดินทาง ไม่มีเงินพอที่จะซื้ออาหารกิน ท่านก็บอกให้ไปกินอาหารที่โรงครัว ถ้าใครไม่มีที่นอน หมอน มุ้ง ท่านก็สั่งให้ไวยาวัจกรจัดหาเครื่องนอนและที่พักให้เมื่อช่วยรักษาโรคให้หายหรือทุเลาเบาบางลงแล้ว ท่านก็สั่งให้ไวยาวัจกรจัดการเรื่องค่าเดินทางกลับให้ด้วย

      คราวหนึ่ง มีคนแก่ที่มาเรียนกัมมัฏฐานเอาปลาแห้งตัวหนึ่งมาถวายท่าน เขาบอกท่านว่า เขามีแค่นั้น เพราะเป็นคนยากจน หลวงปู่หัวเราะชอบใจและพูดว่า “เออ ให้มันได้อย่างนี้ซีน่า นี่แหละเขาเรียกว่ารวยแล้ว มีเท่าไหร่ถวายจนหมด เมื่อครั้งพระพุทธเจ้า นางปุณณทาสีถวายแป้งจี่ทําด้วยรําแก่พระพุทธเจ้า ต่อมากลายเป็นคนมั่งมีปลาแห้งของเราตัวหนึ่งราคาสูงว่ารํามากนัก เป็นกุศลมากแล้วที่นํามาให้” ต่อมา ชายคนนี้ขอร้องให้หลวงปู่บวชให้เพราะไม่มีอัฐบริขารจะบวช หลวงปู่ก็จัดการบวชให้สมปรารถนา

     สําหรับพระภิกษุสามเณรในวัดปากน้ำนั้น ท่านมีความเมตตามากและคิดว่าทุกรูปเปรียบเสมือนลูกหลานเวลาท่านได้ลาภสิ่งใดมา ท่านก็มิได้เก็บไว้เพียงผู้เดียว แต่นําออกแจกจ่ายโดยทั่วถึงกัน เพราะท่านต้องการให้ทุกคนมีความสะดวกสบาย จะได้มีกําลังศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติธรรมได้เต็มที่

       บางครั้งเวลามีพระภิกษุสามเณรมาขอจีวร ท่านก็จะถามว่า จะเอาจีวรที่ท่านห่มไหม ถ้าใครเอา ท่านก็ถอดให้เลย ท่านบอกว่า “ก็เราบวชให้เขา เราเป็นพ่อเขา เขาขอก็ให้เขา”


๐ กล้าหาญ
    การเผยแผ่วิชชาธรรมกายของหลวงปู่ในสมัยนั้นถูกคัดค้านต่อต้านจากทั้งฆราวาสและพระภิกษุสงฆ์จํานวนมาก เพราะในสมัยนั้นการส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นไปในด้านปริยัติมากกว่าด้านปฏิบัติและพระภิกษุที่สนใจการปฏิบัติธรรมมักจะหลีกเร้นไปบําเพ็ญเพียรตามป่าเขาลําเนาไพร หลวงปู่จึงเป็นพระสงฆ์องค์แรกที่กล้าสอนการปฏิบัติธรรมอย่างเปิดเผย ท่านกล้าพูดว่า
“ได้ธรรมกาย” กล้าเอาวิชชาธรรมกายมาสอน ท่านจึงเป็นที่เพ่งเล็งให้คนโจมตีแต่ท่านก็มิได้หวั่นเกรงย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ ยังคงมุ่งมั่นเผยแผ่วิชชาธรรมกายต่อไปเพราะท่านเล็งเห็นถึงอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นแก่ชาวโลก

นอกจากนี้ หลวงปู่ท่านยังสอนลูกศิษย์ให้มีความองอาจกล้าหาญ กล้าสู้กับความจริง เวลามีปัญหาอะไรให้พูดความจริงกับท่าน อย่าปิดบัง ท่านจะได้ช่วยแก้ปัญหาให้อย่างถูกต้อง หลวงปู่ท่านไม่ชอบคนโกหก ถ้าจับโกหกได้แม้ครั้งเดียว ท่านก็ว่า “คนนี้โกหกกระทั่งเรา ก็เป็นคนหมดดี”


๐ เป็นครูที่ดี
      หลวงปู่เป็นครูที่ดีเยี่ยม ดังจะเห็นได้ว่า พระธรรมเทศนาของท่านทุกเรื่องล้วนค้นคว้ามาจากพระไตรปิฎก มีที่มาชัดเจน ทําให้ผู้ฟังธรรมได้รับทั้งความเพลิดเพลินและได้ความรู้อย่างลึกซึ้ง

      เวลาสอนปฏิบัติธรรม ท่านก็พยายามหาวิธีสอนที่เข้าใจได้ง่าย มีหนังสือแจก และมีอุปกรณ์การสอน อย่างเช่นภาพฐานที่ตั้งของใจทั้ง ๗ ฐาน เพื่อให้ศิษย์มีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีทําให้ศิษย์ของท่านบรรลุธรรมกันเป็นจํานวนมาก

    ประการสําคัญ วิชาที่หลวงปู่สอนเป็นวิชชาชีวิต ที่ช่วยให้ทุกคนมีความสุขที่แท้จริง และช่วยปิดนรก เปิดสวรรค์รวมทั้งเปิดหนทางพระนิพพานให้หลวงปู่จึงเป็นครูที่หาใครเปรียบได้ยาก


๐ อดทนและขยันขันแข็ง
     เมื่อหลวงปู่อายุได้เพียง ๑๔ ปีเศษ บิดาของท่านถึงแก่กรรม ท่านเป็นลูกชายคนโตจึงต้องหาเลี้ยงครอบครัวแทนบิดา ซึ่งนับเป็นภาระที่หนักมากสําหรับเด็กวัยขนาดนั้น แต่ท่านก็อดทนทําการงานด้วยความขยันขันแข็ง ทําให้กิจการค้าเจริญรุ่งเรือง จนถือเป็นพ่อค้าที่มีฐานะดีคนหนึ่ง

  เมื่อไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ท่านก็ต้องใช้ทั้งความอดทนและความขยันขันแข็งเป็นอย่างมากในการพัฒนาวัดที่เกือบเหมือนวัดร้าง ให้เจริญรุ่งเรืองทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ

     ในเวลาอาพาธ ท่านก็ไม่ชอบให้ใครป้อนภัตตาหารให้เภสัชก็ไม่ชอบให้ใครป้อน ไม่ชอบให้ใครพยุง แม้กระทั่งสรงน้ำ เปลี่ยนผ้า ท่านก็ทําเอง และยังปฏิบัติกิจวัตรตามปกติทั้งสอนภาวนา แจกพระของขวัญ และค้นคว้าวิชชาธรรมกาย จนกระทั่งอาพาธหนักทําไม่ไหวจึงหยุดภารกิจทั้งหลาย


๐ เป็นคนจริง
       ก่อนเดินทางออกจากวัดสองพี่น้องไปจําพรรษาอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ หลวงปู่ได้ตั้งคัมภีร์ใบลานมหาสติปัฏฐานลานยาวไว้ที่วัดสองพี่น้องผูกหนึ่ง และตั้งใจไว้ว่าจะต้องแปลคัมภีร์ผูกนี้ให้ออก ถ้ายังแปลไม่ออก จะยังไม่หยุดเรียน ซึ่งต่อมาท่านก็เรียนบาลีจนสามารถแปลคัมภีร์ผูกนี้ออกจริง ๆ จึงหยุดเรียน

      เมื่อไปอยู่ที่วัดปากน้ำแล้ว ท่านเคยพูดกับสมเด็จป๋า (สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗) เมื่อครั้งยังไม่ได้เป็นพระสังฆราชไว้ไม่น้อยกว่า ๒๐ ปีว่า จะสร้างโรงเรียนขนาด ๓ ชั้น จุนักเรียนได้๑,๐๐๐ คน ๒ ชั้นล่างให้เรียนพระปริยัติชั้นที่ ๓ จะให้เรียนธรรมปฏิบัติ

     ต่อมาโรงเรียนพระปริยัติธรรมก็เกิดขึ้นในวัดปากน้ำจริง ๆ เป็นตึก ๓ ชั้น พร้อมด้วยเครื่องประดับตกแต่งอย่างดีและทันสมัย มีห้องเรียนและห้องน้ำในแต่ละชั้น และมีอุปกรณ์การศึกษาครบบริบูรณ์ดังที่ท่านได้ดําริไว้


๐ มีใจเด็ดเดี่ยว
    ขณะที่ท่านไปเรียนหนังสือที่วัดพระเชตุพนฯ ท่านออกบิณฑบาตวันแรกไม่ได้อะไรเลย วันที่สองก็ไม่ได้อะไรขณะนั้นท่านคิดว่าท่านเป็นผู้มีศีล จะอดตายเช่นนั้นหรือถ้าจะเป็นอย่างนั้นท่านก็ยอมตาย ในเมื่อบิณฑบาตไม่ได้ท่านก็ยอมอด ไม่ยอมฉันของอื่น และคิดว่าหากท่านมรณภาพไป ผู้คนก็จะพากันสงสารพระภิกษุสามเณร และจะพากันออกมาตักบาตร ซึ่งจะทําให้พระภิกษุสามเณรทั้งประเทศมีอาหารบิณฑบาตเพียงพอทุกรูป

      เมื่อครั้งที่จําพรรษาที่วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง ในวันเพ็ญเดือน ๑๐ ระหว่างกลางพรรษาที่ ๑๒ ท่านตั้งใจปฏิญาณตนยอมตายถ้าไม่ได้บรรลุธรรมที่พระสัมมาสัม-พุทธเจ้าบรรลุ ด้วยการทําความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยวไม่อาลัยในชีวิต ทําให้ท่านได้บรรลุธรรมในคืนนั้นเอง


๐ รู้ค่าของเวลา
     หลวงปู่ท่านรู้คุณค่าของเวลามาก ท่านไม่ยอมปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ นับตั้งแต่เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ํา ท่านไม่เคยไปค้างคืนที่อื่นเลย และไม่ยอมออกไปนอกวัด เว้นแต่มีกิจจําเป็นของสงฆ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น ในกรณีที่มีผู้นิมนต์ท่านไปฉันเพลนอกวัดท่านมักขอให้พระรูปอื่นไปแทน แต่ถ้ามีความจําเป็นต้องไปจริง ๆ ท่านก็จะไปเพียงชั่วครู่ แล้วรีบกลับ ซึ่งเรื่องนี้ท่านให้เหตุผลว่า
“เสียเวลาอบรมผู้ปฏิบัติ”

     เวลาเทศน์สอนพระภิกษุสามเณร ท่านก็จะเตือนให้ทุกรูปรู้จักใช้เวลาทุก ๆ นาทีอย่างคุ้มค่า เช่น ในเรื่องการทําสมาธิท่านบอกว่า “การทําใจให้หยุดนิ่งนั้น สามารถทําได้ทุกเวลา ทุกโอกาส”


๐ เคร่งครัดพระธรรมวินัย
       หลวงปู่เป็นพระแท้ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่พระภิกษุทั้งหลาย แม้ในเวลาอาพาธท่านก็ยังคงรักษาศีลอย่างเคร่งครัดและปฏิบัติกิจภาวนาด้วย

         ครั้งหนึ่ง มีคนเห็นว่าหลวงปู่ท่านอาพาธหนัก ฉันภัตตาหารได้น้อย จึงสั่งให้แม่ครัวต้มข้าวให้เปื่อย บดให้ละเอียด กรองด้วยผ้าขาว ใส่กระติกน้ําร้อนไปถวาย แต่หลวงปู่ท่านไม่ยอมฉัน


๐ รักความสามัคคี
       ในการอยู่ร่วมกัน หลวงปู่ท่านถือความสามัคคีเป็นสําคัญ ทุกคนในวัดจะต้องมีวัตรปฏิบัติเหมือนกัน ทําสิ่งใดก็ต้องทําพร้อมเพรียงกัน ไม่ขัดแย้งกัน พระภิกษุสามเณรและแม่ชีต้องลงสวดมนต์ทําวัตร ฟังเทศน์ฟังธรรมพร้อมกัน แม้แต่การปลงผมของพระภิกษุสามเณรและแม่ชีท่านก็ให้ปลงวันเดียวกัน ถ้าผู้ใดไม่ปลงผมวันเดียวกับผู้อื่น ท่านจะพูดว่า
“แม้แต่หัวมันยังไม่สามัคคีแล้วใจจะสามัคคีกันได้อย่างไร”

       ท่านกล่าวว่า ความสามัคคีในหมู่คณะทําให้เป็นสุขหากไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน หมู่คณะก็จะเจริญ และถ้ามีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้น ก็สามารถแก้ให้ลุล่วงไปได้ด้วยสามัคคีธรรม


๐ รักความสะอาดเรียบร้อย
       หลวงปู่ท่านชอบความสะอาดเรียบร้อย ตัวอย่าง เช่น เวลาจัดโต๊ะฉันภัตตาหารของพระภิกษุสามเณร ท่านให้แม่ชีวางโต๊ะตั้งเป็นระยะ ๆ อย่างมีระเบียบ ให้ปูผ้าตรงกลาง วางแก้วน้ํา กาน้ำ แล้วเทน้ําใส่แก้วไว้ให้เรียบร้อยทุกอย่างท่านบอกว่าต้องทําให้สะอาด แล้วเวลาพระฉัน ก็ไม่ให้คุยกัน ถ้าคุยกันท่านจะถามว่า
“ฉันข้าวหรือฉันเหล้า”

       ส่วนข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของท่านก็สะอาดสะอ้าน และจัดไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย สบง จีวร อังสะ สังฆาฏิที่ท่านนุ่งห่ม ต้องซักให้สะอาด


๐ มีระเบียบวินัย
     วัดปากน้ำมีสมาชิกอยู่เป็นจํานวนมากจึงต้องมีระเบียบวินัยและมีกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด ผู้ใดละเมิดกฎประพฤติตัวไม่เหมาะไม่ควร หลวงปู่ก็จะว่ากล่าวตักเตือนถ้าทําผิดซ้ํา ท่านจะตักเตือนอีกครั้ง และถ้ายังกระทําผิดอีกเป็นครั้งที่ ๓ ท่านจะสั่งลงโทษ เช่น ให้กวาดบริเวณวัดบ้าง ตัดไม้ฟืนส่งโรงครัวบ้าง ถ้ายังกระทําผิดซ้ําอีก ท่านก็จะให้ออกจากวัด

     ดังนั้น พระภิกษุสามเณรวัดปากน้ําจึงต้องปฏิบัติตามระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด เช่น ทุกรูปต้องแต่งกายเรียบร้อย ห่มจีวรเหมือนกันหมด เวลาฉันภัตตาหาร พระภิกษุสามเณรที่ได้ธรรมกายต้องแยกไปนั่งอยู่อาสนะหนึ่งพวกที่ได้เปรียญธรรมนั่งอีกอาสนะหนึ่ง พระภิกษุทั่วไปนั่งอีกอาสนะหนึ่ง ไม่ปะปนกัน

          ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบ และเพื่อให้สาธุชนรู้ว่าวัดปากน้ำมีทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติ


๐ รักการศึกษา
        หลวงปู่ท่านเห็นคุณค่าของการศึกษามาก ท่านสอนให้ลูกศิษย์รักการศึกษา ให้ตั้งใจเรียนหนังสือ จะเรียนทางโลกก็ได้ทางธรรมก็ได้ท่านเปิดโอกาสให้ทุกคน

      ท่านมักจะกล่าวว่า    “คนที่มีการศึกษาดีจะได้อะไรก็ดีกว่า ประณีตกว่าผู้อื่น คนมีวิชาเท่ากับได้สมบัติจักรพรรดิกินใช้ไม่หมด”

       ถ้าใครไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ท่านจะกล่าวว่า “อ้ายโลกก็เหลว อ้ายธรรมก็แหลกเป็นแบกบอน เหลือแต่กิน นอน เที่ยว สามอันเท่านั้นเอย” คือ ทางโลกก็ไม่ได้ทางธรรมก็ไม่ดี


๐ ประหยัด
       เวลามีคนไปถวายผ้าไตรจีวรใหม่ หลวงปู่มักนําไปแจกพระภิกษุสามเณร ตัวท่านเองใช้แต่ของเก่า พอเก่ามาก ๆ ท่านก็ให้ซ่อมแซมเพื่อใช้ต่อไป

      ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผ้าหายาก ท่านให้แม่ชีเอาอังสะหลาย ๆ ตัวที่ไม่ค่อยได้ใช้มาเย็บต่อกันเป็นจีวรแต่เนื่องจากอังสะแต่ละตัวมีสีไม่เหมือนกัน ดังนั้นจีวรที่เย็บขึ้นมาจึงมีหลายสีเย็บเสร็จแล้วเอาไปแจกพระเณรรูปอื่น ๆ ก็ไม่มีใครรับ หลวงปู่เลยใช้เอง ต่อมามีศิษย์ผู้หนึ่งทนดูไม่ได้เลยขอจีวรผืนนี้ไปบูชา


๐ รู้ค่าของเงิน
      หลวงปู่ท่านเล่าว่า สมัยก่อนแก้วสารพัดนึกมีจริงนึกจะเอาอะไรก็เอาได้นึกจะทําอะไรก็ทําได้แต่สมัยนี้เหลือแต่เงินเท่านั้นที่จะเป็นแก้วสารพัดนึก ท่านบอกว่าอย่าเห็นว่าเงิน ๑ บาท เป็นกระเบื้องที่ไม่มีค่า บาทหนึ่งก็ซื้อขนมได้อย่าประมาท อย่าดูถูกเงิน คนที่ดูถูกเงิน ตอนหลังแทบจะถือกะลาขอทานก็มี

      แม้หลวงปู่ท่านจะเห็นคุณค่าของเงินมาก แต่ท่านก็ไม่จับเงิน ใครจะถวายเงินต้องไปหาไวยาวัจกร แล้วไวยาวัจกรจะเขียนใบปวารณาให้จากนั้นนําใบปวารณาไปถวายหลวงปู่ หลวงปู่ก็จะทราบว่า คนนั้น คนนี้ถวายเงินเท่านั้น เท่านี้


๐ รู้คุณค่าของสิ่งของ
      หลวงปู่ท่านเป็นคนละเอียดลออ รู้ค่าของสิ่งของทุกอย่างที่ญาติโยมนํามาถวาย แม้แต่ของเล็ก ๆ น้อย ๆอย่างเช่น เวลาเดินไปฉันภัตตาหาร ถ้าท่านเห็นข้าวสารที่ผู้มีจิตศรัทธาบรรทุกเรือมาถวายตกอยู่แม้เพียงเล็กน้อยท่านจะเรียกเด็กมาเก็บ ท่านเห็นว่า ข้าวสารที่ตกหล่นอยู่แม้เพียงเล็กน้อย ถ้าเก็บมารวมกันหลาย ๆ ครั้ง ก็เป็นจํานวนมากพอที่จะนําไปหุงได้

      หรือเวลาเดินไปตามถนน ถ้าท่านเจอเศษไม้เป็นท่อน ท่านจะเก็บมาไว้ทําฟืน ผ้าขี้ริ้วที่ขาดแล้วท่านก็ไม่ให้เอาไปทิ้ง เผื่อเวลามีอะไรรั่ว จะได้เอาผ้าขี้ริ้วนั้นไปชุบน้ำมันยางอุดเอาไว้ซึ่งพอจะกันรั่วไปได้ระยะหนึ่ง

         เวลาล้างจาน ทานก็บอกว่าให้ค่อย ๆ รินน้ําออกเศษอาหารที่อยู่ก้น ๆ นําไปให้หมูให้หมากินได้


๐ รักการปฏิสันถาร
       หลวงปู่ท่านมีปิยวาจา ท่านไม่พูดให้ผู้ใดกระทบกระเทือนใจ เวลาใครมีเรื่องเดือดร้อนมาปรึกษาท่าน ท่านก็จะรับฟังและให้คําแนะนําที่มีประโยชน์แก่ทุกคน

         นอกจากนี้ ท่านยังสั่งสอนศิษย์ไม่ให้พูดแบบมีเหล็กใน คือไม่ให้ใช้วาจาทิ่มแทงใจผู้อื่น ให้พูดจาปฏิสันถารต้อนรับอย่างดีท่านบอกว่า “เขาจะได้นํามงคลมาให้แต่ถ้าเราปฏิสันถารไม่ดีเขาก็จะนํามงคลกลับไปและทิ้งอัปมงคลไว้ให้”


๐ ให้เกียรติคน
      ทุกคนที่มาหาหลวงปู่จะได้รับการต้อนรับอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันหมด ปกติเวลาออกรับแขก หลวงปู่จะนั่งบนเก้าอี้แขกทุกคนนั่งกับพื้นเสมอกันหมด ไม่ว่าสามัญชนคนธรรมดา หรือผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็ตาม

       หลวงปู่ท่านให้เกียรติทุก ๆ คน ไม่ชอบให้คนดูหมิ่นกัน ท่านบอกว่าการดูหมิ่นเหยียดหยามกันแสดงให้เห็นถึงความไม่มีเมตตาในกันและกัน การดูหมิ่นกันจะทําลายตัวเอง แม้คนใหญ่คนโตก็จะเดือดร้อนเพราะดูถูกดูหมิ่นผู้น้อย เนื่องจากความเกลียดชังของผู้น้อยสามารถทําลายผู้ใหญ่ได้


๐ รักและเป็นห่วงลูกศิษย์
      หลวงปู่ท่านรักและเป็นห่วงลูกศิษย์มาก ถ้าพระจะมรณภาพ ท่านก็จะไปนั่งคุมบุญให้แม่ชีก็เช่นกัน ถ้าหากเสียชีวิตลง หลวงปู่ท่านก็จะคุมบุญให้และจัดการศพให้เรียบร้อย ท่านดูแลลูกศิษย์เป็นอย่างดีขาดแคลนอะไรท่านหาให้ทุกอย่าง

       ด้วยความเป็นห่วงลูกศิษย์ก่อนที่ท่านจะมรณภาพท่านเคยพูดไว้ว่า “พวกเอ็งคอยดูนะ แม้เมื่อหลวงพ่อตายไปแล้ว ก็จะเลี้ยงดูให้พวกเอ็งได้อิ่มหนําสําราญ ไม่ต้องกลัวขอเพียงให้ทุกคนตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ตั้งใจปฏิบัติกันให้จริงจัง”

      ซึ่งปรากฏว่า หลังจากท่านมรณภาพไปแล้ว ก็ยังมีคนมาสักการะกราบไหว้สรีระของท่านเป็นจํานวนมาก ซึ่งหมายความว่ายังมีผู้คนจํานวนมากไปทําบุญที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระเณรก็จะไม่ลําบากเรื่องการขบฉัน


อีก ๕ ปีจะมรณภาพ
        ในปีพ.ศ. ๒๔๙๗ หลวงปู่เรียกประชุมศิษย์ทั้งหมดพร้อมทั้งปรารภว่า อีก ๕ ปีท่านจะมรณภาพ และเพื่อให้วิชชาธรรมกายได้เผยแผ่กว้างไกล นําสันติสุขและความร่มเย็นไปสู่ชาวโลกได้อย่างทั่วถึง ท่านขอให้ทุกคนช่วยกันเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลกให้ได้เพราะวิชชานี้เป็นแก่นแท้ของชีวิต มีความสําคัญและมีประโยชน์มากสามารถช่วยมนุษย์ให้หลุดพ้นจากห้วงทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดและนําพาสันติสุขมาสู่โลกได้อย่างแท้จริง

       ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นต้นมา หลวงปู่เริ่มอาพาธด้วยโรคความดันโลหิตสูง แม้ในขณะอาพาธท่านก็ยังคงควบคุมการปฏิบัติธรรมและสั่งงานการทําวิชชาโดยให้พระภิกษุมานั่งสมาธิปฏิบัติธรรมใกล้ๆ ท่านทุกวัน

          ต่อมาในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ เวลา ๑๕.๐๕ น. ระฆังทุกใบในวัดปากน้ําได้บันลือเสียงขึ้น เป็นสัญญาณว่า หลวงปู่ได้มรณภาพลงแล้ว ตรงกับที่ท่านเคยปรารภไว้ว่าอีก ๕ ปีจะมรณภาพ รวมอายุได้๗๕ ปีรวมพรรษาได้๕๓ พรรษา

 

 


จากหนังสือ ยิ่งรู้จัก ยิ่งเคารพรักท่าน

หนังสือธรรมะแจกฟรี .pdf ยิ่งรู้จัก ยิ่งเคารพรักท่าน (ฉบับพิเศษ)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012192130088806 Mins