คอยลูกมาพร้อมหน้า

วันที่ 15 ธค. พ.ศ.2554

 

               เมื่ออาตมาเรียนอยู่ในระดับมัธยม ยังอยู่กับโยมพ่อโยมแม่ พี่ ๆ เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ พี่เรียนจบแล้วก็ทำงานมีครอบครัวอยู่ในกรุงเทพฯ ปีหนึ่งจึงจะกลับไปเยี่ยมบ้านสักครั้ง โดยเฉพาะวันปีใหม่จะกลับทุกปี

    

           มีอยู่บางปีพี่สาวเกิดติดธุระ ไม่ได้กลับไปเยี่ยมบ้านในวันปีใหม่แล้วไม่ได้บอกล่วงหน้า โยมพ่อโยมแม่ชะเง้อคอยาวเลย เห็นท่านชะเง้อคอยลูกแล้วเล่นเอาใจแห้งเหมือนกัน ในชนบทสมัยนั้นไม่ค่อยมีรถยนต์วิ่งผ่าน นาน ๆ จะมีสักคันหนึ่ง พอได้ยินเสียงรถยนต์มาแต่ไกล ท่านจะออกไปยืนหน้าบ้าน คอยว่าเมื่อไหร่ลูกจะมา เจ้ารถคันนี้ลูกจะมาไหมนี่ ท่านเดินเข้า ๆ ออก ๆ ทั้งวัน แต่เมื่อลูกไม่มาหรือบางปีมาไม่ครบหน้า ท่านก็ไม่พูดอะไรมาก แต่ว่าท่านนั่งซึม ๆ โยมพ่อก็นั่งซึม โยมแม่ก็นั่งซึม

               นี่หัวอกแม่หัวอกพ่อเป็นอย่างนี้ เราอาจจะกำลังเที่ยวสนุกอยู่ อาจจะทำอะไรเพลิน ๆ อยู่ก็ตามที แต่ว่าท่านไม่ได้นึกเหมือนเรานึกหรอก ท่านนึกถึงเราแต่ในลักษณะของความห่วงใยเสียเป็นส่วนมาก กังวลว่าจะเจ็บไข้ได้ป่วยสารพัด เพราะฉะนั้น พอถึงเวลาแล้วแค่เราไม่ไป หรือไปเยี่ยมท่านผิดเวลาก็มีผลถึงขนาดนี้

      

          พวกเรานะ ถึงวัน ถึงเดือน ถึงปี ซึ่งเป็นที่รู้กันในครอบครัวละก็อย่าขาด ไปเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ของเราให้ได้ ถ้าไม่ไป จะเป็นการทรมานคนแก่มากเลย
 


               วันรวมลูก ๆ รวมคนในครอบครัว ส่วนมากที่เป็นที่รู้กัน ก็คือ วันขึ้นปีใหม่ บางครอบครัวที่มีเชื้อสายจีนก็อาจเป็นวันตรุษจีน ของคนไทยแต่เดิมก็กำหนดเอาวันสงกรานต์ หรือในครอบครัวที่เคร่งศาสนาก็อาจถือเอาวันเข้าพรรษาหรือวันอะไรก็ตามแต่ ส่วนที่ทันสมัยหน่อยก็อาจจะเป็นวันเกิดของคุณพ่อคุณแม่
 


               วันเหล่านี้ ถ้าเราขาดไปสักคนหนึ่งจะมีผลต่อท่านผู้เฒ่าอย่างมาก ถ้าเราไปพร้อมหน้าพร้อมตากันท่านจะดีใจ ดีใจเหมือนกับไปได้ยาวิเศษอะไรมาสักขนานหนึ่ง เอามาต่ออายุท่านอย่างนั้นแหละ นี่คือลักษณะของความคิดถึงลูกของแม่ของเราหรือของคุณพ่อของเรา ถ้าลูกคนไหนมองข้ามเรื่องนี้ไป ก็เหมือนทอนอายุท่านผู้เฒ่าทีเดียว


พระคุณแม่
พระธรรมเทศนา พระภาวนาวิริยคุณ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015021701653798 Mins