สุรา-บุหรี่-แอมเฟตามีน ปัจจัยคนไทยตาย

วันที่ 24 ตค. พ.ศ.2548

 

     ประมาณการกันว่าคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยในแต่ละปี มีจำนวนมากที่สุด เฉลี่ยการตายเฉพาะจากส่วนของยานยนต์เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน หรือวันละเกือบ 50 คน สูญเสียด้านเศรษฐกิจ ปีละกว่า 1 แสนล้าน ไม่เพียงเท่านั้น !! หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ถึงปี 2545 มีการคาดการณ์ว่า คนไทยจะตายด้วยสาเหตุนี้เพิ่มขึ้นอีก คิดเฉลี่ยชั่วโมงละ 3 คน หรือวันละ 72 คน สูญเสียด้านเศรษฐกิจปีละกว่า 3 แสนล้านบาท ???

     เมื่อพูดถึงเรื่องสุขภาพ มีความหมายที่กว้าง และเชื่อมโยงกับสิ่ง ต่าง ๆ มากมาย คนไทยต้องประสบกับความเจ็บป่วยล้มตาย ลำบากลำบนโดยไม่จำเป็นมีจำนวนมาก โรคเครียด, โรคหัวใจ, อุบัติเหตุ, โรคเอดส์, โรคติดสารเสพย์ติด, โรคมะเร็ง และโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพ โรคเรื้อรังต่างๆ เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทย เพราะ โรค คือการเสียสมดุลและเกิดความผิดปกติ ถ้าทุกอย่างคือกาย ใจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์กันอย่างสมดุลก็จะเกิดความเป็นปกติ ที่ผ่านมาทางสถาบันวิจัยระบบสาธาธารณสุข (สวรส.) ได้มีการสำรวจสุขภาพของกลุ่มคนอาชีพต่าง ๆ 9 อาชีพ แบ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่มีการใช้แรงงานเป็นหลัก อย่างเช่น คนงานก่อสร้าง เกษตรกร พนักงานขับรถ ลูกจ้างโรงงานอุตสาหกรรม ชาวประมงและคนงานเหมืองแร่ การย่อยหิน อีกกลุ่มเป็นกลุ่มอาชีพที่มีลักษณะเฉพาะคือข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ พระภิกษุและชาวไทยภูเขา ในบรรดากลุ่มอาชีพเหล่านี้ พบว่าทุกกลุ่มอาชีพ ยกเว้นกลุ่มข้าราชการ ข้าราชการบำนาญและครอบครัว รวมทั้งคนไทยภูเขา มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ 3 ประการหลักคือ การสูบบุหรี่ การดื่มสุราและการใช้ยาแอมเฟตามีน

     ผู้ชายเกือบทุกอาชีพดื่มสุรามากที่สุด รองลงมาคือการสูบบุหรี่ จากการสำรวจกลุ่มพระภิกษุ-สามเณร และชาวไทยภูเขาพบว่ามีการสูบบุหรี่มากกว่าอาชีพอื่น ๆ ขณะที่การใช้ยาแอมเฟตามีนจะพบมาก ในกลุ่มเกษตรกรร้อยละ 9.9 กลุ่มพนักงานขับรถร้อยละ 9 นอกจากพบความเสี่ยงจากพฤติกรรมการดื่มสุรา-สูบบุหรี่ แล้วยังพบการดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง สูงถึงร้อยละ 8.8 และเกือบ 100% ของทุกกลุ่มอาชีพ เคยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกกับภรรยาและหญิงบริการ ไม่ถึง 10% ที่ใช้ถุงยางอนามัย ในขณะที่หญิง 100% จะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกกับสามีและทราบถึงประโยชน์ ของถุงยางอนามัยในการคุมกำเนิด ป้องกันโรคเอดส์และกามโรค

     ในเรื่องการคุมกำเนิด เพศหญิงทุกอาชีพมีอัตราคุมกำเนิดประมาณ 70% ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการกินยาเม็ด โดยกลุ่มอาชีพประมงคุมกำเนิดเพียง 13.4% และมีอัตราการทำแท้งสูงถึง 44.4% ซึ่งถือว่ามากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือกลุ่มเกษตรกรและลูกจ้างอุตสาหกรรม และกลุ่มประมงนี่แหละเป็นโรคเอดส์มากที่สุด ?!? โรคเอดส์ หรือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นมหันตภัยมืดร้ายแรงที่มนุษย์มองไม่เห็น ไม่สามารถรักษาให้หายได้ นับวันโรคเอดส์กำลังคุกคามและแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงเมื่อใด ล่าสุดองค์การอนามัยโลกได้ประมาณการไว้ว่าปี 2000 จะมีผู้ติดเชื้อไวรัสเอดส์ทั่วโลกมากมายถึง 30-40 ล้านคน มีผู้ป่วยด้วยโรคเอดส์เพิ่มขึ้นเป็น 12-18 ล้านคน สำหรับสถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทยยังเป็นที่น่าวิตกกังวลอย่างมาก โดยจากการรายงานผลการวิจัย พบว่าอัตราผู้ติดเชื้อเอดส์ของคนไทยปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นถึงล้านคนแล้ว ถึงแม้ว่า ณ วันนี้ เรื่องของ โรคเอดส์ จะมีการรณรงค์กันอย่างแพร่หลาย ให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงพิษภัย ความร้ายแรงของโรคเอดส์ สามารถคร่าชีวิตคนไปเป็นแสนเป็นล้าน รวมถึงการป้องกันตัว และการดูแลคนในครอบครัวให้ห่างไกลจากโรคเอดส์

     จากรายงานผลการวิจัยจะเห็นว่า สถิติคนติดเชื้อเอดส์ในปัจจุบันมิได้ลดน้อยลงไป คงมีผู้ติดเชื้อเอดส์จำนวนเป็นล้านคน ทั้งที่ออกอาการและไม่ออกอาการ จนเราไม่สามารถแยกแยะออกว่า เรากำลังพูดคุย หรือร่วมโต๊ะอาหารเดียวกันกับผู้ติดเชื้อเอดส์ได้ ในการสำรวจเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังนั้น พบว่าแต่ละกลุ่มอาชีพจะมีโรคเรื้อรัง ที่แตกต่างกัน ชาวประมงเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด และตรวจพบเชื้อ HIV สูงกว่าอาชีพอื่น แต่ที่พบมากที่สุดทุกกลุ่มอาชีพคือ โรคกระเพาะอาหาร ขณะที่คนงานเหมืองแร่และย่อยหิน เป็นโรคความดันโลหิตสูงพอ ๆ กับโรคเบาหวาน และพระภิกษุพบว่าเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนมากที่สุด กลุ่มอาชีพที่ต้องใช้แรงงานรวมทั้งกลุ่มพระภิกษุมากกว่า 50% บอกว่าตนเองมีสุขภาพดี แต่จะมีปัญหาเรื่องสายตามัวมองไม่ชัดไม่ค่อยเห็น ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและร่างกาย ซึ่งพบว่า มักมีปัญหาทางด้านอารมณ์มารบกวนการทำงาน การใช้แรงงาน ยกเว้นพระภิกษุสงฆ์-สามเณร ที่มีปัญหาคือ ความกังวลใจจนนอนไม่หลับตลอดเวลา

     ส่วนกลุ่มคนไทยภูเขาพบว่าส่วนใหญ่คนป่วยจะเป็นเด็กซึ่งจะเป็นไข้มากที่สุด รองลงมาคือ ท้องร่วง และพบว่ามีอัตราการตายของทารกสูง ในอัตราร้อยละ 19.7 ต่อประชากร 1,000 คน ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีอัตราตายร้อยละ 24.5 ต่อประชากร 1,000 คน นอกจากลักษณะงานจะเป็นปัญหารบกวนการดำรงชีวิตของกลุ่มคน 9 อาชีพนี้แล้ว สภาวะทางด้านอารมณ์ เป็นส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดและความพลั้งเผลอ เป็นไปได้หรือไม่ว่า !! ในอนาคตรัฐบาล จะให้การบริการด้านการรักษาสุขภาพกายแล้ว จะจัดบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต แก่คนกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เหล่านี้ควบคู่ไปด้วย

เผื่อว่าคนไทยอาจจะมีอายุยืนนานขึ้นกว่าเดิม

แต่ไม่ใช่อยู่เพื่อเฉลี่ยหนี้สินประเทศ นะจ๊ะ !!.

[ ที่มา... หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2543]

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011210997899373 Mins