วิธีการทำทาน

วันที่ 07 มีค. พ.ศ.2558

วิธีการทำทาน

เงื่อนไขที่จะทำให้การทำทานแต่ละครั้งมีความสมบูรณ์พร้อม คือ ทำแล้วได้ผลบุญมากจะมีองค์ประกอบสำคัญๆอยู่หลายประการเช่นในเบื้องต้นต้องมีศรัทธามีไทยธรรมและมีผู้รับทานโดยเฉพาะที่เป็นทักขิไณยบุคคลผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสัมมุขีสูตรว่า  "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะความพร้อมหน้าแห่งวัตถุ 3 กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมได้บุญมาก วัตถุ 3 คืออะไร คือ ศรัทธา ไทยธรรม และทักขิไณยบุคคล เพราะความพร้อมหน้าแห่งวัตถุ 3 นี้แลกุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมได้บุญมากŽ"

     นอกจากองค์ประกอบสำคัญทั้งสามนั้นแล้วยังมีสิ่งสำคัญอื่นอีก เช่น กำหนดเวลาที่จะทำทานได้                 (กาลทาน)เจตนาและกิริยาอาการที่เราให้เป็นต้น ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้บางครั้งไม่อยู่ในขอบเขตที่เราสามารถกำหนดเองได้ เช่น อยากถวายผ้ากฐิน แต่ยังไม่ถึงกาล หรืออยากทำทานแต่ได้ผู้รับไม่มีศีลเป็นต้น

  อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทานที่เราทำไปได้บุญมากที่สุดก็ควรเตรียมตัวของเราเองให้พร้อมไว้ โดยเมื่อจะทำทานครั้งใด ก็ให้ทำไปตามลำดับดังนี้ คือ
 

    ตั้งใจ ทำเจตนาของเราให้บริสุทธิ์ก่อนที่จะทำทานด้วยการระลึกนึกถึงคุณของพระรัตนตรัย และคุณประโยชน์ของการทำทานที่ทำให้เราชนะความตระหนี่ในใจของเราได้เป็นการชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ปลูกจิตให้เลื่อมใสศรัทธา และปีติยินดีอย่างเต็มที่ว่าเราจะได้ทำทานในครั้งนี้
 

    แสวงหาไทยธรรม (สิ่งของที่ควรให้ทาน) ด้วยความเพียรที่บริสุทธิ์ ให้เหมาะสมและดูควรแก่ผู้รับ เมื่อได้มาแล้วพึงจัดแจงตกแต่งให้งดงาม สะอาด ประณีต ให้เป็นสามีทาน และควรให้ทานให้ ครบถ้วนตามคำสอนที่มีมาในพระไตรปิฎก คือทานในพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม จะทำให้ได้ บุญกุศลที่ยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ

    สิ่งของที่ควรให้ทานท่านจัดไว้ในพระสูตรมี 10 อย่าง คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พักอาศัย ประทีปโคมไฟ จัดไว้ในพระวินัยมี 4 อย่าง คือ จีวร (เครื่องนุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) คิลานเภสัช (ยารักษาโรค) และจัดไว้ในพระอภิธรรม (ปรมัตถ์) มี 6 อย่าง คือ สละความยินดี ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องกาย) ธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดกับใจ) ซึ่งพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ) อธิบายไว้ว่า “ ทานในพระปรมัตถ์ 6 คือ มีอายตนะ 6 คือ ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ถอนความยินดีในอารมณ์เหล่านี้ออกเสียได้ สละความยินดีในอารมณ์เหล่านี้เสียได้ ก่อนเราเกิดมาเขาก็ยินดี กันอยู่อย่างนี้ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ กำลังที่เราเกิดมาเขาก็ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เหล่านี้ ครั้นเราจะตายเขาก็ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อย่างนี้เหมือนกัน ความยินดีเหล่านี้ หากถอนอารมณ์ออกเสียได้ ไม่ให้มาเสียดแทงเราได้ พิจารณาว่านี้เป็นอารมณ์ ของชาวโลก ไม่ใช่อารมณ์ของธรรม ปล่อยอารมณ์เหล่านั้นเสีย ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ให้เข้าไปเสียดแทงใจ ทำใจให้หยุด ให้นิ่ง นี่เขาเรียกว่า ให้ธรรมารมณ์เป็นทาน ย่อมมีกุศลใหญ่เป็นทางไปแห่งพระนิพพาน โดยแท้ และเป็นทานอันยิ่งใหญ่ทางปรมัตถ์Ž” สิ่งของที่ไม่ควรให้ทาน ได้แก่ สุรายาเสพติด มหรสพที่ทำให้ประมาทมัวเมา สัตว์เพื่อการผสมพันธุ์ ภาพหรือสิ่งของที่ยั่วยุกามารมณ์ และอาวุธเพื่อการทำมิจฉาชีพ
 

   ทำตนเองให้บริสุทธิ์ก่อนที่จะให้ทาน ด้วยการสมาทานศีล 5 หรือศีล 8 แล้วนั่งสมาธิ กลั่นใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ นึกถึงปฏิคาหก (ผู้รับ) เสมือนท่านเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นตัวแทนของสงฆ์ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 

    ตั้งจิตอธิษฐาน ด้วยการยกทานนั้น จบŽ เหนือศีรษะว่า ขอให้ทานของข้าพเจ้านี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น….จะเริ่มต้นด้วยให้ความสมบูรณ์พูนสุขหรือด้วยอะไรก็ตาม แต่ลงท้ายให้เป็น….นิพพานปัจจโย โหตุ (จงเป็นปัจจัยเพื่อพระนิพพาน) ดังที่บัณฑิตทั้งหลาย ในกาลก่อนจบอธิษฐานก่อนให้ทานว่า …..ขอให้พบดวงแก้ว ขอให้แคล้วบ่วงมาร ขอให้ถึงพระนิพพาน ในอนาคตกาลเทอญŽ จะทำให้ใจของเราใสสะอาดเต็มที่ในขณะที่ให้
 

     เมื่อทำทานเสร็จแล้ว ให้สละทานขาดออกจากใจ ไม่คิดเสียดายทรัพย์เลย ให้ปีติเบิกบาน ใจทุกครั้งที่นึกถึงทานที่ทำแล้ว บุญจากการทำทานนั้นก็จะส่งผลเต็มที่ทันที เมื่อบุญเกิดขึ้นแล้ว ควรอุทิศส่วนกุศลผลบุญนั้น เป็นปัตติทานมัย จะด้วยการกรวดน้ำให้ หรือตั้งจิตอุทิศให้ก็ได้ ขอเพียงจิตเป็นสมาธิ บุญจึงจะสำเร็จประโยชน์ ด้วยคำอุทิศส่วนกุศล ดังพระบาลีว่า

อิทํ เม ญาตีนํ โหตุ สุขิตา โหนฺตุ ญาตโยŽ

ขอส่วนแห่งบุญนี้ จงสำเร็จประโยชน์แก่หมู่ญาติของข้าพเจ้า

ขอญาติทั้งหลาย จงอยู่เป็นสุขเถิด
 

     การทำทานในชีวิตประจำวัน การทำทานเป็นสิ่งที่ไม่ควรขาด และจำเป็นต้องทำอยู่เป็นประจำทุกวัน ทั้งนี้เพื่อตอกย้ำความ เห็นถูกหรือสัมมาทิฏฐิของเราให้มั่นคงจนเกิดเป็นนิสัยรักในการให้ทาน ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆหลายประการด้วยกัน เช่น

1. การทำบุญตักบาตร ซึ่งสามารถทำเป็นประจำได้ทุกวันโดยอาจคอยใส่กับพระภิกษุหรือสามเณรที่เดินบิณฑบาตอยู่ในละแวกบ้านของเรา หรือจะนำเอาข้าวปลาอาหารไปถวายท่านถึงที่วัดก็ได้

2. การถวายสังฆทาน คือการถวายแก่สงฆ์โดยไม่เจาะจงภิกษุรูปหนึ่งรูปใดซึ่งอาจทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น การนำสิ่งของไปถวายที่วัด หรือนิมนต์คณะสงฆ์มารับที่บ้าน แต่ที่นิยมทำกันมาก คือการ ทำบุญเลี้ยงพระเนื่องในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่น ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญวันคล้ายวันเกิด เป็นต้น

3.การให้ชีวิตสัตว์เป็นทานเช่นการปล่อยสัตว์ปล่อยปลาเป็นการทำทานที่นิยมทำกันมากเพราะผู้ที่ทำทานประเภทนี้ ย่อมมีอานิสงส์ให้เป็นผู้ที่มีอายุขัยยืนยาว มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง เพราะการให้ชีวิตก็คือการต่ออายุของสัตว์นั้นให้ยืนยาวต่อไปเมื่อเราได้ให้อายุก็ย่อมได้อายุเป็นเครื่องตอบแทนดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในโภชนทานสูตรว่า

     ”ปราชญ์ผู้มีปัญญา ให้อายุ ย่อมได้อายุ ให้กำลัง ย่อมได้กำลัง ให้วรรณะ ย่อมได้วรรณะ ให้ปฏิภาณ ย่อมได้ปฏิภาณ ให้สุข ย่อมได้สุข ครั้นให้อายุ กำลัง วรรณะ สุข และปฏิภาณแล้ว จะเกิดในที่ใดๆย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มียศ”

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011994997660319 Mins