อบรม “ธรรมทายาท”

วันที่ 10 มีค. พ.ศ.2551

ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน พ.ศ. 2551 ระหว่างเดือน มีนาคม-เมษายน-พฤษภาคม ทางวัดพระธรรมกาย ได้จัดโครงการอบรมธรรมทายาทและอุปสมบทหมู่ จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ ยุวธรรมทายาท ระดับการศึกษา (ป.5-ป.6) มัชฌิมธรรมทายาท (ม.1-ม.6) ธรรมทายาท (ปวส.-อุดมศึกษา) และรุ่นบูชาธรรม 64 ปีพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) โดยคาดว่าจะมีเยาวชนเข้าร่วมประมาณ 1,500-2,000 คน

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยปลูกฝังศีลธรรมและคุณธรรมให้แก่เยาวชนตามหลักพุทธวิธี (ศีล สมาธิ ปัญญา) ใช้เวลาในช่วงการปิดภาคเรียนของทุก ๆ ปี เปิดรับสมัครนิสิตนักศึกษาชาย เข้ามาฝึกฝนตนเองด้วยการปักกลดอยู่ธุดงค์ ฟังธรรม รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมะขั้นพื้นฐานในพุทธศาสนา ฝึกฝนตนเองตามพระธรรมวินัย ทั้งนี้ โครงการอบรมธรรมทายาทของวัดพระธรรมกายจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2522 นับจนถึง พ.ศ. 2550 มีผู้ผ่านการอบรมไปแล้วประมาณ 40,000 คน

“ธรรมทายาท” คือ “ผู้รับมรดกธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

โดยความหมาย “ธรรมทายาท” คือ “ ผู้ตั้งใจฝึกหัดอบรมตนตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด มีความประพฤติดีงาม ชนทั้งหลายสามารถถือเป็นตัวอย่างได้ ยอมสละความสุขส่วนตนทางโลก อุทิศชีวิตเข้ารับใช้พระศาสนา สังคม และประเทศชาติด้วยความเต็มใจ โดยไม่หวังเอาลาภ ยศ สรรเสริญ และประโยชน์สุขส่วนตัวเป็นสิ่งตอบแทน แต่มุ่งที่จะประกอบบุญกุศล สร้างสมบารมี ตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมัยเมื่อยังทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่”

การที่จะบำเพ็ญตนดังนี้ได้ จำเป็นต้องหมั่นศึกษาฝึกฝนอบรมตนให้มีความรู้ ความสามารถทั้งทางโลกและทางธรรม และสร้างนิสัย ความเป็นผู้นำ ให้เกิดขึ้นแก่ตนเองด้วย “ธรรมทายาท” ที่แท้จริงจึงจำเป็นต้องฝึกหัดอบรมตนเอง ให้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

- ต้องตั้งใจศึกษาหาความรู้ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ให้เป็นบัณฑิต เป็นพหูสูต ทั้งทางโลก และทางธรรม

- ต้องมีหิริ โอตตัปปะ ตั้งใจละชั่ว ประพฤติชอบ ประกอบความเพียร เพื่อให้กาย และใจใสสะอาดอยู่เป็นนิตย์

- ต้องฝึกตนให้เป็นผู้มีขันติ เข้มแข็ง อดทน อดกลั้นต่ออำนาจ ฝ่ายต่ำของกิเลส

- ต้องฝึกตนให้เป็นคนรักสงบ รังเกียจการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การรังแก เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

- ต้องสำรวมระวังความประพฤติให้ดีงาม รักศีลยิ่งกว่าชีวิต ฝึกอบรม กิริยามารยาทให้เรียบร้อยอยู่เสมอ

- ต้องฝึกตนให้เป็นคนรู้จักประมาณตน ไม่เห็นแก่กิน ไม่ฟุ่มเฟือย หรูหรา

- ต้องตั้งใจสละความสุขส่วนตัวประพฤติพรหมจรรย์ คือเว้นจาก การเสพย์กาม และครองเรือนเยี่ยงคนคู่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะบวช หรือไม่ก็ตาม

- ตั้งใจฝึกสมาธิให้แก่กล้ายิ่งขึ้น โดยไม่ทอดธุระ

- ต้องตั้งอยู่ในความกรุณาอันยิ่งใหญ่ สามารถอุทิศตนเข้ารับใช้สังคม และประเทศชาติ ด้วยการนำเอาคำสั่งสอนอันประเสริฐ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปประกาศเผยแผ่ให้ชาวโลกเกิด ความเห็นถูก เป็นการจัดแสงสว่างทางปัญญา ส่องวิถีทางที่ถูกต้องสู่มรรคผล นิพพาน อันเป็นเป้าหมายปลายทางของทุกคน

การบวช คือการยกฐานะจากผู้นับถือพระรัตนตรัย ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย เป็นสิ่งประเสริฐยิ่งของมนุษยชาติ เป็นหนทางไปสู่พระนิพพาน

ฉะนั้น พระภิกษุธรรมทายาทจึงมิได้บวชอย่างที่เรียกว่า ทำตามขนบธรรมเนียมประเพณี ไม่ใช่เป็นเพียงการไปจากบ้านเรือน และเลิกนุ่งห่มแบบฆราวาสเท่านั้น แต่เป็นการบวชทั้งกายและใจเพื่ออบรมตนให้เปี่ยมล้นด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา แม้ลาสิกขากลับไปครองเพศฆราวาส ก็ยังเป็นผู้ที่มีแนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม มีความรู้คู่คุณธรรม พร้อมที่จะนำประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการอบรมธรรมทายาท หรือต้องการร่วมในงานบวชสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.dmycenter.com หรือที่ ศูนย์ฝึกอบรมพระธรรมทายาท วัดพระธรรมกาย โทร. 0-2831-1848, 0-2831-1849, และ 0-86971-9000 และทุกวันอาทิตย์ บริเวณเสา N7 ณ สภาธรรมกายสากล

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.019139083226522 Mins