เหตุการณ์สำคัญบางตอนในพระพุทธกิจเกี่ยวกับพระญาติ (ตอนจบ)

วันที่ 18 มิย. พ.ศ.2547

 


..... พระเจ้าสุทโธทนะทรงประชวร

ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน ใกล้กรุงไพศาลี แคว้นวัชชี ทรงทราบข่าวว่า พระเจ้าสุทโธทนะทรงประชวรหนักด้วยพระโรคชรา จึงรีบเสด็จไปเยี่ยม พระอาการเวลานั้นทรุดหนักมาก พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมโปรดว่า

“ ดูก่อน มหาบพิตร ชีวิตของมนุษย์นั้นสั้นนัก ดำรงอยู่ไม่นานเลย ไม่ยั่งยืนอะไรเปรียบเหมือนสายฟ้าแลบ ปรากฏอยู่เพียงไม่นาน ”
พระเจ้าสุทโธทนะทรงเป็นพระอนาคามีอยู่แล้ว สดับพระธรรมเทศนาสั้นเพียงเท่านั้นพอจบก็ทรงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทันที ต่อจากนั้นอีก ๗ วัน จึงปรินิพพาน

พระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์และพระประยูรญาติ จัดถวายพระเพลิงพระศพ

 

พระภิกษุณีองค์แรก

เมื่อพระพุทธบิดาปรินิพพานแล้วไม่นานนัก พระญาติสนิททรงพระนามว่า พระมหานามะ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพระราชาครองกรุงกบิลพัสดุ์ต่อไป พระน้านางปชาบดีโคตมี มีพระประสงค์จะบวช ได้กราบทูลขอพระบรมศาสดาบวชบ้าง พระองค์ตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง

พระนางปชาบดีโคตมีไม่ทรงท้อถอย วันหนึ่งพระนางพร้อมด้วยนางกำนัล ๕๐๐ คน ที่เต็มใจบวชด้วย ต่างพากันปลงผม นุ่งหุ่มผ้าย้อมด้วยน้ำฝาดอย่างเพศนักบวช ไปเข้าเฝ้ากราบทูลขอบวชอีก พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ

พระน้านางทรงขอให้พระอานนท์กราบทูลช่วยเหลือ พระบรมศาสดาทรงปฏิเสธถึง ๓ ครั้งอีก พระอานนท์กราบทูลถึงพระคุณของพระนางปชาบดีโคตมี ที่ทรงเลี้ยงดูมาตั้งแต่พระพุทธมารดาทิวงคต พระบรมศาสดาจึงทรงอนุญาต แต่มีเงื่อนไขให้ปฏิบัติ เรียกว่า ครุธรรม ๘ ถ้ากระทำตามได้จึงให้บวช

ครุธรรม ๘ คือ หลักความประพฤติที่ภิกษุณีต้องปฏิบัติด้วยความเคารพศรัทธาตลอดชีวิตละเมิดไม่ได้ มีดังนี้

  • ภิกษุณีแม้บวชมานานถึง ๑๐๐ ปี ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้เพิ่งบวชเพียงวันเดียว
  • ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้
  • ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถ และเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน
  • ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน โดยรังเกียจ (หมายถึงระแวงสงสัยหรือเห็นพฤติกรรมอะไร ที่น่าเคลือบแคลง)
  • ภิกษุณีที่ต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัต (เปลื้องตนจากความผิด) ในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย ๑๕ วัน
  • ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทา (คือต้องบวช) ในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย โดยต้องเป็นนางสิกขมานาก่อน ๒ ปี คือถือศีล ๖ ข้อ อย่างเคร่งครัด (ผิดข้อใดไม่ได้ ถ้าผิดต้องสมาทานนับเวลาใหม่)
  • ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุ ไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ
  • ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้ แต่ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุไม่ได้

 

พระนางปชาบดีโคตมี ทรงมีพระศรัทธาแรงกล้า ทรงยอมรับปฏิบัติครุธรรมทั้ง ๘ ประการ และได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุณีองค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อจากนั้นพระญาติวงศ์ฝ่ายสตรี เช่น พระนางยโสธรา เจ้าหญิงชนบทกัลยาณี เจ้าหญิงโรหิณี เจ้าหญิงรูปนันทา ฯลฯ ได้พากันออกบวชตามกันมา และได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูง เป็นพระอรหันตเถรีด้วยกันทั้งสิ้น

การที่พระบรมศาสดาทรงปฏิเสธไม่ยอมให้สตรีบวชเป็นภิกษุณีนั้น มีสาเหตุหลายประการ เช่น เป็นเครื่องบั่นทอนให้มหาชนเสื่อมศรัทธาง่าย ทำให้อายุพระศาสนาสั้นลง เช่น พื้นนิสัยของสตรีไม่หนักแน่น เจ้าแง่แสนงอน ขี้อิจฉา มีเรื่องจุกจิก ฯลฯ ทำให้หมู่คณะอยู่ร่วมกันยาก

และเหตุการณ์ได้เป็นไปตามที่ทรงคาดคะเนไว้ ปรากฏว่าในการปกครองภิกษุณีพระบรมศาสดาต้องทรงวางวินัยไว้ถึง ๓๑๑ ข้อ ในขณะที่วินัยของพระภิกษุมีเพียง ๒๒๗ ข้อ แสดงว่าภิกษุณีทำผิดมากกว่าพระภิกษุสงฆ์

อย่างไรก็ดี ในครั้งกระนั้นได้มีพระอรหันตเถรีหลายรูปที่ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นเลิศในด้านต่างๆ เช่น

พระนางปชาบดีโคตมี เป็นเลิศในทางรัตตัญญู (บวชนานรู้เหตุการณ์ก่อนใคร)

พระนางเขมา พระอรหันตเถรีรูปนี้เป็นเลิสทางมีปัญญามาก นับเป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวา เดิมเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร หลงความงามของตนเอง ฟังพระบรมศาสดาตรัสสอนเรื่องราคะ และวิธีกำจัดจบลง บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที แล้วบวชเป็นภิกษุณี

นางอุบลวรรณา พระอรหันตเถรีรูปนี้เป็นเลิศทางแสดงฤทธิ์ เป็นอัครสาวิกาฝ่ายซ้าย เดิมเป็นธิดาของเศรษฐีในพระนครสาวัตถี มีผิวพรรณงามเหมือนดอกนิลุบล (บัวเขียว) มีผู้มาสู่ขอมากจนบิดาหนักใจ ขอให้นางบวช นางเต็มใจอยู่แล้ว จึงบวชเป็นภิกษุณี คราวหนึ่งอยู่เวรจุดประทีปในพระอุโบสถ ได้เพ่งดูเปลวเทียนเป็นนิมิต เจริญฌานด้วยเตโชกสิณ (กสิณไฟ) บรรลุเป็นพระอรหันต์

นางปฏาจารา พระอรหันเถรีรูปนี้เป็นเลิศทางทรงพระวินัย เดิมเป็นธิดาของเศรษฐี หนีตามคนใช้ไปอยู่ด้วยกัน มีลูกสองคน ขณะเดินทางกลับบ้านบิดามารดา สามีและลูกตายกะทันหันทั้งหมด มาตามทางทราบว่าพ่อแม่พี่น้องถูกบ้านพังทับตายหมด ทำให้เสียสติเป็นบ้า ผ้าหลุดลุ่ยไม่สนใจ เดินบ่นเพ้อไปตามที่ต่างๆ จนถึงวัดพระเชตวัน พระบรมศาสดาทรงแผ่เมตตา ตรัสวาจาให้สติ นางพลันหายบ้าน เมื่อฟังธรรมแล้วบรรลุเป็นพระโสดาบัน ได้บวชเป็นภิกษุณี วันหนึ่งตักน้ำล้างเท้า ครั้งแรกน้ำไหลไปหน่อยหนึ่ง ครั้งที่สองไหลไปอีกหน่อย และครั้งที่สามไหลมากกว่าครั้งที่สอง จึงกำหนดเอาน้ำเป็นอารมณ์ เทียบกับความตายของหมู่สัตว์ว่า บางคนตายในปฐมวัย บางคนตายในมัชฌิมวัย บางคนตายในปัจฉิมวัย บรรลุเป็นพระอรหันต์

นางกีสาโคตมี พระอรหันต์เถรีรูปนี้เป็นเลิศทางครองจีวรเศร้าหมอง เดิมเป็นธิดาของคนยากจน แต่เศรษฐีขอไปเป็นลูกสะใภ้ เพราะทรัพย์สมบัติของเศรษฐีกลายเป็นถ่าน มีนางคนเดียวที่เห็นถ่านเป็นกองเงินทอง เศรษฐีจึงรู้ว่านางเป็นคนมีบุญ มอบทรัพย์ให้นางทรัพย์จึงกลับเป็นเงินทองตามเดิม

ต่อมาบุตรชายเพิ่งสอนเดินของนางตาย นางเสียใจไปกราบทูลให้พระบรมศาสดาประทานยาให้ลูกของนางฟื้น พระองค์ให้นางไปขอเมล็ดพันธุ์ผักกาด ในบ้านของคนที่ไม่เคยมีญาติตาย ปรากฏว่านางหาไม่ได้ คนทุกคนทุกบ้านล้วนมีแต่ญาติพี่น้องตายด้วยกันมาแล้วทั้งสิ้น นางจึงได้คิด เมื่อฟังพระธรรมเทศนา บรรลุเป็นพระโสดาบันทันที ได้บวชเป็นภิกษุณี วันหนึ่งนั่งพิจารณาเปลวประทีปในพระอุโบสถ เห็นบางดวงกำลังลุกโพลง ไม่นานก็ค่อยหรี่ และในที่สุดก็ดับ นางถือเอาอาการของเปลวไฟ มีเกิดและดับ เป็นอารมณ์บรรลุเป็นพระอรหันต์

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012257854143778 Mins