สร้างบุญอย่างไร..ให้ได้ลักษณะมหาบุรษ ประการที่ ๑ (๓)

วันที่ 17 กพ. พ.ศ.2554

590120_y07.jpg

สร้างบุญอย่างไร..ให้ได้ลักษณะมหาบุรษ ประการที่ ๑ (๓)

              ขอให้สังเกตดูการส่งผลของความดีว่า ถ้าตั้งใจทำความดีอย่างจริงจัง ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ๆ ใจจะอิ่มเอิบด้วยความดี ผลที่ใจอิ่มเอิบด้วยความดีนั่นเอง เมื่อละโลกไปแล้ว ก็ได้ไปเป็นเทวดาและเป็นเทวดาที่พิเศษ คือ มีฐานะที่พิเศษถึง ๑๐ อย่าง ดังกล่าวแล้ว เท่านี้ยังไม่พอ พระองค์ตรัสต่ออีกว่า ครั้นจุติ คือ ตายจากภพเทวดามาสู่ความเป็นมนุษย์ ก็ยังได้ลักษณะมหาบุรุษ คือ มีฝ่าเท้าเสมอ ยกลงก็เสมอ ยกขึ้นก็เสมอ ฝ่าเท้าถูกพื้นพร้อมกัน นี่คือที่มาของลักษณะมหาบุรุษประการที่หนึ่งขอให้ดูการส่งผลของความดี และองค์ประกอบของการทำความดีอีกครั้งหนึ่ง การทำความดีถ้าจะให้ได้ดีนั้น ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ

๑.  ถูกดี คือ เรื่องที่จะทำต้องเป็นเรื่องดี มีประโยชน์จริงๆ การทำก็ทำแบบฉลาด คือ ทำได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของงาน ไม่ทำแบบโง่ๆ
๒.  ถึงดี คือ ปริมาณงานที่ทำต้องทำมากพอ ไม่ทำแบบผักชีโรยหน้า และทำซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งใจแช่อิ่มอยู่กับความดี
๓.  พอดี คือ ไม่หักโหม หรือทำเกินฐานะความเป็นอยู่ ความรู้ ความสามารถของตนเอง และไม่ทำเกินเหตุ
ถ้าทำได้ถูกดี ถึงดี พอดี แล้วจะได้ดีทุกคน

 

                การตั้งใจทำความดีทุกรูปแบบ ไม่ว่าจากการให้ทาน การรักษาศีล ๕ ศีล ๘ หรือการเลี้ยงพ่อแม่ สมณพราหมณ์ ถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ คือ ทำอย่างถูกดีในสิ่งที่ควรทำ ทำให้ถึงดี คือ ทำซ้ำอีกจนมากพอ ยิ่งกว่านั้น ยังต้องทำให้พอดีด้วย คือ ไม่เกินเลยจนกระทั่งตัวเองเดือดร้อน ย่อมส่งผลดีต่อผู้กระทำทั้งโลกนี้และโลกหน้าโดยเหตุที่พระองค์ทรงปฏิบัติมาอย่างนี้อย่างสม่ำเสมอทุกภพทุกชาติ จึงทรงได้ลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๑ คือ มีพื้นเท้าสม่ำเสมอ การมีฝ่าเท้าเต็มเสมอ ทำให้สามารถยืนได้มั่นคง ไม่ซวนเซ ใครได้เห็นท่ายืนก็ศรัทธา แม้จะทำงานใดก็ไม่พลาด พวกเราส่วนมากพอลงมือทำงาน ถ้าพบปัญหา มักจะเกิดความถ้อถอย หวั่นวิตกไปต่างๆ นานา บางครั้งก็เลิกราเสียกลางคัน จึงไม่ใคร่ได้รับความสำเร็จ

 

           ยิ่งกว่านั้น ฝ่าเท้าของพระองค์ยังยืนหยัดได้มั่นคงเสมือนหนึ่งขุนเขา เหยียบลงไปแล้วก็แนบแน่นเหมือนฐานเจดีย์ ฐานภูเขา เมื่อมั่นคงเช่นนั้นจึงทำให้เกิดความมั่นใจ เมื่อมั่นใจก็เกิดกำลังใจ มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง เป็นผู้ไม่หวาดหวั่นต่อข้าศึกทั้งภายนอกและภายใน

 

ข้าศึกภายใน  ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความท้อแท้ ทอดอาลัย ความกำเริบของกิเลส
ข้าศึกภายนอก ได้แก่ สมณพราหมณ์ เทวดา ที่เป็นข้าศึกศัตรู อีกทั้งสิงสาราสัตว์ เสือ ช้าง กวาง เก้ง ยักษ์ มารทั้งหลาย พระองค์ก็ไม่หวั่นทั้งนั้น เพราะว่ายืนหยัดอยู่บนเท้าที่มั่นคง ทำให้เกิดความมั่นใจ มีกำลังใจที่จะสู้กับอุปสรรคทุกรูปแบบ คนที่ทำความดีซ้ำแล้วซ้ำอีก จะมีคุณสมบัติอย่างนี้ทุกคน

 

              โดยสรุป การได้ลักษณะมหาบุรุษประการแรกนี้ ก็เพราะเป็นผู้ที่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ละบาปทั้งปวง ตั้งใจทำแต่สิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลให้เต็มที่ ขอให้ทุกคนลองถามตัวเองว่า ในชาตินี้ได้ทำอย่างนี้กันแล้วหรือยัง แต่ละคนก็คงจะรู้ตัวเองว่า ยังไม่ได้ทำ ถ้าได้ทำมาแล้ว ป่านนี้คงจะสง่างามไปตามๆ กัน ไม่อ้วนบ้างผอมบ้างอย่างที่เห็นกันอยู่ เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ตั้งใจทำตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

* * ติดตามวิธีสร้างบุญอย่างไรให้ได้ลักษณะมหาบุรุษ ประการที่ ๒ ได้ในตอนต่อไป * *

 

ขอขอบคุณ หนังสือ “ลักษณะมหาบุรุษ”
ปาฐกถาธรรมของพระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ หลวงพ่อทตฺตชีโว
สงวนลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
ห้ามนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้าหรือหากำไร ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมาย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00097104708353678 Mins