อภัยให้หายแค้น!

วันที่ 04 มค. พ.ศ.2557

 

อภัยให้หายแค้น!


        จากข่าวคราวทางหน้าหนังสือพิมพ์ที่เป็นเหตุสะเทือนขวัญไปทั่วโลกขณะนี้ คงหนีไม่พ้นการปะทะกันระหว่างชาวมุสลิมและฮินดู ซึ่งนับวันจะกลายเป็นชนวนสงครามย่อมๆ ที่ไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงได้ง่ายๆ เริ่มจากสาเหตุความแค้นของคนกลุ่มเล็กๆเพียงไม่กี่คน ที่ต้องการตอบแทนฝ่ายตรงข้ามให้สมแค้น ด้วยการทำลายชีวิตผู้บริสุทธิ์นับร้อยบนขบวนรถไฟสายหนึ่งในประเทศอินเดีย จึงเกิดการตอบโต้กันไปมา ที่เรียกว่า "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" ของผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น

 

       จากเรื่องราวความแค้นส่วนตัวได้ลุกลามเป็นความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนา ผู้ที่อ่อนแอกว่าต่างร้องขอชีวิตท่ามกลางกองเลือดและคราบน้ำตา สร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้คนทุกหย่อมหญ้า เกรงว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะกลายเป็นยุคมิคสัญญีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

      แม้ว่าผู้ที่สูญเสียโดยมากจะระงับโทสะไว้ไม่ได้ เพราะการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รักนั้นใหญ่หลวงนัก จนต้องขอประกาศสู้ตายไปทุกแห่งหนไม่ว่าจะต้องฆ่าผู้คนมากเท่าใดก็ตาม แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่าง ที่ยังพอทำให้อุ่นใจว่าผืนดินไม่ไร้เท่าใบพุทธราไปเสียทีเดียว นั่นคือ คำสอนในศาสนา ยังคงอยู่ในหัวใจและสายเลือดของผู้ศรัทธา เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ยอมให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ร่วมกันสวดมนต์และอธิษฐานขอให้กระแสแห่งความเมตตาแผ่ไปกระทบคนรุ่มร้อน ให้หายจากวังวนแห่งความหายนะที่คอยทำลายทั้งตนเองและผู้อื่น

 

        คนที่ร่วมอธิษฐานในครั้งนี้หลายคนเป็นผู้ที่สูญเสีย หลายเป็นผู้ถูกทำร้าย แต่ไม่เคยคิดที่จะตอบโต้ เพราะรู้ว่าจองเวรกันอยู่อย่างนี้คงไม่มีวันจบสิ้น แม้จะหม่นไหม้อยู่ในใจก็ขอข่มไว้เพราะไม่อยากสร้างความทุกข์เพิ่มอีก จึงขอทุ่มชีวิตจิตใจ " อภัย(ซะ)ให้หายแค้น " แม้ว่าตนเองจะต้องตายเช่นกันท่ามกลางสถานการณ์เลวร้าย วิธีการนี้ดูเหมือนเป็นแนวทางของผู้ชาญฉลาดที่สุด ที่รู้จักป้องกันภัยให้กับตนเองทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ด้วยการดับต้นเหตุของตัวปัญหาที่มาจาก "กิเลส" ในใจเรานั่นเอง ตอกย้ำความจริงแท้ของชีวิตที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "จงระงับการจองเวรด้วยการไม่จองเวร" เสียเถิด เพราะ " โทษใดเสมอด้วย โทสะ เป็นไม่มี " คอยแต่จะก่อทุกข์ก่อโทษให้ตนเองไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ระงับความโกรธเสียได้จึงได้ชื่อว่า ทำสิ่งที่ทำได้ยาก แม้มนุษย์และเทวดาก็สรรเสริญ

 

         การรบชนะกับบุคคลอื่นว่าเก่งแล้ว แต่บุคคลผู้รบชนะใจตนเอง ไม่ให้กระทำความชั่วนั้นประเสริฐยิ่งกว่า เพราะเป็นชัยชนะที่ไม่มีวันหวนกลับมาแพ้อีก…ตลอดไป
แล้วอย่างนี้ จะไม่ให้…" อภัย ให้หายแค้น " ได้อย่างไร ?

 

อุบลเขียว

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0052578330039978 Mins