ทุกข์และโทษแห่งการผิดศีล

วันที่ 28 กพ. พ.ศ.2546

.....แม้ว่าทุกข์โทษบางประการจากการผิดศีล อาจเป็นสิ่งเหลือวิสัย ที่เราจะรู้เห็นได้ในชาตินี้ แต่ยังมีโทษทัณฑ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจน นั่นก็คือ การถูกลงโทษจากกฏหมายบ้านเมือง เพราะการก่ออาชญากรรมทุกชนิด ล้วนมาจากการกระทำที่ผิดศีลทั้งสิ้น ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด กฎหมายบ้านเมืองย่อมมีบทลงโทษสำหรับผู้ผิดศีลไว้เสมอ ส่วนผู้ที่รักษาศีลเป็นอย่างดี ย่อมเป็นผู้ที่ไม่มีภัยจากกฏหมายทั้งปวง

 

.....ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า*

 

....."ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเคยได้เห็นหรือได้ยินบ้างไหมว่า บุรุษนี้ละปาณาติบาตเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาตแล้ว พระราชาทั้งหลายจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำการตามปัจจัย เพราะการงดเว้นจากปาณาติบาตเป็นเหตุ?"

 

....."ไม่เคยเลย พระเจ้าข้า"

 

....."ถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน...มีแต่เขาจะประกาศการกระทำชั่วว่า คนผู้นี้ฆ่าหญิงหรือชายตาย พระราชาทั้งหลายจึงจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำการตามปัจจัย เพราะปาณาติบาตเป็นเหตุ, อย่างนี้เธอทั้งหลายเคยเห็นหรือเคยได้ยินบ้างไหม ?"

 

....."เคยเห็น เคยได้ยิน และจักได้ยินต่อไปด้วย พระเจ้าข้า"
ทุกข์ภัยอันใหญ่หลวงที่เกิดจากการล่วงละเมิดศีล ทุกข์ภัยนั้นเป็นอย่างไร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน สัพพลหุสสูตร** ว่า

 

....."ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาต , อทินนาทาน , กาเมสุมิจฉาจาร , มุสาวาท , ปิสุณาวาจา , ผรุสวาจา , สัมผัปปลาปะ , การดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัย อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้ไปเกิดในนรก ในกำเนิดดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย

 

.....ผลกรรมแห่งปาณาติบาตอย่างเบาที่สุด ย่อมทำให้เกิดเป็นมนุษย์ที่มีอายุน้อย

.....ผลกรรมแห่งอทินนาทานอย่างเบาที่สุด ย่อมยังความพินาศแห่งโภคะให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

.....ผลกรรมแห่งกาเมสุมิจฉาจาร อย่างเบาที่สุด ย่อมยังศัตรูคู่เวรให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

.....ผลกรรมแห่งมุสาวาท อย่างเบาที่สุด ย่อมยังการกล่าวตู่ด้วยคำอันไม่เป็นจริง ให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

.....ผลกรรมแห่งปิสุณาวาทอย่างเบาที่สุด ย่อมยังการแตกจากมิตรให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

.....ผลกรรมแห่งผรุสวาจาอย่างเบาที่สุด ย่อมยังเสียงที่ไม่น่าพอใจให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

.....ผลกรรมแห่งสัมผัปปลาปะอย่างเบาที่สุด ย่อมยังคำไม่ควรเชื่อถือ ให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

.....ผลกรรมแห่งการดื่มสุราและเมรัยอย่างเบาที่สุด ย่อมยังความเป็นบ้าให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์"

.....จากพระสูตรนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ผิดศีล ๕ ย่อมมีโทษหนักและเบาตามลำดับ คือทำให้เกิดเป็น สัตว์นรก เปรต และสัตว์ดิรัจฉาน

 

.....โดยที่โทษอย่างเบาที่สุดของการฆ่าสัตว์ คือ ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ผู้มีอายุสั้น ต้องพบกับโรคภัย ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

 

.....โทษอย่างเบาที่สุดของการลักขโมย คือ ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ผู้ยากจนขัดสน หากเคยทำทานมามาก เกิดมามั่งมีเงินทอง แต่ในที่สุดทรัพย์เหล่านั้น ก็จะต้องพินาศไปด้วยภัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากน้ำ จากไฟ จากโจรผู้ร้าย หรือคนคดโกง

 

.....โทษอย่างเบาที่สุดของการประพฤติผิดในกาม คือ ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ผู้มีศัตรูคู่เวรมาก ยากจะหาความสงบสุขในชีวิต

 

.....โทษอย่างเบาที่สุดของการพูดโกหก คือ ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ผู้ถูกกล่าวหาด้วยเรื่องไม่จริง บางคนถูกใส่ร้ายป้ายสีจนเสียผู้เสียคน บางคนก็อาจถึงขั้นฆ่าตัวตาย

 

.....โทษอย่างเบาที่สุดของการพูดส่อเสียด คือทำให้เกิดเป็นมนุษย์ผู้ที่มักจะมีเรื่องแตกร้าวกับมิตรสหาย ต้องทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่นอยู่เสมอ

 

.....โทษอย่างเบาที่สุดของการพูดคำหยาบ คือ ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ผู้ที่มักจะได้ยินเสียงอันไม่น่าพอใจ ไม่น่าฟัง แม้ต่อมาตนเองจะเป็นคนอ่อนน้อม ไม่ด่าว่าใคร แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็จะได้ยินแต่เสียงด่าทอ ทะเลาะวิวาท ให้ร้อนหูอยู่เสมอ

 

.....โทษอย่างเบาที่สุดของการพูดเพ้อเจ้อ คือ ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ผู้ที่ไม่มีใครเชื่อถือ ทำอะไรก็มักจะไม่ประสบความสำเร็จ

 

.....โทษอย่างเบาที่สุดของการดื่มสุราเมรัย คือ ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ผู้มีจิตใจเลื่อนลอย ขาดสติ หรือเป็นบ้า เพราะได้สั่งสมความประมาทขาดสติ ให้แก่ตนเองด้วยการดื่มน้ำเมาเสมอมา

.....เพียงโทษอย่างเบาที่สุด ยังทำให้ชีวิตที่เป็นมนุษย์ตกต่ำลำบากถึงเพียงนี้ จึงสุดที่จะคิดคำนวณได้ว่า โทษหนักในนรก เปรต ดิรัจฉานนั้นจะเป็นชีวิตที่ทุกข์ทรมานเพียงใด

 

.....อ้างอิง : * อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต บาลีสยามรัฐ เล่ม ๒๒ ข้อ ๑๗๘ หน้า ๒๓๒
** อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต บาลีสยามรัฐ เล่ม ๒๓ ข้อ ๑๓๐ หน้า ๒๕๑

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013064662615458 Mins