อุปสรรคของการเป็นกัลยาณมิตร คือ ขาดกำลังใจ

วันที่ 25 สค. พ.ศ.2557

อุปสรรคของการเป็นกัลยาณมิตร คือ ขาดกำลังใจ

อุปสรรคของการเป็นกัลยาณมิตร คือ ขาดกำลังใจ

        อุปสรรคในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรอย่างหนึ่งคือ ขาดกำลังใจ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เหมือนน้ำทะเลมีขึ้นมีลง เหมือนพระอาทิตย์มีช่วงที่อับแสง หรือเหมือนพระจันทร์ที่ถูกเมฆหมอกมาบดบัง ซึ่งสาเหตุที่ขาดกำลังใจ เพราะอยู่ห่างไกลจากหมู่คณะบ้าง ห่างจากการฟังธรรมจากครูบาอาจารย์บ้าง ทำให้ขาดจิตสำนึกความเป็นกัลยาณมิตรผู้มีหัวใจโพธิสัตว์

       แนวทางแก้ไข จะต้องคบหาผู้มีกำลังใจสูงส่ง ที่สามารถฉุดรั้งเราขึ้นจากความเบื่อหน่าย หรือท้อแท้ใจ หมั่นฟังธรรมจากครูอาจารย์และบัณฑิตนักปราชญ์ผู้มีอุดมการณ์ในการสร้างสันติสุขให้บังเกิดขึ้นแก่โลก ครั้นฟังแล้ว ต้องใช้โยนิโสมนสิการคือพิจารณาไตร่ตรองถึงผลดีของการทำหน้าที่กัลยาณมิตร แล้วเราจะเกิดกำลังใจที่ไม่สิ้นสุด เมื่อไรก็ตามที่ขาดกำลังใจ ควรหาโอกาสนั่งสมาธิมากๆ กำลังใจจะไม่สิ้นสุดเมื่อใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย เพราะศูนย์กลางกายคือต้นแหล่งแห่งพลังใจที่ไร้ขอบเขต เมื่อไรก็ตามที่ได้เข้าถึงพระธรรมกาย เราจะมอบความรักอันบริสุทธิ์ที่เกิดจากใจหยุดนิ่งนี้แก่ทุกคนที่เรารู้จัก เราจะทำหน้าที่อย่างมีความสุขกว่าที่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้นการหมั่นนั่งสมาธิเจริญภาวนาเป็นประจำทุกวัน อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อตัวกัลยาณมิตรเอง

 

วิธีสร้างกำลังใจตามพุทธวิธีมีปรากฏใน สังคีติสูตร ความว่า

        1.สัปปุริสสังเสวะ [การคบสัตบุรุษ] หมายถึงการรู้จักเข้าหาครูอาจารย์ ไปมาหาสู่เป็นประจำ คบหาบัณฑิตนักปราชญ์หรือเพื่อนกัลยาณมิตรที่มีกำลังใจสูงส่งกว่าเรา บางครั้งเพียงแค่ได้พบเห็น ก็เป็นมงคลแก่ชีวิตแล้ว เพราะจิตใจของเราจะสูงส่งตามไปด้วย หัวใจของกัลยาณมิตรจะได้โชนนิรันดร์

    2.สัทธัมมัสสวนะ [การฟังพระสัทธรรม] ต้องหาโอกาสฟังธรรมเป็นประจำ ทั้งจากครูอาจารย์ จากเพื่อนกัลยาณมิตร เพื่อตอกย้ำเป้าหมายและมโนปณิธาน เหมือนเสาเข็มยิ่งตอกลึกเพียงไร ก็สามารถสร้างสิ่งก่อสร้างได้สูงเพียงนั้น

       3.โยนิโสมนสิการ [การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย]  ต้องหมั่นตรึก  หมั่นตรองด้วยจิตเป็นกุศล   เพิ่มพูนความเมตตาและมหากรุณาต่อสรรพสัตว์เอาไว้ เกิดมาทั้งทีต้องช่วยกันชี้นำสิ่งดีๆ ให้แก่ชาวโลก เมื่อเรามีโอกาสรู้ก่อน ก็ควรแนะนำผู้อื่นให้รู้ตาม 

      4. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ [การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม]  ต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติธรรม  ทำตนเป็นต้นแบบที่ดีเสียก่อน ไม่ทำตนเถลไถล เพราะอย่างน้อยแม้ว่าเราอาจทำหน้าที่กัลยาณมิตรยัง ได้ไม่สมบูรณ์ แต่ลำพังความประพฤติหรือคุณธรรมของเราเองก็สามารถเป็นตัวอย่างที่ดี อันจะนำไปสู่ การเอาเยี่ยงอย่างของผู้ได้พบเห็น 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011794010798136 Mins