การอ่านสร้างปัญญา

วันที่ 07 เมย. พ.ศ.2550

 

     มีข้อมูลมาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติว่า คนไทยเราอ่านหนังสือน้อยมาก เฉลี่ยแล้วตกปีหนึ่งคนละ 5 เล่มเท่านั้น ในจำนวน 5 เล่มที่ว่านี้ยังรวมหนังสือเรียนอีกด้วย ถ้าไม่นับหนังสือเรียนไม่รู้ว่าจะเหลือถึง 1 เล่มหรือเปล่า ยิ่งถ้าไม่นับหนังสือพิมพ์อาจจะแทบไม่เหลือเลย เพระคนส่วนใหญ่จะใช้เวลาไปกับการดูทีวี เล่นเกมส์กันเสียมาก เมื่อเทียบกับคนในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าเขาอ่านหนังสือปีหนึ่ง 50 เล่ม มากกว่าคนไทย 10 เท่า

 

    เคยมีคำถามว่าการฟังกับการอ่านต่างกันอย่างไร ใช้การดูทีวีแทนการอ่านหนังสือไม่ได้หรือ เพราะต่างก็เป็นที่มาของข้อมูลความรู้เหมือนกัน คำตอบคือ อาจจะพอแทนกันได้ แต่ไม่สมบูรณ์

 

     เราลองสังเกตดูอย่างนี้ ถาเราไปดูภาพยนตร์แล้วนำมาเล่าให้เพื่อนฟัง เราแทบไม่ต้องคิดอะไรมาก ดูมาอย่างไรได้ยินได้ฟังมาอย่างไรก็เอามาเล่าต่อ อาจจะใช้เวลา 20 นาที หรือ 30 นาที ก็แล้วแต่ว่าเรื่องนั้นมีความยาวหรือมีความละเอียดซับซ้อนแค่ไหน

 

     แต่ถ้าหากให้เราเขียนจดหมายไปเล่าให้เพื่อนที่อยู่ต่างถิ่นอ่าน เรื่องเดียวกันเราอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน ๆ เลยทีเดียว ดงที่บางคนบอกว่าเขียนจดหมายยาวแค่ 3 หน้า บางทีใช้เวลา 3 วัน ยังเขียนไม่เสร็จ เพราะในการเขียนเราต้องใช้เวลาเรียบเรียง ถ้าเป็นกาพูดก็พูดได้ทันที คิดอะไรได้ก็พูดไป วกหน้าวนหลังบ้าง ก็ไม่เป็นไร แต่พอเป็นการเขียนจะต้องมีการลำดับความคิด มีการกลั่นกรองคัดเลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม เพราะเรามีเวลาหยุดคิดมากกว่า เพื่อถ่ายทอดให้ตรงกับที่เราต้องการสื่อออกไปให้มากที่สุด เขียนเสร็จก็ตรวจทานได้อีกว่า ประเด็นครบหรือไม่ ตกหล่นอะไรไหม การเขียนจึงใช้เวลามากกว่าการพูด

 

     โดยสรุปคือ ข้อมูลที่ถูกถ่ายทอดเป็นตัวอักษร จะผ่านการกลั่นรองพินิจพิจารณามาอย่างละเอียดรอบคอบมากว่าข้อมูลจากการพูด นี่คือข้อสังเกตประการแรก

 

    ประการต่อมาก็คือ ขอให้เราลองเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการรับสารจากการดูทีวีเทียบกับการอ่านหนังสือ เราจะพบว่า แม้ข่าวสารนั้นจะมีเนื้อความคล้ายกัน แต่ในการดูทีวีความละเมียดละมัยในการไตร่ตรองพินิจพิจารณาของเราจะหย่อน เพราะเราเป็นผู้รับข้อมูล โดยกึ่งเหมือนถูกบังคับ ลองคิดดู เวลาเราดูทีวีเราย่อมไม่สามารถบอกเขาให้พูดช้า ๆ หน่อย ให้แสดงช้า ๆ หน่อยเพราะเราตามไม่ทัน ขอเวลาหยุดคิดก่อน ทำได้ไหม คำตอบคือ ทำไม่ได้ เราถูกบังคับให้รับข้อมูลเร็วช้าตามแต่เขาจะป้อนให้

 

     แต่ถ้าเป็นการอ่านหนังสือนอกเหนือจากผู้ให้ข่าวสารแก่เรา เขาได้ไตร่ตรองพินิจพิจารณาการเรียบเรียงข้อมูลอย่างดีแล้ว เราเองยังมีสิทธิหยุดคิดได้ จะอ่านเร็วก็ได้ จะอ่านช้าก็ได้ อ่านไปแล้วเกิดข้อคิดอะไรขึ้นมา เราก็สามารถหยุดอ่านชั่วคราวนั่งคิดตรึกตรองซัก 10 นาทีก็ทำได้ อยู่ที่เรา เราเป็นผู้กำหนดเอง ดังนั้นข้อมูลที่เราได้รับจะถูกย่อยอย่างดี และเป็นประโยชน์กับตัวเรามาก

 

     แม้หนังสือที่เป็นเรื่องแต่ง หากเขียนได้ดีก็มีแง่คิดที่น่าสนใจ เป็นประโยชน์ ยิ่งหนังสือที่ออกเป็นเชิงวิชาการ ผู้เขียนเขาต้องเค้นความสามารถและสติปัญญาที่มีอยู่ทั้งหมดออกมาอย่างเต็มที่ กว่าจะได้หนังสือเล่มหนึ่งบางครั้งหมดเวลาไปหลาย ๆ ปีเลยทีเดียว ต้องค้นคว้าหาข้อมูล ขบคิดพิจารณามากมาย กว่าจะกลั่นผลึกความคิดถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรเป็นเล่ม ยิ่งหนังสือดี ๆ ที่ได้รับความนิยม ผู้เขียนมีสติปัญญามาก มีความสามารถมาก หนังสือเล่มนั้นย่อมเสมือนกลั่นเอาความคิดสติปัญญาระดับโลกมารวมบรรจุไว้ ถ้าเราได้อ่านและได้ไตร่ตรองอย่างดี ก็จะเป็นกาย่นเวลาให้ตัวเองอย่างมหาศาลเลยทีเดียว แทนที่เราจะต้องมานั่งคิดทุกอย่างด้วยตัวเอง เราจะทำหน้าที่เป็นผู้รับข้อมูล กลั่นกรองพิจารณาแล้วก็เลือกรับนำมาใช้ในสิ่งที่ถูกต้อง เราจะได้ประสบการณ์อย่างดีเยี่ยม จากการอ่านหนังสือเหล่านี้ เราอ่านไปสิบเล่ม ก็เท่ากับเราได้คว้าสิ่งที่เป็นแก่นความคิดของผู้มีสติปัญญาถึงสิบคน อ่านไปร้อยเล่มก็เท่ากับได้รับสติปัญญาของคนเป็นร้อยคน ยิ่งหากเราสามารถวิเคราะห์ไตร่ตรอง จนกระทั่งความรู้เหล่านั้นถูกหลอมรวมเข้ากับฐานข้อมูลเดิมในใจของเรา ตกผลึกเป็นข้อมูลหรือแนวทางให้เราใช้ในการตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ต่อไปได้ นับเป็นประโยชน์แก่เราอย่างยิ่ง

 

     การอ่านจึงเป็นสิ่งที่ให้คุณค่ามหาศาล พวกเราจึงควรรักการอ่านให้มากกว่านี้ อาตมภาพยังจำได้ สมัยเด็ก ๆ ความที่ทุกคนในบ้านเป็นนักอ่าน โยมพ่อก็ชอบอ่านหนังสือ โยมแม่ก็เป็นนักอ่าน พี่ ๆ ทุกคนได้ดูพ่อแม่เป็นแบบอย่างก็เป็นนักอ่านเหมือน ๆ กัน อาตมภาพก็เลยสนใจการอ่านตั้งแต่ยังเล็ก แม้ในขณะที่ยังอ่านหนังสือไม่ออกก็นอนหนุนตักโยมแม่ ฟังท่านเล่านิทาน เนื้อหาในนิทานส่วนใหญ่เป็นคติธรรมทั้งนั้น เรื่องความเคารพบ้าง ความกตัญญูบ้าง ความเสียสละบ้าง ซึ่งท่านก็นำมาจากหนังสือที่ท่านอ่าน ตัวเราก็รอว่าเมื่อไร จะอ่านหนังสือออก จะได้ไปอ่านให้หนำใจเลย

 

     พอขึ้น ป.1 เริ่มจะอ่านหนังสือออก ก็รีบไปหาหนังสือมาอ่าน แรก ๆ หนังสือที่อ่านก็มักจะเป็นนิทานก่อนนอนตามประสาเด็ก ต่อมาเป็นนิยายกำลังภายใน นิยายไทย นิยายจีนก็อ่าน อ่านมากเข้าก็ค่อย ๆ พัฒนาต่อไปจนถึงเรื่องในเชิงพงศาวดาร สามก๊กเลย เปาบุ้นจิ้นเอย ซ้องกั๋งเอย ก็อ่านไปเรื่อย ๆ จนถึงรามเกียรติ์ ตามด้วยขุนช้างขุนแผน ก็ค่อยอ่านพัฒนาไป พออ่านมากเข้า ๆ จะมีความคุ้นเคยกับการอ่านโดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะนิยายทั่ว ๆ ไป แต่เริ่มเข้าสู่หนังสือที่เป็นวิชาการและมีสาระมากขึ้น ๆ

 

     ตอนย้ายบ้านจากทางใต้ไปอยู่สกลนคร ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบ ป.4 และกำลังจะขึ้น ป.5 จำได้ว่าวันที่ไปโรงเรียนวันแรกเมื่อได้รู้จักเพื่อนที่เป็นคนท้องถิ่น ประโยคแรกที่ถามเพื่อนคือ ห้องสมุดประชาชนของจังหวัดสกลนครอยู่ที่ไหน เพราะไปดูห้องสมุดของโรงเรียนแล้ว พบว่ามีหนังสืออยู่นิดเดียว จึงอยากจะไปห้องสมุดประชาชน เพราะคิดว่าน่าจะมีหนังสือมากกว่า แต่ถามเพื่อน ๆ แล้วก็ไม่มีใครรู้เลยว่าห้องสมุดประชาชนอยู่ที่ไหน จึงต้องขี่จักรยานตระเวรหารอบเมือง หาอยู่เป็นสัปดาห์จนสุดท้ายก็พบอยู่ในอาคารเหล่ากาชาดของจังหวัด เห็นแล้วก็ดีใจรับเข้าไปทันที จากนั้นมากทุกเสาร์-อาทิตย์จะไปขลุกอยู่แต่ในห้องสมุด แปดโมงครึ่งไปรอแล้ว พอบรรณารักษ์มาเปิดห้องสมุดก็เข้าไปอ่าน พักเที่ยงห้องสมุดปิด บรรณารักษ์ไปทานข้าว ก็ยืมหนังสือมานอนอ่านใต้ต้นไม้ที่หน้าห้องสมุด ห่อข้าวไปทานด้วย บ่ายโมงห้องสมุดเปิดก็เข้าไปอ่านต่อ พอสี่โมงห้องสมุดปิดก็ยืมกลับมาอ่านที่บ้าน อ่านจนบางครั้งเมื่อยตารู้สึกร้อนตา เลยเอาผ้าเช็ดหน้า ห่อน้ำแข็งแล้วมาอังตา จึงถูกคุณพ่อดุเอา บอกว่าห้ามทำอย่างนี้ อ่าน หนังสือ พ่อไม่ห้ามหรอก แต่ถ้าเมื่อยตาต้องพัก เอาน้ำแข็งมาอังตาไม่ได้ เดี๋ยวตาจะเสีย ท่านบอกอย่างนั้นก็ต้องยอมฟังท่าน แต่พอท่านเผลอก็แอบไปอ่านอีกแล้ว เพราะมีเรื่องที่อยากจะรู้เยอะไปหมด

 

      ไปห้องสมุดบ่อยจนคุ้นกับบรรณารักษ์ วันไหนถ้าแปดโมงครึ่งบรรณารักษ์ยังไม่มาเปิดห้องสมุด อาตมภาพก็จะปั่นจักรยานไปตามถึงบ้านเลย บอกคุณลุงถึงเวลาแล้ว บรรณารักษ์ก็จะหัวเราะแล้ว ก็มาเปิดห้องสมุดด้วยกัน ถ้าห้องสมุดได้หนังสืออะไรมาใหม่ คุณลุงบรรณารักษ์จะเก็บหนังสือไว้ให้อาตมภาพอ่านก่อนเป็นคนแรกเลยก็ได้ อาศัยห้องสมุดเล็ก ๆ ประจำจังหวัดนี้แหละเป็นแหล่งข้อมูลอันสำคัญในชีวิตวัยเด็ก อ่านไปเรื่อยเท่าที่มี และสิ่งที่อ่านเหล่านั้นจะค่อย ๆ ซึมซับเข้ามาเป็นข้อมูลของเรา เราก็สามารถเรียนรู้โลกได้จากตัวอักษรเหล่านี้นี่เอง และพอเราโตขึ้นแหล่งข้อมูลก็จะเปิดกว้างมากขึ้น

 

      นิสัยรักการอ่านเมื่อเพาะขึ้นแล้วก็จะเป็นประโยชน์ต่อเรามาก ทำให้เรามีข้อมูลมากมาย ทั้งลึกซึ้งและกว้างขวาง ทั้งยังได้สั่งสมประสบการณ์ สั่งสมทัศนะในการวิเคราะห์ ไตร่ตรอง ขบคิดเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นขอให้พวกเราทุกคนช่วยกันปลุกฝังนิสัยรักการอ่าน ทั้งแก่ตัวเราเองด้วยและแก่ลูกหลานของเราด้วย.

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012550830841064 Mins