วัตถุประสงค์และอานิสงส์ของการเจริญภาวนา

วันที่ 16 มีค. พ.ศ.2558

วัตถุประสงค์และอานิสงส์ของการเจริญภาวนา

วัตถุประสงค์ของการเจริญภาวนาที่สอดคล้องสัมพันธ์กับเป้าหมายชีวิตดังที่ได้กล่าวไว้ในบทที่1 มี 3 ประการ คือ

1. เพื่อให้ได้สุขในปัจจุบัน

2. เพื่อให้ได้สุขในสัมปรายภพ

3. เพื่อให้ได้สุขอย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน
 

     เพื่อให้ได้สุขในปัจจุบัน คนเราทุกคนล้วนปรารถนาความสุข ความสุขที่แท้จริงที่ไม่มีความทุกข์เจือปนต้องเริ่มต้นที่การเจริญ ภาวนา อาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าการทำภาวนามีผลต่อการดำเนินชีวิตให้ประสบความสุขที่แท้จริง

     การทำสมาธิถือได้ว่าเป็นวิถีที่สำคัญต่อความเป็นไป และความเป็นอยู่ของทุกๆคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่ามนุษย์เรานั้น ประกอบขึ้นด้วยส่วนสำคัญ 2 อย่างด้วยกัน คือ กายอย่างหนึ่ง และใจอย่างหนึ่ง ชีวิตจะดำเนินไปอย่างมีความสุขสมบูรณ์ได้ ย่อมขึ้นกับเงื่อนไขทางด้านร่างกาย และเงื่อนไขทางด้านจิตใจเข้ามาประกอบกัน การดูแลรักษาร่างกายให้มีความสุขความสบายนั้นเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น มนุษย์เราจึงต่างแสวงหาปัจจัย 4 และเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ เข้ามาทำให้ชีวิต มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่ต้องประสบความทุกข์ยากลำบากใดๆ และเพื่อทำให้ชีวิตมีความมั่นคง แต่แม้กระนั้น การดูแลรักษา จิตใจให้มีความสุขสบายอยู่ตลอดเวลา ยังถือว่าเป็นความจำเป็นยิ่งกว่ามากนัก

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ชัดเจนว่า “ ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคล ใดใจร้ายแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ทุกข์ย่อมไปตามเขาเพราะเหตุนั้น ถ้าบุคคลใดมีใจผ่องใสแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ความสุขย่อมไปตามเขาเพราะเหตุนั้น เหมือนเงาไปตามตัว ฉะนั้นŽ” 

     ดังนั้นถ้าหากจัดลำดับความสำคัญแล้ว ใจย่อมมาก่อนกายเสมอ ดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า “ ใจเป็น นาย กายเป็นบ่าวŽ” แม้ร่างกายจะมีความสุขสบายพรั่งพร้อมด้วยกามคุณทั้งหลายอยู่ตลอดเวลามีทรัพย์สินเงินทองพร้อมสรรพ มีข้าทาสบริวารหญิงชายพร้อมมูล แต่ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าบุคคลนั้นจะมีความสุขใจ ตรงกันข้าม บุคคลใดแม้ไม่ได้ครอบครองสมบัติพัสถานมากมายมีเพียงปัจจัย 4 ที่พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้เท่านั้น บุคคลนั้นย่อมประสบความสุขเบื้องต้นในชีวิตแล้วนั่นคือสุขจากการปราศจากความกังวล ห่วงใยในข้าวของเงินทอง และทรัพย์สมบัติทั้งหลายคล้ายกับนกน้อยที่บินไปในอากาศที่มีเพียงปีกและหางเป็นภาระยิ่งบุคคลนั้นได้ทำภาวนา ได้ฝึกใจให้สงบ ให้หยุดนิ่งด้วยแล้ว เขาย่อมประสบกับความ แช่มชื่น เบิกบาน ผ่องใส ซึ่งได้เกิดขึ้นภายในใจของเขาเองเป็นความสุขอันยิ่งใหญ่ที่เงินทองไม่อาจซื้อหาได้ดังที่พระภาวนาวิสุทธิคุณได้กล่าวไว้ดังนี้  “ ความสุขอันเกิดจากจิตสงบเป็นความสุขที่ซื้อหามาด้วยราคาถูกที่สุดแต่กลับมีคุณค่ามหาศาลยิ่งกว่าสมบัติพัสถานใดๆ ทั้งสิ้นความสุขของจิตที่แท้จริงจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่หมั่นฝึกฝนหรืออบรมจิตอยู่เสมอŽ”

     ความสุขอันเกิดจากการทำภาวนาย่อมเกิดขึ้นกับผู้นั้นตลอดเวลาไม่ว่าเขาจะอยู่ในอิริยาบถใด ความสุขย่อมไปตามเขาเสมอ ดังเรื่องราวที่เจ้าชายหัตถกะ อาฬวกะ ได้ทูลถามพระพุทธองค์เมื่อครั้งที่ทรงประทับบนลาดใบไม้ในป่าสิงสปาวัน ใกล้ทางโค ซึ่งเป็นพื้นที่ขรุขระ ไม่สบาย ด้วยความห่วงใยว่า “ พระผู้มีพระภาคเจ้าบรรทมเป็นสุขอยู่หรือ พระพุทธเจ้าข้าŽ” ซึ่งพระองค์ตรัสตอบไปว่า “ อย่างนั้น เจ้าชาย ตถาคตนอนเป็นสุข บรรดาคนที่นอนเป็นสุขในโลก ตถาคตเป็นคนหนึ่ง” นั่นเพราะพระองค์มีใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขเอ่อล้นอยู่นั่นเอง แม้กายจะลำบากแต่ใจก็เป็นสุขได้ อย่างไรก็ตาม ความสุขอันเกิดจากการเจริญภาวนา ที่ผู้ประพฤติปฏิบัติแต่ละคนจะได้รับนั้น ถือเป็นสิ่งที่ผู้นั้นจะพึงรู้พึงเห็นได้ด้วยตนเอง จะอาศัยให้ผู้อื่นทำให้นั้นไม่ได้ ดังปรากฏใน ทุติยสันทิฏฐิกสูตร ความว่า

     ”ดูก่อนพราหมณ์ การที่ท่านทราบชัดเหตุเครื่องประทุษร้ายใจ(กิเลส)ที่ มีอยู่ในภายในว่า เหตุเครื่องประทุษร้ายใจมีอยู่ในภายในของเรา หรือทราบชัด เหตุเครื่องประทุษร้ายใจที่ไม่มีอยู่ในภายในว่า เหตุเครื่องประทุษร้ายใจไม่มีอยู่ใน ภายในของเรา อย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตนŽ”
 

     เพื่อให้ได้สุขในสัมปรายภพ นอกจากผู้เจริญภาวนาจะได้รับผลแห่งการปฏิบัติเป็นความสุขแล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติตาม คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย ดังพุทธวจนะที่พระองค์ได้ตรัสไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ หรือหลัก การของชาวพุทธที่ว่า

“ สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง

กุสะลัสสูปะสัมปะทา

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง

เอตัง พุทธานะสาสะนังŽ”

     การไม่ทำบาปทั้งปวงการยังกุศลให้ถึงพร้อมการชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้วนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้เป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงพุทธประสงค์ที่ว่านอกจากเราจะต้องละเว้นจากความชั่วหรือบาปอกุศล ทั้งปวง และหมั่นสั่งสมความดี สร้างบุญบารมีโดยทั่วๆไปแล้วทุกคนยังมีหน้าที่ ที่สำคัญสำหรับชีวิตอีกอย่างหนึ่ง คือ การเจริญภาวนาทำจิตของตนให้ผ่องใส ให้ห่างไกลจากกิเลสอาสวะต่างๆที่ทำให้ใจเศร้าหมองไม่ผ่องใสอีกด้วยภารกิจสำคัญที่ขาดไม่ได้นี้ไม่ใช่แต่เพียงพุทธศาสนิกชนเท่านั้นที่พึงยึดถือเป็นข้อปฏิบัติ หากแต่เป็นหน้าที่ของชาวโลกทุกคนจะพึงศึกษาทำความเข้าใจและน้อมมาประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลด้วยเพราะ ไม่ว่าเราจะมีเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม ล้วนแต่มีกิเลสอย่างเดียวกันนอนเนื่องอยู่ภายในใจ ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้เท่านั้นเอง เราจะสังเกตได้ว่าในตัวเรานั้นมีทั้งด้านที่ดี และด้านที่ไม่ดี จึงทำให้เราไม่อาจแสดงความดีที่มีอยู่ ในตัวของเราออกมาได้ทั้งหมดตลอดเวลา บางครั้งเราก็เผลอแสดงความไม่ดีไม่งามให้ปรากฏออกมาบ้าง นั่นก็เป็นเพราะว่ากิเลสที่ฝังอยู่ในใจของเรานั้น กำลังบังคับบัญชาให้เราไม่เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง ทั้งๆ ที่เราปรารถนาจะทำดี แต่ก็ไม่อาจทำได้ หรือแม้ทำได้ แต่ก็ทำได้ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นหนทางที่จะแก้ไข ก็คือการกำจัดกิเลสที่ฝังแน่นอยู่ภายในใจของเราให้หมดไป ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุด ที่ปฏิบัติแล้วได้ผลจริงก็คือ การเจริญภาวนานั่นเองเมื่อเราได้ประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์เช่นนี้แล้ว ย่อมได้รับความสุขเป็นเครื่องตอบแทน ใจจะปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองมีความบริสุทธิ์ผ่องใสขึ้นมาแทน มิใช่เฉพาะความสุขในภพชาติปัจจุบันที่เราเห็นนี้เท่านั้นแม้ละสังขารจากโลกนี้ไปแล้วก็ยังไปเสวยสุขอยู่ในทิพยวิมาน ณ แดนสวรรค์ต่อไป เป็นความสุขอันเป็นทิพย์ที่ละเอียดประณีตยิ่งกว่าความสุขบนโลกมนุษย์นี้มากมายนัก ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า

     ”ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดรู้จิตของบุคคลบางคนในโลกนี้ผู้มีจิตผ่องใสด้วยจิตอย่างนี้แล้วถ้าในสมัยนี้ บุคคลนี้พึงทำกาละไซร้เขาพึงเกิดในสวรรค์เหมือนเชิญมาไว้ฉะนั้นข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะจิตของเขาผ่องใส ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุแห่งจิตผ่องใสแล สัตว์บางพวกในโลกนี้เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์Ž” เพราะฉะนั้น อานุภาพแห่งใจที่มีความผ่องใสนั้นไม่อาจจะนับจะประมาณได้ สามารถบันดาลความสุขและความสมปรารถนาได้เป็นอัศจรรย์
 

      เพื่อให้ได้สุขอย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน ใช่แต่เพียงเท่านั้น การเจริญภาวนายังเป็นเหตุให้บรรลุถึงความสิ้นทุกข์ เข้าถึงสุขที่แท้จริงอีกด้วย ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ นิพพานัง ปรมัง สุขังŽ” นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง บุคคลใดก็ตามที่ตั้งความปรารถนาจะหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ หยุดวงจรการเวียนว่ายตายเกิดของตนเองในวัฏสงสารแล้ว การเจริญภาวนามีความจำเป็นอย่างยิ่ง และมีความสำคัญอย่างที่สุด หากละทิ้งการ ทำสมาธิอย่างจริงจังแล้ว หนทางที่จะดับสิ้นซึ่งกองกิเลสเพื่อมุ่งสู่พระนิพพานจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังหลักฐาน ที่ยกมาแสดงนี้

     “ ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีใจประกอบด้วยหิริ โอตตัปปะ มีปัญญาและสำรวมในศีลในวินัยของพระอริยเจ้า ผู้นั้นแลเราเรียกว่ามีชีวิตเป็นสุขในวินัยของพระอริยเจ้าฉันนั้นเหมือนกัน เขาได้ความสุขที่ไม่มีอามิสยังอุเบกขา (ในจตุตถฌาน) ให้ดำรงมั่น ละนิวรณ์ 5 ประการ เป็นผู้ปรารภความเพียรเป็นนิตย์ บรรลุฌาน ทั้งหลาย มีเอกัคคตาจิตปรากฏ มีปัญญารักษาตัว มีสติ จิตของเขาย่อมหลุดพ้น โดยชอบเพราะทราบเหตุในนิพพานเป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งปวงตามความเป็นจริงเพราะไม่ถือมั่นโดยประการทั้งปวงŽ” และอีกแห่งหนึ่งดังนี้ “ ภิกษุอาศัยตระกูลแล้ว เสพปัจจัยมีจีวรเป็นต้น เจริญกัมมัฏฐาน พิจารณาในสังขารทั้งหลาย บรรลุพระอรหัต เป็นสุขด้วยโลกุตตรสุข ย่อมไปสู่ทิศ คือ นิพพานที่ยังไม่เคยไปได้ตามต้องการฉันนั้นŽ” เมื่อกล่าวถึงการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้วบุคคลที่จะเข้าถึงจุดตรงนั้นได้จะต้องสร้างบารมีอย่างทุ่มเทชีวิตจิตใจต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันแม้ว่าจะมีอุปสรรคมากมายเพียงใดมาขวางกั้นหนทางการบรรลุพระนิพพานก็หาได้มีความเกรงกลัว หวาดหวั่น ครั่นคร้ามไม่ หากแต่ยังคงมีจิตใจที่มั่นคงเด็ดเดี่ยวในมโนปณิธานที่ตนได้ตั้งเอาไว้อย่างดีแล้วยังคงมุ่งมั่นบำเพ็ญบารมีต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งถึงฝั่งแห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ บุคคลประเภทนี้จะมีความรักในบุญเป็นชีวิตจิตใจและบุญที่จะละทิ้งไม่ได้เลย คือ บุญที่เกิดจากการเจริญภาวนา บุญนี้เท่านั้นที่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จได้ ลำพังเพียงบุญที่เกิดจากการทำทานหรือบุญที่เกิดจากการรักษาศีลเท่านั้นยังไม่เพียงพอมิใช่ว่าบุญทั้งสองประการนั้นจะไร้ความสำคัญ หากแต่การเจริญภาวนานั้นเป็นบุญเฉพาะที่จะทำให้มุ่งไปสู่เป้าหมายอันสูงสุด คือ พระนิพพานได้

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.004156215985616 Mins