ความอดทน หมายถึง

วันที่ 18 พย. พ.ศ.2557

ความอดทน ,ห้าห้องชีวิต,ความดีสากล สถาบันการศึกษา , บทความอยู่ในบุญ , บทความมงคลชีวิต 38 ประการ , บทความวัฒนธรรมชาวพุทธ , นิทานชาดก , kalyanamitra

ความอดทน


     ความอดทน หมายถึง ความยืนหยัดไม่ท้อถอยในการทำความดี แม้ว่าจะมีอุปสรรคใด มาขวางกั้น

     ความอดทนมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

     1.เมื่อถูกบีบคั้น ถูกเยอะเย้ย ก็ต้องอดทน ไม่ยอมล้มเลิก
     2.เมื่อถูกยั่วเย้า ก็ต้องอดใจ ไม่ลุ่มหลง

     นิสัยอดทน คือ นิสัยที่ไม่ท้อถอยในการทำคุณงามความดีทุกชนิด ผู้ที่มีนิสัยอดทนจึงเป็นผู้ที่ไม่เคยล้มเลิก ทำความดีกลางคันทุกกรณี

ความอดทนที่ต้องรีบฝึกให้เป็นนิสัย 4 ประการ คือ

     1.ความอดทนต่อความลำบากตรากตรำ หมายถึงความอดทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศตามธรรมชาติที่มีความเปลียนแปลงอยู่ตลอดปี เช่น ทนแดด ทนลม ทนฝน ทนความร้อน-หนาวของอากาศ เป็นต้น

     บุคคลที่ขาดความอดทนต่อความลำบากตรากตรำเมื่อต้องประสบกับสภาพดินฟ้าอากาศตามธรรมชาติที่ไม่มีความแน่นอน เปลี่ยนแปลงทุกๆ ฤดูกาล แต่ละฤดูกาลยังเปลียนแปลงทุกวันอีก ก็จะรู้สึกท้อถอย หมดกำลังใจที่จะสานงานซึ้งกำลังทำอยู่ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ยิ่งกว่านั้นความไม่แน่นนอนของสภาพดินฟ้าอากาศ ยังจะส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมายถ้าบุลคลขาดความอดทนต่อความลำบากตรากตรำเสียแล้ว ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในการทำดีทุกรูปแบบ

     2.ความอดทนต่อทุกขเวทนา หมายถึง ความอดทนต่อโรคภัยไข้เจ็บ ตลอดถึงความหิวโหย ความง่วงเหงาหาวนอน เป็นต้น

     บุคคลบางคนอาจมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์เพราะมีโรคประจำตัวมาตั้งแต่เกิด เช่น โรคภูมิแพ้ ฯลฯ หรือ เพราะประสบอุบัติเหตุร้ายแรง หรือ เพราะสาเหตุอื่นก็ตาม ถ้าเขามีความอดทนต่อทุกขเวทนา เขาก็จะมีจิตใจทรหดอดทนพร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆอยู่เสมอ ย่อมสามารถประกอบคุณงามความดีต่างๆได้ ไม่แพ้ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์

     ในทำนองกลับกัน บุคคลที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี แต่บางครั้งเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยเล็กๆ น้อยๆ หรือ หิวโหยเพราะขาดแคลนอาหารกะทันหัน หรืออดหลับอดนอนเพราะมีงานเร่งด่วนที่ต้องทำให้เสร็จทันเวลา ถ้าขาดความอดทนต่อทุกขเวทนาเสียแล้ว เขาก็จะรู้สึกถดถอยหรือท้อแท้ไม่มีกำลังใจที่จะทำงานที่กำลังทำอยู่ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ทั้งๆที่รู้อยู่เต็มอกว่า ถ้าทำสำเร็จจะได้รับอานิสงส์สุดจะพรรณนา

     ด้วยเหตุนี้ การปลูกฝังความอดทนต่อทุกขเวทนาให้เกิดเป็นนิสัยตลอดชีวิตของคนเราจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรีบทำ

     3.ความอดทนต่อความเจ็บใจ หมายถึง ความอดทนต่อความโกรธ ความไม่พอใจ ความขัดใจ อันเกิดจากพฤตติกรรมของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมักจะมีการกระทบกระทั่ง ด้วยคำพูดเยอะเย้ยถากถางด้วยกิริยามารยาทที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนความไม่ยุติธรรมทั้งจากผู้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงานทุกฝ่าย
 

ความอดทน ,ห้าห้องชีวิต,ความดีสากล สถาบันการศึกษา , บทความอยู่ในบุญ , บทความมงคลชีวิต 38 ประการ , บทความวัฒนธรรมชาวพุทธ , นิทานชาดก , kalyanamitra
 

     ความเจ็บใจเกิดจากกิเลสตระกูลโทสะ ซึ่งแฝงอยู่ในใจของทุกคนตั้งแต่เกิด ถ้าคนเราสามารถข่มกิเลส คือโทสะให้สงบลงได้ แม้ใครจะแสดงพฤติกรรมชั่วร้ายกระทบกระทั่งก้าวร้าวต่อเรา เราก็สามารถวางเฉยได้ด้วยใจสงบ ความเจ็บใจย่อมไม่เกิดขึ้น

     ตามธรรมดานั้น เราไม่สามารถห้ามผู้อื่นมิให้แสดงพฤติกรรมกระทบกระทั่งเราได้ แต่เราสามารถข่มใจของเราเองให้สงบได้ ด้วยการไม่ถือโทษโกรธผู้อื่นหรือด้วยการให้อภัยทานถ้าเราสามารถทำได้ ความร้าวฉาน ความอาฆาต บาดหมางระหว่างตัวเราและผู้อื่นย่อมไม่เกิดขึ้น

     ด้วยเหตุนี้ การฝึกความอดทนต่อความเจ็บใจด้วยการข่มโทสะให้สงบลง ด้วยการวางเฉยไม่ถือโทษโกรธกันและกันจึงควรรีบปลูกฝังกันให้เป็นนิสัยตลอดชีวิตทุกๆคน

     4.ความอดทนต่อความยั่วยวน หมายถึง ความอดทนต่อกิเลสตระกูลโมหะ คือความรู้ไม่จริงหรือความหลงใหลได้ปลื้ม เช่น หลงใหลกับคำสรรเสริญเยินยอหลงใหล กับลาภ ยศ ชื่อเสียง ตลอดจนอบายมุขต่างๆเป็นต้น

        ความหลงใหลได้ปลื้มหรือเห่อเหิมกับลาภ ยศ และคำสรรเสริญ จะเป็นสาเหตุให้คนเราขาดปัญญาไตร่ตรองด้วยโยนิโสมนสิการ ขาดเหตุผลพินิจพิจารณาว่าสิ่งใดถูกหรือผิด เป็นบุญหรือบาป ควรทำหรือไม่ควรทำ จึงมักเห็นผิดเป็นชอบ หรือกล้าเสี่ยงกระทำความผิดด้วยความประมาท ถ้าทำแล้วไม่ได้รับโทษอะไร ก็จะย่ามใจทำต่อไปจนคุ้นเป็นนิสัย ในที่สุดก็ต้องประสบปัญหาร้ายแรง ถึงขั้นถูกจับติดคุกติดตะราง ดังที่เป็นข่าวอยู่เสมอ
 

ความอดทน ,ห้าห้องชีวิต,ความดีสากล สถาบันการศึกษา , บทความอยู่ในบุญ , บทความมงคลชีวิต 38 ประการ , บทความวัฒนธรรมชาวพุทธ , นิทานชาดก , kalyanamitra
 

     สำหรับบางคนที่พัวพันอยู่กกับอบายมุข ไม่ว่าจะอยูในฐานะนาทุน ผู้ให้บริการ หรือลูกค้า ผู้รับบริการ แม้บางคนจะร่ำรวยในตอนต้น แต่ในที่สุดต่างก็หนีไม่พ้นปัญหาเดือนร้อนด้วยกันทั้งสิ้น

        เพราะขาดความอดทนต่อความยั่วยวนนั้นเอง ผู้คนจำนวนมากในสังคมมนุษย์เรา ทุเพศทุกวัยและทุกฐานะ จึงต้องประสบปัญหาเดือนร้อนต่างๆ นานาในชีวิตเสมอมาทุกยุคทุกสมัย ดังนั้น 
การปลูกฝังความอดทนต่อความยั่วยวนให้เป็นปกตินิสัย จึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำกันอย่างรีบด่วนตั้งแต่เยาว์วัย

     โดยสรุปก็คือ นิสัยพื้นฐานที่จำเป็นต้องรีบฝึกตั้งแต่เยาว์วัยทั้ง 3 ชนิดนี้คือ เคารพ วินัย อดทน ถือได้ว่าเป็นคุณธรรมสำคัญยิ่งที่สามารถคุ้มครองป้องกันบุคคล ให้ดำเนินชีวิตอยู่ได้ด้วยการประกอบแต่กรรมดีไม่มีย่อหย่อน คราใดที่เผชิญปัญหาก็สามารถใช้คุณธรรมทั้ง 3 ประการนี้ มาแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการดำเนินการปลูกฝังคุณธรรมทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวให้แก่เยาวชนทุกๆ คนอย่างรีบด่วน เพื่อให้เกิดเป็นนิสัยพื้นฐานประจำใจ

 

 

จากหนังสือ 5 ห้องชีวิต ฉบับทางก้าวหน้า

จากหนังสือ 5 ห้องชีวิต ฉบับทางก้าวหน้า

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.028541600704193 Mins