ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้, ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้

วันที่ 20 สค. พ.ศ.2557

 

ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้, ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้
 


“ อัชเชวะ กิจจะมาตัปปัง โก ชัญญา มะระณัง สุเว ”
ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้, ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้.
(พุทธพจน์)

...เมื่อพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเชตะวัน เขตกรุงสาวัตถี ได้มีพ่อค้าบรรทุกสินค้ามา ๕๐๐ เล่มเกวียน เต็มไปด้วยผ้าย้อมดอกคำ พอมาถึงท่าน้ำก็ปลดเกวียนพักอยู่ที่นั่น ด้วยคิดว่าเราจะข้ามแม่น้ำวันพรุ่งนี้ฯ เมฆใหญ่ได้ตั้งขึ้น แล้วฝนก็ตกหนักในเวลากลางคืน แม่น้ำก็เจิ่งนองเต็มตลิ่งตลอด ๗ วัน ซึ่งไม่สามารถข้ามได้ พ่อค้าคิดว่าเรามาไกล ถ้าเรากลับไป ต้องเสียเวลาเปล่า เราจะทำกิจการงานอยู่ที่นี่แหละ ตลอดทั้งฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน ใช้เวลานานหน่อย ก็ตาม เราจะต้องขายผ้าเหล่านี้ให้หมด
...องค์พระจอมไตรศาสดา เมื่อเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมือง ได้ทรงทราบความคิดของพ่อค้านั้น จึงทรงแย้มพระโอษฐ์(ยิ้ม)ขึ้น พระอานนท์เห็นแล้วจึงถามสาเหตุที่แย้มพระโอษฐ์(ยิ้ม)(ทุกท่านจำใว้ ว่าทุกครั้งที่พระองค์ยิ้ม คือมีเหตุจะบอกให้ทราบ ไม่ใช่ยิ้มเพราะชอบ )ทรงตรัสว่า อานนท์เธอเห็นพ่อค้าที่มีทรัพย์มากนั้นหรือไม่ฯ เห็นพระเจ้าข้า  พระองค์จึงตรัสว่า เขาไม่รู้ว่าอันตรายจะเกิดขึ้นกับชีวิตเขา เขาจึงคิดว่าจะอยู่ขายของที่นี่ตลอดปีนี้ฯ พระเถระจึงทูลว่า เขาจะมีอันตรายหรือพระเจ้าข้า ? เออ อานนท์เขาจะมีชีวิตอยู่อีกเพียง ๗ วันเท่านั้น แล้วจะตั้งอยู่ในปากมัจจุฯ แล้วทรงตรัสพระคาถาว่า อัชเชวะ กิจจัง อาตัปปัง เป็นต้น   คนเราควรทำความเพียรในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตาย ในวันพรุ่งนี้ ความผัดเพี้ยนต่อมัจจุผู้มีเสนาใหญ่ไม่มีเลย ผู้มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน (ทำความดี)อยู่อย่างนี้ มุนีผู้สงบย่อมเรียกว่า มีชีวิตอยู่แม้คืนเดียวก็เจริญ .

(เสนา แห่งมัจจุมีมาก  คือสาเหตุที่จะทำให้เราตายมีหลายอย่างมาก  ผลัดเพี้ยนยาก เพราะไม่ตายด้วยอย่างหนึ่ง ก็ตายด้วยอย่างหนึ่ง ผู้สั่งสมบุญกุศลทั้งกลางวันและกลางคืน แม้มีชีวิตอยู่แค่วันเดียวก็ประเสริฐ)
...พระอานนท์ทูลว่า ข้าพระองค์จะไปบอกเขา ฯ ตรัสว่า อานนท์เธอไปบอกได้ พระอานนท์จึงไปบิณฑบาตถึงที่พักของพ่อค้า พ่อค้าได้จัดอาหารถวายพระอานนท์ พระอานนท์จึงถามว่า ท่านจะอยู่ที่นี่อีกนานแค่ไหนอุบาสก กระผมจักอยู่ค้าขายสินค้าตลอดปีนี้จึง ค่อยกลับฯ อุบาสกอันตรายแห่งชีวิตรู้ได้ยากว่าจะมาถึงตอนไหน ท่านไม่ควรประมาทนะ

ท่านขอรับ ผมจะมีอันตรายหรือ (ชีวิตผมจะสิ้นใช่ไหม)

เออ อุบาสกชีวิตของท่านจะมีอยู่เพียง ๗ วันเท่านั้น

พ่อค้าเกิดความสลดหดหู่ใจมาก ว่าเราจะทิ้งทรัพย์ทั้งหมดและครอบครัวเราไปเสียแล้ว  เขาจึงได้สร้างที่พึ่งในโลกหน้าให้กับตนเอง
นอก จากบุญแล้วคงไม่มีอะไรติดตัวเราไปถึงโลกหน้า ได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์โดยมีพระ ศาสดาเป็นประธาน เขาได้ถวายมหาทาน อยู่ตลอด ๗วัน เขาต้องการคำอนุโมทนาจากพระศาสดา พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเขาว่า

อุบาสก ธรรมดาผู้เป็นบัณฑิต(คนมีปัญญาดี)ไม่ควรคิดว่า เราจะอยู่ที่นี่ ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน เรามีการงานใดที่จะต้องทำเราต้องรีบทำในบัดนี้ ควรคิดถึงอันตรายของชีวิตที่จะมาถึงตัวเอง ทรงตรัสคาถาว่า อิธะ วัสสัง วสิสสามิ เป็นต้น คนโง่เขลาย่อมคิดว่า เราจะอยู่ที่นี่ตลอดฤดูฝน เราจะอยู่ที่นี่ตลอดฤดูหนาว เราจะอยู่ที่นี่ตลอดฤดูแล้ง เขาไม่รู้ว่าอันตรายจะมาถึงตัวเอง ดังนี้

เมื่อตรัสจบ พ่อค้าได้ถึงธรรมขั้นโสดาบัน (เป็นพระอริยะขั้นแรกมีศีลมั่นคงตลอดชีวิตเป็นต้น) การแสดงธรรมครั้งนั้นได้เป็นประโยชน์แก่ประชุมชนด้วย พระศาสดาทรงเสด็จกลับ  ฝ่ายพ่อค้าได้ตามส่งพระพุทธองค์แล้วกลับที่พัก ได้บอกบริวารว่า เราขอนอนพักก่อน ดูเหมือนว่าโรคเกิดขึ้นในศีรษะเรา (รู้สึกปวดหัว) เขาจึงนอนพักแล้วก็ตาย เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้นอีกที ก็ปรากฏตัวอยู่ในวิมานชั้นดุสิต(สวรรค์ชั้นที่ ๔ ซึ่งสวรรค์ทั้งหมดมี ๖ ชั้น)

กัณฑ์ ๒๐๒ เล่ม ๕๒ หน้า๑๒

***อันตรายแห่งชีวิตทราบได้ยาก...ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท...ทุกท่านเพียรสั่งสมบุญ สร้างความดี...หมั่นทำทาน  รักษาศีล  เจริญภาวนา  ทำใจให้ผ่องใส...มีสุคติเป็นที่ไป***

...นี้สมดังพุทธภาษิตที่ว่า...

“ จิตเต สังกิลิฐเฐ ทุคติ ปาฏิกังขา ”
เมื่อจิตเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ทุคติเป็นที่ไป.

“ จิตเต อสังกิลิฐเฐ สุคติ ปาฏิกังขา ”
เมื่อจิตผ่องใส ไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นที่ไป.

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ.

 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011124690373739 Mins