แม้พระพุทธองค์ยังทรงเคารพในธรรม (ตอนจบ)

วันที่ 05 กพ. พ.ศ.2563

แม้พระพุทธองค์ยังทรงเคารพในธรรม (ตอนจบ)

                   ๒. ทรงบัญญัติพระวินัยเพราะความเคารพธรรมครั้งหนึ่ง ท่านพระอุบาลี พระอรหันตสาวกองค์หนึ่ง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้ทรงวินัย ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อทูลถามถึงจุดมุ่งหมายในการที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบท และทรงแสดงปาติโมกข์แก่เหล่าสาวก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสตอบพระอุบาลีว่า การที่ทรงบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่เหล่าสาวก ก็เพื่อประโยชน์ ๑๐ ประการดังนี้

                 ๑) เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์


                 ๒) เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์


                 ๓) เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก


                 ๔) เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม


                 ๕) เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลาย อันจะบังเกิดในปัจจุบัน


                 ๖) เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลาย อันจะบังเกิดในอนาคต


                 ๗) เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส


                 ๘) เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสแล้ว


                 ๙) เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม


                 ๑๐) เพื่อเอื้อเฟื้อพระวินัย

 

                   ในบรรดาจุดมุ่งหมายทั้ง ๑๐ ประการนี้ จะเห็นได้ว่าจุดมุ่งหมายข้อที่ ๙ นั้นย่อมก่อให้เกิดประโยชน์สำคัญที่สุดแก่พระสัทธรรม กล่าวคือ สิกขาบทเป็นข้อบัญญัติที่พุทธบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   พระภิกษุจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ตราบใดที่พุทธบริษัทยังปฏิบัติตามสิกขาบท ตราบนั้นพระสัทธรรม ๓ คือ ปริยัติสัทธรรม ปฏิบัติสัทธรรม และปฏิเวธสัทธรรม ก็จะยังคงอยู่คู่โลกนี้


                  นั่นคือ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ไม่ว่าจะนานแสนนานเท่าใด พระพุทธศาสนาก็จะยังคงอยู่ เป็นที่พึ่งที่ระลึกของพุทธบริษัทและชาวโลก สาเหตุที่พระพุทธองค์ทรงห่วงใยศาสนธรรมหรือพระปริยัติสัทธรรมก็เพราะทรงมีความเคารพธรรมเป็นอย่างยิ่งนั่นเอง    ตราบใดที่พุทธบริษัท
ยังปฏิบัติตามสิกขาบท


                 ตราบนั้นพระสัทธรรม ๓ คือ ปริยัติสัทธรรม ปฏิบัติสัทธรรมและปฏิเวธสัทธรรม ก็จะยังคงอยู่คู่โลกนี้

                ๓. ทรงมุ่งมั่นให้พระธรรมเป็นสรณะสูงสุดของมนุษย์และเทวดา

 

                วันหนึ่ง ก่อนพุทธปรินิพพานเป็นเวลา ๓ เดือน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเล่าเรื่องมารแก่พระอานนท์ ดังนี้

 

                เมื่อแรกตรัสรู้ ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ใต้ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา      ตำบลอุรุเวลา มารผู้มีบาปได้เข้ามากราบทูล ขอให้พระพุทธองค์ปรินิพพาน พระพุทธองค์จึงตรัสตอบมารไปว่า พระองค์จะยังไม่ปรินิพพานตราบใดที่พุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้เป็นสาวกของพระองค์ ยังไม่เฉียบแหลม ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม

 

               เมื่อเรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว ก็ยังไม่สามารถอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจง่าย ๆ ได้ ยังแสดงธรรม
มีปาฏิหาริย์ คือ เกิดผลดีอย่างอัศจรรย์ สามารถข่มบุคคลที่คัดค้านพระธรรมด้วยความเบาปัญญาโดยชอบธรรมไม่ได้ และตราบใดที่ศาสนธรรมของพระองค์ยังไม่แพร่หลาย เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้าง
ขวาง มีความมั่นคงจนกระทั่งเป็นที่รู้แจ้งเห็นแจ้งในหมู่มนุษย์และเทวดาแล้ว พระองค์ก็จะยังไม่ปรินิพพาน

 

               แต่มาวันนี้ (ขณะที่ทรงเล่าเรื่อง) มารผู้มีบาปได้เข้าไปหาพระพุทธองค์ที่ปาวาลเจดีย์ และกราบทูลขอให้พระพุทธองค์ปรินิพพาน โดยอ้างเหตุผลว่า ขณะนี้ พุทธบริษัท ๔ ผู้เป็นสาวกของ

 

              พระองค์ ต่างเป็นผู้เฉียบแหลม เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม สามารถอธิบายธรรมให้ผู้อื่นเข้าใจง่าย ๆ ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ คือ เกิดผลดีอย่างอัศจรรย์ สามารถข่มบุคคลที่คัดค้านพระธรรมด้วยความเบาปัญญาโดยชอบธรรมได้ และศาสนธรรมเป็นที่แพร่หลายในหมู่มนุษย์และเทวดาดังที่พระองค์ทรงปรารถนาแล้ว

 

              พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ต่อไปว่า

 

             “อานนท์ เมื่อมารบอกอย่างนี้ เราได้ตอบมารผู้มีบาปดังนี้ว่า มารผู้มีบาป ท่านจงอย่ากังวลเลย อีกไม่
นาน การปรินิพพานของตถาคตจะมี จากนี้ไปอีก ๓ เดือนตถาคตจักปรินิพพาน”        

 

             จากพระธรรมเทศนาที่ยกมานี้ ท่านผู้อ่านย่อมเห็นแล้วว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยืนยันมั่นคงว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นสิ่งประเสริฐที่สุด พระพุทธองค์จึงทรงเคารพเป็นอย่างยิ่ง และทรงมุ่งมั่นให้ธรรมเป็นสรณะสูงสุดของมนุษย์และเทวดาตลอดไป

 

             ๔. ทรงแต่งตั้งพระธรรมให้เป็นศาสดาแทนพระองค์


             ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์ มาตรัสว่า

            “อานนท์ บางทีพวกเธออาจจะคิดว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มี พระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดาข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย”

 

           เกี่ยวกับเรื่องนี้มีข้อสังเกตว่า พระอรหันตสาวกของพระพุทธองค์นั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นจากหลักฐานในคราวทำสังคายนาครั้งแรก มีพระอรหันต์มาประชุมทำสังคายนาถึง ๕๐๐ รูปและมีอยู่ไม่น้อยที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องไว้เป็นเอตทัคคะในด้านต่าง ๆ

 

          แต่พระองค์ไม่ทรงแต่งตั้งพระอรหันตสาวกรูปใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ กลับทรงแต่งตั้งพระธรรมคำสอนทั้งปวงให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ ดังที่ทรงตรัสว่า “ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ทรงเคารพพระธรรมเป็นอย่างยิ่ง

 

         ๕. ทรงเข้าสมาบัติซ้ำแล้วซ้ำอีกก่อนปรินิพพาน

        

                  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเคารพพระธรรมยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ดังจะเห็นจากในราตรีที่จะเสด็จ              ดับขันธปรินิพพาน พระองค์ก็ยังทรงประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ เปิดโอกาสให้ภิกษุสงฆ์ถามปัญหาข้อสงสัยเป็นวาระสุดท้าย แต่ภิกษุสงฆ์จำนวน ๕๐๐ รูป ที่ห้อมล้อมอยู่ก็นิ่งเงียบ แม้จะทรงเตือนให้ทูลถามถึง      ๓ ครั้ง

 

                  ครั้นแล้วพระพุทธองค์จึงประทานพระโอวาท ที่ทรงแสดงมาตลอด ๔๕ พรรษา ซึ่งสรุปรวมลงเป็นเรื่อง ความไม่ประมาท อย่างเดียวเท่านั้น ต่อจากนั้นก็ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้วเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว เข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว เข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว เข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติแล้ว เข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้ว เข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนะสมาบัติแล้ว เข้าเนวสัญญานา
สัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ (นิโรธสมาบัติ หมายถึง ดับสัญญา คือความจำได้ หมายรู้ และเวทนา คือการเสวยอารมณ์)         

 

                  ท่านพระอานนท์สังเกตเห็นพระพุทธองค์ทรงเข้านิโรธสมาบัติไม่มีอัสสาสะปัสสาสะ (ลมหายใจเข้า-ออก) จึงถามพระอนุรุทธะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วหรือ ก็ได้รับคำตอบว่า ยังไม่เสด็จปรินิพพาน แต่ทรงเข้านิโรธสมาบัติอยู่ เหตุที่พระอนุรุทธะตอบเช่นนั้นเพราะท่านเข้าสมาบัตินั้น ๆ พร้อมกับพระศาสดาด้วยนั่นเอง ณ จุดนี้จึงทำให้รู้ว่า การทำกาละ (มรณะ) ในระหว่างนิโรธสมาบัติไม่มี           

 

                   ครั้นเมื่อพระผ้มี พระภาคเจ้า ทรงออกจากสัญญาเวทยติ นิโรธสมาบัติแล้ว ก็ทรงย้อนถอยเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะอีก ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว ก็เข้าอากิญจัญญายตนะ ออก
จากอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้ว ก็เข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้ว ก็เข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติแล้ว ก็เข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว


                    ก็เข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ก็เข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ก็เข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ก็เข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ก็เข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ก็เข้าจตุตถฌานออกจากจตุตถฌานแล้ว เสด็จดับขันธปรินิพพานในลำดับแห่งการพิจารณาองค์จตุตถฌานนั้น

 

                    เกี่ยวกับการเข้าฌานสมาบัติก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระพุทธองค์ทรงเริ่มจากการเข้าฌาน ๔ ต่อด้วยสมาบัติ ๔ ครั้นแล้ว ทรงย้อนถอยจากสมาบัติ ๔ เรื่อยลงมายังฌาน ๔ จนกระทั่งถึง
ปฐมฌาน แล้วเริ่มเข้าทุติยฌานไปตามลำดับ จนถึงจตุตถฌาน เป็นที่สุด๕

 

                    การเข้าฌานสมาบัติของพระพุทธองค์ ในลักษณะอนุโลมและปฏิโลมเช่นนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า พระหทัยของพระองค์เบิกบานดี ไม่หดหู่ ไม่กระสับกระส่าย ตามอำนาจของเวทนาแล้วยังทรงแสดงให้เห็นว่า ทรงมีความเคารพในธรรมเป็นอย่างยิ่ง สมดังที่ทรงมีพระดำริตั้งแต่แรกตรัสรู้ว่า พระองค์ควรจะสักการะ เคารพอาศัยธรรมที่พระองค์ตรัสรู้

 

                   ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลายหลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย

 

เชิงอรรถ อ้างอิง

 

๑ บุคคลผู้เก้อยาก ในที่นี้หมายถึง

บุคคลผู้ทุศีลที่กำลังล่วงละเมิดสิกขาบท

หรือล่วงละเมิดสิกขาบทแล้วก็ไม่ละอาย ไม่ยอมรับ
๒ องฺ.ทสก. ๒๔/๓๑/๘๑-๘๒ (แปล.มจร)

๓ ที.ม. ๑๐/๑๗๗/๑๒๕ (แปล.มจร)

๔ ที.ม. ๑๐/๒๑๖/๑๖๔ (แปล.มจร)

๕ ที.ม. ๑๐/๒๑๗-๒๑๙/๑๖๕-๑๖๗ (แปล.มจร)

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 2
                                             โดยคุณครูไม่เล็ก

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016630172729492 Mins