สภาทนายความ

วันที่ 21 พย. พ.ศ.2548

 

   

  

สภาทนายความ

Lawyers Council of Thailand

                                          ๗/๘๙ อาคาร ๑๐ ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐

 

ที่ สท. ๒๙๗๕/๒๕๔๘

๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๘

เรื่อง ตอบปัญหาข้อกฎหมาย

เรียน นายองอาจ ธรรมนิทา

ผู้แทนเครือข่ายเยาวชนคนรักชาติ

อ้างถึง หนังสือของท่าน เรื่อง ขอปรึกษาข้อกฎหมาย ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๘

 

          ตามหนังสือที่อ้างอิง ท่านได้ปรึกษาข้อกฎหมายมายังสภาทนายความ เกี่ยวกับเรื่องการขอจดทะเบียนของบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งโดยปกติจะเปิดโอกาสให้บริษัทที่เข้าจดทะเบียนดังกล่าว สามารถระดมทุนจากประชาชนในการขยายกิจการของบริษัทผ่านตลาดหุ้นได้ในรูปแบบของการออกตราสารอนุพันธ์ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่บริษัทดังกล่าวนั้น สภาพทนายความได้พิจารณาแล้ว ขอให้ความเห็นตามลำดับคำถามของท่าน ดังนี้

 

๑. ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมของประเทศโดยรวม จึงไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ ๔ (๑) ลักษณะของธุรกิจที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่กำหนดว่า จะต้องเป็นธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามประกาศของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๓๕ แต่ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต.จะพิจารณารับธุรกิจดังกล่าวเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียนหรือไม่ และด้วยเหตุผลอย่างไร ยังไม่มีข้อเท็จจริงให้พิจารณาในขณะนี้ได้ชัดเจน และประเด็นดังกล่าวก็เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจและเหตุผลของคณะกรรมการ ก.ล.ต. เอง กรณีตามข้อเท็จจริงในขณะนี้ไม่ปรากฏว่ามีการทุจริตในการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ จึงยังไม่อาจดำเนินคดีความผิดตามมาตรา ๑๕๗ ประมวลกฎหมายอาญาได้ อย่างไรก็ดีผู้มีส่วนได้เสียอาจพิจารณาดำเนินคดีทางปกครองในศาลปกครองได้ หากมีข้อเท็จจริงที่ชี้ชัดว่าได้มีนโยบายรับหลักการหรือรับคำขอไว้เพื่อพิจารณาแล้ว

 

๒. โดยข้อถือปฏิบัติตามปกติมติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ต้องสอดคล้องกับประกาศของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งได้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย และเป็นที่ทราบของสาธารณชนทั่วไป ส่วนมติที่จะมีภายหลังควรสอดคล้องกับประกาศไม่ควรมีมติขัดหรือแย้งหรือยกเลิกข้อกำหนดของประกาศที่ใช้อยู่เว้นแต่จะมีกฎหมายให้อำนาจทำได้เท่านั้น

 

๓. กรณีตามข้อเท็จจริง คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจไม่นำมติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในปี ๒๕๓๘ มาใช้เพราะจะขัดแย้งกับประกาศที่ใช้บังคับอยู่ ซึ่งหากมีการกระทำเช่นนั้นจริง ผู้มีส่วนได้เสียก็มีสิทธิ์ที่จะนำคดีไปสู่ศาลปกครองเพื่อให้ศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษาชี้ขาดได้

 

๔. ผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีมาก ซึ่งตามที่ทราบประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีสถิติประชาชนดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศทั่วโลกและมีอุบัติเหตุทางรถยนต์อันเกิดจากการเสพสุราของผู้ขับขี่มากที่สุด จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ควรจะนำมาใช้ในการพิจารณาอนุญาตให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทจดทะเบียนด้วย หากบริษัทผลิตสุราที่เข้ามาจดทะเบียนสามารถผลิตสุราขายได้ในระดับราคาที่อาจจูงใจผู้บริโภคได้มากขึ้นจริง คงต้องถือเป็นนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลควรเข้ามาดูแลและป้องปรามเพื่อให้ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เป็นผลจากการเสพสุราของประชาชนให้ลดน้อยลง

                                                          

                                                                                                                 ขอแสดงความนับถือ

 

                                                                                                             (นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0052242517471313 Mins