ประโยชน์ที่เกิดจากความเข้าใจเรื่องกรรม

วันที่ 17 มิย. พ.ศ.2557

 

ประโยชน์ที่เกิดจากความเข้าใจเรื่องกรรม

 

ประโยชน์ที่เกิดจากความเข้าใจเรื่องกรรม ที่สำคัญมีอยู่ 6 ประการ คือ


          1) รู้ว่าทุกคนมีใจ ดังที่กล่าวว่า "กรรม" หมายถึง "การกระทำโดยเจตนา" เจตนาคือความ
 ตั้งใจ เนื่องจากมีใจเป็นผู้สั่ง คนเราจึงแสดงพฤติกรรมออกมาทางกาย และวาจา


         2) รู้ว่าตายแล้วไม่สูญ หมายความว่า เมื่อตายแล้วจะสูญสลายเฉพาะร่างกายที่ถูกเผา หรือ
 ถูกฝังไว้ ร่างกายที่ไร้วิญญาณก็จะเน่าเปอยผุพังสูญสลายไปเองในที่สุดส่วนใจหรือ จิต หรือวิญญาณ จะไปแสวงหาที่อยู่ใหม่ ถ้าใจนั้นยังมีกิเลสอยู่ ก็จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏเรื่อยไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


         3) รู้ว่าไม่มีใครสามารถเลี่ยงวิบากกรรมที่ตนทำไว้ได้ ผู้ทำผิดกฎหมายบ้านเมืองบางคน ถ้า
 ขาดพยานหลักฐาน กฎหมายก็เอาผิดเขาไม่ได้ หรือถ้าเขาหลบหนีไปกบดานอยู่ในป่า ไปอยู่ต่างประเทศ เขาก็อาจจะรอดพ้นจากความผิดได้ แต่สำหรับ เรื่องวิบากของกรรมนั้น ไม่มีใครหลบเลี่ยงวิบากแห่งกรรมชั่วของตนได้เลย คือผู้ทำกรรมชั่วต้องได้รับผลชั่วอย่างแน่นอน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน สปาปวรรค 2 ว่า


           "บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ หนีไปแล้วในอากาศ ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
 หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ (เพราะ) เขาอยู่แล้วใน
 ประเทศแห่งแผ่นดินใด พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ ประเทศแห่งแผ่นดินนั้นหามีอยู่ไม่"


           4) รู้ว่าการทำกรรมดีไว้ย่อมได้รับผลดีเป็นรางวัล คือมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขในโลกนี้ เมื่อ
 ละโลกไปแล้วก็จะไปเสวยสุขในชีวิตบน สรวงสวรรค์ แต่ถ้าใจของผู้นั้นหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง ย่อมบรรลุพระนิพพาน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน ปาปวรรค 3 ว่า


"ผู้มีกรรมลามก ย่อมเข้าถึงนรก ผู้มีกรรมเป็นทางแห่งสุคติย่อมไป
 สวรรค์ ผู้ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน"

           5) ใครจะดีหรือชั่วก็เพราะตัวเอง ไม่มีใครหรือสิ่งใดมาบันดาลให้เป็นไป ดังที่พระพุทธองค์
 ตรัสไว้ใน จูฬกัมมวิภังคสูตร 1 ว่า


          "สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลว และประณีตได้"


          6) ความเข้าใจถูกอย่างลึกซึ้งทั้ง 5 ประการที่กล่าว มาแล้วนี้ จะเป็นเหตุปัจจัยให้คน
 เราสามารถพันาหิริโอตตัปปะ (ความอายที่จะทำบาป และความกลัวผลของการทำบาป) ขึ้นมาใน
 จิตใจของคนเราได้อย่างมั่นคงถาวรทำไมผู้คนในสังคม จึงมักทำชั่วกันอยู่เนืองๆสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้คนเรากล้าทำกรรมชั่ว ก็คือ การขาดหิริโอตตัปปะสาเหตุที่ขาดหิริโอตตัปปะ ก็เพราะไม่เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม ทั้งนี้เนื่องจากไม่ได้รับการอบรมสั่ง สอนจากครอบครัวมาแต่เยาว์วัย เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาก็ไม่เคยศึกษาธรรมะ หรือบางคนศึกษาแล้ว แต่ยังไม่ลึกซึ้ง ก็ไม่เชื่อว่ากรรมชั่วจะมีโทษทัณฑ์ถึงขั้นตกนรก ไม่เชื่อว่ากรรมดีจะมีคุณมากมายถึงขั้นได้ขึ้นสวรรค์ เพราะเขาไม่เคยเห็นทั้งนรกและสวรรค์ บางคนก็คิดทึกทักเอาเองว่า อาจจะหลบเลี่ยงวิบากแห่งกรรมชั่วได้แบบการหลบเลี่ยงกฎหมาย ประกอบกับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในกมลสันดาน ก็ทำให้คนเรากล้าทำกรรมชั่ว โดยไม่ สนใจเรื่องกฎแห่งกรรม ครั้นเมื่อได้ยินได้ฟัง สมณพราหมณ์ สอนเรื่องวิบากของกรรมดีกรรมชั่วแล้ว ก็คิดแบบคนพาลว่า มณพราหมณ์เหล่านั้นพยายามเอาเรื่องนรกมาขู่ เอาเรื่อง สวรรค์มาล่อ ซึ่งเป็นเพียงกุศโลบายให้ผู้คนละกรรมชั่วทำกรรมดีเท่านั้น ถ้าตนเชื่อแล้วปฏิบัติตาม ก็หมดโอกาสประสบความมั่งคั่งร่ำรวยและมีอำนาจอิทธิพลตามที่ตนปรารถนา ซ้ำร้ายอาจต้องตกเป็นเบี้ยล่างของพวกเศรษฐีผู้มีอิทธิพลอื่นๆ แล้วตนจะมั่งมีศรีสุขในชีวิตนี้ได้อย่างไร

 
 

จากหนังสือ DOU

วิชาGB 203 สูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก

กลุ่มวิชาสูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.025878783067067 Mins