การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย

วันที่ 25 กพ. พ.ศ.2563

การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย

           ได้กล่าวไว้แล้วว่า ควรจะได้กล่าวเป็นพิเศษถึงการชำระการเขียนการพิมพ์พระไตรปิฏก
ในประเทศไทยให้ค่อนข้างละเอียดสักเล็กน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ในการรู้เรื่องความเกี่ยวข้อง
ของประเทศไทยที่มีต่อพระไตรปิฎก ซึ่งในที่นี้จะได้แบ่งเป็น ๔ สมัย ดังนี้

         สมัยที่๑ ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่เมืองเชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราชประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐

         สมัยที่ ๒ ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๓๑

         สมัยที่ ๓ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๖

         สมัยที่ ๔ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๖๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๖๐


สมัยที่ ๑ พระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่

           ความจริงสมัยนั้นเมืองเชียงใหม่เป็นอิสระ และถือได้ว่า ภูมิภาคแถบนั้น เป็นประเทศลานนาไทย  แต่เมื่อรวมกันเป็นประเทศไทยในภายหลัง ก็ควรจะได้กล่าวถึงการชำระพระไตรปิฎก และการจารลงในใบลาน

           พระเจ้าติโลกราชผู้นี้ มีเรื่องกล่าวถึงไว้ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์สั้น ๆ ว่าสร้างพระพุทธรูปในจุลศักราช ๘๔๕ ในหนังสือสังคีติยวงศ์ เล่าเรื่องสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ตรงกับหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์แต่มีเล่าเรื่องสังคายนาพระไตรปิฎกด้วย พระเจ้าติโลกราชได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎกหลายร้อยรูป มีพระธรรมทินเถระเป็นประธาน ให้ชำระอักษรพระไตรปิฎกในวัดโพธาราม ๑ ปีจึงสำเร็จ เมื่อทำการฉลองสมโภชแล้ว ก็ได้ให้สร้างมณเฑียรในวัดโพธาราม เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎก

          ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ตัวอักษรที่ใช้ในการจารึกพระไตรปิฎกในครั้งนั้นคงเป็นอักษรแบบไทยลานนา คล้ายอักษรพม่า มีผิดเพี้ยนกันบ้าง และพอเดาออกเป็นบางตัว

สมัยที่ ๒ รัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ

           เรื่องสังคายนาพระไตรปิฎกโดยพิสดาร ในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีปรากฏในหนังสือพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และคำประกาศเทวดาครั้งสังคายนาปีวอก สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๓๑ รัชกาลที่ ๑ (หนังสือประกาศการพระราชพิธี) ซึ่งเก็บใจความได้ดังนี้

           ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสละพระราชทรัพย์จ้างช่างจารจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน และให้ชำระและแปลฉบับอักษรลาว อักษรรามัญ เป็นอักษรขอม สร้างใส่ตู้ไว้ในหอมณเฑียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ไว้ทุกพระอารามหลวง มีผู้กราบทูลว่า ฉบับพระไตรปิฎกและอรรถกถาฎีกาที่มีอยู่ ผิดเพี้ยนวิปลาสเป็นอันมาก ผู้ที่รู้พระไตรปิฎกก็มีน้อยท่าน ควรจะได้หาทางชำระให้ถูกต้อง จึงทรงอาราธนาพระสังฆราช พระราชาคณะ ฐานานุกรมเปรียญ ๑๐๐ รูปมาฉัน ตรัสถามว่า พระไตรปิฎกผิดพลาดมากน้อยเพียงไร สมเด็จพระสังฆราชพร้อมด้วยพระราชาคณะถวายพรให้ทรงทราบว่ามี
ผิดพลาดมาก แล้วเล่าประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎก ๘ ครั้งที่ล่วงมาแล้ว เมื่อทรงทราบดั่งนี้จึงอาราธนาให้พระสงฆ์ดำเนินการสังคายนาชำระพระไตรปิฎก ซึ่งเลือกได้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูป ราชบัณฑิตอุบาสก ๓๒ คน (แต่ตามประกาศเทวดาว่า พระสงฆ์ ๒๑๙ รูป ราชบัณฑิตอุบาสก ๓๐ คน) กระทำ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ (คือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ในปัจจุบัน)

             แบ่งงานออกเป็น ๔ กอง สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองชำระสุตตันตปิฎก พระวันรัตเป็นแม่กองชำระ
วินัยปิฎก พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระอภิธัมมปิฎก พระพุฒาจารย์เป็นแม่กองชำระสัททาวิเศษ(ตำราไวยากรณ์และอธิบายศัพท์ต่าง ๆ) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาเสด็จไป ณ พระอารามทุกวัน ๆ ละ ๒ ครั้ง เวลาเช้าทรงประเคนสำรับอาหาร เวลาเย็นทรงถวายน้ำอัฐบาน (น้ำผลไม้คั้น) และเทียนทุกวัน เป็นอย่างนี้สิ้นเวลา ๕ เดือนจึงเสร็จ แล้วได้จ้างช่างจารจารึกลงในใบลาน ให้ปิดทองแท่งทับทั้งใบปกหน้าหลัง และกรอบทั้งสิ้น เรียกว่าฉบับทองห่อด้วยผ้ายก เชือกรัดถักด้วยไหมแพรเบญจพรรณ มีฉลากงาแกะเขียนอักษรด้วยหมึก และฉลากทอเป็นตัวอักษรบอกชื่อพระคัมภีร์ทุกคัมภีร์

            เมื่อพิจารณาจากการที่พระมหากษัตริย์ทรงอุตสาหะ เสด็จพระราชดำเนินไปให้กำลังใจแก่พระเถระและราชบัณฑิตผู้ชำระพระไตรปิฎก ถึงวันละ ๒ เวลาแล้ว ก็ควรจะถือได้ว่าเป็นพระราชจริยาอันดียิ่ง มีคุณค่าในการถนอมรักษาตำราทางพระพุทธศาสนาไว้ด้วยดี

            แต่การสังคายนาครั้งนี้ ผู้ทรงความรู้รุ่นหลัง มักจะพูดล้อว่าเป็นการสังคายนา “แต้มหัวตะ”  เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงไว้ในพระราชวิจารณ์เทียบลัทธิพระพุทธศาสนาฝ่ายหีนยาน (เถรวาท) กับมหายาน หน้า ๑๓ โดยเล็งไปถึงว่าไม่ได้ทำอะไรมาก นอกจากแก้ไขตัวหนังสือที่ผิดคำว่า แต้มหัวตะ หมายความว่า อักษร ค กับอักษร ต เมื่อเขียนด้วยอักษรขอม มีลักษณะใกล้เคียงกันถ้าจะให้ชัดเจนเวลาเขียนตัว ต จะต้องมีขมวดหัว การสอบทานเห็นตัวไหนไม่ชัดก็เติมขมวดหัวเสียให้ชัด
 

             แต่ข้าพเจ้าเองมิได้เห็นว่า การชำระพระไตรปิฎกในรัชกาลที่ ๑ เป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะมิได้ติดใจถ้อยคำที่ว่า สังคายนา จะต้องเป็นเรื่องปราบเสี้ยนหนามทุกครั้งไป สังคายนาครั้งที่ ๑ ก็ไม่ใช่มีเสี้ยนหนามอะไรมาก เพียงภิกษุสูงอายุรูปหนึ่งพูดไม่ดีเท่านั้น ข้อสำคัญอยู่ที่การจัดระเบียบหรือถนอมรักษาพระพุทธวจนะให้ดำรงอยู่ก็พอแล้ว ข้อปรารภของรัชกาลที่ ๑  ที่ว่าพระไตรปิฎกมีอักษรผิดพลาดตกหล่นมาก จึงควรชำระให้ดีนี้เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะดำเนินงานได้ เพราะถ้าไม่ได้พระบรมราชูปถัมภ์งานนี้ก็คงสำเร็จได้โดยยาก จะเรียกว่าสังคายนาหรือไม่ 

           ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ได้แก้ไขฉบับพระไตรปิฎกให้ดีขึ้นก็เป็นที่พอใจแล้ว เพราะแม้การสังคายนา
ครั้งที่ ๑-๒-๓ ถ้าจะถือว่ามีการสังคายนาคนเกี่ยวข้องด้วยทุกครั้ง แต่ในที่สุดก็ไม่พ้นสังคายนาพระธรรมวินัย จัดระเบียบพระพุทธวจนะโดยเฉพาะการสังคายนาครั้งแรกก็เพียงปรารภถ้อยคำของสุภัททภิกษุเท่านั้น มิใช่สังคายนาคนหรือต้องชำระสะสางความผิดของใคร ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงขอบันทึกพระคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ในที่นี้ด้วยคารวะอย่างยิ่ง


สมัยที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๕ กรุงเทพฯ

            หลักฐานเรื่องการพิมพ์พระไตรปิฎก ซึ่งเดิมเขียนเป็นตัวอักษรขอมอยู่ในคัมภีร์ใบลานให้เป็นเล่มหนังสือขึ้นนี้ มีในหนังสือชุมนุมกฎหมายในรัชกาลที่ ๕ (หลวงรัตนาญัปติ์เป็นผู้รวบรวมพิมพ์) หน้า ๘๓๙ ว่าด้วยลักษณะบำรุงพระพุทธศาสนาในหัวข้อว่า การศาสนูปถัมภ์คือการพิมพ์พระไตรปิฎก ประกาศการสังคายนา และ พระราชดำรัสแก่พระสงฆ์โดยพระองค์

            สาระสำคัญที่ได้กระทำ คือคัดลอกตัวขอมในคัมภีร์ใบลานเป็นตัวไทยแล้วชำระแก้ไขและพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มหนังสือรวม ๓๙ เล่ม (เดิมกะว่าจะถึง ๔๐ เล่ม) มีการประกาศการสังคายนาแต่เพราะเหตุที่ถือกันว่าการสังคายนาควรจะต้องมีการชำระสะสาง หรือทำลายเสี้ยนหนามพระศาสนา เพียงพิมพ์หนังสือเฉย ๆ คนจึงไม่นิยมถือว่าเป็นการสังคายนา แต่ได้กล่าวไว้แล้วว่า จะเรียกว่าสังคายนาหรือไม่ ไม่สำคัญ ขอให้ได้มีการชำระตรวจสอบ จารึกหรือจัดพิมพ์พระไตรปิฎกให้เป็นเล่มรักษาไว้เป็นหลักฐาน ก็นับว่าเป็นกิจอันควรสรรเสริญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการทำให้พระพุทธวจนะดำรงอยู่เป็นหลักแห่งการศึกษาและปฏิบัติตลอดไป
 

    มีข้อน่าสังเกตในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งแรกในประเทศไทย ครั้งนี้ที่ขอเสนอไว้เป็นข้อ ๆ คือ

๑) การชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๓๑ สำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มด้วย อักษรไทย เป็นการฉลองการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติมาครบ ๒๕ ปี


๒) เป็นการสละพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เทียบกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเป็นการสละพระราชทรัพย์และทรัพย์ร่วมกันของพระมหากษัตริย์กับประชาชน)


๓) ในการพิมพ์ครั้งแรกนี้ พิมพ์ได้ ๓๙ เล่มชุด ยังขาดหายไปมิได้พิมพ์อีก ๖ เล่ม และได้พิมพ์เพิ่มเติมในรัชกาลที่ ๗ จนครบ ฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ ๗ รวม ๔๕ เล่ม จึงนับว่าสมบูรณ์ เป็นการช่วยเพิ่มเติมเล่มที่ขาดหายไปคือ (๑) เล่ม ๒๖ วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา,

                (๒) เล่ม ๒๗ ชาดก,

                (๓) เล่ม ๒๘ ชาดก,

                (๔) เล่ม ๓๒ อปทาน,

                (๕) เล่ม ๓๓ อปทาน พุทธวงศ์ จริยาปิฎก,

                (๖) เล่ม ๔๑ อนุโลมติกปัฏฐานภาค ๒ และ,

                (๗) ปัจจนียติกปัฏฐาน อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน

นอกจากนั้นยังได้เพิ่มเติมท้ายเล่ม ๔๔ ที่ขาดหายไป ครึ่งหนึ่ง คือ  อนุโลมติกปัฏฐานและอนุโลมทุกทุกปัฏฐานให้สมบูรณ์ด้วย ตามจำนวนดังกล่าวนี้ เมื่อคิดเป็นเล่มจึงมีหนังสือขาดหายไป ต้องพิมพ์เพิ่มเติมใหม่ถึง ๗ เล่ม แต่เพราะเหตุที่ฉบับพิมพ์ในครั้งรัชกาลที่ ๕ แยกคัมภีร์ยมกแห่งอภิธัมมปิฎก ออกเป็น ๓ เล่ม ส่วนในการพิมพ์ครั้งหลังรวมเป็นเพียง ๒ เล่ม จำนวนเล่มที่ขาดจึงเป็นเพียง ๖ เล่ม คือฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ มี ๓๙ เล่ม ฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ ๗ มี ๔๕ เล่ม ด้วยประการฉะนี้

             อย่างไรก็ดี การพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มหนังสือนี้ แม้ในขั้นแรกจะไม่สมบูรณ์  เเต่ก็เป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าทางพระพุทธศาสนาสะดวกยิ่งขึ้น เป็นการวางรากฐานอย่างสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เป็นพระราชกรณียกิจอันควรสรรเสริญยิ่งเเห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

สมัยที่ ๔ รัชกาลที่ ๗ กรุงเทพฯ

             หลักฐานเรื่องนี้มีในหนังสือรายงานการสร้างพระไตรปิฎกสยามรัฐ ซึ่งพิมพ์ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗  แสดงรายละเอียดการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก  ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๓

            มีข้อที่พึงกล่าวเกี่ยวกับการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้ คือ

๑) ได้ใช้เครื่องหมายและอักขรวิธี ตามแบบของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งทรงคิดขึ้นใหม่ แม้การจัดพิมพ์จะกระทำในสมัยที่พระองค์ท่านสิ้นพระชนม์แล้ว

๒) พิมพ์ ๑,๕๐๐ จบ พระราชทานในพระราชอาณาจักร ๒๐๐ จบ พระราชทานในนานาประเทศ ๔๕๐ จบ เหลืออีก ๘๕๐ จบ พระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ขอรับหนังสือพระไตรปิฎก

๓) การพิมพ์พระไตรปิฎกในครั้งนี้ นับว่าได้เพิ่มเติมส่วนที่ยังขาดอยู่ให้สมบูรณ์ โดยใช้ฉบับลานของหลวง (เข้าใจว่าฉบับนี้สืบเนื่องมาจากรัชกาลที่ ๑)  คัดลอกแล้วพิมพ์เพิ่มเติมจากส่วนที่ยังขาดอยู่

๔) ผลของการที่ส่งพระไตรปิฎกไปต่างประเทศ ทำให้มีผู้พยายามอ่านอักษรไทย เพื่อสามารถ
อ่านพระไตรปิฎกฉบับไทยได้ และได้มีผู้บันทึกสดุดีไว้ เช่น พระนยานติโลกเถระ ชาวเยอรมัน ผู้อุปสมบทประจำอยู่ ณ ประเทศลังกา ได้ชมเชยไว้ในหนังสือ Guide through the Abhidhamma Pitaka ว่า ฉบับพระไตรปิฎกของไทยสมบูรณ์กว่าฉบับพิมพ์ด้วยอักษรโรมัน ของสมาคมบาลีปกรณ์ในอังกฤษเป็นอันมาก

๕) ในการพิมพ์ครั้งนี้ ได้ทำอนุกรมต่าง ๆ ไว้ท้ายเล่มเพื่อสะดวกในการค้น แม้จะไม่สมบูรณ์แต่
ก็มีประโยชน์มาก และเป็นแนวทางให้ชำระเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ต่อไป

           เป็นอันว่าท่านผู้อ่านได้ทราบความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกตั้งแต่ต้นจนถึงพิมพ์เป็นเล่มแล้ว ต่อไปจะได้กล่าวถึงวิธีจัดระเบียบและการจัดประเภทในแต่ละปิฎกเพื่อสะดวกในการกำหนดจดจำ  ซึ่งได้มีการริเริ่มมาแต่การสังคายนาครั้งที่ ๑ และได้เพิ่มเติมในการจัดระเบียบในสมัยต่อ ๆ มา

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0021867156028748 Mins