ขยายความธัมมัญญู

วันที่ 16 กค. พ.ศ.2564

19-7-64-1-b.jpg
ขยายความธัมมัญญู

๑. ธัมมัญญู แปลว่า ผู้รู้จักธรรม

                    ธรรมในที่นี้ หมายเอา เทศนาธรรม อันได้แก่ธรรมที่พระองค์ทรงเทศน์มาตลอด ๔๕ พรรษา ซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามโอกาสที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงแก่ผู้ฟัง จึงแบ่งออกเป็น ๙ ลักษณะเรียก “นวังคสัตถุศาสน์”1  อันประกอบด้วย สุตตะ, เคยยะ, เวยยากรณะ, คาถา, อุทาน,อิติวุตตกะ, ชาตกะ, อัพภูตธรรม และเวทัลละ

                    ปัจจุบัน คำสอนเหล่านี้ถูกเก็บรักษาในรูปแบบของคัมภีร์พระไตรปิฎก ดังนั้น การรู้ธรรมในปัจจุบันจึงหมายถึง “การรู้ธรรมที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก” นั่นเอง

                    วัตถุประสงค์ของการรู้จักธรรมก็เพื่อ รู้ให้ได้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนอะไรบ้าง จะได้นำความรู้นั้นมาเป็นกรอบให้ดำเนินชีวิตได้ถูกต้องตรงทาง คือ อย่างน้อยก็ได้สร้างบุญบารมี ทำความดี ตามที่พระองค์ทรงสอนไว้และไม่พลาดไปทำบาปกรรมความชั่วทั้งหลายที่พระองค์ทรงห้ามไว้ไม่ให้กระทำ


พระภิกษุสามารถเป็นธัมมัญญได้ ควรประกอบด้วยคุณลักษณะอย่างน้อย ๓ ประการ คือ
๑) ศึกษาหรือได้อ่านพระไตรปิฎกทั้งหมด
๒) เมื่ออ่านแล้วสามารถสรุปหลักธรรมคำสอนสำคัญๆ ได้ เช่น หลักกฎแห่งกรรม กฎไตรลักษณ์ หรือวิธีการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น
๓) เกิดความเห็นที่ถูกต้อง หรือมีสัมมาทิฏฐิในใจยิ่งๆ ขึ้นไป รวมทั้งเกิดความเลื่อมใส เชื่อมั่นในปัญญาตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากขึ้นตามไปด้วย

๒. อัตถัญญู แปลว่า ผู้รู้จักอรรถ, รู้เนื้อความ, รู้เนื้อความแห่งธรรมข้อหนึ่งๆ

                      หมายเอาความเป็นผู้รู้เนื้อความ หรือเข้าใจนัยยะต่างๆ ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนำมาฝึกปฏิบัติตามด้วยกาย วาจา และใจ

                      เนื่องจากธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความละเอียดลุ่มลึกเกินกว่าที่สรรพสัตว์ทั้งหลายจะรู้แจ้งแทงตลอดได้ด้วยตนเอง อุปมาเหมือนมหาสมุทรที่ลึกและกว้างใหญ่เกินกว่าที่สัตว์เล็กๆ เช่น หนูหรือกระต่าย จะหยั่งเท้าลงไปถึง

                      ความสำคัญของการเข้าใจความหมายที่ถูกต้อง หรือที่เรียกว่า "อัตถัญญ” จึงมีผลดีเป็นอย่างมาก เพราะจะนำไปสู่การปฏิบัติ ฝึกฝนอบรมตนเองที่ถูกต้อง ซึ่งการปฏิบัติที่ถูกต้องก็จะทำให้คุณธรรมภายในเจริญก้าวหน้าขึ้นมา ในทางตรงข้ามหากเข้าใจผิดก็ย่อมมีผลต่อการฝึกฝนอบรมตนเองและคุณธรรมที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่น อาจทำให้ปฏิบัติไม่ถูกต้องอย่างเต็มที่ ผลการปฏิบัติก็จะไม่มีความสมบูรณ์ และบางครั้งความเข้าใจผิดก็นำไปสู่การปฏิบัติที่ผิดทำนองคลองธรรม แทนที่กุศลธรรมจะเกิดก็กลับกลายเป็นเกิดอกุศลธรรมขึ้นแทน

                      วิธีการสำคัญที่จะช่วยฝึกฝนตนเองให้เป็นอัตถัญญู ๒ ขั้นตอน คือ
๑) การฝึกหัดให้เข้าใจนัยของธรรมให้ถูกต้อง อาจจะอาศัยจากการทำความเข้าใจหลักธรรมทั้งหมดที่ได้ศึกษามา การเทียบเคียงจากแนวทางที่ครูบาอาจารย์เคยปฏิบัติเป็นตัวอย่างมาก่อน เป็นต้น

๒) ลงมือฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง คือ การตอกย้ำฝึกหัดปฏิบัติไปทุกๆ วัน โดยตั้งใจทำอย่างจริงจังและต้องหมั่นสังเกต ปรับปรุงวิธีการให้เหมาะสมกับตัว

                       คุณลักษณะของพระภิกษุผู้เป็นอัตถัญญจึงประกอบด้วย ๒ ประการ คือ
๑) มีความเข้าใจนัยยะ หรือความหมายที่แท้จริงในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒) สามารถนำคำสอนนั้นมาฝึกปฏิบัติตนเอง จนเกิดผลกลายเป็นความบริสุทธิ์ สะอาด ทางกาย วาจา ใจ ยิ่งขึ้นไป

๓. อัตตัญญ คือความรู้จักตน

                        หมายถึง รู้จักว่าตนเองมีคุณธรรมหรือความถูกต้องดีงามที่มีอยู่ในกาย วาจาและใจมากน้อยเพียงใด

                        เหตุที่ต้องรู้ก็เพื่อจะได้เร่งพัฒนาปรับปรุง แก้ไข เพิ่มพูนคุณธรรม ให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างรวดเร็ว อัตตัญญู หรืออาจเรียกว่า การประเมินคุณธรรม จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ คือ อย่างน้อยจะทำให้รู้ว่า คุณธรรมของเราขณะนี้ ห่างไกลจากมาตรฐานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดเอาไว้หรือไม่ ทำอย่างไรจึงจะเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเรื่อยไป หรือหากหยุดนิ่ง หรือลดลง ก็จะได้รีบเร่งหาทางแก้ไขว่าสาเหตุคืออะไร มีอะไรเป็นอุปสรรค เช่น เป็นเพราะมีความเพียรไม่สม่ำเสมอใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็เพียรให้มากกว่าเดิมหรือเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมไม่ดีก็ต้องแก้ไขที่สิ่งแวดล้อม สุขภาพไม่ดีก็แก้ไขที่สุขภาพ ความเข้าใจของเราผิดพลาดก็แก้ไขที่ความเข้าใจ เป็นต้น

                         พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงให้เครื่องมือในการประเมินคุณธรรมภายในไว้ โดยอาศัยหลักธรรม ๖ ประการ ที่ทรงตรัสไว้ใน อัตตัญญู เป็นตัววัดอันได้แก่ ศรัทธา, ศีล, สุตะ, จาคะ, ปัญญา และ ปฏิภาณ

                         การที่พระภิกษุจะฝึกตัวเองให้เป็นอัตตัญญได้ ต้องประกอบด้วยคุณลักษณะ ๒ ประการ คือ
๑) ต้องเห็นคุณค่าของการประเมินตนเอง และเข้าใจการนำธรรมทั้ง ๖ ประการ คือ ศรัทธาศีล สุตะ จาคะ ปัญญา และ ปฏิภาณ มาใช้สำหรับประเมินคุณธรรม
๒) รู้วิธีการใช้ธรรมทั้ง ๖ ประการ มาประเมินคุณธรรมของตนเอง

๔. มัตตัญญู แปลว่า รู้ประมาณ
                        ในที่นี้ หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักพอดี พอควร และพอประมาณในการรับปัจจัย ๔ และ สิ่งที่เนื่องด้วยปัจจัย ๔

                        นอกเหนือจากประโยชน์ของปัจจัย ๔ ที่เป็นความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตแล้ว ยังมีความสำคัญต่อการสร้างนิสัยที่ดีหรือไม่ดีให้กับตนเอง เพราะนิสัยเกิดจากการย้ำคิด พูด และย้ำทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งบ่อยๆ นานๆ และปัจจัยสี่ก็จัดเป็นสิ่งนั้นด้วย

                        ดังนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พระภิกษุรู้จักบริหารปัจจัย ๔ โดยเฉพาะ ตั้งแต่ “การรับ” เพราะเป็นเสมือนประตูหรือจุดตั้งต้นที่ปัจจัย ๔ จะเข้ามามีผลกระทบต่อวิถีชีวิต นิสัย รวมถึงคุณธรรมของพระภิกษุรูปนั้น

                        การที่พระภิกษุผู้จะเป็นมัตตัญญูได้ ต้องประกอบด้วยอุณลักษณะ ๒ ประการ คือ
๑) รู้จักบริหารควบคุมปัจจัย ๔ โดยต้องรู้จักวิธี “การรับ” ที่ถูกต้อง
๒) สามารถนำปัจจัย ๔ มาใช้เป็นอุปกรณ์ สำหรับฝึกฝนอบรมตนเองให้มีคุณธรรมก้าวหน้าได้

๕. กาลัญญู แปลว่า รู้จักกาล
                         ในที่นี้ หมายถึง การเป็นผู้รู้จักเวลาอันสมควรในการทำกิจ ๔ ประการ คือ การเรียน การสอบถาม การประกอบความเพียร และการหลีกออกเร้น

                          เพราะเวลาที่ผ่านไปล้วนนำเอาความแข็งแรงของร่างกาย นำเอาโอกาสดีๆ ของชีวิตไป แต่กลับนำเอาความชราและความตายมาให้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนพระภิกษุไม่ให้ประมาทในเวลา โดยเฉพาะสอนให้บริหารเวลาไปในเรื่องสำคัญกับการฝึกฝนตนเองไว้ ๔ กาล ดังกล่าวข้างต้น

                         เราอาจสรุปได้ว่า “การเรียน” และ “การสอบถาม” คือ การศึกษาพระพุทธศาสนาในด้าน “ปริยัติ” ในขณะเดียวกัน “การประกอบความเพียร” และ “การหลีกออกเร้น” คือการศึกษาในด้าน “ปฏิบัติ” นั่นเอง ซึ่งถ้าพระภิกษุได้ตอกย้ำหมั่นฝึกฝนตนเองทั้งด้าน “ปริยัติ” และ “ปฏิบัติ” อย่างเอาจริงเอาจัง สุดท้ายย่อมได้รับ “ปฏิเวธ" หรือผลจากการกระทำนั้น เป็นคุณธรรมความดีที่เกิดขึ้น กระทั่งไปสู่หนทางการหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งมวล

                         การที่พระภิกษุผู้จะเป็นกาลัญญู ได้จึงต้องประกอบด้วยอุณลักษณะ ๒ ประการ คือ
๑) เห็นคุณค่าของเวลา สามารถบริหารเวลาที่มีให้เกิดประโยชน์กับตนเองได้สูงสุด
๒) สามารถจัดสรรเวลาตามลำดับความสำคัญ โดยต้องแบ่งเพื่อทำงานสำคัญที่สุดของชีวิต ก่อน ๔ ประการคือ เรียน, สอบถาม, นั่งสมาธิทำความเพียร และหลีกออกเร้นเพื่อปฏิบัติธรรมให้ต่อเนื่อง

                        เมื่อพระภิกษุได้ศึกษาธรรมะจนรู้ทั่วถึงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดความเข้าใจในธรรมะอย่างลึกซึ้ง แล้วนำมาฝึกฝนอบรมตนเองจนเกิดเป็นคุณธรรม และสามารถประเมินความก้าวหน้าของการปฏิบัติและคุณธรรมในตนเอง ได้รู้จักประมาณในการรับปัจจัย ๔ มาใช้ในการฝึกฝนอบรมตนเอง รู้จักบริหารเวลาในแต่ละวัน เพื่อทำกิจที่สำคัญที่สุด ๔ ประการ ก็ย่อมเรียกพระภิกษุนั้นได้ว่าเป็น ธัมมัญญู
อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู และกาลัญญู และเมื่อฝึกทั้ง ๕ ขั้นตอนนั้นได้ ยังกล่าวได้อีกว่าท่านสามารถเป็นกัลยาณมิตรให้กับตนเองได้อย่างสมบูรณ์

                        นอกจากนี้ยังทรงสอนในขั้นตอนต่อไป เพื่อให้พระภิกษุได้นำสิ่งที่ตนเองฝึกได้ ไปแนะนำสั่งสอนให้ชาวโลกได้รับประโยชน์ด้วย เรียกว่า สามารถเป็น กัลยาณมิตรให้กับผู้อื่นได้ จึงต้องฝึกในขั้นตอนต่อไปดังนี้

๖. ปริสัญญู แปลว่า รู้จักบริษัท รู้จักสังคมของคน เพื่อจะได้ประพฤติปฏิบัติ กาย วาจา หรือปรับตัวให้เหมาะสมกับบริษัทนั้น หรือสังคมนั้น โดยไม่เสียธรรมะ2

                       ในที่นี้หมายถึง การเข้าหาคนเป็น คือ ความเป็นผู้รู้จักกลุ่มบุคคลทั้ง ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์, คฤหบดีและสมณะ แล้วสามารถเข้าหาและวางตัวในอิริยาบถต่างๆ กับกลุ่มบุคคลนั้นๆได้อย่างเหมาะสม

                       เพราะแต่ละกลุ่ม ล้วนมีผลต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากนั่นเอง บุคคลใน ๔ กลุ่มดังกล่าว จึงเปรียบเหมือนดาบ ๒ คม คือ ถ้าเห็นดีด้วยก็จะเป็นผลดีกับพระพุทธศาสนา แต่ถ้าไม่เห็นดีด้วยก็อาจขัดขวางให้การเผยแผ่พระศาสนาทำได้ช้าลง

                       การเป็นปริสัญญู คือ การเป็นผู้รู้จักเข้าหาและวางตัวกับบุคคลทั้ง ๔ กลุ่มได้อย่างถูกต้องเหมาะสมว่า แต่ละกลุ่มควรเข้าไปหาอย่างไร ยืนอย่างไร ทำอย่างไร นั่งอย่างไร พูดอย่างไร นิ่งอย่างไร ตามจริต อัธยาศัย ขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละกลุ่ม ซึ่งการรู้จักเข้าหาและการวางตัวที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่พระภิกษุผู้ไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรต้องใส่ใจ เพราะหากวางตัวได้ดีก็จะทำให้เกิดการยอมรับ เลื่อมใส ศรัทธา จากกลุ่มบุคคลนั้นๆ อันจะมีผลต่อการทำหน้าที่กัลยาณมิตร หรือการเทศน์สอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนาก้าวหน้าต่อไป

                        การที่พระภิกษุจะฝึกตนเองจนเป็นปริสัญญูได้ ต้องประกอบด้วยคุณลักษณะ ๒ ประการคือ
๑) รู้และเข้าใจธรรมเนียมปฏิบัติของกลุ่มบุคคลสำคัญในสังคม ๔ กลุ่ม คือ กษัตริย์ (นักปกครอง), พราหมณ์ (นักวิชาการ), คฤหบดี (นักธุรกิจและอาชีพอื่นที่เลี้ยงดูตนเองได้) และนักบวช

๒) สามารถวางตัวได้ถูกต้องเหมาะสม ทั้งการเข้าหา การยืน การกระทำ การนั่ง การพูด การนิ่ง


๗.ปุคคลปโรปรัญญ รู้จักแยกแยะบุคคล

                         ในที่นี้หมายถึง ความสามารถในการดูคนเป็น เพื่อที่จะแสดงธรรมได้เหมาะสมกับคนๆนั้น อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำหน้าที่กัลยาณมิตรแก่ผู้อื่น ทำให้คนฟังมีความรู้ความเข้าใจจนมีกำลังใจ อยากจะปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดี เมื่อคนเหล่านั้นเข้าใจธรรมะปฏิบัติตาม จนบังเกิดผลขึ้นกับตนเองมากเพียงใด ย่อมช่วยให้การขยายงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ขยายตัวออกไปได้กว้างจนเป็นปึกแผ่นมั่นคงได้มากเพียงนั้นไปด้วย

                         พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้วิธีการแยกแยะคนไปตามพื้นฐานความรู้และสภาพใจของคนฟังไว้ ๗ คู่รวม ๑๔ ประเภทด้วยกัน ตั้งแต่ผู้ที่มีพื้นฐานความรู้น้อยไปถึงมาก ตามลำดับ

                         การที่พระภิกษุจะฝึกตนเองจนเป็นปุคคลปโรปรัญญได้ ต้องประกอบด้วยคุณลักษณะ ๒ ประการ คือ

๑) การแยกแยะคนเป็น ตามลักษณะคนทั้ง ๑๔ ประเภทได้

๒) สามารถนำธรรมะที่ตนเองได้ศึกษา ไปสั่งสอนแนะนำได้อย่างเหมาะสมตามลักษณะของคนนั้นๆ


ความสัมพันธ์ของธรรมทั้ง ๗ ประการ ในธัมมัญญูสูตร

                        จากการศึกษารายละเอียดในธัมมัญญูสูตรทั้ง ๗ ประการ ย่อมทำให้มองเห็นการฝึกฝน การพัฒนาตัวของพระภิกษุมาตามลำดับ ตั้งแต่การเป็นกัลยาณมิตรให้กับตัวเอง จนถึงการเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ผู้อื่นได้ตามลำดับยิ่งๆ ขึ้นไป พอจะสรุปในส่วนของพระภิกษุและฆราวาสได้ดังนี้

การเป็นกัลยาณมิตรให้ตนเอง

๑. ธัมมัญญู
                              ในการฝึกฝนพัฒนาตนเองนั้น เริ่มตั้งแต่การรู้จักเรียนรู้ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างทั่วถึงทั้งหมดในพระไตรปิฎก จนกระทั่งสามารถสรุปหรือมองเห็นภาพรวมสำคัญที่ปรากฏในพระไตรปิฎกได้ เช่น เห็นภาพการบากบั่น สร้างความดี บำเพ็ญบารมี มาอย่างตลอดต่อเนื่องของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น กระทั่งเกิดเป็นความศรัทธา เชื่อมั่นในพระปัญญาตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีกำลังใจที่จะเดินตามแบบอย่างอันดีงามที่พระพุทธองค์เทศนาสั่งสอนไว้ เมื่อพระภิกษุศึกษาได้อย่างนี้จึงเรียกว่าเป็น ธัมมัญญ

                              สำหรับฆราวาสนั้น เนื่องจากเวลาและการดำเนินชีวิตจะหมดไปกับภารกิจหน้าที่การงานที่รับผิดชอบ รวมทั้งการดูแลครอบครัว หมู่ญาติ จึงมีเวลาที่จะศึกษาธรรมะให้ทั่วถึงอย่างที่พระภิกษุทำได้ยาก การที่จะเป็นธัมมัญญรู้ทั่วถึงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้น เบื้องต้นจึงอยู่ที่การได้เข้าวัดเพื่อได้สนทนา ได้ฟังธรรมะจากพระภิกษุเป็นประจำ จนสามารถจดจำธรรมะนั้นมาพินิจพิจารณา เห็นถึงผลดีในสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่พระภิกษุแนะนำให้ทำ เห็นถึงข้อเสียในสิ่งที่เป็นโทษที่พระภิกษุห้ามไม่ให้ทำ จนเกิดกำลังใจอยากที่จะปฏิบัติตามอย่างไปด้วย และหากหาโอกาสมาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ ถือเป็นเบื้องสูงต่อไป เช่น ฝ่ายชายลางานมาบวชในช่วงเข้าพรรษาเพื่อให้โอกาสตัวเองได้เข้ามาศึกษาความรู้ในพระพุทธศาสนาในช่วงสั้นๆ ได้อย่างเต็มที่ ฝ่ายหญิงก็มาช่วยงานในวัดเป็นครั้งเป็นคราว ตามที่ทางวัด
สะดวกรองรับ เป็นต้น

๒. อัตถัญญู
                             พระภิกษุเมื่อได้ศึกษาความรู้ธรรมะอย่างทั่วถึง ขั้นตอนต่อไป จึงเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจในธรรมะ นำความรู้ที่มีอยู่นั้นมาสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวันให้ได้ นั่นหมายถึงจะต้องเข้าใจความหมายและนัยยะต่างๆ จนนำมาปฏิบัติให้ได้ผล ซึ่งการที่พระภิกษุจะสามารถทำได้เช่นนี้ต้องมีครูหรือกัลยาณมิตร ผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ ที่จะคอยพร่ำสอน บอก แนะนำ แก้ไขความเข้าใจที่ไม่สมบูรณ์ในการปฏิบัตินั้นให้สมบูรณ์ อย่างเช่น พระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ภายในวัด เป็นต้น เมื่อทำได้อย่างนี้จึงจะเรียกได้ว่าเป็น อัตถัญญ

                             สำหรับฆราวาส การจะเป็นอัตถัญญได้อย่างพระภิกษุ นอกจากจะขวนขวายในการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่างต่อเนื่องแล้ว การได้ครูดีก็เป็นสิ่งสำคัญ จึงขึ้นอยู่กับการหมั่นเข้าวัดเป็นประจำนั่นเอง โดยเฉพาะวัดที่มีความพร้อมในการแนะนำธรรมะ มีบุคลากรทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่สามารถให้ความรู้กับเรา ซึ่งเท่ากับได้กัลยาณมิตรมาคอยแนะนำพร่ำสอน ให้เราปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามมา

๓. อัตตัญญู
                            ถัดจากนั้น ขั้นตอนที่สำคัญ คือ การประเมินคุณธรรมที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของตน โดยอาศัยธรรม ๖ ประการ คือ ศรัทธา, ศีล, สุตะ, จาคะ ปัญญา และปฏิภาณ เพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าในการปฏิบัติ รวมทั้งตรวจสอบความรู้ ความเข้าใจในธรรมะนั้นๆ ด้วย เพราะเมื่อผลที่ได้จากการประเมินตัวไม่สมบูรณ์ ย่อมเป็นตัวชี้วัดว่าความรู้และความเข้าใจ ตลอดจนการปฏิบัติก็ย่อมไม่สมบูรณ์ตามไปด้วยเมื่อประเมินได้อย่างนั้นจะได้ปรับปรุงตนเองได้ทันกาล

                           สำหรับฆราวาสก็อาศัยธรรมทั้ง ๖ ประการ มาใช้ในการประเมินคุณธรรมของตนเช่นกัน หากแต่ขอบเขตในธรรมที่ใช้ประเมินนั้น จะแตกต่างกันบ้างตามความแตกต่างของวิถีชีวิต เช่น การประเมินเรื่องศีลของพระภิกษุ จะมุ่งเน้นไปในศีลทั้ง ๒๒๗ ข้อ และ ปาริสุทธิศีล ๔3   ในขณะที่ฆราวาสจะมุ่งเน้นในศีล ๕ หรือ ศีล ๘ รวมถึงการประกอบอาชีพอันบริสุทธิ์ เป็นต้น

๔. มัตตัญญู
                          ในวิถีชีวิตประจำวัน ปัจจัยสี่ ล้วนมีความจำเป็นต่อการดำรงชีพให้อยู่ได้อย่างเป็นปกติสุขเพราะเป็นอุปกรณ์สำคัญที่พระภิกษุใช้ฝึกเพื่อสร้างนิสัย ดังนั้น จึงต้องรู้จักควบคุมปัจจัยสี่ที่เข้ามาสู่วิถีชีวิตของตนเองให้ได้ จึงจะเรียกว่าเป็น มัตตัญญู

                           ส่วนฆราวาส การฝึกจะเน้นไปที่ การดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ เหมาะสมกับฐานะของตน โดยต้องพิจารณาตั้งแต่การซื้อหา การนำมาใช้ การดูแลรักษา โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือสิ่งเหล่านี้ต้องไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาฝึกฝนคุณธรรมตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น การไม่เลือกดื่มไวน์ แม้เหตุเพื่อความแข็งแรงของสุขภาพกาย เพราะผิดต่อศีลธรรมอันดีงาม เป็นต้น

๔. กาลัญญู
                          เพราะเวลาเป็นสิ่งมีคุณค่า พระภิกษุจึงต้องฝึกบริหารเวลา เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุด โดยต้องจัดสรรเวลาเพื่อใช้ในงานที่สำคัญของชีวิตทั้ง ๔ ประการ คือ การเรียนพระธรรมวินัย, การสอบถาม, การนั่งสมาธิ และ หลีกออกเร้นจึงจะเรียกว่าเป็น กาลัญญู

                          สำหรับฆราวาส การรู้จักจัดสรรเวลา ย่อมเป็นสิ่งสำคัญไม่ต่างจากพระภิกษุนัก หากแต่ว่าการใช้เวลาของฆราวาสนั้น ส่วนใหญ่มักสูญเสียไปกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ การดูแลเอาใจใส่ในครอบครัวของตน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็สามารถฝึกฝนตัวเองเพื่อเป็นกาลัญญได้เบื้องต้น คือ การจัดสรรเวลาในระหว่างวันเพื่อการทำสมาธิภาวนา เพื่อการศึกษาธรรมะหรืออย่างน้อยๆ ก็ควรมาวัดเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ เพื่อจะได้มีโอกาสได้รับคำแนะนำในธรรมะอื่นๆ รวมถึงเพื่อสั่งสมบุญกุศลให้ยิ่งขึ้นไป นอกจากนี้ การหาเวลามาเพื่อปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมะ ให้มากขึ้น เช่น การลาพักร้อนมาปฏิบัติธรรมต่อเนื่องระยะยาว เช่น ๗ วัน ๑๐ วัน ก็จะได้ชื่อว่าได้ฝึกหัดให้เกิดเป็นกาลัญญขึ้นมาได้

การเป็นกัลยาณมิตรให้ผู้อื่น

                         นอกจากธัมมัญญสูตรจะให้วิธีการฝึกฝนพัฒนาตนเอง แก่ทั้งพระภิกษุและฆราวาสอย่างดีแล้ว ยังให้วิธีการทำหน้าที่กัลยาณมิตรที่ดีให้แก่ชาวโลกอีก ๒ ประการด้วย คือ ปริสัญญ (การรู้จักบริษัท) และบุคคลปโรปรัญญู (การรู้จักบุคคล)

๑.ปริสัญญู
                        ก่อนที่พระภิกษุจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น ต้องรู้จักและเข้าใจธรรมเนียมปฏิบัติของกลุ่มบุคคลสำคัญในสังคมทั้ง ๔ กลุ่ม คือ กลุ่มนักปกครอง, กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มนักธุรกิจและผู้ที่สามารถเลี้ยงตนเองได้ และกลุ่มนักบวช เพราะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หากรู้จักวางตัวเองได้อย่างเหมาะสม ย่อมจะสามารถแนะนำธรรมะ เป็นกัลยาณมิตรให้แก่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้ พระภิกษุจึงต้องศึกษาถึงขนบธรรมเนียมของแต่ละกลุ่มไว้เพื่อจะได้เป็น ปริสัญญ

                       สำหรับฆราวาส การพัฒนาตนเองเพื่อการเป็นปริสัญญ ด้วยการเรียนรู้ธรรมเนียมปฏิบัติของกลุ่มบุคคล ๔ กลุ่มนี้ ก็ทำคล้ายคลึงกับพระภิกษุเช่นกัน แต่ควรมุ่งไปที่ การเป็นกัลยาณมิตร ให้กับกลุ่มที่มีบทบาททางสังคมใกล้เคียงกับตนเองแทน เช่น หากตนมีอาชีพครู เมื่อต้องเข้าไปหากลุ่มบุคคลทั้ง ๔ กลุ่มนี้ ต้องวางตัวให้เหมาะสมในฐานะครูกับบุคคลทั้ง ๔ กลุ่ม รวมทั้งต้องคำนึงไปถึง อายุ ตำแหน่งหน้าที่การงาน และความสัมพันธ์อื่นๆ อีกด้วย หากเราสามารถเรียนรู้ธรรมเนียมและปฏิบัติตนเองได้อย่างเหมาะสมก็ถือว่าเป็น ปริสัญญ ได้เช่นกัน

๒. ปุคคลปโรปรัญญู
                         เมื่อพระภิกษุแสดงธรรม แนะน่าความรู้อันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถแนะนำธรรมะให้ตรงกับสภาวะที่คนฟังเป็นอยู่ จนผู้ฟังเกิดกำลังใจ นำธรรมะที่ตนได้ฟังไปปฏิบัติ จนบังเกิดผลดีขึ้นกับตัวเองได้ ถือว่าประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้แก่ผู้อื่น จึงเรียกพระภิกษุได้ว่าเป็น บุคคลปโรปรัญญ

                         สำหรับฆราวาส ก็สามารถฝึกตัวเองให้เป็นบุคคลปโรปรัญญได้เช่นเดียวกับพระภิกษุ คือสามารถแนะนำธรรมะให้เหมาะแก่คนๆ นั้น ซึ่งอาจแตกต่างกันบ้างในด้านของวิธีการแนะนำ อันเนื่องมาจากความแตกต่างของเพศภาวะ ระหว่างพระภิกษุกับฆราวาส ทำให้รูปแบบที่ใช้ ควรเป็นการแนะนำมากกว่าการสั่งสอนในบุคคลระดับเดียวกันหรือสูงกว่า ส่วนบุคคลผู้มีระดับต่ำกว่าทั้งอายุ วัย การทำงานอย่างเช่น เป็นเด็ก เป็นลูก เป็นลูกน้องในที่ทำงาน เป็นต้น ก็อาจแนะนำสั่งสอนให้ได้ตามความเหมาะสมเป็นต้น

                         การได้ศึกษาวิธีการทั้ง ๒ ขั้นตอนที่กล่าวมานั้น เราก็จะพบว่า “ธัมมัญญสูตร" เป็นพระสูตรที่มีความสำคัญต่อการฝึกฝน อบรมตนเองของพระภิกษุอย่างมากมาย เพราะนอกจากจะทำให้ท่านสามารถพัฒนาระดับคุณธรรมภายใน จากเริ่มต้นไปจนถึงการสิ้นกิเลสอาสวะได้แล้วยังสามารถนำสิ่งที่ฝึกมาได้ไปเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลก ได้อย่างดีอีกด้วย

                         นอกจากนั้น ฆราวาสที่ศึกษาพระสูตรนี้ สามารถอาศัยหลักการสำคัญๆ ไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากันกับวิถีชีวิตของตนเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นทางมาของคุณธรรมแล้วยังได้สั่งสมบุญบารมีและท่าให้มีความรู้ความสามารถ เพียงพอที่จะเป็นกัลยาณมิตรให้กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี จึงควรทำความเข้าใจ ฝึกปฏิบัติจนบังเกิดผลดีแก่ตนเองและผู้อื่นให้ยิ่งขึ้นไป


เชิงอรรถสภา
1แปลว่า องค์ ๙ แห่งคำสอนพระศาสดาหรือธรรมะ ๙ ประเภทที่เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง
2เรียบเรียงจาก พจนานุกรมมคธ-ไทย พันตรีป.หลงสมบุญ สำนักเรียนวัดปากน้ำ, (กรุงเทพฯ : อาทรการพิมพ์, ๒๕๔๐) และธรรมานุกรสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัยหน้าวัดบวรนิเวศวิหารพระนคร๒๕๒๗)
3หมายถึง ศีลเป็นเครื่องทำให้บริสุทธิ์มี ๔ อย่าง คือ
๑. ปาฏิโมกขสังวรศีล - สำรวมในพระปาฏิโมกข์
๒. อินทรียสังวรศีล - สำรวมอินทรีย์ ๖
๓. อาชีวปาริสุทธิศีล - เลี้ยงชีพโดยชอบธรรม
๔. ปัจจัยสันนิสิตศีล - พิจารณาปัจจัยก่อนบริโภค

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020936516920726 Mins