สติปัฏฐาน ๔

วันที่ 22 พค. พ.ศ.2563

สติปัฏฐาน ๔

 

ที่ ปลายทางนั่นนั้น

ไม่ไกล

สุด แหล่งอยู่ภายใน

สุดรู้

แห่ง กลางของกลางใส

นั่นแหละ

ธรรม จักชี้แก่ผู้

ถึงแล้วกายธรรม

                                                                                                                                                     ตะวันธรรม

                   เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะคราวนี้เรามาทบทวนทางเดินของใจสักนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นทางไปเกิดมาเกิดของสัตว์โลกทุก ๆ คน รวมทั้งตัวเราด้วย พระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านได้สอนเอาไว้ว่า มีทั้งหมด ๗ ฐานที่ตั้งซึ่งอันนี้เราศึกษาไว้ให้รู้จักเท่านั้นนะ ซึ่งทั้ง ๗ ฐานมีความสำคัญทั้งนั้น คือ

 

                  ฐานที่ ๑ ปากช่องจมูก ท่านหญิงอยู่ข้างซ้าย ท่านชายอยู่ข้างขวา
                  ฐานที่ ๒ เพลาตา ตรงหัวตาที่น้ำตาไหล หญิงซ้ายชายขวา
                  ฐานที่ ๓ กลางกั๊กศีรษะ ในระดับเดียวกับหัวตาของเรา
                  ฐานที่ ๔ เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก
                  ฐานที่ ๕ ปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือก


                  ฐานที่ ๖ กลางท้องในระดับเดียวกับสะดือของเราโดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำ มาขึงให้ตึงจากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายเส้นหนึ่งให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกว่า ฐานที่ ๖ ถูกกลางดวงธรรมที่ทำให้
เป็นกายมนุษย์หยาบ ใสบริสุทธิ์ โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ธรรมดวงนี้สำคัญมาก ถ้าหากว่าผ่องใส ไม่เศร้าหมอง ชีวิตก็จะรุ่งเรือง ถ้าเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ชีวิตก็ร่วงโรย ถ้าธรรมดวงนี้ดับ ชีวิตของเราก็ดับไปด้วย

 

                 ฐานที่ ๗ อยู่เหนือฐานที่ ๖ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ โดยสมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางมาวางซ้อนกัน และนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสองสูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 

                 ฐานที่ ๗ นี้สำคัญมาก เพราะเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับที่ตื่นถ้าจะไปเกิดก็จะต้องไปตามฐานต่าง ๆ เริ่มต้นจากฐานที่ ๗ ไป ๖, ๕, ๔, ๓, ๒, ๑ แล้วก็ไปเกิดใหม่ ถ้าจะไม่เกิดจะต้องเดินเข้าไปข้างในโดยเริ่มต้นที่ฐานที่ ๗ เช่นเดียวกัน โดยเอาใจมาหยุดนิ่งทำความรู้สึกที่ตรงนี้ที่เดียว พอถูกส่วนจะตกศูนย์ไปฐานที่ ๖ แล้วจะไปยกเอาดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบลอยขึ้นมาที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 

                 เป็นดวงใส ๆ โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ บางทีก็เล็กกว่านี้บางทีก็เท่านี้ บางทีก็ใหญ่กว่านี้ แล้วแต่กำลังบุญบารมีของแต่ละคน แต่เราจำตอนนี้คร่าว ๆ ว่า โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ จะกลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์ ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย มีแสงอยู่ในตัว บางทีก็ใสเหมือนน้ำใส ๆ บ้าง บางทีก็ใสเหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้าบ้าง บางทีก็ใสเหมือนเพชร หรือยิ่งกว่านั้น

 

                 ธรรมดวงนี้จะมาพร้อมกับความสุขภายใน ซึ่งเป็นอิสระกว้างขวาง เป็นความสุขที่ละเอียดอ่อน ประณีต นุ่มนวล ละมุนละไม แตกต่างจากความสุขที่เราเคยเจอและหลงเข้าใจว่าเป็นความสุขที่แท้จริง ที่จริงมันเป็นความเพลินกับสิ่งใหม่ ๆ เมื่อหายเห่อจากสิ่งเก่าแล้วก็จะเพลินกับสิ่งใหม่ ๆ ที่ไร้สาระ โดยไม่รู้จักเพียงพอนี่แหละ อยากได้ อยากมี อยากเป็น

 

                ธรรมดวงนี้พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี(สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือบางครั้งก็เรียกว่า ดวงปฐมมรรค คือหนทางเบื้องต้นที่จะไปสู่อายตนนิพพาน เราจะปฏิบัติธรรมแบบไหนก็ตาม ถ้าใจยังไม่หยุด ไม่นิ่ง ก็จะยังไม่เข้าถึงธรรมดวงนี้

 

               ถ้ายังไม่ถึงธรรมดวงนี้ก็ไปนิพพานไม่ได้ ธรรมดวงนี้จึงเป็นประดุจประตูไปสู่พระนิพพาน จะเป็นดวงใส ๆ ใจจะนิ่งตั้งมั่นนุ่มนวล ควรแก่การงาน ละเอียดอ่อน ประณีต จะหยุดนิ่งอย่างนี้เข้าไปเรื่อย ๆ แล้วก็จะเข้าไปถึงดวงธรรมต่าง ๆ ที่อยู่ภายในตามสติปัฏฐาน ๔ ที่ให้ตามเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ทั้ง ๔ อย่างจะประชุมรวมกันอยู่ที่เดียวกัน แต่ว่าแยกส่วนกัน กายส่วนกาย เวทนาส่วนเวทนา  จิตส่วนจิต ธรรมส่วนธรรม

 

               กายก็จะมีกายต่าง ๆ ซ้อนกันอยู่ภายใน มีกายมนุษย์ละเอียดที่หน้าตาเหมือนตัวเรา ท่านหญิงเหมือนท่านหญิงท่านชายเหมือนท่านชาย ทุก ๆ กายจะนั่งสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้ายวางไว้บนหน้าตักฝ่ามือจะดึงชิดตัวสัมผัสกายนิดหนึ่งกายตรงทุกกาย

 

              แล้วจะมีกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์หยาบ-ละเอียด กายรูปพรหมหยาบ-ละเอียด กายอรูปพรหมหยาบ-ละเอียด กายธรรมโคตรภูหยาบ-ละเอียด กายธรรมพระโสดาบันหยาบ-ละเอียดกายธรรมพระสกทาคามีหรือพระสกิทาคามีหยาบ-ละเอียด กายธรรมพระอนาคามีหยาบ-ละเอียด แล้วก็กายธรรมพระอรหัต
หยาบ-ละเอียด ทั้งหมด ๑๘ กาย รวมทั้งกายมนุษย์หยาบที่เรานั่งเข้าที่นี้

 

              แบ่งกายออกเป็น ๒ ภาค คือ
             ๑. กายที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์
             ๒. กายที่พ้นไตรลักษณ์


             กายที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์ ตั้งแต่ กายมนุษย์หยาบ-ละเอียด กายทิพย์หยาบ-ละเอียด                 กายพรหมหยาบ-ละเอียดกายอรูปพรหมหยาบ-ละเอียด

 

             กายที่พ้นจากไตรลักษณ์ ตั้งแต่กายธรรมโคตรภูขึ้นไปคือ กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี และกายธรรมพระอรหัตมีทั้งหยาบทั้งละเอียด

 

              กายที่เป็นเป้าหมาย คือ กายธรรมอรหัตตผล หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา ทุกกายจึงเป็นเหมือนรถหลาย ๆ ผลัดที่ส่งต่อ ๆ กันไป จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง ท่านได้ตาม

 

             เห็นกายในกายอย่างนี้แหละ คือมองไปเรื่อย ๆ เห็นกายนี้ก็ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ โดยไม่คิดอะไรทั้งสิ้น ดูไปเห็นไปและไปให้ถึงกายสุดท้าย เมื่อใจนิ่งสนิท มันจะถอดออกเป็นชั้น ๆ เหมือนเราดึงดาบออกจากฝักดาบ ดึงไส้หญ้าปล้องออกจากกัน ถอดเป็นชั้น ๆ อย่างนั้น

 

             กายที่ละเอียดกว่าจะซ้อนอยู่ในกายที่หยาบกว่า ทุกกายจะสุกใสโตใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ และกายที่จะพาเราไปสู่ฝั่งพระนิพพานได้คือ กายธรรม นับตั้งแต่กายธรรมโคตรภูขึ้นไป กายธรรมโคตรภูขึ้นไปจะไปได้ชั่วคราว แต่ถ้ากายธรรมอรหัตตผลไปได้ถาวร มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ก็จะเป็นชั้น ๆ กันเข้าไปอย่างนี้

 

            กายธรรม คือกายที่สำคัญมาก เพราะประกอบด้วยธรรมจักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง

            จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะ ปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ

 

            มีธรรมจักษุ คือ เห็นได้รอบทิศในเวลาเดียวกัน ซ้าย ขวาหน้า หลัง ล่าง บน อดีต ปัจจุบัน อนาคต แล้วแต่จะน้อมไปอย่างไร แต่เห็นได้ในเวลาเดียวกัน มีญาณทัสสนะ ตั้งแต่กายธรรมเป็นต้นไปจะมีญาณทัสสนะเกิด ต่ำจากกายธรรมโคตรภูลงมา รู้ได้ด้วยวิญญาณ คือ รู้แจ้งด้วยวิญญาณ

 

            กายธรรมนี้จึงสำคัญมาก มีลักษณะเหมือนกันทุกกายเลยทั้งกายธรรมโคตรภู โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหัตจะมีลักษณะเหมือนกัน คือประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ เกตุดอกบัวตูม ใสเกินใส งามไม่มีที่ติ แต่ขนาดจะแตกต่างกัน

 

           กายธรรมโคตรภู อย่างใหญ่ที่สุดก็น้อยกว่า ๕ วา เล็กไม่มีประมาณ                                                       กายธรรมพระโสดาบัน หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา
           กายธรรมพระสกิทาคามี หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา
           กายธรรมพระอนาคามี หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา
           กายธรรมพระอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา

          กายจะโตใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ของใหญ่จะซ้อนอยู่ในของเล็กอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ตามเห็นกายในกายก็คือ ตามเห็นกันไปอย่างนี้

 

          ในกลางกายก็มีเวทนา เวทนาในที่นี้ไม่ได้แปลว่า สงสารแต่เวทนาตัวนี้คือ การเสวยอารมณ์ อารมณ์สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ แต่กายยิ่งโตใหญ่ ยิ่งละเอียด จะมีแต่สุขล้วน ๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ บริสุทธิ์เพิ่มขึ้น จิตในจิตก็อยู่ในกลางกายนั่นแหละธรรมในธรรม อยู่ในที่เดียวกัน แต่คนละส่วน แยกส่วนกันไป

 

            ทั้งหมดนี้จะต้องเริ่มต้นที่ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก่อน แล้วแต่ละกายก็จะถูกเชื่อมด้วยดวง ๖ ดวง คือ ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ๖ ดวงนี้จะซ้อนกันเข้าไปสู่ภายใน ชุดละ ๖ ดวง เชื่อมกายแต่ละกาย แล้วก็กลั่นใจเราให้บริสุทธิ์ละเอียดจนกระทั่งอายตนะหรือความละเอียดเท่ากันก็จะดึงดูดเข้าหากัน

 

             นี่คือภาคทฤษฎีหรือภาคปริยัติ ที่เราจะต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ดี แต่ในแง่ของการปฏิบัตินั้น มันอยู่ที่หยุดกับนิ่งอย่างเดียวตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ หมายความว่าไม่ต้องทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ นอกจากหยุดนิ่งเฉย ๆ เรื่อยไป นิ่งอย่างเดียว ให้ตั้งมั่น ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนเลย

 

            นิ่งแล้วถึงจะสว่าง สว่างแล้วถึงจะเห็น เพราะฉะนั้น ให้ทำหยุดกับนิ่งอย่างเดียว อย่าทำอะไรที่
นอกเหนือจากนี้

 

            คำว่า “หยุด” นี่ถอดออกมาจากพระโอษฐ์ของพระบรมศาสดา ที่ตรัสกับองคุลีมาล เมื่อองคุลีมาลถือดาบไล่จะไปตัดนิ้วของท่านแต่ก็ทำท่านไม่ได้ พอจะไล่ทันท่านก็วื้ดออกไปจนกระทั่งไม่ทัน ทั้ง ๆ ที่เดินธรรมดาอย่างนั้น กระทั่งองคุลีมาลเหนื่อย แล้วร้องบอกว่า “สมณะหยุด สมณะหยุด”

 

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “สมณะหยุดแล้ว”
            คำว่า “หยุด” นี้ลึกซึ้ง ไม่ได้หมายถึงอาการที่เราหยุดยืนอยู่กับที่ หรือเฉพาะหยุดทำบาปทั้งปวง แต่หมายถึง หยุดใจภายในนิ่ง ๆ นี้ด้วย จนกระทั่งหยุดในหยุดเข้าไปตามลำดับ

 

             หยุดเคลื่อนไหว หยุดทำบาป หยุดใจนิ่งไม่เขยื้อนที่กลางกาย หยุดในหยุดเข้าไปเรื่อยๆ

 

            คือทำอย่างเดิม เฉย ๆ หยุดเรื่อยไป นี่ลึกซึ้งอย่างคำว่า หยุด ไม่ใช่มีความหมายแค่ว่า หยุดกาย หรือหยุดทำบาปทั้งปวงแค่นั้น แต่หยุดอย่างนี้ด้วย

 

            เพราะฉะนั้น หยุดจึงเป็นตัวสำเร็จที่จะทำให้เราเข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัวของเราดังกล่าว คือ กายในกาย เวทนาในเวทนาจิตในจิต แล้วก็ธรรมในธรรม หยุดนี้แหละสำคัญมาก ๆ

 

            ทีนี้หยุดแรกนี่มันยากสักนิดหนึ่ง แต่ยากไม่มาก ง่ายพอดี ๆ ยากพอสู้ ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน ให้เรามีชั่วโมงหยุด ชั่วโมงนิ่ง ชั่วโมงกลางมาก ๆ เหมือนนักบินมีชั่วโมงบินเยอะ ๆ เราก็ต้องฝึกวางใจเบา ๆ ในทุกอิริยาบถ ให้ใจคุ้นเคยกับกลางท้อง กับฐานที่ ๗ ให้มากที่สุด แต่อย่าไปกังวลกับฐานที่ ๗ มากเกินไป

 

             เมื่อเราเริ่มต้นฝึกใหม่ ๆ อย่ามัวไปควานหาฐานที่ ๗ หรือกังวลกลัวว่าจะไม่ตรงฐานที่ ๗ เป๊ะ ซึ่งแน่นอน เมื่อเราฝึกฝนใหม่ ๆ ก็อาจจะตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง ก็ช่างมัน ให้เราทำความรู้สึกว่า อยู่ในกลางท้องแค่นี้พอ และหลังจากนั้นเราจะนึกเป็นภาพหรือจะไม่นึกเป็นภาพก็ได้ แล้วแต่อัธยาศัยของเรา

 

วิธีนึกเป็นภาพ

             หากเป็นคนช่างฟุ้ง ชอบคิดโน่น คิดนี่ ก็ควรจะนึกเป็นภาพ ภาพที่ควรนึกคือ องค์พระ ดวงแก้วใส ๆ หรือพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ เป็นต้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระรัตนตรัยเป็นวัตถุอันเลิศ อันประเสริฐ ที่จะทำให้ใจเราสูงส่ง หรือจะเป็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว หรือเพชรสักเม็ดใส ๆ กลม ๆ 

           

             ให้เราเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง นึกไว้ในกลางท้อง ให้เป็นเครื่องหมายว่าบริเวณนี้คือ ฐานที่ ๗ เป็นที่ยึดที่เกาะของ

 

           ใจเรา เหมือนหลักที่เราปักเอาไว้ ใจเหมือนม้าพยศ แต่เราผูกม้าไว้กับหลักด้วยเชือกคือ สติ มันจะพยศแค่ไหน พอมันเหนื่อยเดี๋ยวมันก็หมอบอยู่ตรงหลักนั่นแหละ

 

             ภาพในตัวก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราชอบคิดโน่นคิดนี่ เราก็เปลี่ยนเรื่องคิดเสียใหม่ มาเป็นเรื่ององค์พระ เรื่องดวงใส ๆพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ มหาปูชนียาจารย์ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวในอากาศ หรือเพชรสักเม็ด เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งนะ เอาอย่างเดียว อย่าสับสน โดยทดสอบดูว่า ใจเราชอบอย่างไหน นึกแล้วสบาย แล้วก็ต้องนึกอย่างสบาย ๆอย่าไปบีบเค้นภาพ มันจะทำให้ปวดลูกนัยน์ตา มึนศีรษะ อย่างนี้ผิดหลักวิชชา

 

            ต้องเป็นภาพที่เรานึกแล้วสบายใจ องค์พระจะเอาองค์ไหนก็ได้ที่เราคุ้นเคย มีความเคารพ มีความเลื่อมใส จะเป็นพระเครื่อง หรือพระพุทธรูป พระบูชาอะไรก็เอา สร้างด้วยวัตถุอะไรก็ได้ แต่ถ้าเป็นพระแก้วใส ๆ ได้จะดี ใจจะได้ใส นี่กรณีที่ชอบนึกถึงพระนะ 

 

            หรือใครถนัดนึกถึงดวง เราก็นึกถึงดวงใส ๆ กลม ๆเหมือนดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวอย่างนี้ก็ได้ นึกเท่าที่เรานึกได้ ชัดแค่ไหนก็แค่นั้น อย่าพยายามไปบีบไปเค้นให้มันชัด เพราะเราต้องการแค่เป็นหลักที่ยึดที่เกาะของใจเรา ไม่ให้ฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น ให้มาคิดเรื่องนี้เรื่องเดียว

 

            แล้วก็ประคองภาวนาในใจไปเรื่อย ๆ ให้เสียงภาวนาดังออกมาจากในกลางท้อง อย่างสบาย ๆ

 

วิธีหยุดนิ่งเฉย ๆ โดยไม่นึกภาพ       

             ถ้านึกเป็นภาพแล้วมันอดจะกดลูกนัยน์ตาลงไปดูในท้องไม่ได้ แล้วก็ปวดลูกนัยน์ตาทุกที มันมึน มันซึม มึนศีรษะ เลยพลอยทำให้เบื่อ นั่งแล้วพอนึกไม่ออกก็ยิ่งบีบเค้น ยิ่งเค้นก็ยิ่งปวดหัวตัวร้อน ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่ต้องนึกเป็นภาพเลย วางใจนิ่ง ๆอย่างเดียว นิ่งอย่างสบาย ๆ  

 

              และเหมาะสำหรับคนที่ช่างสงสัย ชอบสงสัย เวลาที่ใจนิ่งแล้วดวงผุดขึ้นมาก็ดี หรือองค์พระผุดขึ้นมาก็ดี มักจะมีความคิดว่า เอ๊ะ! คิดไปเองหรือเปล่า หรือเห็นจริง ก็วนไปวนมาอยู่แค่นี้ ซึ่งไม่รู้จะคิดไปทำไม มีหน้าที่ให้ดูเฉย ๆ ก็ไม่ดู ก็ชอบไปใช้ความคิด

 

             ถ้าอย่างนี้แล้วก็ให้นิ่งเฉย ๆ ทำความรู้สึกว่า ใจอยู่ในกลางท้อง ภาวนา สัมมา อะระหัง เรื่อยไปเลย จะกี่ครั้งก็ได้จนกว่าใจจะหยุดนิ่งเฉย ๆ ถ้าถูกส่วนแล้วมันจะทิ้งคำภาวนาไปหรือมีความรู้สึกไม่อยากจะภาวนาต่อ ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ก็ไม่ต้องหวนกลับมาภาวนาใหม่ ให้นิ่งอย่างเดียวนะ

 

             ไม่ว่าจะนั่งแบบไหน จะนึกเป็นภาพ หรือไม่นึกเป็นภาพตาม เมื่อใจนิ่งถูกส่วนแล้ว มันจะปล่อยทั้งสองวิธี ภาพก็ปล่อยไป แล้วใจก็จะตกศูนย์วูบลงไป สิ่งที่เราสมมติเบื้องต้นก็หายไปสิ่งที่เป็นจริงก็จะปรากฏเกิดขึ้นมาเป็นดวงใส ๆ

 

               นี่คือสิ่งที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจ ฝึกฝนจนชำนาญ ต้องทำบ่อย ๆ เนือง ๆ ทำครั้งสองครั้งแล้วจะให้ได้ผล มันไม่ได้หรอก

 

               แล้วเมื่อไรจะได้เห็นสักที ?   นานไหมกว่าจะได้เห็น ?  มันก็แล้วแต่เรา เราอยากได้เร็ว มันก็เห็นเร็วอยากได้ช้า มันก็เห็นช้า แล้วแต่เรา

 

              แล้วแต่เราคืออย่างไร คือใจหยุดเมื่อไร มันก็ตกศูนย์ไปเมื่อนั้น สว่างเมื่อนั้น เห็นเมื่อนั้น ใจยังไม่หยุด มันก็ช้าเพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน ให้เรามีสติ สบาย สม่ำเสมอทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน นึกบ่อย ๆ

 

        ใจเรานึกได้ทีละอย่าง เราเอาอะไรมาใส่ในใจแล้วคิดบ่อย ๆซ้ำ ๆ สิ่งนั้นก็คล่องขึ้น ง่ายขึ้น นึกถึงพระก็เห็นพระ นึกถึงผีก็เห็นผี นึกถึงคนก็เห็นคน นึกถึงสัตว์ก็เห็นสัตว์ นึกถึงสิ่งของก็เห็นสิ่งของ ต้นหมากรากไม้ ภูเขาเลากา นึกอะไรก็เห็น

 

              อย่างนั้น ได้ทีละอย่าง ถ้าเรานึกถึงแต่พระ พระ พระ หรือดวงใส ๆ ไปเรื่อย ๆ สม่ำเสมอ อย่างนี้ก็หยุดได้เร็ว เข้าถึงได้เร็วแล้วเวลาเลิกนั่งอย่าเพิ่งลุกจากที่ ให้หมั่นสังเกตดูว่า วันนี้เราทำถูกหลักวิชชาไหม ตึงเกินไปไหม ตั้งใจมากเกินไปไหมย่อหย่อนเกินไปหรือเปล่า เราก็ปรับเอานะ ต้องปรับไปเรื่อยปรับปรุงใจของเราไปตลอดเวลา ฝึกฝนกันไปเรื่อย ๆ

 

ทุกคนจะเข้าถึงได้ด้วยความเพียรและทำอย่างถูกหลักวิชชา       

               คนที่ทำไม่ได้คือ คนตาย คนบ้า และคนที่ไม่ได้ทำ คนดี ๆอย่างเราซึ่งเข้าใจเป้าหมายชีวิต ถ้าตั้งใจทำกันจริง ๆ แล้วก็ต้องได้ถ้าคนอย่างเราไม่ได้ แล้วใครในโลกจะได้ เพราะเราเป็นผู้มีบุญที่สั่งสมกันมาอย่างดีแล้ว จึงมาได้ยินได้ฟัง มีกุศลศรัทธาได้มาปฏิบัติ ถ้าทำถูกหลักวิชชา ขยัน มีสติ สบาย สม่ำเสมอหมั่นสังเกต ก็จะสมหวังกันอย่างแน่นอน

 

             อย่าได้ลดละความเพียร อย่าได้ท้อถอย อย่าได้เบื่อหน่ายเพราะนี่คืองานที่แท้จริงของเรา เป็นกรณียกิจ เป็นกิจที่จะต้องทำให้ถูกวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์

 

            เมื่อเข้าใจอย่างนี้ดีแล้ว ต่อจากนี้ไปเราก็ฝึกฝนอบรมใจของเราไป เลือกเอา ๒ วิธี จะนึกเป็นภาพหรือไม่นึกเป็นภาพก็ได้ ทำกันไปอย่างนี้นะ

 

             เช้านี้อากาศกำลังสดชื่น เป็นใจให้ลูกทุกคนได้ปฏิบัติธรรมขอให้ลูกทุกคนได้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว สมหวังดังใจอย่างที่ได้ตั้งใจเอาไว้ด้วยดีกันทุกคน ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ นะ

 

พระเทพญาณมหามุนี

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 2
                                                                                                โดยคุณครูไม่ใหญ่

                

           

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015196681022644 Mins