อานิสงส์ของการเจริญภาวนา

วันที่ 16 มีค. พ.ศ.2558

อานิสงส์ของการเจริญภาวนา

การฝึกใจให้เกิดสมาธิ โดยทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ภายในกลางกายนี้ มีอานิสงส์ที่สำคัญ 5 ประการ คือ

1. ได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง

2. ได้ฌานสมาบัติ

3. ได้วิปัสสนา

4. ได้นิโรธสมาบัติ

5. ได้ภพอันวิเศษ คือ อายตนนิพพาน
 

     ได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ”สุขอื่นจากความสงบย่อมไม่มีŽ” สุดยอดปรารถนาของมนุษย์ทั้งหลาย คือ ความสุข สมาธิสามารถทำให้เราเข้าถึงความสุขที่แท้จริง ซึ่งเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ทุกคนได้ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตามสมาธิเป็นจุดกลางเชื่อมโยงในอิริยาบถ หรือกิจกรรมต่างๆ เมื่อหยุดใจเข้าไปอยู่กับเนื้อกับตัวของเราในกึ่งกลางกายที่ยาววา หนาคืบ กว้างศอกของเราแล้ว เราจะพบความอัศจรรย์ ว่าแหล่งกำเนิดแห่งความสุขทั้งมวลที่เราปรารถนานั้น อยู่ตรงนี้เอง และที่นี่ยังเป็นที่ตั้งที่แท้จริงของใจอีกด้วย เมื่อเราได้พบความสุขที่เราเฝ้าแสวงหานั้นแล้ว เราจะเปรียบเทียบได้ว่าสิ่งที่เราเคยพบเจอมานั้น มันเป็นแค่เพียงความสนุก หรือความเพลินเพียงชั่วครั้งชั่วคราว วูบวาบแล้วก็หายไปถ้าจะเป็นความสุข ก็เป็นได้เพียงความสุขเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง ไม่ใช่ความสุขอันยิ่งใหญ่หรือที่เราปรารถนาเราจะสังเกตได้ ว่าเราเบื่อง่าย ไม่ว่าจะได้ของถูกใจ คนถูกใจ หรืออะไรต่างๆ ที่ถูกใจก็ตามจะถูกใจเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่นานก็เบื่อหน่าย จะแสวงหาของในอุดมคติหรือคนในอุดมคติที่จะทำให้เราได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง ถึงความเต็มเปี่ยมในชีวิตอย่างสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นจะสังเกตได้ว่าเมื่อเรายังไม่พบความสุขที่แท้จริง ใจก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงนั้น ก็คือการแสวงหานั่นเอง แสวงหาในสิ่งที่ดีกว่า ประณีตกว่าประเสริฐกว่า จนกระทั่งถึงที่สุดแล้วไม่ต้องแสวงหาอีก คือ การเข้าถึงความสุขที่แท้จริงแต่เนื่องจากความรู้ของเรามีจำกัด เมื่อเกิดมาในโลกแล้วเห็นใครครอบครองสิ่งใด ก็มักจะคิดว่าสิ่ง นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้ เราจึงอยากได้ อยากมี อยากเป็นอย่างนั้น ทุ่มเททั้งชีวิต เพื่อแสวงหาอย่างนั้น โดยเข้าใจผิดว่าสิ่งนั้นจะให้ความสมบูรณ์แก่ชีวิต เมื่อพบแล้วไม่นานก็เบื่อ พอเบื่อก็เปลี่ยนแปลงแสวงหากันต่อๆไปสิ่งที่พบเจอนั้นก็เป็นความสุขเพียงนิดเดียวแต่มีทุกข์มากต้องคอยแก้ปัญหาต่างๆนานานี้คือสัญญาณที่แสดงให้เรารู้ว่า เรายังไม่พบของจริงแต่เมื่อเราทำภาวนาโดยการนำใจของเรากลับเข้ามาสู่ที่ตั้งดั้งเดิมของใจ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุขที่แท้จริงภายใน อย่างที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีได้สอนเอาไว้ว่า ให้นำความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ มารวมหยุดเป็นจุดเดียวที่กลางกายนี้แหละ จึงจะพบความสุขที่แท้จริงได้ เป็นสิ่งที่ แตกต่างจากเดิม ซึ่งใครก็ตามที่เข้าถึงก็จะรู้ได้ด้วยตัวของตัวเอง ที่ท่านเรียกว่าเป็น ”ปัจจัตตังŽ”

     ดังนั้น เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการทำภาวนาในเบื้องต้นก็คือ ต้องการให้ได้รับความสุข เมื่อเราได้เข้ามาสู่แหล่งของความสุขภายในที่แท้จริงบ่อยๆ แม้ในอิริยาบถต่างๆ ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน หรือทำอะไรก็แล้วแต่ เราก็จะมีความสุขเพราะใจของเราเป็นสุขถ้าใจไม่สบายแม้จะมีที่นั่งอย่างดีเพียงใดก็ตามนั่งก็ไม่เป็นสุข จะนอนบนฟูกหลายๆชั้นให้นุ่มนวลก็ไม่เป็นสุขเพราะใจเรายังไม่เป็นสุขใจยังป่วยใจยังไม่สบาย เมื่อเรากลับไปสู่แหล่งของความสุขภายในความสุขนั้นจะขยายไปยังทุกส่วน ทุกอณูเนื้อของร่างกายเรา แม้จะนั่งอยู่บนอาสนะเพียงบางๆ แคบๆ แค่ 1 ตารางเมตร ก็มีความสุขเพราะใจของเรามีความสุข

     ได้ฌานสมาบัติ เมื่อทำภาวนาจนใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ช้าก็จะเข้าถึงฌานสมาบัติ จะพบ กายต่างๆ ที่ซ้อนอยู่ภายใน ได้แก่ กายที่เป็นที่ตั้งแห่งปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ตามลำดับ จะมีอารมณ์เดียว คือ อารมณ์ที่เป็นสุข นิ่งอยู่ภายในกายต่างๆ เรียกว่า ได้ฌานสมาบัติ อารมณ์ดี อารมณ์เดียว อารมณ์สบายนี้เป็นสิ่งที่หาได้ยากมากจะต้องมีอยู่ในผู้ที่มีใจหยุดนิ่งอย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น เมื่อทำได้เช่นนี้จะมีอารณ์เดียว ไม่ซัดส่าย ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน อุปมาเหมือนกับ ภูเขาศิลาแท่งทึบ ลมพายุพัดมาทุกทิศทุกทางก็ไม่ทำให้หวั่นไหวได้เพราะฉะนั้นอารมณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาจะกระทบกระเทือนให้เกิดความยินดียินร้ายอย่างไรก็ไม่ได้
     

     ได้วิปัสสนา แปลว่า การเห็นแจ้ง การเห็นอย่างวิเศษ การเห็นที่แตกต่างจากสิ่งที่เคยเห็น คือ ของที่อยู่ในที่ลึก มืดๆ มัวๆ สลัวๆ สามารถดึงออกมาสู่ที่แจ้งได้หมด ความไม่รู้จริงอันใดทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของตัวเรา ตั้งแต่ตัวเราคือใคร ประกอบด้วยอะไร มาจากไหน มาทำไม อะไรคือ เป้าหมายของชีวิต และได้บรรลุเป้าหมายของชีวิตนั้นแล้ว การเห็นอย่างนี้เรียกว่า "วิปัสสนา" 

     วิปัสสนาจะเกิดขึ้นได้เมื่อใจหยุดจนกระทั่งเข้าถึงกายธรรม คือ ถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ จะมีความเห็นไปตามความเป็นจริงด้วยธรรมจักขุของธรรมกาย มีความรู้ไปตามความเป็นจริงด้วยญาณทัสสนะของธรรมกายจะมีความรู้และความเห็นอย่างนี้เป็นปกติ คือ สิ่งใดที่ไม่เที่ยงก็เห็นว่าไม่เที่ยง สิ่งใดเที่ยงก็เห็นว่าเที่ยง สิ่งใดเป็นสุขก็เห็นว่าเป็นสุข สิ่งใดเป็นทุกข์ก็เห็นว่าเป็นทุกข์เห็นตลอดหมดไม่ใช่ เห็นครึ่งๆ กลางๆ เพราะความรู้นั้นสมบูรณ์แล้ว
 

      ได้นิโรธสมาบัติ นิโรธสมาบัติจะบังเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์เมื่อใจร่อนจากกิเลสอาสวะทั้งมวล กิเลสทั้ง 3 ตระกูล ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง จะหลุดร่อนไปหมด สังโยชน์เบื้องต่ำ และเบื้องสูงจะหลุดหมด ใจใส กระจ่างสว่างเต็มเปี่ยม ใจไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้งเลยนิโรธ แปลว่า หยุด เป็นการหยุดที่แตกต่างจากทางโลก คือ หยุดแล้วไป หยุดแล้วเคลื่อนเข้าไปสู่ภายในไปสู่แหล่งแห่งบรมสุขยิ่งๆ ขึ้นไปขอบข่ายของธรรมจักขุ และญาณทัสสนะก็จะขยายกว้างออกไปอีก ความรู้และความเห็นก็จะขยายกว้างยิ่งขึ้นกว่าเดิม

     ได้ภพอันวิเศษ คือ อายตนนิพพาน อายตนนิพพานเป็นภพที่วิเศษยิ่งไปกว่าภพทั้งปวง ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด มีแต่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ผู้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะที่ครอบงำทั้งปวง มีแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012193167209625 Mins