เรื่องหลอกตัวเอง

วันที่ 15 พย. พ.ศ.2562

เรื่องหลอกตัวเอง
 

          จำได้แม่นว่าเย็นวันนั้นเป็นวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๑๖ เพราะรุ่งขึ้นเป็นวันตายของแม่ข้าพเจ้า แม่เป็นโรคมะเร็งที่ปอดหมดทางรักษา  แพทย์ซึ่งเป็นพี่สาวของเพื่อนเชี่ยวชาญโรคปอดโดยเฉพาะชี้แจงว่าอาจเป็นเพราะแม่กินหมากมานานหลายสิบปี คนสมัยแม่ชอบใช้ยาเส้นสีฟันอมไว้พร้อมกับหมาก แล้วส่วนใหญ่ก็กลืนกินเข้าไปทั้งหมากและยาเส้น  ในยาเส้นมีสารพิษชื่อนิโคติน ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เป็นโรคมะเร็งที่ปอด

 

        แม่รู้ตัวว่าต้องตายจึงขอร้องให้ข้าพเจ้าพาท่านออกจากโรงพยาบาล ขอกลับมาตายที่บ้าน อาการก่อนตายประมาณเดือนหนึ่งของท่านนั้น ท่านปวดข้างในกระดูกบริเวณสะโพกอย่างรุนแรงชนิดท่านบอกว่า
"หนู เอามีดโกนเชือดคอให้แม่ตายเสียเถิด มันปวดเหลือทนจริงๆ"


ข้าพเจ้าสงสารแม่จับใจ มีเพื่อนเป็นหมอเป็นพยาบาลที่ไหนก็ไปหาเพื่อถามเขาเรื่องยาระงับปวดของโรงมะเร็ง ถ้าไม่ใช้มอร์ฟีนจะมีอย่างอื่นหรือไม่ บังเอิญเวลานั้นต่างประเทศส่งตัวอย่างยาแก้ปวดชนิดใหม่มาขาย ข้าพเจ้าซื้อมาให้แม่รับประทาน พอระงับปวดลงได้ แรกๆ กินครั้งหนึ่งหายปวดไปได้ถึงหนึ่งวัน ต่อๆ มาเวลาก็ลดลงสั้นเข้าจนกระทั่งต้องกินทุกชั่วโมง

 

เวลากลางวันข้าพเจ้ามีคนหลายคนช่วยกันดูแลแม่  แต่เวลากลางคืนไม่มีใครยอมอดนอน ข้าพเจ้าจึงรีบนอนแต่หัวค่ำ พอ ๕ ทุ่ม ก็จะตื่นขึ้นมาแล้วทำหน้าที่ให้ยาแม่ทุกๆ ชั่วโมงไปจนสว่าง โดยนั่งเกาะเตียงนอนแม่อยู่นอกมุ้ง ปล่อยให้ยุงกัดตัวเองเพราะการคอยระวังต้องปัดยุง ทำให้ไม่กล้านอนหลับ ปฏิบัติอย่างนี้ทุกคืนๆ อยู่ครึ่งเดือนจนถึง เย็นวันที่ ๒๕ ดังกล่าว
 

เย็นนั้นข้าพเจ้ากลับจากทำงานมาถึงบ้าน เห็นแม่นอนร้องไห้สะอึกสะอื้น น้ำตาหลากไหลอาบหน้า ข้าพเจ้าตกใจมาก เพราะตลอดเวลาที่ท่านเจ็บ ข้าพเจ้าจะพูดอะไรก็ตาม ทำอะไรก็ตาม ล้วนแต่ทำให้แม่สบายใจ
ทุกประการ ให้ใจท่านเกาะเกี่ยวอยู่ในเรื่องบุญกุศลตลอดเวลา

 

ทุกเช้าให้ท่านอนุโมทนากับข้าวของที่ใส่บาตร กลางวันให้ท่านฟังเทศน์จากวิทยุบ้าง จากเทปบ้าง เย็นๆ ข้าพเจ้ากับลูกๆ ก็จะพากันสวดมนต์ให้ท่านฟัง และเจริญภาวนาพร้อมกันไป  ที่ต้องระมัดระวังจิตใจแม่มากที่สุดเพื่อให้ท่านมีใจแจ่มใส เบิกบาน ตายเวลาใดจะได้ไปสู่สุคติ นี่แม่ร้องไห้อย่างเสียใจสะอื้นฮักๆ  ใจจะต้องเศร้าหมองแน่นอน

 

ข้าพเจ้าซักไซ้ถามสาเหตุจากพ่อ จากน้องสาวและเด็กๆ ในบ้าน ก็ไม่มีใครทำอะไรให้แม่เสียใจเลย
"งั้นวันนี้ มีใครมาเยี่ยมยายมั่งฮึ แดง" ข้าพเจ้าถามเด็กสาว  ที่มีหน้าที่พยาบาลในตอนกลางวัน


"มีเมียพี่สำเภาที่เป็นเจ้าของลิเกคณะ..มาเยี่ยม เอาเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ ๖-๗ ขวบ มาด้วยคนหนึ่งค่ะ ก็เห็นคุยกันดี ไม่มีอะไรน่าเสียใจเลย แต่พอเค้ากลับไปเท่านั้น ยายก็ร้องไห้ใหญ่"  ได้ฟังดังนี้ ข้าพเจ้าพอนึกเดาเรื่องออกว่าสาเหตุต้องมาจากแขกที่มาเยี่ยมแน่ๆ

 

"เออ.. แล้วแดงถามยายหรือเปล่าว่า ยายเสียใจเรื่องอะไร"


"ถามแล้วค่ะ แต่ยายก็ไม่ยอมบอก หนูก็เลยปล่อยให้ร้องไห้ ไม่รู้จะทำยังไง"


พ่อก็ยืนยันกับข้าพเจ้าว่า "พ่อก็ไม่เห็นมีเรื่องอะไรนะลูก แขกที่มาเยี่ยมก็ไม่ได้พูดอะไรที่น่าเสียใจ พ่อก็นั่งคุยอยู่ด้วยกันน่ะแหละ"
 

เมื่อซักถามคนอื่นๆ ไม่ได้เรื่อง ข้าพเจ้าจึงเข้าไปปลอบโยนแม่  ข้าพเจ้ารู้ว่าแม่รักข้าพเจ้ามาก ข้าพเจ้าจะเอาความรู้สึกอันนี้ของแม่มาใช้ให้เป็นประโยชน์ จึงพูดว่า
"แม่จ๋า แม่ร้องไห้เพราะมันปวดหรือ ถ้าเป็นของแบ่งกันได้  หนูจะขอเอามาปวดที่ตัวหนูให้หมดเลย หนูไม่อยากเห็นแม่ร้องไห้ หัวใจหนูเหมือนถูกบีบ มันเจ็บปวด มันไม่สบายเลยค่ะ"


คำพูดของข้าพเจ้าได้ผล เมื่อแม่รู้ว่าแม่ทำให้ข้าพเจ้าเป็นทุกข์  แม่หยุดร้องไห้ทันที ยิ้มทั้งน้ำตา
"ไม่มีอะไรหรอกลูก แม่นึกถึงเด็กคนที่พี่สำเภาเค้าเก็บมาเลี้ยงคนนั้นน่ะ อายุแค่ ๖-๗ ขวบ แกเล่นลิเกได้จริงๆ ครั้งสุดท้ายก่อนล้มเจ็บ  แม่ได้ดูแกแสดง ในเนื้อเรื่องแกเป็นเด็กที่ถูกตัวโกงกลั่นแกล้ง เด็กคนนี้แสดงถึงบท แกร้องไห้ คนดูร้องตามแกไปหมดทั้งโรงเลย พอวันนี้แกมาเยี่ยม แม่เห็นหน้าเข้า เลยนึกถึงเรื่องที่ลิเกเล่นวันนั้น มันเลยนึกเศร้าตามการแสดงของแก เลยร้องไห้เรื่อยมาตั้งแต่บ่าย"


รู้สาเหตุแล้ว โล่งอกไปที ข้าพเจ้าอธิบายย้ำอีกครั้งให้แม่เข้าใจว่า นั่นเป็นเพียงการแสดง ไม่ใช่เรื่องจริง แม่กำลังเจ็บป่วย ร่างกายอ่อนแอ ใจจึงอ่อนแอไปด้วย ถ้าคิดเรื่องอะไรเศร้าๆ ใจก็จะเศร้าโศกตาม ต้องคิด
เรื่องที่ดีๆ ใจจะได้แจ่มใสแม่เข้าใจและเลิกคิดถึงเด็กคนนั้นทันที

 

ข้าพเจ้าจึงชวนท่านคุยเรื่องที่ทำให้สบายใจอื่นๆส่วนใหญ่เป็นเรื่องการสร้างวัด เพราะเวลานั้นหมู่คณะของเรากำลังลงมือก่อสร้างวัดพระธรรมกาย แม่ได้ยกบ้านเรือนไทย สองหลังแฝดของท่านให้ใช้เป็นสำนักงาน ท่านควบคุมการรื้อบ้าน และมาคุมการปลูกสร้างขึ้นใหม่ในที่ดินของวัดด้วยตนเอง
 

เวลาแม่ฟังข้าพเจ้าเล่าว่า บ้านของท่านมีประโยชน์มาก  ข้างล่างใช้เก็บเครื่องมือก่อสร้างทุกชนิด ข้างบนเป็นที่พักของเจ้าหน้าที่ทุกคน ใครไปค้างก็ได้อาศัยนอนที่บ้านนั้น แม่ฟังข้าพเจ้าบรรยายครั้งใด  ท่านก็ชื่นอกชื่นใจไปด้วยทุกครั้ง

 

ข้าพเจ้าไปที่ท้องนาที่สร้างวัดของเราแทบทุกอาทิตย์ จึงนำมาเล่าให้ท่านฟังเรื่องโน้นเรื่องนี้ ท่านรักคุณเผด็จ
(พระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโว) มาก เพราะเป็นเพื่อนรักของลูกชาย  ข้าพเจ้าเล่าอะไรเกี่ยวกับคุณเผด็จ แม่จะพอใจฟังและปลาบปลื้มใจเสมอ

 

เล่าถึงคืนที่ทำดอกไม้สดเตรียมงานบวชในวันรุ่งขึ้นของคุณเผด็จ  มีคนมาช่วยกันประดิษฐ์ดอกไม้ที่บ้านข้าพเจ้าเกือบ ๒๐ คน ทั้งที่แม่กำลังป่วยหนัก แม่ก็ตื่นเต้นดีอกดีใจ ช่วยหยิบจับนั่งมอง เมื่อยมากเข้าก็นอน
มอง ยิ้มแย้มอย่างมีความสุขใจราวกับงานบวชลูกชายตนเอง

 

นี่เป็นเพราะพวกนักแสดงลิเกทีเดียวมาพบท่าน ทำให้จิตใจท่านเศร้าหมอง เรื่องที่แสดงก็ผ่านไปแล้วเป็นปี คนดูเอามานึกถึงยังทำให้รู้สึกเศร้าเสียใจได้
"เอ..นี่คนแสดง จะได้บุญหรือได้บาปกันนะนี่ อ้อ.. แล้วยังมีอีก  ถ้าเรื่องที่แสดงทำให้คนรู้สึกเป็นสุขใจล่ะ ได้บุญหรือได้บาป"


ข้าพเจ้าสงสัยขึ้นมา แต่ก็ยังไม่ทราบคำตอบชัดแจ้ง คิดเอาเอง  ว่าถ้าเป็นการแสดงที่ทำให้คนดูจิตใจเศร้า สร้อยหม่นหมองแล้ว คงจะไม่ใช่บุญ แต่ถ้าทำให้เพลิดเพลินสุขใจ ก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นบุญ คิดสงสัยค้างใจอยู่แค่นั้นแล้วก็ลืมเลือนไป

 

แม่ตายไป ๔ ปีแล้ว ข้าพเจ้าฉุกใจคิด อายุของแม่ตรงกับบัญชีในยมโลกบอกไว้ คือ ๖๓ ปีส่วนของพ่อบัญชีบอกไว้ว่า ๗๕ ปี เวลานั้นพ่อของข้าพเจ้าอายุ ๗๐ ปี เหลือเวลาอีก ๕ ปี ข้าพเจ้าจะปล่อยให้ท่านอยู่ตามลำพังไม่มีใครดูแลที่บ้านต่างจังหวัดได้อย่างไร

 

ท่านเป็นโรคเบาหวานและมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ หลายโรค ครั้นขอร้องให้ท่านมาอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ ท่านก็ไม่เต็มใจ  ข้าพเจ้าจึงขอย้ายกลับไปรับราชการที่บ้านเดิม แต่เนื่องจากตำแหน่งเดิมของข้าพเจ้าใหญ่เกินไป ทางราชการไม่สามารถย้ายให้ได้  ข้าพเจ้าจึงลาออกจากราชการด้วยอายุเพียง ๔๓ ปีเศษ


ข้าพเจ้าไปอยู่กับพ่อ ได้ชักชวนพ่อให้สนใจพระพุทธศาสนา  ทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติ ถึงกับลงทุนซื้อพระไตรปิฎกอ่านด้วยกัน  ข้าพเจ้าอ่านตำรับตำราพระพุทธศาสนาอยู่จนถึงวันพ่อตาย ซึ่งก็ตรงตามบัญชีในยมโลกไม่คลาดเคลื่อนเลย  การศึกษาด้วยตนเองในครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้พบเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง  ในสมัยพุทธกาลว่า


พระอรหันตเถระรูปหนึ่ง ชีวิตก่อนบวชเป็นพระภิกษุ ท่านเป็นหัวหน้าคณะนักแสดงนาฏศิลป์ที่ยิ่งใหญ่คณะหนึ่ง มีผู้คนในคณะถึง ๕๐๐ คน วันหนึ่ง ขณะที่เปิดการแสดง ซึ่งตามปกติจะมีคนมาคอยแย่งกันชม  แต่วันนั้นผู้คนกลับพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งบังเอิญเสด็จมาใกล้บริเวณนั้น ท่านจึงตามฝูงชนไปเฝ้าบ้าง หลังจากฟังพระธรรมเทศนาแล้ว  เกิดความเลื่อมใสได้ทูลถามถึงอาชีพของตนเองที่เป็นนักแสดง ซึ่งเป็นอาชีพที่ทำให้ผู้คนสนุกสนานเพลิดเพลิน จะมีอานิสงส์เป็นบุญมากน้อยประการใด พระบรมศาสดาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้งว่า
"เธออย่าถามเราเลย"

 

ท่านก็ไม่ละความพยายามที่จะถาม ผลที่สุดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "อาชีพนักแสดงนี้ทำให้ตกนรก เพราะทำให้ผู้คนหลงใหลมัวเมา"


ท่านฟังแล้วสลดใจมาก จึงเลิกอาชีพนั้น แล้วขอบวชเป็นพระภิกษุ ประพฤติตามพระพระธรรมวินัย จนบรรลุเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง
 

ในปีที่พ่อของข้าพเจ้าตายนั้นเอง ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมถวายอาหารพระภิกษุผู้ทรงคุณธรรมทางด้านปฏิบัติรูปหนึ่ง ซึ่งอาพาธอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชน ได้พบนักแสดงละครโทรทัศน์ผู้มีชื่อเสียงของเมืองไทยคนหนึ่ง เขามักแสดงเป็นพระเอกของเรื่องอยู่เสมอ เขาถามพระคุณเจ้ารูปนั้นว่า


"อาชีพนักแสดงของผมนี่ ทำให้ผู้คนเพลิดเพลิน สนุกสนานและบ่อยครั้งผมก็แสดงให้เป็นการกุศล ผมจะได้บุญมากไหมครับหลวงพ่อ"  ถามเหมือนพระอรหันต์รูปนั้นตอนก่อนบวชไม่มีผิด


พระเถระรูปนั้นท่านนิ่งไม่ตอบ ท่านมองหน้าแล้วอมยิ้มน้อยๆ  เขาถามกี่ครั้ง ท่านก็ไม่ตอบ จนข้าพเจ้ารู้สึก สงสาร จึงบอกว่า
"เดี๋ยวหลังจากเราเป็นลูกศิษย์ทานข้าวอิ่มแล้ว พี่จะตอบคุณแทนหลวงพ่อเอง"


เมื่อเรารับประทานอาหารที่เหลือจากหลวงพ่อกันอิ่มเรียบร้อย  ข้าพเจ้าจึงเล่าเรื่องที่อ่านพบดังกล่าวนั้นให้เขาฟัง แต่ก็ยังอธิบายไม่ได้ชัดเจนนัก คงเน้นแต่เรื่องทำให้ผู้คนขาดปัญญาหลงใหลในสิ่งที่เป็นโทษแก่จิตใจส่วนเป็นโทษอย่างไร ข้าพเจ้าเองก็ยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง


พอโชคดีที่พระเอกละครผู้นั้นมัวแต่ตกใจเรื่องเป็นดาราแล้วต้องตกนรกเสียจนไม่มีความคิดจะซักไซร้พิ่มเติม ถามซ้ำแต่ว่า

"พี่พูดนี่เรื่องจริงหรือครับ"


ข้าพเจ้าตอบว่า "พี่ก็ตอบคุณตามตำรานะ จริงแค่ไหนไม่รู้"  ตอบพระเอกหนุ่มวันนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็เห็นเขาเล่นละครต่อมาอีกไม่กี่เรื่อง แล้วก็หายไปจากวงการจนกระทั่งทุกวันนี้


พ่อตายแล้วไม่นาน ข้าพเจ้าได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเพิ่มขึ้นอีก ได้พบข้อความเกี่ยวกับนักแต่งนิยาย และนักแสดงว่ามีโทษดังนี้


ปะหาโสนามะ นิระโยติ วิสุง ปะหาสะนามะโก นิระโย นามะ
นัตถุ, อะวีจิ เสวะ ปะนะ เอกั มิง โกฏฐาเสนัจจันตา วิยะ คายันตา
วิยะจะ นะฏะเวสัง คะเหตวาวะ ปัจจันติ.


บุคคลที่ร้องรำหรือแสดง (เช่น ละคร ลิเก) เหล่านี้ เมื่อตาย
แล้วต้องไปเสวยทุกข์อยู่ในปหาสนรก (ส่วนหนึ่งของอเวจีมหานรก) ใน
ขณะเสวยทุกข์อยู่ในนรกนั้น คล้ายๆ กับว่าร้องเพลงหรือฟ้อนรำหรือทำ
การแสดงอยู่ (แต่เป็นการกระทำที่ไม่มีที่สิ้นสุด คือเลิกไม่ได้ ไม่มีการหยุดพัก)


ยิ่งเมื่อได้สนใจธรรมะภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะวิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรมกาย ความเข้าใจในผลบาปต่างๆ จึงค่อยลุ่มลึกขึ้นตามลำดับ  ผู้แสดงไม่ใช่แต่นักร้อง นักแสดง ยังรวมเอานักเขียน และพวกนายแบบ นางแบบเดินแฟชั่นโชว์เข้าไปด้วย ตามตำราบอกแต่เพียงไปทำอาการเหมือนอาชีพที่ตนชอบซ้ำซากหยุดไม่ได้ แต่ในนรกจริงๆ เวทีแสดงนั้นอยู่ท่ามกลางไฟนรกที่ลุกโพลงแผดเผา ร้อนจัดทนไม่ไหวตัวก็ไหม้ตายแล้วก็ฟื้นขึ้นมารับโทษกันใหม่ไม่สิ้นสุด

 

พวกนักร้องนักแสดงต่างๆ ที่ชาวโลกถือกันว่ามีความสามารถสูงนั้น ต้องเป็นผู้แสดงที่ทำบทบาทได้แนบเนียน
สมจริง สมจังมากที่สุด ทำได้เหมือนเป็นเรื่องชีวิตของผู้แสดงเอง ผู้แสดงจึงจำเป็นต้องสร้างอารมณ์ให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง ต้องน้อมจิตใจตนให้เป็นไปตามบทบาท ให้ใจยึดมั่นถือมั่นอย่างเหนียวแน่นในเนื้อเรื่อง
ที่ตนแสดง เพื่อให้คำพูดสีหน้า แววตา ท่าทาง คล้อยไปตามเหตุการณ์อย่างแนบเนียน 

 

อารมณ์ที่จะผูกใจผู้ดูผู้ชมได้ดีและเหนียวแน่นที่สุด ไม่มีสิ่งใดเกินเรื่อง รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ที่น่าใคร่น่าพอใจ ซึ่งเราเรียกกันว่า กามคุณ ๕ ซึ่งสามารถทำให้ผู้ดูเคลิบเคลิ้มตามได้ง่ายดาย ถึงกับหัวเราะ ร้องไห้ ดีใจ เสียใจ โกรธแค้น หรืออื่นๆ ไปตามบทบาทของผู้แสดง


ผู้แสดงบางคนมีความสามารถมากสามารถผูกใจผู้ชมไปได้เป็นเวลานานนับสิบๆ ปี นึกถึงครั้งใด จิตใจก็ยังชื่นชมไม่ สร่างซา  ยิ่งพระเอกนางเอกรูปร่าง สวยงาม เสียงไพเราะก็ยิ่งจับใจไม่รู้ลืม
 

บาปของนักร้องนักแสดงหรือแม้นักเขียนนวนิยายอยู่ตรงจุดนี้  คือตนเองต้องการทำตามเนื้อเรื่องให้ดีที่สุด จึงต้องยึดมั่นในการกระทำเหล่านั้นเหมือนเป็นเรื่องของตนเองจริงๆ เท่ากับหลอกตนเอง ในชั้นแรกเป็นเบื้องต้นก่อน

 

ต่อจากนั้นกระทำให้ผู้อ่านผู้ชมเชื่อถืออย่างเหนียวแน่นหลงใหลราวกับเป็นเรื่องของตัวผู้แสดงจริง ลืมไปว่าเป็นเรื่องมุสาที่ผู้แสดงแสร้งสร้างเหตุการณ์ขึ้น การหลอกได้สำเร็จดังนี้  เป็นการหลอกผู้อื่น ถือเป็นความผิดขั้นที่สอง 

 

สิ่งที่หลอกลวงได้เหล่านี้เป็นของมีทุกข์มีโทษ เรื่องของกามคุณ  ถ้าผู้ใดหลงใหลมัวเมา จะทำให้ขาด สติปัญญาในการคิดแสวงหา ความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ยิ่งหลงใหลมัวเมา ก็ยิ่งผูกพันในภพ
ต้องเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดไม่มีที่สิ้นสุด เป็นทางเดินที่ตรงข้ามกับพระนิพพาน

 

การชักชวนผู้คนที่ได้บุญกุศลมากที่สุด คือ ชักชวนให้เลิกเกิด  ดังนั้นผู้ที่ชักชวนให้เวียนเกิดเวียนตาย จึงต้องได้รับสิ่งตรงข้ามกันคือบาปอกุศล และเป็นบาปหนักด้วย เพราะเป็นคำสอนตรงข้ามกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


สมัยเรียนอยู่ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ข้าพเจ้ามีเพื่อนสตรีคนหนึ่งเป็นลูกเศรษฐี เธอหลงใหลในดาราภาพยนตร์ชาวต่างประเทศคนหนึ่ง ถึงกับเอาภาพถ่ายขนาดใหญ่ของดาราผู้นั้นนอนกอดทุกคืน  เมื่อเรียนจบ ข้าพเจ้าถามว่าเธอจะประกอบอาชีพอะไร คำตอบที่ได้รับคือ
"ชั้นไม่ทำหรอก ชั้นจะไปต่างประเทศ"


"อ้อ ไปเรียนต่อเหรอ" ข้าพเจ้าเดา
"เปล่า ชั้นจะไปหาตัวจริงของ.. (ออกชื่อดาราภาพยนตร์)"


นี่คือความหลงใหลมัวเมาในรูป คนเราถ้าเกิดมาเพียงเพื่อจะมาหลงใหลคนในโลกนี่ ไม่ทำชีวิตให้เกิดประโยชน์ในการสร้างบารมีนับว่าโง่ที่สุด จนป่านนี้จากกัน ๓๐ ปีเศษแล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้พบเห็นเจอะเจอ
ไม่ได้ยินข่าวเพื่อนบ้าดาราคนนั้นอีกเลย ไม่รู้ตรอมใจตายไปหรือเปล่า


บางคนบ้าในเสียง หลงใหลนักร้อง ก็เป็นในทำนองเดียวกัน สำหรับนักแต่งหนังสือก็เสี่ยงต่อบาปกรรมหนักอยู่ไม่น้อย ถ้าเป็นหนังสือชวนคนอ่านให้มี สติปัญญา เอาตนให้พ้นทุกข์ ถือเป็นงานมหากุศล ในทางตรงข้ามถ้าเขียนนวนิยายเพ้อเจ้อให้ผู้คนหลงใหลไปในเรื่องของรูป รส กลิ่น เสียงสัมผัส อันเป็นกามคุณ ๕ อ่านแล้วหลงใหลพระเอกนางเอก คิดฟุ้งซ่านไปตามเนื้อเรื่องบ้าง คิดฟุ้งซ่านแต่งเรื่องราวเพิ่มเติมให้วุ่นวาย ใจคอไม่อยู่กับเนื้อกับตัว บางคนเป็นมากถึงกับหัวเราะคนเดียว ร้องไห้คนเดียวไปตามความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งของตน อย่างนี้

 

คนแต่งหนังสือย่อมมีโทษมาก ยิ่งเป็นหนังสือปลุกให้ผู้อ่านคิดประกอบกรรมชั่วต่างๆ เช่น เรื่องเพศ เรื่องความเก่งกล้าของคนร้าย ทำให้ผู้อ่านคิดคล้อยไปตามถึงกับทำอกุศลกรรมต่างๆ ตามมา (แม้แต่เอาไปคิดเป็นอกุศลจิต) ก็ถือว่ามีโทษหนัก
 

มีพระภิกษุรูปหนึ่งมาเล่าเรื่องเพื่อนของท่านให้ข้าพเจ้าฟังว่าเพื่อนเป็นสตรีนักเขียนนวนิยายเรื่องผี ก่อนตายเขียนเรื่องเกี่ยวกับอสุรกายตนหนึ่งค้างอยู่ เมื่อตายไปได้ ๕ วัน ก่อนญาติพี่น้องจะทำการเผาได้เปิดโลงศพออกดูหน้าเป็นครั้งสุดท้าย ต่างพากันตกใจเป็นที่สุด
 

เมื่อศพนั้นมีลักษณะเหมือนตัวอสุรกายที่ผู้ตายบรรยายไว้ในหนังสือเล่มที่เขียนค้าง เช่น หน้าตาเต็มไปด้วยขน ดวงตาถลนห้อยออกมามีลิ้นโตคับปาก ผิวหนังบวม ปริแตก มีน้ำเหลืองเยิ้ม เป็นต้น ท่านถามข้าพเจ้าว่า
"โยมอาจารย์ เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นได้ยังไง ทำไมเรื่องที่เขียนมันมาเกี่ยวข้องกับร่างคนตายได้"


ข้าพเจ้าจึงอธิบายว่า จิตใจของคนเรามันสร้างร่างกายได้ เช่นคนใจดี หน้าตาจะดูเบิกบานเยือกเย็น ผิวพรรณ สดชื่น ตรงข้ามกับคนขี้โกรธ หน้าตาย่นยู่ ผิวพรรณแห้งกร้าน  สำหรับผู้ตายซึ่งเป็นนักแต่งเรื่องผี จิตใจของเขาเกาะเกี่ยวอยู่กับตัวละครในนิยายที่ตนเขียน ความผูกพันในจิตมีกำลังกล้า ย่อมสร้างรูปตามที่ตนเองปรารถนา ใจผูกพันในรูปร่างของอสุรกายที่ตนคิดสร้างขึ้น  จิตก่อนตายจึงสามารถสร้างรูปของตนให้เป็นไปตามต้องการ
 

ข้าพเจ้าเล่าเรื่องของนักเขียน นักแสดง ศิลปินต่างๆ เอาไว้ในที่นี้ เผื่อลูกหลานรุ่นหลังคิดประกอบอาชีพ จะได้มีความรู้ว่า อาชีพอะไรทำแล้วได้บุญ อาชีพอะไรทำแล้วเป็นบาป อย่าเห็นแก่เรื่องรายได้เรื่องชื่อเสียง คำสรรเสริญเยินยอสิ่งเหล่านี้ป้องกันอบายภูมิให้เราไม่ได้เลย

 

เมื่อเห็นใครเด่นดังโก้เก๋ อย่าคิดเป็นเหมือนเขาบ้างโดยไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน ต้องมีปัญญาพิจารณาเห็นคุณเห็นโทษ โดยเฉพาะโทษข้ามภพข้ามชาติ อาชีพนักร้องนักแสดง ถ้าจะกล่าวว่าเป็นอาชีพทำมุสาวาท ก็คงไม่ผิด ผู้ใดกระทำบ่อยๆ ใจคอจะผูกพันคุ้นเคย ทำให้คุณภาพของจิตเสียหาย เป็นคนอ่อนไหวง่าย พลังจิตอ่อนแอ เพราะชินต่อการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ไปตามบทบาทต่างๆ บ่อยๆ เป็นความเสียหายแก่จิตใจ สติจะอ่อน กำลังปัญญาก็จะเกิดได้ยาก ความโก้เก๋ไม่เป็นผลดีที่แท้จริง


ถ้าจะมีผู้เถียงว่า ถ้าเป็นการแสดงที่ใช้สอนใจคนให้เลิกทำความชั่ว สนใจกระทำความดีเล่า ก็ต้องตอบว่ามีทั้งโทษและคุณ ที่เป็นคุณมากกว่า ต้องถือว่ากำไร แต่ยังสู้ทำแต่กำไรล้วนๆ ไม่ได้ คือทำแต่เรื่องที่ไม่มีโทษเลย ให้มีแต่คุณฝ่ายเดียวดีกว่า

 

จากหนังสือ จากความทรงจำเล่ม2

อุบาสิกาถวิล วัติรางกูล

ชื่อเรื่องเดิม เป็นดารา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012271006902059 Mins