ประการที่ ๔ ขาดความปลอดภัย

วันที่ 01 สค. พ.ศ.2567

 

2567_08_01_b_.jpg

 

 

ประการที่ ๔ ขาดความปลอดภัย



          คนส่วนมากเมื่ออยู่ด้วยกันนานๆ เข้า บางทีขาดความปลอดภัย อะไรหนอทำให้คนขาดความปลอดภัย สิ่งที่ทำให้ขาดความปลอดภัยในหมู่คณะได้มากที่สุด คือ การทำตัวไม่เหมาะสม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้คำว่า สมานัตตะตา ถ้าทุกคนทำตัวเองเหมาะสมกับหน้าที่ กับตำแหน่ง และกับการงานของตัวเองแล้วความปลอดภัยจะเกิดขึ้น



ผู้บังคับบัญชาทำตัวเหลาะแหละไม่สมกับเป็นผู้บังคับบัญชา



         ผู้ใต้บังคับบัญชาเกียจคร้าน บางทีได้รับงานมาก็หลบๆ เลี่ยงๆ บางที่ก็ก้าวก่ายไปถึงงานของหัวหน้า นั่นก็ไม่เหมาะสมอีกสิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยมาก



        พ่อบ้านทำตัวไม่เหมาะสมเป็นพ่อบ้าน แม่บ้านทำตัวไม่เหมาะสมเป็นแม่บ้าน เป็นคุณนายวางตัวเป็นคนใช้ เป็นคนใช้วางก้ามเป็นคุณนาย เมื่อวางตัวไม่เหมาะสมเข้า หัวมันจะถ่ายท้ายมันก็จะเกย ความเกรงอกเกรงใจกันก็หมดไป ความก้าวก่ายมันก็เกิดขึ้น แล้วความหมั่นไส้ก็จะตามมา ความอิจฉาก็จะเพิ่ม เพราะฉะนั้นหน้าที่ใครหน้าที่มัน ตรงนี้ช่วยทำกันให้ดี ถ้าหน้าที่ใครไม่ทำกันให้ดีละก็ จะเกิดผลเสียตามมา



          ขอให้ดูศัพท์คำว่า หน้าที่ พื้นที่พื้นดินที่เรามี การจะเป็นพื้นที่ที่เกิดประโยชน์ พื้นที่นั้นควรจะติดถนน ไม่ใช่เป็นพื้นที่ต้นๆ ถ้าพื้นที่นั้นไม่ติดถนนอย่างนี้ เรียกว่า ที่ไม่มีหน้า ออกไม่ได้ ที่จะต้องมีหน้า ถ้าไม่มีหน้าหรือหน้าที่ไม่ดี ก็ทำอะไรไม่ได้ ที่จึงต้องมีหน้า แล้วหน้าต้องสมกับตัวของมันด้วย แต่ถ้าหน้ากับที่ไม่สมกันก็เอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้อีก เช่น หน้าแคบเกินไป หรือหน้ากว้างเกินไปแล้วที่ตื้นนิดเดียว ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้น หน้ากับที่ควรปรับให้พอเหมาะพอสมกัน



        คนเราทุกคนนี่แปลกจริงๆมีหน้าที่ติดตัวกันมาโดยธรรมชาติแล้วก็มีหน้าที่ถูกบังคับตามสายงาน ทันทีที่คลอดออกมาจากท้องแม่ก็มีหน้าที่ติดตัวมาว่า จะต้องเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นลูกเกเรไม่ได้ ถ้ามีพี่อยู่แล้วก็มีหน้าที่ติดมาว่า เราจะต้องเป็นน้องที่ดีด้วยนะถึงเวลาไปเรียนหนังสือ ก็มีหน้าที่ว่าจะต้องเป็นนักเรียนที่ดีด้วยนะมาทำงานอยู่บริษัท ก็มีหน้าที่จะต้องเป็นพนักงานที่ดีด้วยนะ ทันทีที่แต่งงานก็มีหน้าที่สามี - ภรรยาที่ดีด้วยนะ ใครไปหย่อนตรงไหน...ใช้ไม่ได้ทั้งสิ้น



        ใครทำหน้าที่ของตนเองไม่สมบูรณ์ เช่น หน้าใหญ่เกินที่....ก็ทำอะไรไม่สำเร็จ ทั้งหมด หรือหน้าเล็กไม่สมกับที่ คือ ภาระหน้าที่มีมาก แต่ทำเพียงส่วนเดียว ...เดี๋ยวก็จะอยู่ไม่ได้
 


         ต้องทำหน้ากับที่ของตนเองให้เหมาะสมแล้วความปลอดภัยจึงจะเกิดด้วยกันทุกระดับ ใครมีหน้าที่อะไร ศึกษางานที่ต้องรับผิดชอบของตนเองแล้วทำงานในหน้าที่ของตัวเองให้ดีอาตมาเป็นพระศึกษางานหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มอบงานเอาไว้ให้ คือ



          ๑. ให้ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาและประพฤติตามธรรมวินัยที่พระองค์ตรัสไว้



         ๒. เมื่อปฏิบัติตัวได้ดีพอสมควรตามกำลังแล้ว ให้นำคำสั่งสอนของพระองค์ไปสอนให้คนอื่นได้รู้ตาม



              พระพุทธเจ้าได้ทรงวางแนวทางให้ภิกษุดำเนินตามไว้ว่า

 

         “ภิกษุทั้งหลาย....พวกเธอจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมากเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลกจงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้นท่ามกลางและในที่สุดจงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สัตว์ที่มีกิเลสน้อยบางเบามีอยู่ แต่เพราะไม่ได้ฟังธรรมจักเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี ภิกษุทั้งหลาย แม้เราเองก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม”



            ที่อาตมาเดินทางมาแสดงธรรมในวันนี้ อาตมามาตามหน้าที่นิมนต์แล้วจะต้องมา ถึงแม้ว่าไม่ได้นิมนต์มา หากมีโอกาสก็ยัง ต้องมาเลย เพราะว่ามันเป็นหน้าที่ แม้เป็นพระภิกษุยังมีหน้าที่อย่างนี้แล้วพวกเราเองซึ่งต้องทำงานกันอยู่ขณะนี้ หน้าที่ก็ยิ่งมีประจำตัวกันมากมาย



            จึงขอให้ทุกคนทำงานตามหน้าที่ของตัวเองให้ดี แล้วสำรวจด้วยว่าหน้าที่ของเรามีอะไรบ้าง ทำครบหรือยัง ถ้ายัง รีบทำนะ หน้าที่เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ทำครบแล้วหรือยัง ถามตัวเอง
 


งามในเบื้องต้น - งามด้วยศีล


งามในท่ามกลาง - งามด้วยสมาธิ


งามในที่สุด - งามด้วยปัญญา

 

            “ส่งเงินให้แม่ใช้ทุกเดือนแล้วยัง”


            “ทุกเดือนเลยนะ”


            “สาธุ ขอให้จำเริญๆเถอะพ่อเอ๊ย”


            “เราละ...ส่งแล้วยัง”


             “ยัง”


             “ทำงานมากี่ปีแล้ว”

           
            “แล้วเมื่อไหร่จะส่งเอาน่าตรุษจีนเพิ่งจะผ่านมาหยกๆ ช่วยส่งเงินไปให้แม่งวดนี้ก็แล้วกัน ไม่ใช่กลับไปขอแม่เพิ่มมาอีกล่ะ”

                                             

          แล้วหน้าที่ของเราที่เป็นพ่อ - แม่ ไปดูลูกให้ดีๆ ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ แล้วความปลอดภัยจะมี ทุกอย่างก็จะสมบูรณ์



             “แล้วอะไรล่ะที่ทำให้คนทำหน้าที่ของตนไม่สมบูรณ์”


             "สัจจะ"


              คือ ความจริงใจที่มีต่อหน้าที่การงาน รวมทั้งความรับผิดชอบของเราไม่พอนะซิ จึงเกิดความไม่สมบูรณ์ขึ้น

 

              สัจจะ
              ความหมายของคําว่าสัจจะ คือ จริง ตรง แท้



             ๑. จริงต่อหน้าที่ เช่น เป็นสามีก็รับผิดชอบต่อหน้าที่สามีเลี้ยงครอบครัวให้ดี ไม่มั่นใจให้หญิงอื่น เป็นตำรวจก็จริงใจต่อหน้าที่ตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ทุ่มไปกับหน้าที่ของตัวให้หมด
 


           ๒.จริงต่อการงาน พอมีหน้าที่ก็มีงานตามมาโดยอัตโนมัติเป็นสามีก็มีงานของสามี เป็นลูกก็มีงานของลูก เป็นทหารก็มีงานของทหารต้องป้องกันราชอาณาจักร คนที่จริงต่อการงาน ไม่ว่าจะทำหน้าที่อะไรให้ทุ่มทำงานในหน้าที่นั้นให้หมดไม่ต้องขยักเอาไว้เพื่อโน่น เพื่อน แม้บวชเป็นพระก็ต้องทุ่มหมดตัวเหมือนกัน ไม่ขยักไว้เพื่อสึก ประพฤติปฏิบัติธรรมให้สมกับเป็นพระ

 



            พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงกล่าวถึงเรื่องทำนองนี้ไว้ครั้งหนึ่งว่า

 


         "ราชสีห์ เวลาตะปบช้างเอามากิน มันจะตะปบด้วยความระมัดระวัง ทำอย่างดีที่สุด แม้สัตว์เล็กลงมาหน่อย เช่น เสือ มันก็ตะปบด้วยความระมัดระวังเหมือนกัน แม้ที่สุดจะตะปบสัตว์ตัวเล็กๆ ไม่มีเขี้ยวเล็บ มากินสักตัว ก็ตะปบด้วยความระมัดระวังเท่าเทียมกัน”

 

          ฉะนั้น เราจึงควรทำดีที่สุดในทุกๆ เรื่อง ไม่ควรประมาทเมื่อปลายมือ อย่าเป็นคนสักแต่ว่าทำ อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ต้องทำให้ดีพร้อมหมด จนใคร ๆ ก็ทำดีกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว นี่คือจริงกับงาน



          ๓. จริงต่อเวลา คือ ใช้เวลาที่ผ่านไปให้คุ้มค่า เรื่องไม่เป็นเรื่องอย่าไปทำเลย เสียเวลาเปล่า จึงควรเลือกทำแต่เรื่องที่ทำแล้วให้ประโยชน์จริงๆ



       ๔. จริงต่อบุคคล คือ คบใครขอให้คบกันจริงๆ อย่าคบกันแค่มารยาท คนเรามักชอบบ่น “ผมน่ะไม่มีเพื่อนจริงสักคน” ที่แท้ตัวเองนั่นแหละไม่จริงกับเขาก่อน ถ้าจะคบก็คือคบ ถ้าไม่คบก็ตัดบัญชีกันไปเลย

 

 

23771.jpg

 

 

           เพราะฉะนั้น วันนี้ก่อนนอนสวดมนต์ทำใจให้สบายๆ แล้ว สำรวจตัวเองดูซิว่า หน้าที่ของตัวเองมีอะไรบ้างตั้งแต่เกิดมานี่ แบ่งให้ดี หน้าที่ทางโลก ดูซิมีอะไรบ้าง เช่น หน้าที่ต่อครอบครัว หน้าที่ต่อการงาน หน้าที่ต่อสังคม สำรวจดูซิว่าเราทำครบแล้วหรือยัง

 

           แล้วก็หน้าที่ทางธรรม คือ ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ศึกษาธรรมะให้มากขึ้น เราทำแล้วหรือยัง ถ้ายัง ทำซะนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ
 



               “ถามจริงๆเถอะ ที่นั่งอยู่นี่ มีใครสวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน ๆ ไม่เว้นเลย ช่วยยกมือหน่อย” 


                “มี ๒ ท่าน สาธุ ขอให้จำเริญๆเถอะ”


                “แล้วที่เหลือนอกนั้นล่ะไปทำอะไร”


                “อย่าตอบว่าไม่มีเวลานะ”



              อาตมาขอให้ดูปริศนาธรรมตรงนี้นิดหนึ่ง เมื่อเวลาเราลืมตาอยู่ เราเห็นคนทั้งโลก แต่เห็นไม่ค่อยชัดอยู่คนหนึ่ง ใคร? ตัวเองเมื่อเห็นคนทั้งโลก แต่ไม่ค่อยจะเห็นตัวเองก็เลยวิจารณ์ชาวบ้าน ไม่ค่อยได้วิจารณ์ตัวเอง วิจารณ์ไปวิจารณ์มา ไม่ค่อยจะมีใครดี เห็นมีดีอยู่คนเดียว ใคร ? ตัวเอง แต่ที่แท้แล้ว ตัวเองนั่นแหละแย่ที่สุด

 

            แล้วทำยังไงจึงจะเห็นตัวเอง มีอยู่ทางเดียว หลับตาลงซะเมื่อเราหลับตา เราจะไม่เห็นคนอื่น แล้วสวดมนต์ให้ใจสงบ ถ้านั่งสมาธิด้วยก็จะยิ่งดี พอใจสงบแล้วใจจะเป็นกลาง เมื่อใจเป็นกลางจะเริ่มเห็นตัวเองในมโนภาพ ดีก็ยอมรับว่าดี ชั่วก็ยอมรับว่าชั่ว แล้วตอนนั้นเราจะรู้ว่า อ๋อ.... เจ้าตัวร้ายเขี้ยวลากดินน่ะ เราเอง!
 


             จุดนี้คือจุดเริ่มต้นแห่งการแก้ไขตัวเอง ใครยังไม่ได้สวดมนต์ก่อนนอนเป็นประจำทุกคืนๆ เริ่มเสียแต่วันนี้ก็ยังไม่สายจนเกินไปนะ แล้วถ้าจะให้ดี เรียกลูก เรียกแม่บ้านมาสวดมนต์ด้วยก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก เมื่อได้สำรวจตัวเองเป็นประจำๆ อย่างนี้ แล้วก็ปรับปรุงตัวเองให้ดี ทั้งหน้าที่ทางโลก หน้าที่ทางธรรม ความรับผิดชอบของเราจะสมบูรณ์ แล้วความปลอดภัยในที่ทำงานจะเกิดมีด้วยกันโดยทั่วหน้าทุกคน แล้วปัญหาต่างๆ ที่เราหยิบยกขึ้นมาก็จะหมดไป
 


          ถ้าเราย้อนมาดูตัวเราก็จะเห็นข้อผิดพลาดของตัวเอง แต่โดยทั่วไปการยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง อย่าคิดว่าเราจะยอมรับกันง่ายๆนะ อยากรู้ไหมว่า เรามีข้อผิดพลาดอะไรบ้าง แต่ถ้าให้ภรรยามาชี้หน้าว่าเราผิดอย่างนั้นๆ เราจะยอมไหม เราเองก็ไม่ยอม ทั้งหมดนี้เกิดจากการไม่ได้ย้อนมาดูตัวเองนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูใน ๔ เรื่องที่ว่ามานี้

 

       ย้อนดูตัวเอง ๔ เรื่อง

          ทั้ง ๔ เรื่องนี้ เป็น "คุณเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ๔ อย่าง" มีอะไรบ้าง



          ๑. ทาน รวมทั้งมารยาทด้วย



          ๒. ปิยะวาจา กลั่นกรองคำพูดของเราให้ดี



          ๓. อัตถะจริยา บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์



          ๔. สมานัตตะตา ทำตัวให้สมกับหน้าที่ของตัว คือ รับ



ภาระหน้าที่รับผิดชอบให้เป็น แล้วปัญหาต่างๆ ที่เกิดจะหมดไปเอง



           “ทําไมถึงหมด”

           “เพราะเห็นตัวเองชัดแล้ว”



           แล้วคนอื่นล่ะ ก็ไม่ต่างกับเรานักหรอก มีความไม่เข้าท่าเหมือนกับเรานี่แหละ แต่ถ้าไปบอกเขาตรงๆ เขาก็จะรู้สึกว่าเขาเสียหน้า แล้วก็ตอกหน้าเรากลับมาบ้าง ก็เลยหน้าแตกด้วยกันทั้งคู่



          สำหรับวันนี้ ขอฝากข้อคิดไว้เพียงเท่านี้ หวังว่าพวกเราคงจะได้นำไปสอดส่องดูตนเองแล้วแก้ไขกันซึ่งความผิดพลาดต่างๆที่มีอยู่ไม่ใช่มีแต่เฉพาะพวกเราเท่านั้น จะเป็นใครก็ตาม ความผิดพลาดก็ไม่เกินนี้ อยู่ทางโลกยกไว้ แม้เป็นพระภิกษุ ความผิด

 

 

0059%20%281%29.jpg

 

 

พลาดต่างๆก็อยู่ในลักษณะนี้เช่นกันมาช่วยกันแก้ไขก็แล้วกันพระภิกษุก็จะแก้ไขแบบพระภิกษุฆราวาสก็แก้ไขแบบฆราวาสแล้วทุกอย่างจะค่อยๆ สมบูรณ์ขึ้นมาเอง

                ขออำนาจอานิสงส์ที่พวกเราได้ตั้งใจนำธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติ แก้ไข ปรับปรุงตัวเองในภายหน้า ให้มีบุญมากมายมหาศาลเพียงใด ขอบุญกุศลนั้นจงคล้บันดาลให้พวกเราทุกคน จงปราศจากเสียซึ่งสรรพทุกข์ สรรพโศกสรรพโรค สรรพภัย สรรพเคราะห์เสนียดจัญไรใดๆ อย่าได้มาแผ้วพาน ให้มีความสุข ให้มีความเจริญ ให้มีความก้าวหน้าในกิจการงานที่ทำอยู่ ให้ได้ดวงตาเห็นธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย จงทุกท่านเทอญ.

 

 

0072.jpg

 

 

บุคคลควรแบ่งของน้อยให้ตามน้อย
ควรแบ่งของปานกลางให้ตามปานกลาง
ควรแบ่งของมากให้ตามมาก
การไม่ให้เสียเลยย่อมไม่ควร
จงให้ทานด้วย จงบริโภคด้วย
ผู้บริโภคคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข



(๔๓/๔๘๔-๔๘๕ โกสิยชาดก)



ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก
ชื่อว่าดำเนินตามธรรมของสัปบุรุษ
สัปบุรุษผู้สงบ ผู้สำรวมอินทรีย์ ประกอบด้วยพรหมจรรย์
ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ
สัปบุรุษเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมเป็นที่บรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา
เขาได้ทราบชัดแล้ว ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้
ย่อมปรินิพพานในโลกนี้



(๓๓/๕๖ ทานานิสังสสูตร)



ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ
ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ
ผู้ให้ของที่ดี ย่อมได้ของที่ดี
ผู้ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงสถานที่อันประเสริฐ
นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี ให้ของที่ประเสริฐ
นรชนนั้นจะบังเกิด ณ ที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ ดังนี้



(๓๓/๗๒-๗๓ มหาปทายีสูตร)

 

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการเป็นวาจาสุภาษิต
         ไม่เป็นทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน ดังนี้

         (๑) เป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล

         (๒) เป็นวาจาที่กล่าวเป็นสัจ

         (๓) เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน

         (๔) เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์

         (๕) เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยเมตตาจิต



(๓๓/๓๕๑ วาจาสูตร)



การนินทาหรือการสรรเสริญนี้มีมาแต่โบราณ มิใช่มีเพียงวันนี้
คนย่อมนินทาแม้ผู้นั่งนิ่ง แม้ผู้พูดมาก แม้ผู้พูดพอประมาณ
ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก
บุรุษผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียวหรือถูกสรรเสริญโดยส่วนเดียวไม่มี
แล้วจักไม่มี และไม่มีในบัดนี้



(๓๘/๕๙ โกกาลิกสูตร)



ก็วาจาเช่นเดียวกับขวาน เกิดในปากของบุรุษแล้ว
เป็นเหตุตัดรอนตนเองของบุรุษผู้เป็นพาล ผู้กล่าวคำทุพภาษิต
ผู้ใดสรรเสริญคนที่ควรนินทา หรือนินทาคนที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นย่อมก่อโทษเพราะปาก ย่อมไม่ได้ความสุขเพราะโทษนั้น



(๓๙/๖๑๘ โกกาลิกสูตร)



บุรุษผู้กล่าวผิดเพี้ยนการงานที่ควรทำในวันนี้ว่าควรทำในวันพรุ่งนี้
การงานที่ควรจะทำในวันพรุ่งนี้ว่าควรทำในวันต่อไป
ย่อมเสื่อมจากงานนั้น



(๔๓/๖๗๙ หัตถปาลชาดก)

 

 

แม่น้ำเป็นที่อยู่แห่งฝูงปลา
ส่วนมากย่อมหลั่งไหลไปสู่สาคร ห้วงทะเลหลวงอันจะประมาณไม่ได้
มีสิ่งที่น่ากลัวมาก เป็นที่อยู่แห่งรัตนะหลายชนิด ฉันใด
ห้วงบุญย่อมหลั่งไหลเข้าสู่นรชนผู้เป็นบัณฑิต
ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน ที่นั่ง เครื่องปูลาด
เหมือนห้วงน้ำหลั่งไหลเข้าสู่สาคร ฉะนั้น



(๓๓/๗๔ อภิสันทสูตร)



ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นอย่างหนึ่ง
ที่เป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป
เหมือนความเป็นผู้เกียจคร้าน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เมื่อบุคคลเกียจคร้านแล้ว
อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น
และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป



(๓๑/๑๕ บาลีแห่งเอกธรรม)



บุคคลพึงเปล่งวาจางามเท่านั้น ไม่พึงเปล่งวาจาชั่วเลย
การเปล่งวาจางามยังประโยชน์ให้สำเร็จ
ผู้เปล่งวาจาชั่วย่อมเดือดร้อน



(๔๒/๓๖ สารัมภชาดก)

 

 

 

 

 

 

 

 



 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0061992168426514 Mins