อาฏานาฏิยปริตร : บทสวดไล่ผีหรือปอบเข้าสิง

วันที่ 14 กย. พ.ศ.2562

อาฏานาฏิยปริตร : บทสวดไล่ผีหรือปอบเข้าสิง

อาฏานาฏิยปริตร : บทสวดไล่ผีหรือปอบเข้าสิง

       บทสวดนี้เริ่มต้นด้วยคำว่า "วิปัสสิสสะ นะมัตถุ จักขุมันตัสสะ สิรีมะโต" เป็นต้นไป มีอานุภาพในการป้องกันเหล่าอมนุษย์ไม่ให้มารบกวน เป็นคาถาที่ท้าวจตุมหาราชแต่งขึ้นเพื่อป้องกันอมนุษย์บางพวกที่ไม่หวังดีมารบกวนพระสงฆ์ ผู้บำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าเขา ปรากฏตามพระสูตรว่า “อาฏานาฏิยสูตร” มาในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑

ตำนานบทสวดมนต์

       สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ ในครั้งนั้น ท้าวจาตุมหาราชซึ่งสถิตย์อยู่เหนือยอดเขายุคันธร หรือที่เรียกว่าชั้นจาตุมหาราชิกา อันเป็นสวรรค์ชั้นล่างสุดในบรรดาสวรรค์ทั้งหมด

       พระอินทร์ทรงมีบัญชาให้ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทำหน้าที่เฝ้ารักษาประตูสวรรค์ในทิศทั้ง ๔ ให้ดี เพื่อป้องกันมิให้พวกอสูรมารบกวน โดยมี

       ท้าวธตรัฐผู้เป็นหัวหน้าคนธรรพ์ เฝ้ารักษาประตูทางด้านทิศบูรพา
       ท้าววิรุฬหกผู้เป็นหัวหน้ากุมภัณฑ์ เฝ้ารักษาประตูทางด้านทิศทักษิณ
       ท้าววิรูปักษ์ผู้เป็นหัวหน้านาคทั้งหลาย เฝ้ารักษาประตูทางด้านทิศประจิม
       ห้าวเวสวันผู้เป็นหัวหน้ายักษ์ เฝ้ารักษาประตูทางด้านทิศอุดร

       ท้าวมหาราชทั้ง ๔ มีจิตเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาปรารถนาจะดูแลพระภิกษุสงฆ์ มิให้พวกอสูรหรือพวกศัตรูมารบกวนการปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์ จึงคิดจะชวนกันลงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ก็ห่วงภาระหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในประตูสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ

       มหาราชทั้ง ๔ จึงมีบัญชาแต่งตั้งให้คนธรรพ์ กุมภัณฑ์นาค และยักษ์ อย่างละแสนเฝ้ารักษาประตูสวรรค์ทั้ง  ๔ ทิศ ให้ดีแล้วพากันไปประชุมพร้อมกันที่อาฏานาฏิยนคร ณ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานั่นเอง พร้อมกับผูกมนต์อาฏานาฏิยปริตร ซึ่งมีเนื้อความสรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ คือ

       ๑. พระวิปัสสี
       ๒. พระสิขี
       ๓. พระเวสสภู
       ๔. พระกกุสันธะ
       ๕. พระโกนาคมนะ
       ๖. พระกัสสปะ
       ๗. พระอังคีรส (พระสมณโคดม)

       ครั้นผูกมนต์พระปริตรแล้ว จึงประกาศแก่บริวารของตนว่า "หากมีผู้ใดสาธยายมนต์อาฏานาฏิยปริตรนี้ขึ้นแล้ว ถ้าใครไม่ฟังจะต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรง"

       จากนั้น มหาราชทั้ง ๔ ก็พร้อมใจกันลงมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ภูเขาคิชฌกูฏ กราบทูลว่า พวกยักษ์ นาค กุมภัณฑ์ และคนธรรพ์ทั้งหลาย ที่มีเดชมีศักดามีอานุภาพ แต่มีจิตกระด้างหยาบช้า พากันละเมิดศีล ๕ เป็นประจำ ยังไม่เลื่อมใสในคุณของพระรัตนตรัยนั้นมีเป็นจำนวนมาก ส่วนพวกที่จิตเลื่อมใสนั้นมีน้อยเมื่อพระสาวกพากันอยู่ในป่าเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม อมนุษย์ผู้ไม่เลื่อมใสจะพากันหลอนหลอก กระทำให้เจ็บไข้ เป็นอันตรายแก่ชีวิตและพรหมจรรย์ได้ ตั้งแต่นี้ไปจะไม่บังเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีกแล้ว หากพระองค์ทรงพระกรุณารับเอามนต์บทนี้ไว้ แล้วประทานให้พระภิกษุสาวกสาธยายอยู่เนืองๆ รับรองว่าอมนุษย์ทั้งหลายก็จะไม่กล้ามารบกวนหลอนหลอกอย่างแน่นอน อีกทั้งยังจะช่วยปกป้องคุ้มครองภัยทั้งปวงให้อีกด้วย

       พระพุทธเจ้าจึงทรงรับมนต์พระปริตรนั้นไว้ ท้าวเวสวัณได้สวดอาฏานาฏิยปริตรถวายแล้วพากันมนัสการลากลับไป

       จากนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพระบัญชาให้ประชุมภิกษุทั้งหลายในที่นั้น แล้วทรงแสดงพระปริตรนั้นให้แก่ภิกษุทั้งหลายได้สาธยาย เสร็จแล้วทรงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงพยายามสาธยายมนต์นี้ให้บริบูรณ์ จักพ้นจากอุปัทวันอันตรายทั้งปวงได้ อมนุษย์ทั้งหลายก็จะไม่มารบกวนหลอนหลอก เธอทั้งหลายจะได้อยู่เป็นสุข เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป"

       พระภิกษุทั้งหลายก็น้อมรับแล้วนำมาสวดสาธยาย
       กลายมาเป็นประเพณีจนถึงทุกวันนี้

       เกิดตำนานสวดภาณยักษ์

       การสวดภาณยักษ์นั้นแท้จริงแล้ว ก็คือ การสวดอาฏานาฏิยปริตร นั่นเอง
       โดยพระปริตรนี้ แบ่งเป็น ๒ ภาค คือ ภาคภาณพระ และภาคภาณยักษ์

       หลังจากพระมหาบุรุษตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนั้น ท้าวจตุโลกบาลก็มาเข้าเฝ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสกล่าวถึงพระพุทธวงศ์ คือพระนามพระพุทธเจ้าที่เคยตรัสรู้มาแล้ว

       ภาคนี้เรียกว่า "ภาณพระ"

       จากนั้นท้าวจตุโลกบาลก็มีดำริว่ายักษ์ กุมภัณฑ์ นาค และคนธรรพ์ ที่ไม่มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา กลัวว่าจะมารบกวนพระสงฆ์สาวกให้ได้รับความเดือดร้อน จึงถวายพระปริตรนามว่าอาฏานาฏิยปริตรแด่พระพุทธเจ้า เพื่อให้พระสงฆ์นำไปสวด

       ภาคนี้เรียกว่า "ภาณยักษ์"

       ในอดีต การสวดภาณยักษ์มีอยู่สองแบบคือ "สวดภาณวาร" และ "สวดภาณยักษ์" ซึ่งการสวดทั้งสองอย่างนี้มีความแตกต่างกันคือ

       ภาณวาร เป็นการสวดแบบมีทำนองครุ ลหุ คือมีการเน้นเสียงหนักเบา ใช้น้ำเสียงสวดที่ไพเราะ ไม่กระแทกกระทั้นดุดันเหมือนสวดภาณยักษ์

       ส่วนสวดภาณยักษ์ เป็นการสวดที่มีเสียงกระแทกดุดันเกรี้ยวกราดและน่ากลัว

       จึงได้ชื่อว่า "สวดภาณยักษ์" จุดประสงค์เพื่อขับไล่ยักษ์หรือภูตผีต่างๆ

       การสวดภาณยักษ์สันนิษฐานว่าเริ่มมีขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพระสงฆ์ทางลังกาสายเถรวาท โดยเริ่มเข้ามาทางด้านจังหวัดนครศรีธรรมราช

       จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เสด็จนครศรีธรรมราชจึงได้นำมาจัดเป็นพิธีประจำปีสำหรับพระนคร เพื่อความเป็นสิริมงคล

       เพราะมีความเชื่อกันว่า บ้านเมืองหนึ่งๆ จะมีผีที่ดีและผีที่ไม่ดีอาศัยอยู่ ผีที่ไม่ดีเรียกว่า "ภูตผีปีศาจ" ส่วนผีที่ดีเรียกว่า "เทพยดา" หรือ "เทพเจ้า" และที่บ้านเมืองมีเหตุเภทภัยต่างๆ เกิดขึ้น ก็เป็นเพราะเกิดจากภูติผีปีศาจกลั่นแกล้งบันดาลให้เป็นไป

       ดังนั้น เมื่อสิ้นปีหนึ่งไป จึงได้ทำพิธีสวดภาณยักษ์ เพื่อเป็นการขับไล่ภูตผีกันสักครั้ง เพื่อความเป็นสิริมงคล และความร่มเย็นเป็นสุขของบ้านเมือง จึงเป็นสาเหตุที่มีการทำพิธีสวดภาณยักษ์กันขึ้นมานั่นเอง

       นอกจากนี้ พิธีสวดภาณยักษ์ในสมัยก่อนจะมีการยิงปืนใหญ่ด้วย เป็นปืนโบราณใส่ดินปืนกระทั่ง ที่มีเสียงดังตูมตามๆ น่ากลัวมาก

       กล่าวกันว่าเพื่อให้ยักษ์กลัว ไม่ใช่ปืนเล็กๆ อย่างในสมัยปัจจุบัน

       มีผู้กล่าวว่า บทสวดหรือพระสูตรนี้แต่งขึ้นภายหลัง มิใช่เรื่องของพระพุทธศาสนา

       แต่เมื่อพิจารณาดูเนื้อหาแล้วเห็นว่า เป็นบทสวดสรรเสริญอดีตพระพุทธเจ้ามีพระวิปัสสี เป็นต้น ซึ่งน่าจะอนุโลมช่วยให้เกิดพุทธานุสติ และมีอานุภาพในการปัดเป่าภัยพิบัติได้บ้าง

บทสวดและคำแปล

วิปัสสิสสะ นะมัตถุ           จักขุมันตัสสะ สิรีมะโต
สิขิสสะปิ นะมัตถุ             สัพพะภูตานุกัมปิโน
เวสสะกุสสะ นะมัตถุ         นะหาตะกัสสะ ตะปัสสิโน
นะมัตถุ กะกุสันธัสสะ        มาระเสนัปปะมัททิโน
โกนาคะมะนัสสะ นะมัตถุ    พ๎ราหมะณัสสะ วุสีมะโต
กัสสะปัสสะ นะมัตถุ          วิปปะมุตตัสสะ สัพพะธิ
อังคีระสัสสะ นะมัตถุ         สัก๎ยะปุตตัสสะ สิรีมะโต
โย อิมัง ธัมมะมะเทเสสิ      สัพพะทุกขาปะนูทะนัง
เย จาปิ นิพพุตา โลเก       ยะถาภูตัง วิปัสสิสุง
เต ชะนา อะปิสุณา           มะหันตา วีตะสาระทา
หิตัง เทวะมะนุสสานัง        ยัง นะมัสสันติ โคตะมัง
วิชชาจะระณะสัมปันนัง       มะหันตัง วีตะสาระทัง
วิชชาจะระณะสัมปันนัง       พุทธัง วันทามะ โคตะมันติฯ

       ขอความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ผู้ทรงมีพระปัญญาญาณกว้างไกล ทรงไว้ซึ่งพระสิริคือความงาม ขอความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ผู้ทรงมีพระทัยอนุเคราะห์ต่อ สรรพสัตว์ทั้งปวง

       ขอความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าเวสสภู ผู้ทรงชำระล้างกิเลสแล้ว ผู้ทรงมีตบะบารมีขอความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ ผู้ทรงย่ำยีซึ่งมารและเหล่าเสนามารทั้งหลายได้ขอความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พุทธเจ้าพระนามว่า โกนาคะมะนะ ผู้ทรงลอยบาปเสียแล้ว ผู้ทรงมีพรหมจรรย์อันอยู่จบแล้ว

       ขอความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ผู้ทรงหลุดพ้นวิเศษแล้วจากกองกิเลสทั้งปวง ขอความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าอังคีรส ผู้ทรงเป็นโอรสแห่งศากยราช ผู้ทรงไว้ซึ่งพระสิริอันงดงาม

       พระพุทธเจ้าพระองค์ใด ได้ทรงแสดงแล้วซึ่งธรรมนี้อันเป็นเครื่องบรรเทาเสียซึ่งทุกข์ทั้งปวง อนึ่ง แม้ชนเหล่าใดก็ดี ที่ดับกิเลสได้แล้วในโลก ได้รู้แจ้งธรรม ตามความเป็นจริงชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่มีความส่อเสียด เป็นผู้ทรงความเป็นใหญ่ปราศจากความครั้นคร้ามแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พากันนอบน้อมอยู่ ซึ่งพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้ทรงเป็นโคตมโคตรผู้ทรงเกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้ทรงถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ ผู้ทรงความเป็นใหญ่ เป็นผู้ปราศจากความครั่นคร้ามแล้ว

       ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนมัสการพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงเป็นโคตมโคตร ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ ดังนี้ ฯ

ธรรมะจากบทสวดมนต์

       บทสวดอาฏานาฏิยปริตรนี้ มีจุดประสงค์เพื่อขับไล่เหล่ายักษ์และภูตผีปีศาจที่นิสัยไม่ดี คอยเข้าสิงผู้ที่มีจิตอ่อนแอ หรือหาทางรบกวนผู้อื่น

       โบราณกล่าวไว้ว่า หากใครถูกยักษ์หรือวิญญาณร้ายเข้าสิงอย่าเพิ่งสวดบทนี้ให้ฟัง
       ต้องให้ผู้ที่ถูกผีเข้านั้นรับศีลก่อน เพื่อให้มีศีลบริสุทธิ์จากนั้น จึงสวดเมตตาสูตร ธชัคคสูตร รัตนสูตร ซึ่งว่าด้วยอานุภาพของเมตตาและคุณพระรัตนตรัย

       แต่ถ้ายังไม่ยอมออก ก็ให้นำผู้นั้นไปวัด ให้นอนที่ลานวัดหรือเจดีย์ แล้วตั้งเครื่องเซ่นไหว้บูชาประกาศชุมนุมเทวดา จากนั้นจึงค่อยถามชื่อของอมนุษย์ที่เข้าสิงว่าเป็นใครมาจากไหน จะได้ทำบุญไปให้ และขอร้องให้ปล่อยคนที่ถูกสิง

       แต่ถ้าทำอย่างนี้แล้วยังไม่ยอมออก ก็ประกาศให้เทวดาทั้งหลายทราบว่า อมนุษย์นี้ไม่ยอมทำตามคำขอร้อง เมื่อเป็นเช่นนั้น ต้องใช้ไม้แข็งลงพุทธอาญาแก่อมนุษย์ แล้วสวดพระปริตรนี้ให้ฟังในภายหลัง

       แต่ท่านไม่ได้กล่าวไว้ว่า หากสวดบทนี้แล้วยักษ์หรือผียังไม่ยอมจะให้ทำอย่างไร

       การสวดมนต์บทนี้ เป็นการน้อมเอาคุณของพระพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ มาเป็นสักขีพยาน เพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีทั้งหลาย

       เมื่อสวดแล้วจะขับไล่ยักษ์มารได้จริงหรือไม่ คงมิใช่ประเด็นสำคัญ
       แต่เมื่อสวดเป็นประจำ ย่อมสามารถขับไล่ "ยักษ์ภายใน" คือโลภ โกรธ หลง ออกจากใจได้อย่างแน่นอน

       ยักษ์ ๓ ตัวนี้ คือความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้ อันตรายยิ่งกว่ายักษ์หรืออมนุษย์ที่มองไม่เห็นเสียอีก อย่าปล่อยใจให้ยักษ์ ๓ ตัวนี้ เกิดขึ้นในใจเรา หรือถ้ามี ก็อย่าเลี้ยงไว้ให้มันโตจนน่ากลัว

       ทางที่ดี ควรหาทางกำจัดก่อนที่เราจะถูกยักษ์กินเสียก่อน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001139767964681 Mins