เก็บภาษีเหล้าอัตราก้าวหน้า เพื่อ"คนไทย"สุขภาพดี

วันที่ 25 ตค. พ.ศ.2548

                 sp481012_1.jpg    sp481007.1.jpg

โดย นพ.บัณฑิต ศรไพศาล27 มิถุนายน 2548 20:13 น.

     ความพยายามที่จะลดการบริโภคสุราของไทย ด้วยแนวคิดการขึ้นภาษีสุราเพื่อหวังว่าจะทำให้ราคาเหล้าเบียร์แพงขึ้น แล้วคนซื้อน้อยลงนั้น คงต้องกลับไปทบทวนใหม่ เพราะล่าสุด ฯพณฯ นายกทักษิณ ชินวัตร ได้ออกมากล่าวถึงผลกระทบของวิธีคิดภาษีสุราของประเทศไทย ในรายการนายกทักษิณคุยกับประชาชน เมื่อวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
นายกฯบอกว่า การขึ้นภาษีสุราของไทยที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้ปริมาณการบริโภคสุราลดลง แต่ทำให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคสุราที่มีราคาถูกแทน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะฉะนั้นสังคมต้องทบทวนว่า การเก็บภาษีสุรา ควรเป็นเครื่องมือในการดูแลสุขภาพของประชาชนโดยรวม

     สำหรับระบบการคิดภาษีสรรพสามิตของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยในปัจจุบัน มีวิธีคิดภาษีสองแบบ ได้แก่ การคิดภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ (คำนวนจากดีกรี) และ การคิดภาษีตามมูลค่า (คำนวนจากราคาขาย) แล้วแต่วิธีใดจะให้เม็ดเงินภาษีแก่รัฐมากกว่ากันและด้วยวิธีคิดระบบนี้มีข้อดีหลายประการ จึงไม่ควรปรับระบบวิธีคิดภาษีไปคิดแบบภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เพียงอย่างเดียว แต่ควรเพิ่มอัตราภาษีที่จัดเก็บให้สูงขึ้นใกล้หรือเต็มเพดานอัตราสูงสุด ซึ่งปัจจุบันสุราส่วนใหญ่ยังไม่ได้ขึ้นเต็มเพดาน และควรพัฒนาระบบภาษีที่ลดแรงจูงใจในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์สูง ด้วยเหตุผลดังนี้
การปรับไปคิดภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว จะทำให้ภาพรวมตลาดสุรามีราคาถูกลง ส่งผลให้การบริโภคสุรามีมากขึ้นตามมา ด้วยระบบคิดภาษีสรรพสามิตในปัจจุบัน ประเภทสุราที่เสียภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ได้แก่ สุราขาว (สุราขาว 28 ดีกรี 40 ดีกรี) สุราสีของไทย (แม่โขง 35 ดีกรี, แสงโสม 40 ดีกรี) และสุรานำเข้าเกรด Economy (Master Blend, Golden Night) และ Standard (100 Pipers, Spey Royal)

     ส่วนประเภทสุราที่เสียภาษีตามมูลค่า ซึ่งสูงกว่าการเสียภาษีตามปริมาณ ได้แก่ สุรานำเข้าเกรด Premium (Johnnie Walker Red Label และ Ballentinies) และ Deluxe (Johnnie Walker Black Label และ Chivas Regal) และ กลุ่มเบียร์ (เบียร์สิงห์ เบียร์ช้าง)
ทั้งนี้ หากปรับวิธีคิดภาษีไปคิดแบบภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียวจะทำให้สุรานำเข้าเกรด Premium (Johnnie Walker Red Label) และ Deluxe (Johnnie Walker Black Label) และ เบียร์ (เบียร์สิงห์ เบียร์ช้าง) จะเสียภาษีถูกลงมาก เช่น Johnnie Walker Black Label ภาษีจะลดลงจาก 309 เหลือ 77.40 บาทต่อขวดกลม และ เบียร์ช้าง ภาษีจะลดลงจาก 14.95 เหลือ 4.096 บาทต่อขวดกลม
ขณะที่สุราขาว (สุราขาว 28 ดีกรี 40 ดีกรี) สุราสีของไทย (แม่โขง 35 ดีกรี, แสงโสม 40 ดีกรี) และสุรานำเข้าเกรด Economy (Master Blend, Golden Night) และ Standard (100 Pipers, Spey Royal) ยังคงเสียภาษีเท่าเดิม เพราะเสียตามปริมาณแอลกอฮอล์ฯอยู่แล้ว ซึ่งราคาในท้องตลาดของกลุ่มนี้จะคงที่ ส่งผลให้ภาพรวมตลาดสุรามีราคาถูกลง การบริโภคสุราจะมากขึ้นตามมา เพราะในจำนวนเงินเท่าเดิมจะซื้อสุรามาบริโภคได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผลกระทบที่เลวร้ายตามมาอีกมากมาย

     อย่างไรก็ดี ระบบการคิดภาษีในปัจจุบันที่เลือกคิดภาษีสองแบบ แล้วแต่แบบใดให้เม็ดเงินภาษีแก่รัฐมากกว่ากันนี้ เป็นการคิดภาษีที่รับผิดชอบต่อผลเสียจากปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์อยู่แล้ว เนื่องจากภาษีที่เก็บจะมากกว่าหรือเท่ากับเก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หากผลิตภัณฑ์มีปริมาณแอลกอฮอล์มากจะต้องเสียภาษีมากตามไปด้วย
เช่น เหล้าขาว 40 ดีกรี จะเสียภาษีมากกว่า เหล้าขาว 28 ดีกรี และ แสงโสม 40 ดีกรี จะเสียภาษีมากกว่า แม่โขง 35 ดีกรี ในขวดที่เท่ากัน แสดงว่าสุราที่มีปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์มากกว่า ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่า จะต้องรับผิดชอบภาษีมากกว่า
ส่วนสุราที่เสียภาษีตามมูลค่า เช่น เบียร์สิงห์ 6% ขนาด 630 ซีซี และ เบียร์ช้าง 6.4% ขนาด 640 ดีกรี หากคิดภาษีตามปริมาณแอลกออล์บริสุทธิ์ จะเสียภาษีเท่ากับ 3.78 และ 4.096 บาทต่อขวด ตามลำดับ แต่กรมสรรพสามิตจะเลือกเก็บภาษีแบบคิดตามมูลค่า ซึ่งเท่ากับ 20.32 และ 14.95 บาทต่อขวด ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าการคิดภาษีตามปริมาณแอลกออล์บริสุทธิ์ แสดงถึงว่าภาษีตามมูลค่ากรณีนี้ครอบคลุมความรับผิดชอบต่อความเสียหายจากปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์อยู่แล้ว

     สำหรับสาเหตุที่ปัจจุบันสุรามีราคาถูกจนเกิดการบริโภคได้มาก เนื่องจากอัตราภาษีที่จัดเก็บยังห่างจากเพดานอัตราสูงสุด เช่น อัตราภาษีตามปริมาณของสุราขาว เท่ากับ 70 บาทต่อลิตรของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ซึ่งเท่ากับ 17.5% ของอัตราเต็มเพดาน 400 บาทต่อลิตรของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์และอัตราภาษีตามปริมาณของสุราสีของไทยและสุรานำเข้า เท่ากับ 240 บาทต่อลิตรของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ซึ่งเท่ากับ 60% ของอัตราเต็มเพดาน 400 บาท โดยอัตราภาษีตามมูลค่าแม้ว่าจะใกล้อัตราเต็มเพดานมากกว่าอัตราภาษีตามปริมาณแอลกออล์บริสุทธิ์ แต่ก็ยังห่างจากเพดานในผลิตภัณฑ์เช่น สุราขาว อัตราที่เก็บในปัจจุบัน คือ 25% ของราคาจำหน่ายหน้าโรงงาน ซึ่งเท่ากับ 50% ของอัตราเต็มเพดาน สุราพิเศษของไทย(แสงโสม) อัตราที่เก็บในปัจจุบัน คือ 45% ของราคาจำหน่ายหน้าโรงงาน ซึ่งเท่ากับ 90% ของอัตราเต็มเพดาน และเบียร์ อัตราที่เก็บในปัจจุบัน คือ 55% ของราคาจำหน่ายหน้าโรงงาน ซึ่งเท่ากับ 92% ของอัตราเต็มเพดาน

    ทั้งนี้ การขึ้นอัตราภาษีที่จัดเก็บจริง ทั้งวิธีคิดภาษีตามปริมาณแอลกออล์บริสุทธิ์ และตามมูลค่า จะทำให้ภาษีที่เรียกเก็บสูงขึ้นทั้งระบบ ส่งผลให้ราคาจำหน่ายสูงขึ้นทั้งตลาด ซึ่งจะเป็นผลให้การบริโภคสุราโดยรวมลดลง โดยเฉพาะควรพัฒนาระบบภาษีที่ลดแรงจูงใจ ในการผลิตสุราที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เห็นว่า วิธีการเก็บภาษีตามปริมาณแบบก้าวหน้าตามความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ 6% เสียภาษีในอัตราที่สูงกว่า เบียร์ 3%, สุรา 40 ดีกรี เสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าสุรา 28 ดีกรี เป็นต้น น่าจะเป็นทางออกที่ดี    

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013827681541443 Mins