เรื่องอย่าโกรธกันเลย

วันที่ 15 ตค. พ.ศ.2562

 

เรื่องอย่าโกรธกันเลย

                เมื่อข้าพเจ้าเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่หนึ่ง อายุประมาณ ๖-๗ ขวบ  ข้าพเจ้าไม่ใช่เพิ่งไปโรงเรียนในปีนั้นเป็นปีแรก ความจริงข้าพเจ้าไปโรงเรียนแทบทุกวันตั้งแต่เกิด ทั้งนี้ เพราะบิดาเป็นครูใหญ่ และมารดาเป็น
ครูน้อยประจำโรงเรียนประชาบาลแห่งนั้น มีครูน้อยเป็นครูผู้ชายขี้เมาหัวราน้ำอยู่อีกคนหนึ่ง เป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนประมาณ ๑๐๐ คน

 

นักเรียนมี ๔ ชั้น ประถมปีที่ ๑ และ ๔ พ่อข้าพเจ้าเป็นครูสอน ประถมปีที่๒ แม่ข้าพเจ้าเป็นผู้สอนส่วนครูขี้เมา สอนชั้นประถมปีที่ ๓  ที่ว่าข้าพเจ้าไปโรงเรียนตั้งแต่เกิด เพราะพ่อกับแม่ต้องเอาข้าพเจ้าไปเลี้ยงที่โรงเรียนด้วย เนื่องจากตำบลที่ท่านอาศัยอยู่ไม่ใช่ภูมิลำเนาเดิมของท่าน เราจึงไม่มีญาติผู้ใหญ่ใดๆ จะฝากลูกให้ดูแล
 

ท่านจึงเลี้ยงข้าพเจ้าโดยใช้ผ้าขาวม้าของพ่อผูกเป็นเปลอยู่ใต้ขาหยั่งกระดานดำที่ใช้เขียน สอนนักเรียน เมื่อข้าพเจ้าตื่นขึ้น พวกนักเรียนตัวโตๆ  ( สมัยนั้นเพิ่งประกาศใช้การศึกษาภาคบังคับ เด็กที่ถูกเกณฑ์ให้มาเข้าเรียน  แม้จะเพิ่งเข้าชั้นประถมปีที่ ๑ ก็มีอายุเกือบ ๑๕ ปีแล้ว) ก็ช่วยกันอุ้มชูเลี้ยงดูข้าพเจ้า

 

โดยปกติพ่อกับแม่เคารพเลื่อมใสในหลวงพ่อเจ้าอาวาสในวัดแห่งนั้นมาก พาข้าพเจ้าไปกราบท่านเป็นประจำ แต่แล้ววันหนึ่งพ่อแม่ก็หมดศรัทธา ถึงกับมีการขึ้นไปต่อว่าต่อขานท่านสมภาร มีการโต้เถียง  จนกระทั่งเลิกพูดจากัน วัยเพียง ๖ ขวบ ข้าพเจ้าไม่รู้เรื่องอะไรมาก
 

ได้ยินพ่อพูดกับแม่ว่าท่านสมภารผิดศีล ผิดศีล มีเรื่องไม้ไผ่ของวัดที่ตัดขายไปหลายชั่ง (๑ ชั่งเท่ากับ ๘๐ บาท) และเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง  เวลานั้นข้าพเจ้าไม่เข้าใจความผิดของพระภิกษุ


"ท่านเป็นสมภารก็ต้องเป็นเจ้าของวัด ไม้ไผ่เกิดในวัดท่านตัดขาย ขายแล้วเงินก็ต้องเป็นของท่าน ไม่เห็นจะมีอะไรผิด ทีไม้ที่ขึ้นในบ้านเรา พ่อตัดขาย เงินก็เป็นของพ่อ มันก็น่าจะเหมือนกัน ทำไมพ่อจึงว่าเงินค่าไม้ไผ่ที่วัดไม่ใช่ของสมภาร เป็นของพระภิกษุทั้งวัด ก็พระลูกวัดน่ะเดี๋ยวบวชเดี๋ยวสึก ไม่มีใครอยู่ประจำเหมือนสมภาร จะมาเป็นเจ้าของวัดได้ยังไง"


ข้าพเจ้าคิดไปตามประสาเด็ก ไม่รู้เรื่องระเบียบของสมบัติสงฆ์   และเรื่องพระธรรมวินัยอะไร ยิ่งเรื่องป้าที่ข้างวัดซึ่งมีผู้คนเห็นว่าคุยกันกับสมภารในป่าไผ่อะไรทำนองนั้น ทำไมจะต้องถือเป็นความผิดด้วย ในเมื่อป้าคนนั้นก็เป็นม่ายสามีตายไปหลายปีแล้ว ถึงจะคิดตามประสาเด็กว่า สมภารไม่ผิด แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยซักถามพ่อ คงรับรู้ว่าผู้ใหญ่ไม่ถูกกัน
 

แล้ววันหนึ่งเมื่อข้าพเจ้าตามพ่อไปถึงโรงเรียนในตอนเช้าก็ต้องตกใจ ห้องเรียนที่พ่อสอน คือชั้นประถมปีที่หนึ่ง กับปีที่สี่ ไม่มีโต๊ะเก้าอี้นักเรียนเหลืออยู่เลย มีแต่ศาลาโล่งๆ ศาลาหลังนั้นเป็นศาลาดิน คือ พื้นศาลาติดอยู่กับดิน เมื่อนักเรียนมากันครบต่างก็พากันวุ่นวายค้นหาโต๊ะเก้าอี้ คิดกันว่า คนที่แกล้งจะเอาไปซ่อนไว้ที่ไหน ก็คิดกันว่าคงจะเอาไปไว้ในป่าช้าหลังวัด เพราะเป็นป่ารก แต่เมื่อพากันไปค้นก็ไม่พบ

 

พ่อกับแม่ข้าพเจ้าจึงได้ช่วยกันพิจารณาสถานที่ เห็นมีรอยลากเป็นทางบนดินยาวไปจนถึงท่าน้ำ ครั้งแรกท่านคิดกันว่าคนร้ายอาจจะเอาเรือมาขนไป  แต่เมื่อนึกถึงเหตุผลว่า โต๊ะเก้าอี้เหล่านั้นเก่าแก่ จะเอาไปขายก็ไม่มีใครซื้อ  เอาไปไว้ที่บ้านเรือน ใครเห็นก็ต้องรู้ว่าเป็นของโรงเรียน

 

สรุปแล้วมีเหลืออยู่ประเด็นเดียว คือต้องเกิดจากการกลั่นแกล้ง  เพราะระยะนี้พ่อมีเรื่องขัดแย้งกับท่านสมภาร ชาวบ้านแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากทางวัด โดยเฉพาะญาติๆ ท่านสมภาร  ก็เข้าข้างท่าน สมภาร ชาวบ้านที่เหลือเข้าข้างพ่อ เสียงพ่อพูดกับแม่ว่า
 

"พี่ว่า สมภารต้องแกล้งเราแน่ๆ เขามีเจตนาให้เราทนไม่ได้จะได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น จะว่าขนเอาโต๊ะเก้าอี้ไปซ่อนในกุฏิพระ ก็ต้องปิดไม่มิด  เพราะลูกศิษย์ก็ล้วนแต่เป็นนักเรียน เด็กๆ และพระเณรต้องเห็น จะแบกขนไปไว้ในป่าดงที่ไหน มันก็จะเป็นของหนักเกินไป ต้องใช้คนเป็นสิบ"


"หรือว่า เอาโยนทิ้งที่ท่าน้ำ" แม่พูดให้พ่อคิด
"จริงด้วยซี เพราะโต๊ะเก้าอี้พวกนี้ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง มีน้ำหนักมากทั้งนั้น ไม่ลอยน้ำหรอก ทิ้งลงน้ำ มันก็จมอยู่ที่ท่าน้ำน่ะแหละ เดี๋ยวพี่จะดำน้ำลองงมดู" พ่อเห็นคล้อยตาม


เด็กๆ นักเรียนตื่นเต้นกัน ไม่เป็นอันเรียนทั้งโรงเรียน ห้องที่อยู่บนศาลา ซึ่งโต๊ะเก้าอี้ยังอยู่ครบก็พลอยไม่ยอมเรียนไปด้วย ทุกๆ คนพากันมายืนออดูครูของเขาคือพ่อข้าพเจ้าอยู่ที่ท่าน้ำ ข้าพเจ้าก็ยืนรวมอยู่กับกลุ่มนักเรียนพี่ๆ เหล่านั้น เพราะเป็นเด็กตัวเล็กอายุน้อยที่สุดในโรงเรียน ใจของข้าพเจ้าคิดตามประสาเด็กอีกว่า


"คนเรานี่ทำไมจึงต้องโกรธกัน ไม่ดีเลย ทำให้คุยกันไม่ได้ ยิ้มให้กันก็ไม่ได้ มีอะไรก็ให้กันไม่ได้ นี่ตั้งแต่พ่อโกรธกับท่านสมภาร พ่อก็ไม่เคยขึ้นไปบนกุฏิท่านสมภารอีก เราก็เลยอดไปเล่นกับลูกหมา ลูกแมวที่อยู่บน
หอฉันข้างกุฏิสมภารโน่น เราไม่อยากให้โกรธกันเลย แล้วที่โต๊ะเก้าอี้นักเรียนหายไปทั้งศาลาดินเนี่ย ต้องเป็นคนที่โกรธพ่อแน่ๆ จึงมาแกล้งเอาอย่างนี้ ทำให้นักเรียนไม่มีที่นั่งเรียน ไม่ได้เรียนหนังสือ นักเรียนไม่ได้ไป
ทำอะไรให้ ทำไมนักเรียนต้องถูกแกล้งด้วย ความโกรธเป็นของไม่ดีเลย  ทำไมผู้ใหญ่เขาจึงโกรธกันได้นานๆ เราโกรธกับเพื่อนแป๊บเดียวเราก็ดีกันแล้ว และเราก็ไม่เห็นต้องแกล้งกันสักหน่อย ผู้ใหญ่นี่ช่างแย่ยิ่งกว่าเด็กๆ อีก"


นี่คือความคิดของข้าพเจ้าที่นึกตำหนิเรื่องความโกรธเคืองของพวกผู้ใหญ่ ในขณะไปยืนดูพ่อนุ่งผ้าขาวม้ามุดน้ำลงไปที่ท่าน้ำของวัด
 

เมื่อพ่อโผล่ขึ้นมา ในมือของพ่อมีเก้าอี้ตัวหนึ่งติดมือขึ้นมาด้วยจริงๆ นักเรียนร้องเอ็ดอึงดีใจกันใหญ่ พวกนักเรียนตัวโตๆ วิ่งลงไปที่ท่าน้ำคอยรับโต๊ะเก้าอี้ที่พ่องมส่งขึ้นมาให้จนครบทุกตัว ข้าพเจ้าเห็นพ่อขึ้นจากน้ำ
มานั่งหอบอยู่ที่ข้างตลิ่ง ตาของพ่อแดงก่ำเพราะน้ำเข้าตา ข้าพเจ้าสงสารพ่อจนน้ำตาไหล ครูขี้เมาสอนชั้น ป.๓ ก็ไม่ยอมช่วยพ่อเลย วันนั้นกว่าจะเรียนหนังสือกันได้ก็เป็นเวลาร่วมเพล

 

ต่อจากนั้นมาอีกทุกวัน พ่อก็ต้องดำน้ำอย่างนี้ทุกเช้า บางเช้าก็วานลูกศิษย์เก่าๆ ที่ออกจากโรงเรียนไปแล้วมาดำแทน เพราะตอนกลางคืนจะมีคนมาเอาโต๊ะเก้าอี้โยนน้ำทุกคืน  ความบาดหมางยิ่งลุกลามใหญ่โต พวกของพ่อเห็นว่ากลั่นแกล้งกันเกินกว่าเหตุ ลูกศิษย์พ่อซึ่งเป็นนักเลงใหญ่คนหนึ่งทนไม่ได้ที่ครูถูกแกล้ง
จึงไปแอบซุ่มคอยดูเหตุการณ์ที่วัดในตอนกลางคืนแล้วมารายงานพ่อว่า


"ครูครับ ผมเห็นแล้ว ไอ้..มันเป็นคนขนโต๊ะเก้าอี้ไปโยนที่ท่าน้ำ  มันก็เป็นคนของสมภารนั่นแหล่ะครับ เมื่อคืนนี้ผมยังไม่ได้จัดการอะไร  ผมจะเขียนหนังสือเตือนมันก่อน เห็นแก่หน้าเพราะเป็นคนเคยพูดจากันมาไม่มี อะไรโกรธกัน"


"ก็ดี ถือว่าให้โอกาสกลับใจ" ข้าพเจ้าได้ยินพ่อพูด
 

แม้จะส่งจดหมายเตือนแล้ว แต่โต๊ะเก้าอี้ก็ยังต้องถูกงมกันทุกเช้าอยู่ดี จดหมายขู่ไม่เป็นผล ลูกศิษย์คนเดิมมารายงานพ่ออีก


"ทีนี้มันเอาพวกมาด้วยครับครู ไอ้ที่ขนโต๊ะเก้าอี้ไปโยนน้ำก็ขนไป ไอ้ที่ถือปืนคอยระวังก็คอยจ้องปืน อดส่ายไปทั่ว"
 

ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสได้ยินการปรึกษาหารือของลูกศิษย์เก่าของพ่อนับแต่วันนั้นอีก เพราะเขาไม่มาที่บ้านของข้าพเจ้าอีกเลย หลังจากที่ข้าพเจ้าสงสัยอยู่ว่าเขาหายไปไหน ทำไมไม่มาช่วยพ่องมโต๊ะเก้าอี้อีก มีแต่คนอื่นๆ เปลี่ยนหน้ากันมางมได้ประมาณ ๗ วัน คืนนั้นดึกสงัด


ข้าพเจ้าต้องตกใจตื่นเพราะมีเสียงปืนลูกซองดังกึกก้องสะท้อนลำน้ำ  บ้านในชนบทเวลากลางคืนดึกสงัดนั้นเงียบมาก เสียงปืนเพียงนัดเดียวจะได้ยินกันไปทั่วหมู่บ้านแม้จะห่างกันเป็นกิโลเมตร


"เอ.. มันเอากันถึงขนาดนี้รึเนี่ย" เสียงพ่อพูดกับแม่
"เจ้า..น่ะหรือพี่" เสียงแม่ถาม ออกชื่อลูกศิษย์ของพ่อที่หายหน้าไป


เสียงพ่อตอบรับคำว่า "ฮือ พี่ก็บอกแล้วนะว่าแค่แผล สองแผลก็พอ นี่ซัดลูกซองเลย จะรอดรึเนี่ย"


ไม่รอดจริงๆ รุ่งเช้าเรื่องก็รู้กันทั่วไปว่า นาย.. ถูกคนร้ายใช้ปืนลูกซองยิงตาย ขณะที่ล้มตัวลงนอนเอาหัวหนุนชานระเบียงบ้าน นาย..ออกไปธุระนอกบ้านคนร้ายแอบเข้ามาซ่อนตัวอยู่ใต้ถุนบ้านก่อนแล้ว  เมื่อนาย.. กลับมาปิดประตูรั้วบ้านจึงไม่มีการเฉลียวใจ  ความจริงธุระนอกบ้านคือการไปเอาโต๊ะเก้าอี้นักเรียนโยนน้ำ


ข้าพเจ้าเข้าใจว่าลูกศิษย์ของพ่อคนนั้นคงเป็นคนยิง   ส่วนผู้ตายคอยระวังแต่เรื่องคนจะไปทำร้ายขณะกำลังขนโต๊ะเก้าอี้ที่โรงเรียน ไม่เฉลียวใจว่าจะถูกทำร้ายที่บ้าน จึงประมาท ตอนนั้นข้าพเจ้านึกสงสารครอบครัวของ
เขามาก ภรรยายังสาวสวยกว่าใครๆ ในหมู่บ้าน มีลูกยังเล็กๆ สองคนกำลังน่ารักน่าเอ็นดู ไม่น่าเลย เห็นแก่ค่าจ้างเล็กน้อย ไปขโมยโต๊ะเก้าอี้นักเรียนโยนทิ้งน้ำได้ทุกคืน


ที่ข้าพเจ้าต้องเศร้า สลดใจต่อมาอีกเป็นเวลานาน เพราะทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับเอาชายอีกคนหนึ่งไปเป็นจำเลย เพราะญาติผู้ตายแจ้งว่าชายผู้นั้นมีเรื่องมีราวอยู่กับผู้ตาย มีการตั้งพยานเท็จกันขึ้นมาต่างๆ ครอบครัวชายผู้รับเคราะห์ต้องหมดเงินทองสู้คดี ถึงกับขายไร่ขายนาก็สู้ไม่ได้ ต้องติดคุกจำไม่ได้ว่ากี่ปี


ด้วยวัยเพียง ๖-๗ ขวบ ข้าพเจ้าคิดได้ว่า ผู้คนในโลกนี้วุ่นวายจริงหนอ ทำไมจึงไม่อยู่กันอย่างมีความสุข ทำไมจึงต้องโกรธเคืองทะเลาะวิวาทซึ่งกันและกัน ต้องทำเรื่องร้ายๆ เช่น ฆ่ากันตาย จับกันเข้าคุก แถม
จับผิดตัวเสียด้วย  มีผลดีตอนนั้นอยู่เรื่องเดียว คือไม่มีใครเอาโต๊ะเก้าอี้โยนลงน้ำอีกเลย

 

ข้าพเจ้าไม่แสดงอาการสิ่งใดให้พ่อทราบว่าข้าพเจ้ารู้เรื่องทั้งหมด  ความจริงในใจของข้าพเจ้านึกตำหนิท่านอยู่ไม่น้อยว่า ท่านไม่ควรมีการตอบโต้คนที่แกล้งท่าน น่าจะเป็นเรื่องพูดกันได้ ไม่น่าจะต้องทำอันตรายกันตอบแทน ไม่เป็นผลดีอะไรๆ แก่ฝ่ายไหนเลย

 

ข้าพเจ้าไม่ชอบการแก้ปัญหาวิธีนี้ แต่ถ้ามีใครถามปัญหาในตอนนั้นว่าจะให้แก้ไขอย่างไรข้าพเจ้าก็คงนึกวิธีแก้ไม่ออกอยู่ดี  อย่างไรก็ตามเหตุการณ์เหล่านี้ฝังอยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้า

 

เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีงานทำเป็นหลักฐาน ข้าพเจ้ายังเคยรับลูกคนเล็กของผู้ตายมาอุปการะเลี้ยงดู กระทั่งเด็กเข้าสู่วัยสาวจึงจากไปทำงาน  ประกอบอาชีพและมีครอบครัว นับเป็นการช่วยไถ่บาปให้พ่อไปได้บ้าง
กระมังที่รู้เห็นกับลูกศิษย์เป็นคนฆ่า แม้จะไม่ได้สั่งให้จัดการถึงชีวิต แต่ก็เท่ากับมีส่วนในการสนับสนุน หลักคำ สอนของศาสนาเราทำดีกับทำชั่ว  ลบล้างกันไม่ได้ก็จริง แต่ถ้าได้ทำความดีเสียบ้างให้เต็มความสามารถ
ของเราก็พอช่วยให้สบายใจขึ้นได้มากเหมือนกัน

 

จากหนังสือ จากความทรงจำเล่ม2

อุบาสิกาถวิล วัติรางกูล


ชื่อเรื่องเดิม ศิษย์นักเลง

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.031496314207713 Mins