นิทานธรรมะ ตอน เล่ห์เหลี่ยมของคนโกง

วันที่ 05 เมย. พ.ศ.2561

เล่ห์เหลี่ยมของคนโกง

                คนโกงย่อมเป็นคนเจ้าเล่ห์ ทำเล่ห์กลให้ผู้อื่นตายใจว่าตนเป็นคนดีมีศีลมีสัตย์ จนผู้อื่นตายใจ เเล้วก็โกงเอาทรัพย์สินของผู้อื่น โดยเจ้าของทรัพย์คิดไม่ถึงว่า เมื่อมองดูภายนอกก็พอเชื่อได้ว่าเป็นคนดีมีศีลมีสัตย์ เเต่ภายในจิตใจเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมสารพัดสารพันอย่างเรื่องนี้มีตัวอย่าง ...

                  ในอดีตกาลนานไกลโพ้น ในกรุงพาราณสี มีดาบสผู้หนึ่งอาศัยอยู่ ณ บรรณศาลาของผู้มีอันจะกินคนหนึ่ง ที่่สร้างถวายไว้ในป่า ดาบสผู้นั้นรับอาราธนาฉันภัตตาหารของผู้มีอันจะกินคนนั้นเป็นประจำ เพราะความที่ผู้มีอันจะกินคนนั้นเกรงกลัวต่อโจรภัย จึงคิดว่า "ฤาษีท่านนี้เป็นผู้มีศีล มีธรรม คงจะไว้ใจได้ เราจะฝาก ทองคำมีน้ำหนักเป็นร้อย โดยฝังไว้ใต้บรรณศาลานั้น" พร้อมกับกล่าวกับฤาษีว่า "ขอท่านได้โปรดช่วยดูเเลทรัพย์นี้ด้วย"  ดาบสเจ้าเล่ห์ กล่าวเเก่ผู้มีอันจะกินผู้นั้นว่า "พ่อมหาจำเริญ! อันธรรมดาบรรพชิตผู้พยายามละกิเลสนั้นย่อมไม่เหมาะเเก่การทำหน้าที่รักษาทรัพย์สมบัติให้ผู้ใด เเละบรรพชิตนั้นย่อมปราศจากความโลภในทรัพย์สินของผู้ใด" ผู้มีอันจะกินคนนั้นได้ฟังคำกล่าวของฤาษีก็ยิ่งเลื่อมใสเเละปักใจว่าทองคำของอยู่ในที่ปลอดภัยเป็นเเน่เเท้ เเล้วก็ลากลับไป  

               ดาบสผู้นั้นนั่งใคร่ครวญรำพึงในใจว่า "ทองคำมีน้ำหนักตั้งร้อยคงจะพอเลี้ยงชีวิตเราได้ เเล้วทอดเวลาให้เนิ่นนานไปพอสมควร ได้ลักเอาทองคำย้ายที่ไปฝังไว้ ณ ที่อื่น" วันรุ่งขึ้น เมื่อฉันภัตตาหารเสร็จเเล้ว
ก็บอกผู้มีอันจะกินคนนั้นว่า "พ่อมหาจำเริญ! อาตมภาพอยู่ที่นี่มาก็นานเเล้ว บรรพชิตนั้นอยู่ในที่เดียวนานๆ ย่อมพัวพันคลุกคลีกับหมู่มนุษย์ เพราะการเกี่ยวข้องกันกับหมู่มนุษย์นั้น เป็นโทษเป็นมลทิน ของพวกฤาษี ฉะนั้น    อาตมภาพขอลาไปก่อนละ" เเม้ผู้มีอันจะกินคนอ้อนวอนเเล้วๆเล่าๆก็ไม่ยอมอยู่ พอเดินจากไปสักเล็กน้อย ก็เเสร้งทำกลลวงผู้มีอันจะกินคนนั้น โดยวางหญ้าเส้นหนึ่งไว้ที่ชฎาของตน เเล้วเดินกลับไปหาผู้มีอันจะกินผู้นั้น ผู้มีอันจะกินถามว่า "ท่านกลับมาทำไมหรือขอรับ" ฤาษีผู้เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมกลโกงรูปนั้นเเกล้งตอบว่า "พ่อมหาจำเริญหญ้าเส้นหนึ่งบนหลังคาเรือนของท่านได้ตกลงมาติดที่ชฎาของอาตมาภาพๆจึงกลับมา โดยคิดว่าการกระทำอทินนาทาน(การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้) บรรพชิตไม่สมควรประพฤติเป็นอย่างยิ่ง" ผู้มีอันจะกินคนนั้นเรียนว่า "พุทโธ่ หญ้าเส้นเดียวทิ้งมันไปเถิดขอรับ" 
               เเล้วยิ่งเลื่อมใสศรัทธาฤาษีขี้โกงรูปนั้นมากขึ้น โดยหลงเชื่อหลงศรัทธาว่า "ท่านดีจริง ไม่ลักไม่ขโมยทรัพย์สินของผู้ใด ท่านซื่อจริง เเม้เเต่หญ้าเส้นเดียวที่ติดชฎาไป ท่านยังเอามาคืน" เเล้วเดินไปส่งฤาษีรูปนั้น
               พระโพธิสัตว์เดินทางไปถึง ณ ที่นั้น เพื่อต้องการซื้อสินค้าไปขาย ได้ไปซื้ออาหารบริโภค ณ บ้านของผู้มีอันจะกินผู้นั้น เเละฟังคำบอกเล่าของเขาเกี่ยวกับเรื่องดาบสที่ตนหลงว่าเป็นคนดี

                พระโพธิสัตว์เมื่อได้ฟังคำบอกเล่าก็คิดว่า "ผู้มีอันจะกินคนนี้จะถูกฤาษีขี้โกงคนนี้ลักเอาทรัพย์สินไปเป็นเเน่" จึงถามผู้มีอันจะกินคนนั้น เเละได้รับฟังความจริงว่าเขาได้ฝังทองคำไว้ใต้บรรณศาลาของฤาษีรูปนั้น จึงบอกเขาว่าให้รีบไปตรวจดูทองคำที่ฝังไว้ว่าจะอยู่หรือไม่ ปรากฎว่าทองคำหายไป ผู้มีอันจะกินคนนั้นรีบกลับมาบอกพระโพธิสัตว์ว่า"ทองคำหายไปเเล้ว"
               ทั้ง 2 คนจึงรีบติดตามฤาษีไปโดยเร็ว พอทันกันก็จับไว้ให้เอาทองคำมาคืน เมื่อได้รับทองคำคืนมา พระโพธิสัตว์ได้ติเตียนฤาษีรูปนั้นว่า"ฤาษีขี้โกง ท่านทำตัวเหมือนฉันบนเรือนเเล้วถ่ายบนหลังคา ท่านเเสร้งทำเป็นรังเกียจเส้นหญ้าเพียงเส้นเดียว เเต่
ลักทองคำของเขาไปตั้งร้อย ท่านไม่ละอายใจบ้างเลยหรือ" พร้อมกับสอนสำทับว่า "คราวหน้าคราวหลังอย่าประพฤติเช่นนี้นะ" เเล้วปล่อยฤาษีผู้เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมกลโกงรูปนั้นไป
                ตามเรื่องนี้จะให้คติสอนใจว่า "อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง" ไว้ใจได้เสียเมื่อไร ทำตัวเป็นคนมีศีลธรรม เเต่
ซ่อนเล่ห์เหลี่ยมกลโกงไว้ภายในใจของตน คติที่ว่า "คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ" จงพิจารณาไว้ให้จงหนัก อย่าไปหลงกลใครง่ายๆ เพราะดูเเต่กิริยาท่าทางภายนอกว่า "ไว้ใจได้ เเล้วเชื่อง่าย จะเจ็บช้ำปวดร้าวใจในภายหลัง"

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014048020044963 Mins