เสขิยวัตร แปลว่า ธรรมเนียมหรือข้อปฏิบัติที่ควรศึกษา 

วันที่ 12 มีค. พ.ศ.2566

เสขิยวัตร แปลว่า ธรรมเนียมหรือข้อปฏิบัติที่ควรศึกษา 

เสขิยวัตร ๗๕

      เสขิยวัตร แปลว่า ธรรมเนียมหรือข้อปฏิบัติที่ควรศึกษา 

      คำว่า เสขิยะ เป็นชื่อของสิกขาบทที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติเป็นแบบอย่าง เกี่ยวกับมารยาทที่ภิกษุพึงศึกษาและพึงปฏิบัติ จัดเป็นพุทธบัญญัติที่เน้นเรื่องกิริยามารยาททางกายและวาจาที่ดูงดงามเหมาะสมสำหรับภิกษุคล้ายเป็นหลักปฏิบัติเรื่อง “สมบัติผู้ดี” ของทางโลก
      คำว่าเสขิยะนี้ มิได้เป็นชื่อของอาบัติ เป็นเพียงชื่อ แต่เมื่อล่วงละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตาม ท่านปรับอาบัติทุกกฏในทุกสิกขาบท
      เสขิยวัตร มี ๗๕ สิกขาบท แบ่งเป็น ๔ หมวดตามสาระสำคัญ คือ
      (๑) หมวดสารูป ว่าด้วยธรรมเนียมความประพฤติในเวลาเข้าไปในบ้านมี ๒๖ สิกขาบท
      (๒) หมวดโภชนปฏิสังยุต ว่าด้วยธรรมเนียมรับบิณฑบาตและฉันอาหาร มี ๓๐ สิกขาบท
      (๓) หมวดธัมมเทสนาปฏิสังยุต ว่าด้วยการแสดงธรรม มี ๑๖ สิกขาบท
      (๔) หมวดปกิณณกะ ว่าด้วยธรรมเนียมในการขับถ่าย มี ๓ สิกขาบท

หมวดสารูป ๒๖ สิกขาบท

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ และ อธิบายความโดยย่อ

คู่ที่ ๑
      ๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักนุ่งเป็นปริมณฑล
      ๒. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักห่มเป็นปริมณฑล

      คำว่า นุ่งเป็นปริมณฑล คือ นุ่งผ้าปิดสะดือ ปิดเข่า ไม่หย่อนยานเลื้อยหน้าเลี้อยหลัง ให้ชายผ้าอยู่ระหว่างเข่ากับตาตุ่ม ท่านว่า ให้ผ้านุ่งห้อยลงใต้เข่าไปประมาณ ๘ นิ้ว นี่เรียกว่านุ่งเป็นปริมณฑล ถ้าภิกษุปราศจากความเอื้อเฟื้อพระวินัย นุ่งผ้าเลื้อยหน้าเลื้อยหลัง ชื่อว่านุ่งไม่เป็นปริมณฑลเป็นอาบัติทุกกฏ
      คำว่า ห่มเป็นปริมณฑล คือ ห่มผ้าทำมุมทั้งสองให้เสมอกัน ไม่ห่มเลื้อยหน้าเลื้อยหลังให้ชายผ้าห่มปิดชายผ้านุ่งพอดีนี่เรียกว่าห่มเป็นปริมณฑล
      ในอรรถกถาท่านกล่าวไว้ว่า บรรดาจีวร (ผ้านุ่ง)ชั้นเดียวและสองชั้นนั้น จีวรชั้นเดียวแม้ที่ภิกษุนุ่งแล้วอย่างนี้ย่อมไม่ตั้งอยู่ในที่ได้แต่จีวรสองชั้นจึงจะตั้งอยู่ได้
      ภิกษุผู้ไม่แกล้งไม่จงใจ มีความตั้งใจว่าจะนุ่งให้เป็นปริมณฑล แต่นุ่งผิดไป ไม่เป็นปริมณฑล ไม่เป็นอาบัติ หรือภิกษุผู้มีแข้งลีบ มีปั้นเนื้อปลีแข้งใหญ่ก็ดี จะนุ่งให้เลื้อยลงจากหัวเข่าเกิน ๘ นิ้ว เพื่อต้องการให้เหมาะสม ก็ควร
      เรื่องการนุ่งนี้มิใช่มีโทษตามสิกขาบทนี้เท่านั้น หากยังมีการนุ่งอย่างอื่นที่มีโทษ อย่างเช่นที่ตรัสไว้ในขันธกะว่า

      “ก็โดยสมัยนั้นแล พวกภิกษุฉัพพัคคีย์นุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์ นุ่งผ้ามีชายดุจงวงช้าง นุ่งผ้าดุจหางปลา นุ่งผ้าไว้ ๔ มุมแฉก นุ่งผ้าดุจรั้วตาล นุ่งผ้ามีกลีบตั้งร้อย” ดังนี้
      ในประเทศไทย มีธรรมเนียมการห่มผ้าหลายแบบ เช่น ห่มคลุม ห่มดอง ห่มแหวก และการม้วนลูกบวบก็มีหลายแบบ แล้วแต่ธรรมเนียมของแต่ละวัดแต่ละถิ่น พึงศึกษาเลียนแบบให้เหมือนกันในกลุ่มเดียวกัน ย่อมเหมาะสมและงดงาม

คู่ที่ ๒
      ๓. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักปกปิดกายให้ดีเดินไปในละแวกบ้าน
      ๔. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักปกปิดกายให้ดีนั่งในละแวกบ้าน 

สิกขาบทคู่นี้มุ่งให้ภิกษุสำรวมระวังในการเดินและในการนั่งในบ้านพึงนุ่งห่มให้เรียบร้อย ปกปิดอวัยวะที่ควรปกปิด มีให้เดินหรือนั่งจีวรหลุดลุ่ยมิให้เวิกผ้าห่มขี้นมาพาดไหล่หรือพาดศีรษะในขณะเดินผ่านหมู่บ้าน มิให้ห่มลดไหล่เวลาอยู่ในบ้านเหมือนอยู่ที่วัด เป็นต้น เป็นการรักษาศรัทธาของชาวบ้านและเป็นการฝึกนิสัยรักความเป็นระเบียบ ไม่รุ่มร่ามตามสบาย

คู่ที่ ๓
      ๕. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักสำรวมด้วยดีเดินไปในละแวกบ้าน
      ๖. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักสำรวมด้วยดีนั่งในละแวกบ้าน

      สิกขาบทคู่นี้มุ่งให้ภิกษุมีความสำรวมระวัง ไม่คะนองมือคะนองเท้าไม่คะนองปากคำ ในขณะเดินผ่านหมู่บ้านหรือขณะนั่งอยู่ในบ้าน ไม่ว่าจะเดินหรือนั่งรูปเดียวยิ่งไปเป็นหมู่คณะยิ่งต้องสำรวมระวังมากยิ่งขึ้น แม้จะเดินทางในที่เปลี่ยวไม่มีผู้คนเห็น ก็สำรวมระวังเสมอ นับเป็นกิริยาที่งดงามติดตัว

คู่ที่ ๔
      ๗. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักทอดสายตาลง เดินไปในละแวกบ้าน
      ๘. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักทอดสายตาลง นั่งในละแวกบ้าน 

      สิกขาบทคู่นี้มุ่งให้ภิกษุไม่แสดงอาการล่อกแล่ก มองซ้ายมองขวาเดินหรือนั่งแหงนหน้า เดินหรือนั่งก้มหน้า แต่ให้มองชั่วแอก คือทอดสายตาลงตรงจุดจากตัวประมาณ ๔ ศอก ไม่เดินมองโน่นมองนี่ซ้ายขวา หรือมองบ้านเรือน มองสิ่งรอบข้างไปพลาง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย มิให้เดินตกหลุมหรือสะดุดสิ่งเกะกะ และเพื่อรักษากิริยาอาการให้เป็นปกติไม่เสียกิริยาอันนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาและความดูหมิ่นว่าไม่สำรวม

คู่ที่ ๕ 
      ๙. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เดินเวิกผ้าในละแวกบ้าน
      ๑๐. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งเวิกผ้าในละแวกบ้าน

       สิกขาบทคู่นี้มุ่งให้ภิกษุสำรวมระวังในการเดินในการนั่ง ไม่ถกจีวรขึ้นพาดไหล่ซึ่งทำให้เห็นสีข้างได้ชัดเจน ต่อหน้าชาวบ้านที่พูดคุยหรือทำพิธีอยู่


คู่ที่ ๖
      ๑๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เดินหัวเราะเสียงดังในละแวกบ้าน
      ๑๒. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งหัวเราะเสียงดังในละแวกบ้าน

      สิกขาบทคู่นี้มุ่งให้ภิกษุสำรวมระวังในการแสดงกิริยาน่าขัน เมื่อพูดคุยก็ไม่พูดคุยเพลิดเพลินสนุกสนานจนชอบใจหัวเราะเสียงดังขึ้นมาในขณะเดินตามถนน หรือขณะนั่งคุยกับชาวบ้านอยู่ในบ้าน แม้ในวัดก็ควรจะสำรวมระวังไม่แสดงอาการอันเสียกิริยาเช่นนั้นออกมา แต่การยิ้มแย้ม ไม่นับเข้าในสิกขาบทนี้

คู่ที่ ๗
      ๑๓. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีเสียงเบาเดินไปในละแวกบ้าน
      ๑๔. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีเสียงเบานั่งในละแวกบ้าน

       สิกขาบทคู่นี้มุ่งให้ภิกษุส ำรวมระวังในการพูดคุย ไม่คุยเสียงดังจนเกินไปเหมือนคนหูตึง หรือพูดตะโกนโหวกเหวกเหมือนเกิดเรื่องร้ายแรง ให้พูดคุยได้ด้วยเสียงเบาๆ พอได้ยินตามปกติ

คู่ที่ ๘
      ๑๕. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เดินโยกกายไปในละแวกบ้าน
      ๑๖. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งโยกกายในละแวกบ้าน

      สิกขาบทคู่นี้มุ่งให้ภิกษุสำรวมระวัง ประคองกายให้ตรงในขณะเดินและนั่งในละแวกบ้าน โดยเดินตัวตรง นั่งตัวตรง มีอิริยาบถคงที่ ดูนิ่ง องอาจและผึ่งผาย ไม่เดินไม่นั่งโยกไปโยกมา เหมือนนักเลงเดินตามถนนเพื่ออวดศักดา

คู่ที่ ๙
      ๑๗. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เดินแกว่งแขนไปในละแวกบ้าน
      ๑๘. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งแกว่งแขนในละแวกบ้าน

      สิกขาบทคู่นี้มุ่งให้ภิกษุสำรวมระวัง ให้เดินประคองแขนไว้ให้นั่งไม่กระดิกแขน ไม่เดินหรือนั่งไกวแขนไปมาเหมือนออกกำลัง หรือออกลีลาแบบปล่อยตามสบาย อันมิใช่ท่าเดินท่านั่งปกติธรรมดา

คู่ที่ ๑๐
      ๑๙. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เดินโคลงศีรษะไปในละแวกบ้าน
      ๒๐. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งโคลงศีรษะในละแวกบ้าน

      สิกขาบทคู่นี้มุ่งให้ภิกษุสำรวมระวัง เดินหรือนั่งประคองศีรษะให้ตรงมีท่าทางองอาจผึ่งผาย เป็นสง่า ไม่เดินหรือนั่งโคลงศีรษะไปมา ไม่เดินหรือนั่งคอตก ไม่เดินหรือนั่งคอพับคออ่อน เหมือนคนไม่มีก ำลังแม้จะประคองศีรษะให้ตรงได้

คู่ที่ ๑๑
      ๒๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เดินเท้าแขนไปในละแวกบ้าน
       ๒๒. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งเท้าแขนในละแวกบ้าน

      สิกขาบทคู่นี้มุ่งให้ภิกษุสำรวมระวัง วางแขนให้ตรงตามปกติในขณะเดินในขณะนั่ง ไม่เดินเท้าสะเอวหรือนั่งเท้าสะเอวด้วยแขนข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง

คู่ที่ ๑๒
       ๒๓. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เดินคลุมศีรษะไปในละแวกบ้าน
       ๒๔. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งคลุมศีรษะในละแวกบ้าน

สิกขาบทคู่นี้มุ่งให้ภิกษุสำรวมระวัง ในการเดินในหมู่บ้านและนั่งอยู่ในบ้าน ให้นุ่งห่มให้เรียบร้อยไม่เดินคลุมโปงไปตามถนน ไม่นั่งคลุมโปงในบ้านแม้จะถูกแดดถูกฝน ก็ไม่ควรจะลืมตัว ทำกิริยาที่เสียธรรมเนียมเสียระเบียบปฏิบัติของภิกษุไป

คู่ที่ ๑๓
       ๒๕. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เดินกระหย่งเท้าไปในละแวกบ้าน
       ๒๖. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งรัดเข่าในละแวกบ้าน

     สิกขาบทคู่นี้มุ่งให้ภิกษุสำรวมระวัง ไม่เดินกระหย่งเท้าเหมือนคนเท้าเจ็บหรือเป็นโรค ทำให้เหยียบพื้นไม่เต็มเท้า และขณะนั่งก็นั่งอย่างสง่าตัวตรง ไม่นั่งรัดเข่าเหมือนคนมีทุกข์หรือมีความหนาวรุมเร้า เป็นกิริยาที่ไม่งาม

สรุปหมวดสารูป
       สิกขาบท ๒๖ สิกขาบทนี้ท่านมิได้ปรับเป็นอาบัติไว้โดยตรงในข้อบัญญัติเป็นแต่ให้ภิกษุทำความศึกษา ให้เรียนรู้ไว้แต่ในคัมภีร์วิภังค์ที่อธิบาย ความต่อมาแสดงไว้ว่าเมื่อล่วงละเมิดเป็นอาบัติทุกกฏ เพราะไม่เอื้อเฟื้อปฏิบัติ และไม่เอื้อเฟื้อที่จะศึกษาทำความเข้าใจ

หมวดโภชนปฏิสังยุต ๓๐ สิกขาบท
      คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ และ อธิบายความโดยย่อ
      สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตโดยเคารพ
      คำว่า เคารพ หมายถึงมีความเอื้อเฟื้อในผู้ตักบาตรหรือถวายอาหารรับด้วยความเต็มใจ ไม่แสดงรังเกียจหรือดูหมิ่น
      สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักแลดูในบาตรรับบิณฑบาต

      อธิบายว่า ในขณะที่รับบิณฑบาตให้มองดูแต่ในบาตรและของที่กำลังจะตกไปในบาตร ไม่ให้มองหน้าคนใส่บาตร และไม่ให้เหลียวมองของที่วางอยู่ข้างๆ หรือมองไปที่อื่น
      สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตมีแกงพอสมควรแก่ข้าวสุก
      อธิบายว่า ในการรับบิณฑบาต พึงรู้จักประมาณในการรับ โดยรับแกงหรือกับข้าวที่พอดีกับข้าวสุก ท่านว่ากับข้าวปริมาณหนึ่งในสี่ส่วนของข้าวสุกถือว่าพอสมควรแก่ข้าวสุก ไม่พึงรับเฉพาะแกงอย่างเดียวมากไป หรือไม่ยอมรับบิณฑบาตเฉพาะที่มีแต่ข้าวเปล่า หรือที่มีกับข้าวน้อย
      สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตแต่พอเสมอขอบปากบาตร
      อธิบายว่า พึงรู้ประมาณในการรับบิณฑบาต ไม่แสดงความโลภเห็นแก่ได้ออกมา พึงรับบิณฑบาตแต่พอเหมาะแก่ปากท้อง รับพอเสมอขอบปากบาตรสามารถปิดฝาบาตรได้พอดีไม่พึงรับให้ล้นปากบาตรออกมาจนปิดบาตรไม่ลง หรือเมื่อรับล้นบาตร อาหารอาจหกใหลออกมาเปรอะเปื้อน
      ในกรณีมีพิธีตักบาตร เมื่อล้นปากบาตร พึงถ่ายออกไปโดยทันทีในกรณีเช่นนี้รับมากด้วยเมตตาธรรม ไม่น่าตำหนิในกรณีที่เขาวางพวกดอกไม้ธูปเทียน พวงผลไม้หรือวางถาดวางใบไม้ไว้บนข้าวสวยที่เต็มบาตรอยู่แล้วท่านว่าไม่ชื่อว่ารับล้นบาตร ควรอยู่ เพราะไม่เลอะใหลและเป็นส่วนแยกจากบาตร
     ในอรรถกถาท่านแสดงว่า โภชนะที่ทำให้เป็นยอดดุจสถูป (รับล้นบาตรแล้วพูนขึ้น) ไม่ควรแม้แก่ภิกษุอาพาธ จะรับประเคนพร่ำเพรื่อในภาชนะทั่วไปก็ไม่ควร แต่โภชนะที่รับประเคนไว้แล้ว จะรับประเคนใหม่ให้เรียบร้อยก่อนแล้วจึงฉัน ควรอยู่ 
      สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตโดยเคารพ
      อธิบายว่า ในการขบฉันอาหารนั้นพึงฉันอย่างสำรวม ระมัดระวังมิให้มูมมาม มิให้แสดงออกเหมือนไม่อยากจะฉัน แสดงว่าอาหารไม่อร่อย ไม่ถูกปาก หรือมิให้ฉันด้วยอาการดูหมิ่นว่าเป็นอาหารระดับต่ำ ขาดรสชาติที่ดีไม่มีฝีมือในการปรุง เป็นต้น
      สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักแลดูในบาตรฉันบิณฑบาต
      อธิบายว่า ในขณะฉันอาหาร พึงดูเฉพาะในบาตรหรือในจานข้าวของตัวเอง ไม่ให้มองล่อกแล่กไปฉันไป เป็นอาการไม่สำรวม หากมองดูรูปอื่นที่นั่งข้างๆ เพื่อดูว่าขาดเหลืออะไรจะได้เจือจานส่งให้ย่อมทำได้
      สิกขาบทที่ ๗ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตไปตามลำดับ
      อธิบายว่า ในการฉัน พึงฉันอาหารให้ข้าวมีหน้าเสมอกันไปตามลำดับไม่ฉันเจาะลงไปเป็นช่องเป็นโพรง โดยใช้ช้อนตักหรือใช้มือหยิบข้าวหรือกับในทีเดียวจนแหว่งลงไปเป็นช่องลึก ดูไม่งาม
      สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตมีกับพอสมควรแก่ข้าวสุก
      อธิบายว่า ไม่ฉันแต่กับอย่างเดียว หรือฉันกับมากกว่าข้าวสุก ทำให้กับข้าวไม่เพียงพอแก่ผู้อื่น
      สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันบิณฑบาตขยุ้มแต่ยอดลงไป
      อธิบายว่า ให้ฉันตามธรรมเนียมของภิกษุคือฉันตักข้าวเกลี่ยข้าวให้มีหน้าเสมอลงไปตามลำดับ ไม่ขยุ้มตักหรือหยิบเฉพาะยอดข้าวสุก
      สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่กลบแกงก็ดี กับข้าวก็ดี ด้วยข้าวสุก เพราะอยากจะได้มาก 
      สิกขาบทที่ ๑๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรามิใช่ผู้อาพาธ จักไม่ขอแกงก็ดี ข้าวสุกก็ดี เพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน
      อธิบายว่า ในกรณีเช่นนี้หากขอต่อญาติต่อคนปวารณา ได้อยู่ หรือเมื่อเป็นไข้ก็ให้ขอได้หรือขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอาพาธ ก็ขอได้
      สิกขาบทที่ ๑๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่คิดที่จะตำหนิแลดูบาตรของภิกษุอื่น
      อธิบายว่า ในขณะกำลังฉัน ไม่พึงแลดูบาตรของภิกษุอื่น ด้วยคิดจะตำหนิหรือต่อว่าเมื่อเห็นว่าทำผิดหรือบกพร่องอะไร หรือตั้งใจจะค่อนขอดว่าฉันมูมมาม ไม่สำรวม เป็นต้น
      สิกขาบทที่ ๑๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก
      อธิบายว่า ในอรรถกถาท่านว่าคำข้าวมีประมาณขนาดกลางระหว่างไข่นกยูงกับไข่ไก่ ชื่อว่าคำข้าวไม่ใหญ่นัก
      สิกขาบทที่ ๑๔ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักทำคำข้าวให้กลมกล่อม
      อธิบายว่า พึงทำคำข้าวให้กลมกล่อม ไม่ใหญ่นัก ไม่เล็กนัก ให้พอเหมาะแก่คำ ในการฉัน ห้ามทำคำข้าวให้ยาวอย่างเช่นข้าวเหนียวย่อมทำให้ยาวได้คำข้าวที่ยาวเช่นนี้ท่านห้ามตามเสขิยวัตรข้อนี้
      สิกขาบทที่ ๑๕ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อคำข้าวยังไม่ถึงปาก เราจักไม่อ้าปากคอย
      สิกขาบทที่ ๑๖ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันสอดนิ้วมือทั้งหมดเข้าไปในปาก
      สิกขาบทที่ ๑๗ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า ปากยังมีคำข้าว เราจักไม่พูดคุย

      อธิบายว่า กำลังฉันอาหารอยู่ หากในปากยังมีข้าวหรือกับหรือขนมอยู่ ห้ามพูดออกมา เพราะอาจทำให้อาหารกระเด็นออกจากปากหรือสำลักได้อันเป็นการแสดงความไม่สำรวม และไม่งามสำหรับภิกษุ
      สิกขาบทที่ ๑๘ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันโยนคำข้าว
      อธิบายว่า ในขณะฉัน ไม่พึงโยนคำข้าวเข้าปาก แสดงถึงความรีบร้อนและไม่สำรวม ของเคี้ยวและผลไม้น้อยใหญ่ ท่านไม่ห้ามไว้
      สิกขาบทที่ ๑๙ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันกัดคำข้าว
      อธิบายว่า เมื่อทำคำข้าวด้วยมือหรืออยู่ในช้อนแล้ว พึงส่งเข้าปากให้หมด มิใช่กัดแค่ครึ่งคำแล้วถอนมือถอนช้อน รอจนเคี้ยวที่ฉันไปหมดแล้วจึงยกขึ้นใส่ปากใหม่ เป็นอาการที่ดูไม่เหมาะแต่ในกรณีฉันของเคี้ยว ฉันผลไม้น้อยใหญ่ หรือฉันแกงอ่อม ท่านอนุญาตเป็นอนาปัตติวาร
      สิกขาบทที่ ๒๐ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำกระพุ้งแก้มตุ่ย
      อธิบายว่า การฉันที่พักอาหารไว้ในกระพุ้งแก้ม ทำให้แก้มตุ่ยขึ้นเหมือนลิงกินผลไม้เป็นอาการที่ดูไม่งาม
      สิกขาบทที่ ๒๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันสลัดมือ
      สิกขาบทที่ ๒๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำเมล็ดข้าวตก

      อธิบายว่า พึงด้วยความระมัดระวัง มิให้เมล็ดข้าวตกเรี่ยราด ทำให้เลอะเทอะ ดูไม่งาม และมิให้ถูกตำหนิว่าไม่เห็นคุณค่าของข้าว จึงทำตกหล่นโดยไม่เสียดาย
      สิกขาบทที่ ๒๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันแลบลิ้น
      อธิบายว่า ไม่พึงแลบลิ้นออกมารับอาหาร เช่นฉันอาหารที่เป็นเส้นหรืออาหารอย่างอื่น แสดงถึงความรู้สึกเอร็ดอร่อยกับอาหารนั้น
      สิกขาบทที่ ๒๔ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำเสียงดังจั๊บๆ
      อธิบายว่า ไม่พึงฉันอาหารอ้าปากเคี้ยวจะทำให้เกิดเสียงดังจั๊บๆขึ้นท่านให้ฉันปิดปาก ค่อยๆ เคี้ยวให้อาหารละเอียดแล้วค่อยกลืน อาหารจะไม่กระเด็นออกจากปากและไม่เกิดเสียงดัง
      สิกขาบทที่ ๒๕ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำเสียงดังซูดๆ 
      อธิบายว่า ไม่พึงฉันด้วยการซดน้ำแกงจนเกิดเสียงดังซูดๆ หรือฉันอาหารที่ร้อนเกินไป จนต้องเปิดปากเป่าลมไล่ร้อนดังซูดๆ อันเป็นกิริยาที่ไม่งาม
      สิกขาบทที่ ๒๖ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียมือ
      อธิบายว่า ไม่พึงฉันไปเลียมือไป เพื่อทำความสะอาดมือแล้วไปหยิบอาหารใหม่มาฉันต่อ หรือฉันอิ่มแล้วเลียมือเพื่อให้มือสะอาดโดยไม่ต้องล้างมือเป็นกิริยาที่ขาดคุณสมบัติผู้ดีเพราะเป็นกิริยาของสัตว์ดิรัจฉานทั่วไป ท่านว่า
      “ภิกษุผู้กำลังฉันอยู่ จะเลียแม้เพียงนิ้วมือ ก็ไม่ควร แต่ภิกษุจะเอานิ้วมือทั้งหลายหยิบยาคูแข้น น้ำอ้อยงบ และข้าวปายาสเป็นต้น แล้วสอดนิ้วมือเข้าไปในปาก ควรอยู่” 
      สิกขาบทที่ ๒๗ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันขอดบาตร
      อธิบายว่า ไม่พึงฉันขอดบาตร โดยใช้ช้อนขอดอาหารที่มีติดอยู่ในบาตรมาฉัน ทำให้เกิดเสียงดัง แต่หากมีข้าวสุกในบาตรเหลือน้อย จะใช้ช้อนหรือมือค่อยๆ กวาดมารวมกันเป็นคำแล้วยกขึ้นฉัน ย่อมทำได้ไม่เป็นอาบัติตามอนาปัตติวาร
      สิกขาบทที่ ๒๘ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียริมฝีปาก
      สิกขาบทที่ ๒๙ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ใช้มือที่เปื้อนอาหารรับโอน้ำ

      อธิบายว่า ไม่พึงใช้มือที่เปื้อนอาหารอยู่ไปรับโอน้ำ ขันน้ำ หรือภาชนะน้ำ และสิ่งอื่นใด เป็นการป้องกันมิให้โอน้ำเป็นต้นสกปรกเลอะเทอะ เป็นการรักษาความสะอาด และรักษามารยาทที่สมควรไปโดยอ้อม
      สิกขาบทที่ ๓๐ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เทน้ำล้างบาตรซึ่งมีเมล็ดข้าวลงในละแวกบ้าน
      อธิบายว่า เมื่อล้างบาตรย่อมมีเมล็ดข้าวติดอยู่ในน้ำ ห้ามเทน้ำนั้นลงในละแวกบ้าน โดยที่สุดแม้ในบริเวณกุฏิที่อยู่ เพราะเมื่อเทลงไป เมล็ดข้าวก็จะปรากฏ ทำให้ผู้มองเห็นตำหนิได้ว่าไม่รู้จักคุณค่าของข้าว ไม่รักษาหรือเจือจานให้ผู้อื่นที่อดอยากขาดแคลนอยู่ และเมล็ดข้าวเหล่านั้นอาจเกิดบูดเน่า อาจนำพาสัตว์เช่นหนูหรือมดปลวกเข้ามา ทำให้ชาวบ้านแถบนั้นเกิดความเดือดร้อนได้

สรุปในโภชนปฏิสังยุต
      สิกขาบท ๓๐ สิกขาบทนี้ถ้าภิกษุไม่มีความเอื้อเฟื้อพระวินัย ฉันอาหารโดยไม่สำรวมระวัง ฉันโดยไม่สนใจธรรมเนียมปฏิบัติหรือฉันมูมมามสกปรก ทำให้เกิดความสกปรกเลอะเทอะถูกปรับเป็นอาบัติทุกกฏ แต่ภิกษุที่มีความตั้งใจจะรักษาธรรมเนียม ไม่คิดล่วงละเมิด แต่ไม่รู้ไม่ได้ศึกษา วิกลจริตหรืออาพาธ ไม่เป็นอาบัติ

หมวดธัมมเทสนาปฏิสังยุต ๑๖ สิกขาบท
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
      สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้กั้นร่ม
      สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้ถือไม้พลอง
      สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้ถือศัสตรา
      สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้ถืออาวุธ
      สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้สวมเขียงเท้า
      สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้สวมรองเท้า
      สิกขาบทที่ ๗ ภิกษุพึงท ำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้อยู่ในยาน
      สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้อยู่บนที่นอน
      สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้นั่งรัดเข่า
      สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้โพกศีรษะ
      สิกขาบทที่ ๑๑ ภิกษุพึงท ำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้คลุมศีรษะ
      สิกขาบทที่ ๑๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรานั่งอยู่บนพื้นดิน จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้นั่งอยู่บนอาสนะ
      สิกขาบทที่ ๑๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรานั่งบนอาสนะต่ำ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้นั่งอยู่บนอาสนะสูง
      สิกขาบทที่ ๑๔ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรายืนอยู่ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้นั่งอยู่
      สิกขาบทที่ ๑๕ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราเดินไปข้างหลัง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้เดินไปข้างหน้า
      สิกขาบทที่ ๑๖ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราเดินอยู่นอกทาง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้เดินอยู่ในทาง

อธิบายความและเจตนารมณ์สิกขาบทเหล่านี้
      สิกขาบท ๑๖ สิกขาบทเหล่านี้เป็นธรรมเนียมในการแสดงธรรม ให้ภิกษุผู้แสดงธรรมนั้นเคารพในธรรม และให้ความสำคัญแก่ธรรม แสดงธรรมด้วยความตั้งใจประกาศพระศาสนาให้ผู้ฟังเห็นความสำคัญและความศักดิ์สิทธิ์ของพระธรรม ยินดีฟังด้วยความเคารพและยินดีน้อมนำไปปฏิบัติมิใช่แสดงธรรมสักแต่ว่าได้แสดง มิใช่แสดงพอให้ผ่านไป อันเป็นความมักง่าย ไม่คำนึงถึงประโยชน์แก่ผู้รับฟังและพระศาสนา
      สิกขาบทเหล่านี้เป็นการห้ามมิให้แสดงธรรมแก่คนที่แสดงกิริยาไม่เคารพธรรม ไม่ใส่ใจที่จะยกย่องชิดชูธรรมว่าสูงส่ง ควรเคารพ
      เพื่อให้เกิดความขลังและศักดิ์สิทธิ์ในการแสดงธรรม สิกขาบทเหล่านี้เท่ากับให้ภิกษุพิถีพิถันบอกกล่าวผู้ฟังก่อนที่จะแสดงธรรม ให้หุบร่ม ให้วางอาวุธ ให้ถอดเขียงเท้า ให้ถอดรองเท้า ให้นั่งอยู่ที่พื้น ไม่ให้นั่งรัดเข่า ไม่ให้โพกหรือคลุมศีรษะ เป็นต้น และบอกกล่าวผู้ฟังได้รู้สึกว่า ผู้แสดงธรรมนั้นเท่ากับเป็นผู้แทนของพระพุทธเจ้า เพราะนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาอธิบายขยายความในทางปฏิบัติ จึงควรจัดอาสนะที่แสดงธรรมให้สูงกว่าผู้ฟัง และให้ผู้ฟังนั่งอยู่ด้านหน้าภิกษุผู้แสดงธรรม
      ส่วนการยืนแสดงปาฐกถานั้น เป็นการแสดงธรรมที่ไม่ได้เป็นพิธีการ ไม่ได้เป็นธรรมเนียมมาแต่เริ่มแรก จึงไม่นับเข้าในสิกขาบทเหล่านี้ 

หมวดปกิณณกะ ๓ สิกขาบท

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
      สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรามิใช่ผู้อาพาธ จักไม่ยืนถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ
      สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรามิใช่ผู้อาพาธจักไม่ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ หรือบ้วนเขฬะลงบนของเขียวสด
      สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรามิใช่ผู้อาพาธจักไม่ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ หรือบ้วนเขฬะ ลงในน้ำ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทเหล่านี้
      สิกขาบทเหล่านี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายรักษามารยาทในการขับถ่าย ไม่ยืนขับถ่ายเหมือนพวกคฤหัสถ์เพราะสมัยนั้นยังไม่มีห้องน้ำมิดชิดเหมือนอย่างปัจจุบัน จำต้องขับถ่ายในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะในการเดินทาง จึงห้ามมิให้ยืนขับถ่าย ซึ่งเป็นภาพไม่เหมาะสมสำหรับภิกษุ ปัจจุบันส่วนใหญ่มีห้องน้ำมิดชิดโดยทั่วไปแล้ว จึงอนุโลมยืนขับถ่ายบ้างในกรณีที่ไม่มีคนเห็น แต่ผู้ถือเคร่งครัดก็ยังปฏิบัติตามสิกขาบทอยู่
      สำหรับการขับถ่ายและบ้วนเขฬะหรือน้ำลายน้ำมูกลงบนหญ้าหรือ ใบไม้เขียวสดหรือลงในน้ำนั้น จัดเป็นการรักษาธรรมชาติ รักษาความสะอาด และรักษาสุขภาพโดยภาพรวม และเป็นการป้องกันความสกปรกเลอะเทอะอันไม่น่าพบเห็น นับเป็นสิกขาบทที่ทันสมัย เป็นมาแต่อดีต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ทรงห่วงใยคุณภาพของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและของน้ำเป็นอย่างดี จึงทรงบัญญัติสิกขาบทเหล่านี้ไว้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0026099324226379 Mins