หลักการกล่าวสัมโมทนียกถา

วันที่ 20 พย. พ.ศ.2566

0061.jpg

หลักการกล่าวสัมโมทนียกถา


              การกล่าวสัมโมทนียกถา มีหลักต้องกล่าว ๓ ขั้นตอน ดังนี้


๑. ปรารภเหตุ ได้แก่ เริ่มต้นบอกถึงความรู้สึกของตน


               เนื่องในเหตุใด เช่น ยินดีในการต้อนรับ, การได้รับหรือเลื่อนยศตำแหน่ง, การมอบหรือรับสิ่งของ ฯลฯ กล่าวเท้าความถึงความเป็นมาเล็กน้อย เช่น ถ้ากล่าวต้อนรับผู้เยือนวัด ก็อาจกล่าวถึงประวัติวัด, ถ้ากล่าวแสดงความยินดีต่อผู้ฟังที่ได้รับหรือเลื่อนตำแหน่ง ก็เท้าความถึงความสำคัญของยศ ตำแหน่งนั้น


               ถ้ากล่าวคําไว้อาลัยผู้จากไป ก็เท้าความถึงความดีของผู้ที่จากไป ฯลฯ


๒. กล่าวยกย่อง หมายถึง แสดงการยกย่องผู้นั้น โดยกล่าวถึงความดีของผู้นั้นตามความเป็นจริง


๓. คล้องน้ำใจ เนื่องจากผู้พูดเป็นพระ ดังนั้นก็ต้องใช้คำของพระเป็นเครื่องคล้องใจผู้นั้นไว้ คำของพระก็คือ ข้อคิด คติธรรมสั้นๆ ที่เหมาะสมกับเหตุการณ์นั้น และลงท้ายด้วยการให้พร คติธรรมกับคําอวยพรถือว่าเป็นมาลัยอันประเสริฐที่มอบให้เป็นการคล้องใจของผู้ฟัง



การให้พร


               คนไทยโบราณนั้นเมื่อพบกัน ก่อนจะจากกันผู้อาวุโสกว่าจะกล่าวคำอวยพรแก่ผู้ที่จะจากไป แต่ปัจจุบันนิยมให้พรแก่ผู้ที่มอบ (หรือถวาย) ของให้เท่านั้น ที่จริงการให้พรแก่กัน สามารถให้กันได้ทุกโอกาส ไม่จำเป็นต้องให้พรเฉพาะเมื่อมีผู้ให้ของเท่านั้น นี่คือวัฒนธรรมไทย


               พร แปลว่า “ประเสริฐ” การให้พรก็คือ การกล่าววาจาที่มุ่งให้เกิดความประเสริฐแก่กัน


               พรนี้จะสำเร็จด้วยอานุภาพของบุญ คือผลของความดี และอำนาจสัจวาจา เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้พรพระอานนท์ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า “พระอานนท์ตั้งเมตตา ทางกาย วาจา ใจ ในพระองค์มาตลอดกาลนาน ได้ชื่อว่าทำบุญไว้แล้ว จงเริ่มตั้งความเพียรเถิด จะเป็นผู้สิ้นอาสวะโดยพลัน”


               หลังจากพุทธปรินิพพานแล้ว พระอานนท์ก็ตั้งความเพียรจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตามพรที่พระพุทธองค์ตรัสให้ไว้


               อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ พระองคุลีมาลเห็นหญิงครรภ์แก่ แต่คลอดบุตรไม่ได้ ปรารถนาอนุเคราะห์หญิงนั้น หลังกลับจากบิณฑบาตฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้า กราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


               พระองค์ตรัสให้พระองคุลีมาลกลับไปหาหญิงนั้นแล้วตั้งสัจวาจาว่า “ตั้งแต่เราเกิดแล้วในอริยชาติ จะได้แกล้งปลงสัตว์จากชีวิตหามิได้ ด้วยสัจวาจานี้ขอความสวัสดี จงมีแก่ครรภ์ของน้องหญิงเถิด”


                พระองคุลีมาลทําตามที่พระบรมศาสดาตรัสสอน หญิงมีครรภ์แก่ก็คลอดบุตรโดยง่าย


                ดังนั้น การให้พร หากกระทำถูกต้องตามหลักธรรม ก็จะเป็นพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์


                ข้อควรระวังในการให้พร คือ ไม่ควรกล่าวคำให้พรโดยเจตนาล้อเล่น เช่น “ขอให้ท่านมีอายุยืนหลายหมื่นปี” เพราะจะทำให้การให้พรกลายเป็นของเล่น สนุกสนานไป

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013384850819906 Mins