ทาน ศีล ภาวนา กับการสร้างบารมี

วันที่ 05 มีค. พ.ศ.2558

   

ทาน ศีล ภาวนา กับการสร้างบารมี

     บุญอันเกิดจากทาน ศีล ภาวนานี้ มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือ สะสมได้เมื่อกระทำให้มากเข้าก็จะกลั่นตัวกลายเป็น ”บารมี”Ž ซึ่งมีอานุภาพยิ่งกว่าบุญมากมายนัก

     บารมี คือ ความดีอย่างยิ่งยวดเป็นธรรมอันเลิศธรรมอันประเสริฐที่พระบรมโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญสั่งสมไปโดยลำดับ เพื่อจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มี 10 ประการ หรือที่เรียกว่า บารมี 10 ทัศ คือ

1. ทานบารมี คือ การให้ทาน

2. ศีลบารมี คือ การละเว้นบาป และความชั่วทั้งปวง

3. เนกขัมมบารมี คือสละการพัวพันในเรื่องกามเรื่องครอบครัว แล้วหลีกเร้นแสวงหาทางหลุดพ้น

4. ปัญญาบารมี คือ การเสาะหา แสวงหาความรู้ที่นำไปสู่ความหลุดพ้น

5. วิริยบารมี คือ ความหมั่นเพียรไม่ท้อถอย กล้าที่จะสู้กับอุปสรรค

6. ขันติบารมี คือ ความอดทน อดกลั้น ต่อสิ่งที่น่ายินดี และไม่น่ายินดี

7. สัจจบารมี คือ ความตั้งใจมั่นที่จะทำความดี

8. อธิษฐานบารมี คือ การตั้งความปรารถนาเพื่อบรรลุเป้าหมายในหนทางของความดี

9. เมตตาบารมี คือ ความปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย

10. อุเบกขาบารมี คือ ความวางเฉยต่อสุข และทุกข์ หรือมีความยุติธรรม ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

     บารมีทั้ง 10 ทัศนี้ เป็นสิ่งที่ต้องสั่งสมมาหลายภพหลายชาติจนติดเป็นนิสัย บารมี 10 ทัศ แท้จริงก็คือนิสัยที่ดีเลิศ 10 อย่างนั่นเองซึ่งเริ่มต้นจากการสั่งสมทาน ศีล ภาวนา มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเข้มข้นขึ้นมาในระดับที่เกิดสัมมาทิฏฐิอย่างเหนียวแน่นเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องโลกและความเป็นไปของชีวิตว่าเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ไม่เที่ยงแท้แน่นอนจึงนำไปสู่การตั้งเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่จะทำพระนิพพานให้แจ้งเพื่อให้หลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารมีใจใหญ่พอที่จะทุ่มเทชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความดีทุกรูปแบบซึ่งเราเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า พระโพธิสัตว์ จึงเป็นที่มาของการบำเพ็ญบารมี 10 ทัศ ทั้ง 3 ระดับ คือ

1. บารมีอย่างธรรมดา เรียกว่า บารมี คือ การบำเพ็ญความดีอย่างยิ่ง

2. บารมีอย่างปานกลาง เรียกว่า อุปบารมี คือ การบำเพ็ญความดีอย่างยิ่ง ชนิดที่ยอมสละได้แม้เลือดเนื้อ และอวัยวะเพื่อความดีนั้น

3. บารมีอย่างสูงสุดอุกฤษฏ์ เรียกว่า ปรมัตถบารมี คือ การบำเพ็ญความดีอย่างยิ่งชนิดที่ยอมสละได้แม้ด้วยชีวิต เมื่อบารมีทั้ง 10 จำแนกออกเป็นองค์ละ 3 บารมีอย่างนี้ จึงรวมเป็น บารมี 30 ทัศ

     พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้ให้คำอธิบายถึงความสัมพันธ์ของ ”บุญŽ” กับ ”บารมีŽ” ในภาคปฏิบัติ อันเกิดจากการเห็นด้วยธรรมจักขุไว้ว่า บารมีนั้นเป็น ”ดวง”Ž ซึ่งกลั่นมาจากดวงบุญที่เกิดจากการสั่งสมคุณงามความดีอย่างต่อเนื่องจากดวงบารมีก็กลั่นเป็น ดวงอุปบารมี และจากดวงอุปบารมีก็กลั่นเป็นดวงปรมัตถบารมีดังปรากฏในพระธรรมเทศนาของท่านในเรื่อง ”ของที่ได้โดยยาก”Žดังนี้ ”แต่ว่าบารมีหนึ่งๆกว่าจะได้เป็นบารมีนะไม่ใช่เป็นของง่ายทานบารมีเต็มดวงนะดวงบุญที่เกิดจากการบำเพ็ญทานได้เป็นดวงบุญดวงบุญใหญ่โตเล็กเท่าไรไม่ว่าสร้างไปเถอะ ทำไปเถอะ แล้วเอาดวงบุญนั้นมา กลั่นเป็นบารมี ดวงบุญมากลั่นเป็นบา บุญมีคืบหนึ่ง เต็มเปี่ยมเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทีเดียว เอามากลั่น เป็นบารมีได้นิ้วเดียวเท่านั้นเอง กลมรอบตัวเท่านั้นแหละ กลั่นไปอย่างนี้แหละทุกบารมี ไปจนกว่าบารมีนั้นจะเต็มส่วน แล้วก็ บารมีที่จะเป็นอุปบารมี เอาบารมีนั่นแหละ คืบหนึ่งเต็มส่วน เอามากลั่นเป็น อุปบารมีได้นิ้วเดียวแล้วเอาอุปบารมีนั่นแหละคืบหนึ่ง กลมรอบตัว เอามากลั่นเป็น ปรมัตถบารมีได้นิ้วเดียว บารมีก็ดี อุปบารมีก็ดี ปรมัตถบารมีก็ดี วัดผ่าเส้นศูนย์กลางกลม รอบ ตัวทุกบารมีไปมีทั้ง 30 ทัศ จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ายากนักเรื่องนี้ยากนัก พระองค์จึงได้ทรงโปรดออกพระโอษฐ์ว่า พุทฺธุปฺปาโทจทุลฺลโภ ความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นของได้ยากดังนี้Ž”

     ดังนั้น บุญเมื่อกระทำให้มากเข้าก็จะกลั่นเป็นบารมี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็คือการสร้างบารมีนั่นเอง เป็นจุดเริ่มต้นในการสั่งสมบารมีเพื่อการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายเข้าสู่ฝั่งแห่งพระนิพพานในที่สุด

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00119948387146 Mins