การเตรียมกายและกิริยาอาการภายนอก

วันที่ 10 กย. พ.ศ.2557

ทักษะการหน้าที่กัลยาณมิตรทางกาย

ทักษะการหน้าที่กัลยาณมิตรทางกาย


การเตรียมกายและกิริยาอาการภายนอก

    การเตรียมกาย  หมายถึง การเตรียมตัวเรื่องการแต่งกาย บุคลิกภาพ ตลอดจนการเตรียมอาการกิริยาภายนอกให้เรียบร้อย งดงาม เหมาะสมกับการจะไปเป็นกัลยาณมิตรให้กับบุคคลอื่น ซึ่งอธิบายได้ดังนี้


ก. เตรียมบุคลิกภาพ

      บุคลิกภาพเป็นความประทับใจอันดับแรกของคนเราเมื่อได้พบเห็น ดังนั้นเราจึงควรมีกิริยาอาการที่สำรวม แต่งกายสุภาพเรียบร้อย มีรอยยิ้มที่เบิกบานแจ่มใส เราควรฝึกฝนการสำรวมอินทรีย์ให้เป็นธรรมชาติ แสดงถึงปรารถนาดีและจริงใจ

        ในฐานะกัลยาณมิตรนั้น การแต่งกายที่สุภาพ สะอาด เรียบร้อย เหมาะสมกับเวลาและสถานที่ จะเป็นสิ่งที่สร้างศรัทธาให้แก่ผู้พบเห็นได้ และควรมีลักษณะดังนี้ คือ

1. แต่งกายสุภาพ ควรพิจารณาเครื่องแต่งกายทั้งสีและแบบ ให้ดูสุภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับ วงสังคมที่เราเข้าไป เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงแต่ให้สุภาพ สะอาด สมวัย เช่น สุภาพสตรี ควรใส่เสื้อทับทุกครั้งที่ออกทำหน้าที่ กระโปรงควรจะยาวคลุมเข่า ที่ดีที่สุดคือ ยาวครึ่งหน้าแข้ง

ไม่ควรสวมใส่เครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องประดับที่ไม่เหมาะสม ดังต่อไปนี้

- เสื้อ กางเกง กระโปรง ตัวใหญ่เกินไปจนหลวมมาก รัดรูปเกินไป สั้นเกินไป บางเกินไป เสื้อแขนกุด สายเดี่ยว เอวลอย กางเกงยีนส์ยืด

- เสื้อผ้าที่ไม่ได้รีด ยับยู่ยี่ ชุดไม่เข้ากัน เสื้อยืดหมดสภาพคอปกย้วย เสื้อกางเกงสีตก

- ถุงเท้าวัยรุ่นมากเกินไป ถุงน่องลายตาข่าย รองเท้าคาวบอย รองเท้าติดเกือกม้าเวลาเดินดังก๊อบแก๊บๆ รองเท้าบู๊ทหนังแก้วยาวถึงเข่า รองเท้ามีกระดิ่ง

- ถุงเท้าย้วย ถุงน่องขาดเป็นเส้นๆ ถุงน่องลื่นไหลม้วนลงมาต่ำกว่ากระโปรง รองเท้าเตะ รองเท้าฟองน้ำ (ไม่ควรยืนแล้วก้มตัวใส่รองเท้า ถุงเท้า โดยเฉพาะผู้หญิง ให้นั่งลงใส่ แต่ไม่ใช่นั่งยองๆ เหมือนนั่งส้วม เวลาใส่อาจหาเก้าอี้นั่งใส่ก็ได้)

- เครื่องประดับ เช่น แหวน กำไล สร้อยคอ สร้อยแขน สร้อยขา นาฬิกา เยอะมากเกินไป ใหญ่มากเกินไป หรือเป็นรูปหัวกะโหลก เป็นหนังดำๆ

- แว่นตาวัยรุ่นเกินไป โดยเฉพาะไม่ยอมถอดแว่นกันแดด แม้เมื่อเข้าไปในบ้านแล้ว

- กระเป๋าถือ  กระเป๋าใส่เอกสาร  กระเป๋าใส่อุปกรณ์  รวมถึงเอกสาร  กระดาษ  ดินสอ ปากกา ฯลฯ มีรอยเปรอะเปื้อน งดงามสมวัย มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์


2. แต่งกายสะอาด ควรแต่งให้ดูแล้วสบายตา และไม่มีกลิ่นรบกวนผู้ที่เราเข้าไปสนทนาด้วย เช่น

- ทรงผม เหมาะกับเพศและวัย ทรงผมสตรีไม่ควรสั้นหรือยาวเกินไป ไม่ควรทำสีผมจนเกินงาม เช่น ย้อมผมให้มีสีเขียว สีแดง สีทอง ไม่ได้หวีผม มีกลิ่นไม่สะอาด ไม่ได้ติดกิ๊บหรือไม่ได้ทำให้เรียบร้อย

- ใบหน้า ยิ้มน้อยๆ เอิบอิ่ม มีความสุข ไม่ควรหัวเราะง่ายเกินไป หรือ ยิ้มค้าง ยิ้มตลอดเวลาไม่ทำให้หน้ามันเกินไป หรือทำหน้านิ่ว คิ้วขมวด หน้ายับยู่ยี่

- การแต่งหน้า แต่งให้พองามสมวัย ไม่แต่งมากเกินไป พอกหน้า หรือปล่อยให้ดูโทรมเกินไป ถ้าเป็นชายอย่ามีหนวดเครารุงรัง  

- เล็บมือ เล็บเท้า งามตามธรรมชาติแต่สะอาด หรือทาเล็บพองาม ไม่ทาเล็บสีฉูดฉาดมากเกินไป หรือปล่อยให้เล็บยาวไม่ได้ตัดเล็บ เล็บไม่สะอาด

- ระวังไม่ให้มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย เช่น กลิ่นปาก กลิ่นตัว สำหรับเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ถุงเท้า รองเท้า กระเป๋า ควรทำความสะอาดให้เรียบร้อย และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรงในมื้อนั้นๆ เช่น กระเทียม ทุเรียน เป็นต้น


3.แต่งกายเหมาะสมกับกาลเทศะ โดยแต่งกายให้เหมาะสมกับสถานที่ และวงสังคมที่เข้าไป กล่าวคือ

- ไม่ควรเจาะคิ้ว เจาะจมูก เจาะปาก เจาะหูและใส่ต่างหูหลายช่องเกินไป ไม่ควรทาสีหรือสักยันต์ ในส่วนของร่างกายที่เห็นได้ชัด เช่น ใบหน้า แขน ถ้ามีให้ปกปิดให้เรียบร้อย เช่น ใส่เสื้อแขนยาวหรือไปเอาออกในระยะยาว

- ตา หู จมูก หนวด เครา ตั้งแต่ศีรษะจรดพื้นเท้า ให้ดูดี งดงาม เกลี้ยงเกลา และสะอาดตา
 

ข. การยิ้ม

      การยิ้ม เป็นภาษากายที่สำคัญที่สุด เป็นการเปิดประตูของหัวใจเพื่อรับความสุข และให้ความสุข แก่ผู้อื่น ถือว่าเป็นการลงทุนเพื่อให้ได้ความสุขและมิตรภาพที่ถูกและง่ายที่สุด

      การยิ้มให้ดีต้องยิ้มด้วยจิตใจที่ชื่นชมคนอื่น และชื่นชมตัวเองได้ด้วย จงคิดว่าเรายิ้มให้กับความดี ของคนอื่น จึงควรยิ้มอย่างสดชื่น อารมณ์ดี มีชีวิตชีวา

      เวลายิ้มควรยิ้มทั้งตัว  อย่ายิ้มเฉพาะปาก  กล่าวคือให้ยิ้มด้วยใจ  ด้วยแววตา  ด้วยการแสดงสีหน้า และท่าทาง ซึ่งจะมีลักษณะเป็นแบบ Open Personality คือ บุคลิกภาพแบบเปิดสัมพันธภาพกับผู้อื่นให้มองโลกในแง่ดี และทำให้ผู้ที่เราจะไปหา ได้รับรอยยิ้ม รู้สึกเป็นสุข อบอุ่น ร่าเริง เบิกบาน

    การยิ้มและหัวเราะนี้ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าได้ผ่อนคลาย ป้องกันรอยย่นของใบหน้าได้คนที่ทำใบหน้าเครียดหรือบึ้งตึงบ่อยๆ จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้ารัดเกร็ง เกิดเป็นริ้วรอยย่นบริเวณหน้าได้ง่าย เวลาเครียดสมองจะถูกกด ทำให้คิดอะไรเป็นเหตุเป็นผลไม่ค่อยออก แต่ถ้ายิ้มแล้วสมองจะคลายตัว ทำให้คิดอะไรได้ดีและสร้างสรรค์

     คนจะยิ้มได้ดีก็ต้องมีสุขภาพกายดีและแข็งแรง นอนหลับพอเพียง กินอาหารถูกส่วน หายใจถูกต้อง มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมองพอเพียง

การยิ้ม มีมากมายหลายชนิด เช่น

1.ยิ้ม ชวนทำความดี เป็นยิ้มที่ยิ้มอย่างจริงใจ เป็นยิ้มที่ชวนทำความดี โดยไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน

2.ยิ้ม ให้เกียรติ เป็นการยิ้มแบบยกย่อง ให้การยอมรับนับถือ

3.ยิ้ม พิมพ์ใจ เป็นรอยยิ้มซึ่งทำให้ผู้รับประทับใจ

4.ยิ้ม กระชับมิตร เป็นรอยยิ้มที่สร้างมิตร

5.ยิ้ม ทั้งดวงตาและใจ เป็นรอยยิ้มที่ยิ้มทั้งหน้า ด้วยใจที่เบิกบาน

6.ยิ้ม แย้มแจ่มใส ประทับใจตลอดกาล เป็นรอยยิ้มที่จริงใจ

7.ยิ้ม ได้ตลอดทุกอารมณ์ และประทับใจผู้พบเห็นตลอดกาล
 

ค. การไหว้

         เป็นการแสดงความเคารพ สามารถทำได้หลายวิธี ตามโอกาส ดังนี้

- การประนมมือ (อัญชลี) หมายถึง การกระพุ่มมือทั้งสองประนมหว่างอก เป็นการแสดงความเคารพเสมอด้วยดวงใจ จัดเป็นการแสดงความเคารพทั่วๆ ไป ใช้ในขณะนั่งฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ฟังเทศน์ รับพรพระ สนทนากับพระภิกษุ

โดยยกมือทั้งสองขึ้นให้ฝ่ามือประกบกัน นิ้วทุกนิ้วแนบชิดสนิทกัน ปลายนิ้วชี้ขึ้นเบื้องบน กระพุ่มมือ ทำเป็นรูปดอกบัวตูม (แต่อย่าให้ปุ้มหรือแบนเกินไป) ตั้งกระพุ่มมือนี้ไว้หว่างอกสูงในระดับราวนมทำมุม 45 องศากับอกตนเอง ปลายนิ้วทุกนิ้วเหยียดตรงศอกทั้งสองแนบชิดชายโครง ไม่เกร็งข้อมือวางท่าสบายๆ

สำหรับท่านี้ ยังใช้สำหรับการแสดงอาการรับไหว้ จากผู้ที่มีอายุอ่อนกว่า ที่แสดงการไหว้ต่อตัวเรา อีกด้วย

- การไหว้ หมายถึง การยกกระพุ่มมือที่ประนมแล้วนั้นขึ้นจรดหน้าผาก เป็นการแสดงความเคารพที่สูงขึ้นไป คือ เคารพต่อพระสงฆ์ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นต้น

     กระทำโดยการประนมมือขึ้นก่อน แล้วยกกระพุ่มมือนั้นสูงขึ้นเสมอหน้าโดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดไรผม พร้อมกับก้มศีรษะลงเล็กน้อยพองาม แล้วลดมือลง ทำอย่างนี้เพียงครั้งเดียว เวลายกมือขึ้น และลดมือลงขณะไหว้ อย่าทำให้เร็วนักหรือช้านัก ควรทำด้วยอาการละมุนละไมจึงจะงาม


ง. การเดิน

         ข้อควรปฏิบัติในการเดิน มีดังนี้

- ถ้าเดินตามลำพัง ให้เดินอย่างสุภาพ หลังตรง ช่วงก้าวไม่ยาวหรือสั้นเกินไป ไม่เดินเหลียวหน้าเหลียวหลัง แกว่งแขนพองาม ไม่เดินลากเท้า สำรวมท่าเดินให้เรียบร้อย

- ถ้าเดินกับผู้ใหญ่ ให้เดินเยื้องไปทางซ้ายข้างหลังท่าน เว้นระยะห่างประมาณ 2-3 ก้าว ไม่เดิน เหมือนเดินตามลำพัง ให้อยู่ในลักษณะนอบน้อมสำรวม ถ้าเห็นว่าเดินในระยะใกล้ มือควรประสานกัน

- การเดินเข้าสู่ที่ชุมนุมหรือสถานที่ปฏิบัติธรรมที่มีเก้าอี้นั่ง ให้ปฏิบัติดังนี้

1.เดินเข้าไปอย่างสุภาพ

2.เมื่อผ่านผู้ที่นั่งอยู่ก่อน ก็ก้มเล็กน้อย ถ้าผู้นั่งเป็นผู้มีอาวุโสกว่า ก็ก้มตัวมาก ระวังอย่าให้เสื้อผ้า หรือส่วนของร่างกายไปถูกต้องผู้อื่น

3.ถ้าไม่มีการกำหนดที่นั่งก็นั่งเก้าอี้ที่สมควรแก่ฐานะโดยสุภาพอย่าลากเก้าอี้ให้ดัง หรือโยกย้ายเก้าอี้ไปจากระดับที่ตั้งไว้

4.ถ้าเป็นการนั่งที่มีการกำหนดที่นั่งไว้ ก็นั่งตามที่ของตน

- การเดินเข้าสู่ที่ชุมนุมหรือสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ต้องนั่งกับพื้น ให้ปฏิบัติดังนี้

1.เดินเข้าไปอย่างสุภาพ

2.เมื่อผ่านผู้ที่นั่งอยู่ก่อน ให้ก้มตัว ซึ่งจะก้มมากหรือน้อย ก็แล้วแต่ระยะใกล้ไกล หรือผู้นั่นก่อนนั้น มีอาวุโสมากหรือน้อย ระวังอย่าให้เสื้อผ้าหรือส่วนของร่างกายไปถูกต้องผู้อื่น

3.เดินผ่านไปแล้วเดินตามธรรมดา

4.ถ้าระยะใกล้มาก ใช้เดินเข่า


        การเดินเข่า คือ การใช้เข่าทั้งสองข้างยันลงพื้น โดยงอข้อพับไปทางด้านหลัง ใช้เข่าก้าวไปข้างหน้าหรือถอยหลัง ดุจใช้เท้าเดิน แต่การก้าวเข้าหรือเดินเข้านั้น ช่วงก้าวจะก้าวเพียงสั้นๆ ไม่ใช้การก้าวยาว เพราะนอกจากจะทำให้เดินเข้าไม่ถนัดแล้ว การพยุงตัวจะไม่เพียงพอ วิธีเดินเข่าปฏิบัติดังนี้

1. นั่งคุกเข่า ตัวตรง มืออยู่ข้างๆ ลำตัว

2. ยกเข่าขวา - ซ้าย ไปข้างหน้าทีละข้างสลับกัน ปลายเท้าตั้งช่วงก้าวพองาม ไม่กระชั้นเกินไป

3. มือห้อยลงข้างตัว แกว่งได้เล็กน้อยเช่นเดียวกับการเดิน


จ. การนั่ง

1.นั่งเก้าอี้ ให้นั่งตัวตรง หลังพิงพนักเก้าอี้ เท้าชิด เข่าชิด มือวางบนหน้าขา ถ้าเป็นเก้าอี้ที่มีเท้าแขน เมื่อนั่งตามลำพังจะเอาแขนพาดที่เท้าแขนก็ได้ ไม่ควรนั่งโดยเอาปลายเท้าหรือขาไหว้กันอย่างไขว่ห้าง ควรนั่งเต็มเก้าอี้

2.นั่งกับพื้น นิยมนั่งพับเพียบ การนั่งพับเพียบหมายถึงการนั่งตัวตรง พับขาทั้งสองข้างไปทางขวา หรือทางซ้ายก็ได้ตามถนัด ในหมู่ชาวพุทธ ถือว่าเป็นท่านั่งที่สุภาพเรียบร้อยมากที่สุด ควรทำในกรณีที่ต้องนั่งกับพื้นต่อหน้าพระพุทธรูป พระสงฆ์ หรือขณะที่นั่งฟังเทศน์ เป็นต้น

3.นั่งตามลำพัง ให้นั่งพับเพียบในลักษณะสุภาพ ยืดตัว ไม่ต้องเก็บปลายเท้า แต่อย่าเหยียดเท้า มือวางไว้บนตักก็ได้ ผู้หญิงจะนั่งเท้าแขนก็ได้ การเท้าแขนอย่าเอาท้องแขนไว้ข้างหน้า ผู้ชายไม่ควรนั่งเท้าแขน นั่งปล่อยแขนได้

4.นั่งต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์ หรือผู้ใหญ่ ให้นั่งพับเพียบเช่นเดียวกับนั่งตามลำพัง แต่น้อมตัวเล็กน้อย ต้องเก็บปลายเท้ามือประสานกัน

วิธีนั่งพับเพียบแบบชาย

       ให้นั่งพับขาทั้งสองราบลงกับพื้น หันปลายเท้าไปทางด้านหลัง จะพับขาทั้งสองไปทางซ้าย หรือขวาก็ได้ตามถนัด หัวเข่าแยกห่างจากกัน จนกระทั่งฝ่าเท้าข้างหนึ่งจรดกับหัวเข่าอีกข้างหนึ่ง อย่าให้ขาทับฝ่าเท้ามือทั้งสองประสานกันวางไว้ที่หน้าตัก ไม่เท้าแขน กายตั้งตรง เป็นท่านั่งที่สง่ามาก (แต่ถ้านั่งต่อหน้าผู้ใหญ่ นิยมลดความสง่าลง โดยแยกเข่าห่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และวงขาทับบนฝ่าเท้า)

วิธีนั่งพับเพียบแบบหญิง

        ให้นั่งพับขาทั้งสองราบกับพื้น หันปลายเท้าไปทางด้านหลัง จะพับขาทั้งสองไปทางขวา หรือซ้ายก็ได้ แต่หัวเข่าทั้งสองแนบชิดกัน ไม่นิยมแยกเข่า ถ้านั่งพับไปทางขวา ก็วางขาขวาทับฝ่าเท้าซ้าย ปลายเท้าขวาพับไปทางด้านหลัง ถ้านั่งพับไปทางซ้าย ก็วางขาซ้ายไว้บนฝ่าเท้าขวา ปลายเท้าซ้ายหันไปทางด้านหลัง นั่งกายตั้งตรง ไม่โอนเอนไปมา ฝ่ามือประสานกันวางไว้บนหน้าตัก ไม่เท้าแขนเป็นอันขาด ยกเว้นคนป่วยกับคนชรา

วิธีเปลี่ยนท่านั่งพับเพียบ

      เมื่อนั่งพับเพียบอยู่ข้างเดียวเป็นเวลานานๆ ถ้าเมื่อยมากต้องการเปลี่ยนอิริยาบถไปพับเพียบอีกข้างหนึ่ง ให้ใช้มือทั้งสองยันที่หัวเข่าทั้งสอง หรือยันที่พื้นข้างหน้า แล้วกระโหย่งตัวขึ้นพร้อมกับพลิกเปลี่ยนเท้าพับไปอีกข้างหนึ่ง โดยพลิกเท้าผลัดเปลี่ยนอยู่ด้านหลังไม่นิยมยกเท้ามาผลัดเปลี่ยนกันข้างหน้า เพราะไม่สุภาพ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018636484940847 Mins