มหาวิบัติของสังคมจากทิศเบื้องบน (ตอน ๒)

วันที่ 24 พย. พ.ศ.2547


 

 

.....๒) นิยมการใส่ความ ด้วยอำนาจความคิดมิจฉาทิฏฐิ หวังจะไดลาภ ยศ สรรเสริญ มากกว่าผู้อื่น ผู้ที่มีอคติ ก็จะพยายามหาวิธีโฆษณาประชาสัมพันธ์ตนเองด้วยวิธีการต่างๆ มีการปรากฏตัวเป็นข่าวตามสื่อเป็นต้น เพื่อให้สังคมเห็นว่าตนนั้นควรได้รับสิ่งที่ตนหวังมากกว่าคนอื่นๆ ที่(คิดว่า) เป็นคู่แข่ง ทั้งๆ ที่ตนควรจะได้รับน้อยกว่า หรือไม่ควรได้รับเลย

ในขณะเดียวกันก็พยายามหาทางกำจัดคู่แข่ง ด้วยการใส่ไคล้คู่แข่ง โดยการพูดเหน็บแนมบ้าง เอาเรื่องส่วนตัวในเชิงลบของคู่แข่งมาเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างมีเลศนัยบ้าง ปั้นน้ำเป็นตัว โดยสรุปก็คือ คนอคติจะมีวิธีหาประโยชน์ใส่ตัวหรือพรรคพวก ด้วยการพูดจาแบบ “ เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น” นั่นเอง

๓) กระทำการใส่ไคล้ นอกจากการกล่าววาจาใส่ความผู้อื่นแล้ว เพื่อให้ความคิดอคติของตนสัมฤทธิผลตามปรารถนา คนมิจฉาทิฏฐิก็จะใช้การกระทำเพื่อเสริมน้ำหนักให้มากขึ้น โดยการทำใบปลิวโจมตีคู่แข่งบ้าง ทำบัตรสนเท่ห์ ถึงผู้บังคับบัญชาของคู่แข่งบ้าง หรือทำเอกสารปลอมเพื่อแสดงการทำผิดกฎหมายของคู่แข่งบ้าง เป็นต้น

ส่วนบางรายที่มีมิจฉาทิฏฐิหนัก ก็ถึงกับตัดคู่แข่งด้วยการใช้กลมารยา ลวงคู่แข่งให้หลงประพฤติผิดศีลธรรมบ้าง มิฉะนั้นก็ใช้วิธีลอบสังหารกันบ้าง กล่าวได้ว่า การกระทำของคนอคติจะมีความรุนแรงเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณค่าแห่งผลประโยชน์ที่เขาคาดหวังเป็นสำคัญ

๓. คฤหัสถ์ขาดความรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ

ถ้าพระภิกษุขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของท่านให้สมบูรณ์ ผลเสียที่จะเกิดประการที่ ๓ คือ คฤหัสถ์ไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ ด้วยการเกี่ยวข้องพัวพันกับอบายมุขเป็นอาจิณ ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณะนิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นได้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑) นิยมชมชอบอบายมุข โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงอบายมุข คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการพนัน แท้ที่จริง อบายมุข หมายถึง เหตุหรือการกระทำที่นำความฉิบหายมาสู่ผู้ปฏิบัติ การพนันเป็นเพียงเหตุอย่างหนึ่งเท่านั้นในอบายมุข ๖ ประการ

เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพสังคมปัจจุบัน ตามเมืองใหญ่โดยทั่วไปนั้น พร้อมที่จะชักจูงโน้มน้าวหรือผลักพันผู้คนทุกเพศทุกวัย เข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับอบายมุข ๖ ประการตลอดเวลา แต่ผู้ที่จิตใจมีภูมิคุ้มกันดี ย่อมสามารถปกป้องคุ้มครองตนเอง ให้รอดพ้นจากการตกเป็นทาสของอบายมุขได้

บุคคลที่จะมีภูมิคุ้มกันจิตใจ คือ สัมมาทิฏฐิ และหิริโอตตัปปะมั่นคง ไม่คลอนแคลนเปลี่ยนเป็นมิจฉาทิฏฐิ โดยทั่วไปแล้วจะต้องได้รับการปลูกฝังอบรมอย่างดีตั้งแต่เล็กแต่น้อยจากทิศเบื้องหน้า และเบื้องขวาเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันทิศทั้ง ๖ นี้ก็มีพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสม ให้ยึดเอาเป็นตัวอย่างได้เสมอ มิใช่เป็นประเภทสอนลูกหรือลูกศิษย์ให้ทำดี แต่ผู้สอนกลับประพฤติตรงข้าม เยาวชนประเภทนี้ย่อมหวังได้ว่าพวกเขาจะมีภูมิคุ้มกันจิตใจที่มีประสิทธิภาพสูง ยากที่จะสูญสลายกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปได้ง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม ถ้าทิศเบื้องบนขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ การประพฤติปฏิบัติของอีก ๕ ทิศ ก็จะเบี่ยงเบนจากสัมมาทิฏฐิไป นั่นคือ แต่ละคนในแต่ละทิศย่อขาดภูมิคุ้มกันจิตใจ จึงมีลักษณะนิสัยเป็นคนมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งอาจจะมากน้อยแตกต่างกันไปตามอิทธิพลของบุคคลที่แวดล้อมพวกเขา และตามแรงบุญ-บาปที่ติดวิญญาณธาตุของแต่ละคนมาแต่กำเนิด

ถ้าเป็นเช่นนั้น เยาวชนทั้งหลาย นอกจากจะไม่ได้รับการปลูกฝังสัมมาทิฏฐิแล้ว ยังจะมีตัวอย่างผู้ใหญ่มิจฉาทิฏฐิ ให้ลอกเลียนแบบอีกด้วย ดังปรากฏให้เห็นเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน

สิ่งที่เย้ายวนกิเลสในใจคนเรามากที่สุด ไม่มีอะไรเกินอบายมุข ๖ บุคคลที่มีภูมิคุ้มกันจิตใจเป็นอย่างดี ย่อมสามารถประคองตัวให้พ้นจากการเป็นทาสของอบายมุข แต่ในทางกลับกัน บุคคลที่ขาดภูมิคุ้มกันจิตใจ คือบรรดามิจฉาทิฏฐิบุคคลทั้งหลาย ย่อมมีความนิยมชมชอบอบายมุขเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีความเห็นผิดตั้งแต่เบื้องต้นว่า อบายมุขเป็นสิ่งที่คุณให้แก่ชีวิตอยู่ไม่น้อย เช่น เด็กหนุ่มส่วนมากเห็นว่าการดื่มสุรา การสูบบุหรี่ การเที่ยวกลางคืน นอกจากจะทำให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจจากการเสพสิ่งเหล่านั้น และการร่วมวงสังสรรค์กันระหว่างเพื่อนฝูงแล้ว ยังจะได้รับประสบการณ์ชีวิตที่ทำให้เขารู้สึกเป็น “ ลูกผู้ชาย” ได้เต็มภาคภูมิอีกด้วย

ในปัจจุบันไม่เฉพาะเด็กหนุ่มเท่านั้น แม้เด็กสาวก็มีพฤติกรรมทำนองเดียวกับเด็กหนุ่ม ซึ่งพฤติกรรม “ ใจแตก” ของเยาวชนเหล่านั้นนอกจากจะก่อให้เกิดปัญหาเงินทองขาดมือแล้ว ยังเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จด้านการศึกษาเล่าเรียนของพวกเขาอีกด้วย

คนส่วนมากที่พัวพันหมกมุ่นกับการดื่ม การเที่ยวกลางคืนย่อมต้องใช้จ่ายเงินทองฟุ่มเฟือย ทำให้รายจ่ายเกินรายรับ คนเหล่านี้ จึงหันเข้าหาการพนัน เพราะคิดว่าเป็นวิธีหาเงินได้ง่าย คราใดที่ชนะพนันก็จะย่ามใจเสี่ยงโชคมากขึ้น หรือใช้จ่ายในเรื่องการดื่มการเที่ยวหนักยิ่งขึ้น แต่คราใดที่แพ้พนัน ก็อาจต้องใช้วิธีกู้หนี้ยืมสิน ลักขโมย จี้ปล้น ไปจนถึงการค้ายาเสพติด

กล่าวได้ว่าคนที่พัวพันหมกมุ่นอยู่กับอบายมุข ชีวิตของเขาก็จะยิ่งจมอยู่กับความเลวร้ายหนักขึ้นๆ ตราบใดที่เขายังไม่ล้มหมอนนอนเสื่อเรื่องที่เขาจะกลับตัวกลับใจเป็นคนดี มีสัมมาทิฏฐินั้นยากที่จะหวัง

๒) มีพฤติกรรมตลบตะแลง ผู้ที่จมอยู่กับอบายมุข จะมีปัญหาต่างๆ รุมเร้าอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่ปัญหาขาดแคลนเงินสำหรับจับจ่ายใช้สอยประจำวัน ทำผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย ผิดคำพูด คนเหล่านี้จึงต้องพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อเอาตัวรอดไปแต่ละครั้งๆ พวกเขาจึงมีพฤติกรรมพูดอย่างหนึ่ง แต่ทำอีกอย่างหนึ่ง เช่น เมื่อหยิบยืมเงินเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องไป ก็สัญญาว่าจะนำมาใช้คืนในวันสิ้นเดือน แต่ครั้นถึงวันกำหนดนัด ก็ไม่ทำตามสัญญา โดยขอผัดผ่อนไปเรื่อย หรือมิฉะนั้นก็หลบลี้หนีหน้าไปนานๆ แล้วกลับมาขอยืมใหม่ เป็นต้น

คนที่จมอยู่กับอบายมุข จึงเป็นคนที่พูดจาเชื่อถือไม่ได้ เป็นคนที่ไม่รักษาคำพูด มีพฤติกรรมตลบตะแลง เป็นนิสัย

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013193011283875 Mins