ทาน ศีล ภาวนา คือบทสรุปของวิถีชีวิตที่ถูกต้อง

วันที่ 16 มีค. พ.ศ.2558

ทาน ศีล ภาวนา คือบทสรุปของวิถีชีวิตที่ถูกต้อง

สัมมาทิฏฐินำไปสู่ความสุขที่แท้จริง

     บุคคลผู้มีสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นในใจ ย่อมมีความสุขอย่างเปี่ยมล้นในการดำเนินชีวิต เพราะเขามีความเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างไปตามความเป็นจริง ย่อมจะมองโลกได้อย่างถูกต้องตามที่ควรจะเป็นแตกต่างจากผู้ที่ยังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ เขาย่อมมีความเข้าใจถูกที่ยังไม่สมบูรณ์เข้าใจแต่เพียงบางส่วนเหมือนกับมองเห็นสิ่งของแต่เพียงบางด้าน บางมุม มองเห็นไม่รอบด้าน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทิฏฐิหรือความเห็นในเรื่องการใช้ชีวิต ของเขาย่อมขาดตกบกพร่องไป จะมากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับระดับของสัมมาทิฏฐิในใจของเขาเองว่ามาก น้อยเพียงใด ซึ่งตรงนี้จะมีผลอย่างสำคัญต่อความคิดหรือทัศนคติต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต และจะมีผลกระทบต่อการแสดงออกทางด้าน คำพูด และการกระทำต่อไปอีก

     ผู้มีสัมมาทิฏฐิที่ไม่สมบูรณ์นั้น แม้จะมีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ โหราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือศาสตร์ใดๆก็ตาม บางคนอาจมีความสามารถถึงขั้นประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือที่มีความทันสมัยทางเทคโนโลยีได้แต่ถ้าหากเขายังขาดความรู้ที่เป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว ย่อมมีโอกาสเสมอที่จะตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องของการใช้ชีวิตดังมีตัวอย่างให้เราเห็นเป็นระยะๆ เช่น นักเรียนติดยาเสพติด นักศึกษาขายประเวณี การทุจริตคอรัปชั่น การหลอกลวงขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ต ไปจนถึงสงครามระหว่างประเทศ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเกิดจากกลุ่ม ผู้มีการศึกษาแต่ขาดสัมมาทิฏฐิทั้งสิ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย เป็นทุกข์ทั้งกาย และใจ ทั้งแก่ตัวของเขาเอง บุคคลรอบข้าง และอาจมีผลกระทบไปถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อุปมาเหมือนเรือที่กำลังจมลงท่ามกลางมหาสมุทร วิชาความรู้ใดๆ ในโลกล้วนไม่สามารถช่วยชีวิตเอาไว้ได้เลยมีเพียงผู้ที่ว่ายน้ำเป็นเท่านั้นที่พอจะเอาชีวิตรอดได้ฉันใดท่ามกลางทะเลแห่งสังสารวัฏอันเต็มไปด้วยความทุกข์ผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิย่อมนำพาตนเองให้รอดพ้นจากห้วงทุกข์ ประสบ กับความสุขที่แท้จริงได้ ฉันนั้น

     ดังนั้น สัมมาทิฏฐิจึงมีอานุภาพนำพาไปสู่ความสุขที่แท้จริงได้ บุคคลใดปรารถนาความสุขที่แท้จริงแล้ว พึงศึกษาและกระทำสัมมาทิฏฐิให้บังเกิดขึ้น

      สัมมาทิฏฐิกับการตั้งเป้าหมายชีวิต พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว) ได้ให้ความหมายของสัมมาทิฏฐิไว้อย่างน่าคิด ว่า สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญานำไปสู่การตั้งเป้าหมายชีวิต ความสุขเป็นยอดปรารถนาของทุกๆ ชีวิต มนุษย์ทุกคนเมื่อมีชีวิตอยู่ ย่อมทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อ ให้ได้มาซึ่งความสุข แม้ชีวิตหลังความตาย มนุษย์ก็ยังคาดหวังให้ตัวเองประสบความสุขในภพเบื้องหน้า และในภพชาติต่อๆ ไป มนุษย์ก็ยังคงคิดคำนึงถึงความสุข ปรารถนาความสุขที่มากยิ่งขึ้นไปที่ไม่มีทุกข์เจือปนอยู่เลยซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าพระนิพพาน  เมื่อเป็นเช่นนี้ เป้าหมายชีวิตจึงแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ

1.เป้าหมายชีวิตระดับต้น เป็นการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่ตกเป็นภาระแก่ใคร ที่เรียกว่า ตั้งฐานะหรือตั้งตัวได้ ด้วยการประกอบอาชีพสุจริต หรืออาชีพที่ถูกต้อง เพื่อเลี้ยงตนเอง ครอบครัว มารดา บิดา และบริวาร ให้มีความสุขพอประมาณในชาตินี้ โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องพัวพันกับ อาชีพทุจริต ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม จมอยู่ในอบายมุข และอกุศลกรรมทั้งปวง จะเรียกว่าเป็นเป้าหมาย ระดับบนดินก็ได้

2.เป้าหมายชีวิตระดับกลาง เป็นการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อให้ได้โอกาสไปถือกำเนิดในสุคติโลก สวรรค์หลังจากที่ละโลกไป บุคคลที่ตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิอย่างมั่นคงสม่ำเสมอ ต่างรู้แล้วว่าสัตวโลกตายแล้วไม่สูญ ยังจะต้องเดินทางต่อไปอีก และรู้ด้วยว่าการบำเพ็ญกุศลธรรมทุกรูปแบบ เว้นขาดจากอกุศลกรรมทั้งปวง และทุ่มเทเวลาเจริญภาวนา เพื่อการทำใจให้ผ่องใสเท่านั้น จึงจะมีโอกาสบรรลุเป้าหมายระดับกลาง หรือระดับ บนฟ้าได้

3.เป้าหมายชีวิตระดับสูง เป็นเป้าหมายชีวิตเพื่อมุ่งความหลุดพ้นจากอำนาจของความบีบคั้น ของกิเลส หลุดพ้นจากอำนาจของอวิชชาและพญามารอย่างถาวร ทำให้ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก คือ บรรลุมรรคผลนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายของสมณพราหมณ์ ผู้ตั้งอยู่ในโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ ผู้ครองเรือนยากที่จะมีโอกาสบรรลุเป้าหมายระดับสูงนี้ อาจเรียกว่า เป้าหมายเหนือฟ้าก็ได้

     ถึงแม้เป้าหมายชีวิตในระดับที่ 3 จะทำได้ยาก แต่ถึงอย่างไร บุคคลก็ควรตั้งเป้าหมายชีวิตทั้ง 3 ระดับพร้อมกันไป ทั้งนี้เพราะฆราวาสที่ตั้งอยู่ในโลกิยสัมมาทิฏฐิอย่างมั่นคงสม่ำเสมอ ย่อมมีโอกาสบรรลุ เป้าหมายระดับต้นในชาตินี้ และบรรลุเป้าหมายระดับกลางในโลกหน้าเป็นผลพลอยได้

     ขณะที่เป็นฆราวาส ถ้ามีความตั้งใจจริงและมีอินทรีย์แก่กล้า แล้วตัดใจออกบวชเมื่อใดก็ตาม ถ้าได้มีโอกาสพบกัลยาณมิตร เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ ก็อาจบรรลุเป้าหมายชีวิตระดับ สูงได้ แม้จะยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสอย่างเด็ดขาดในชาตินี้ ก็อาจก้าวขึ้นสู่ความเป็นอริยบุคคลระดับใด ระดับหนึ่งได้

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027453664938609 Mins